xs
xsm
sm
md
lg

ความเกเรของเด็กวัด : บทพิสูจน์ขันติของสมภาร

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ทุกท่านผู้อ่านที่เป็นพุทธมามกะจะคุ้นเคยกับคำว่า เด็กวัด และถ้าท่านเข้าวัดทำบุญเป็นประจำด้วยแล้ว ไม่เพียงรับรู้ถึงความหมายแต่จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าหมายถึง เด็กที่อาศัยอยู่ในวัด และมีหน้าที่คอยรับใช้พระภิกษุสงฆ์ พร้อมกับศึกษาเล่าเรียนความรู้สาขาต่างๆ ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมทางด้านจิตใจโดยมีพระภิกษุเป็นผู้สอน นี่คือเด็กวัดในยุคก่อนที่สถานศึกษายังคงอยู่กับวัด และมีพระเป็นผู้สอน

แต่เมื่อการศึกษาทางโลกได้แยกออกจากวัดไปสังกัดหน่วยงานของรัฐเช่นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน สถานภาพของเด็กวัดก็เปลี่ยนไป จากที่พ่อแม่นำเด็กมาฝากให้อยู่กับวัด เพื่อให้พระสงฆ์คอยอบรมสั่งสอน มาเป็นผู้อาศัยวัดในวัยที่ยังเป็นนักเรียน และส่วนใหญ่เป็นวัดในเมืองใหญ่ เช่นใน กทม. เป็นต้น เด็กเหล่านี้จะมาจากต่างจังหวัด และมาอาศัยวัดระหว่างที่กำลังศึกษาเล่าเรียน ในขณะเดียวกันก็รับใช้พระภิกษุทำกิจการงานต่างๆ ของวัด และรับคำสั่งสอนอบรมจากพระสงฆ์ไปด้วย ครั้นจบการศึกษาได้งานทำแล้วต่างก็ออกจากวัดไปหาที่อยู่เองเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กรุ่นหลังได้เข้ามาอยู่ต่อไปหมุนเวียนกันไปเช่นนี้

โดยปกติเด็กที่อาศัยอยู่ในวัด จะมีอุปนิสัยเป็นคนสงบเรียบร้อย เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดกับพระ แต่มีอยู่ไม่น้อยที่มีพฤติกรรมเกเรก่อความเดือดร้อนให้แก่พระสงฆ์ และผู้คนที่เข้ามาทำบุญในวัด

เด็กวัดเกเรเหล่านี้เองที่ทำให้วัดกลายเป็นสถานที่เพาะเลี้ยงคนไม่ดี และกลายเป็นความหมายในทางลบของเด็กวัดที่ผู้คนส่วนหนึ่งในสังคมเอือมระอา ถึงกับมีคำพังเพยในทำนองประชดประชัน หรือดูถูกดูแคลนว่าเด็กวัดเป็นคนต่ำต้อย จะเห็นได้จากคำพูดที่ว่า ตัดหางปล่อยวัด ซึ่งเป็นวลีที่ผู้ใหญ่มักจะใช้พูดกับเด็กที่มีพฤติกรรมก่อความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น และทำให้ตัวเองกลายเป็นที่เกลียดชังของสังคมรอบข้าง

อันที่จริงคำว่า ตัดหางปล่อยวัด ค่อนข้างจะเป็นคำพูดในเชิงเปรียบกับการนำสัตว์ที่เจ้าของไม่ต้องการเลี้ยง เพราะก่อความเดือดร้อนให้ผู้เลี้ยง แต่เมื่อนำมาใช้กับคนก็คงจะมีความหมายในทำนองว่าไปให้พ้นเพราะไม่ต้องการให้มีภาระผูกพันนั่นเอง

โดยนัยแห่งคำนี้ วัดก็ถูกมองไปในทางลบว่าเป็นที่รวบรวมสัตว์ สิ่งของ รวมไปถึงคนที่ก่อความเดือดร้อนให้สังคม ทั้งนี้โดยความเชื่อที่ว่า เมื่อนำสิ่งเหล่านี้ไปไว้วัดแล้วจะทำให้สิ่งเหล่านี้หมดพิษสงในการก่อความเดือดร้อน และในขณะเดียวกันจะช่วยให้กลายเป็นสิ่งดีขึ้นมาได้ด้วย นี่คือความเชื่อ

แต่ในความเป็นจริง ไม่ว่าสัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งคนที่มีพฤติกรรมไม่ดี ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน อยู่กับใคร ถ้าไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นแล้ว ก็จะคงยากที่จะมีความไม่ดีเหมือนเดิม ดังนั้น ถ้าต้องการแก้ไขก็ไม่ต้องคำนึงว่าจะให้อยู่ในที่ใด และสังคมอะไร แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรจึงจะทำให้สิ่งไม่ดีไม่งามกลับมีสภาพที่ดีขึ้นมา

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ก็เพียงเพื่อเกริ่นให้เห็นความเชื่ออันเนื่องด้วยวัด และเด็กวัดที่เป็นไปในทางลบอันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องที่นำมาเขียนในวันนี้อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างอาจารย์ธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการที่ออกมาวิพากษ์ภาวะผู้นำของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแห่งรัฐบาลรักษาการในปัจจุบัน และกำลังจะเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่จะเกิดขึ้นใหม่ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้อีกครั้ง

ความขัดแย้งที่ว่านี้ได้เกิดขึ้นเมื่อฝ่ายแรกได้ออกมาวิพากษ์ฝ่ายหลังว่า เป็นเผด็จการไม่ฟังใคร และยังบอกด้วยว่าเป็นรัฐบาลที่มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชันมาก ทั้งแอบๆ และทับซ้อน ทั้งยังได้ตั้งชื่อยกขึ้นให้เป็นพระธรรมทักษิณด้วย และจากการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะนี้ทำให้ฝ่ายถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ออกมาตอบโต้ว่าเป็นเด็กวัดเกเร เมื่อก่อนนี้ออกมาปีละครั้ง เดี๋ยวนี้ออกมาบ่อย ทั้งยังบอกให้กลับไปอ่านพระไตรปิฎก และได้บอกเพิ่มเติมด้วยว่าตนเองได้ใช้ปัญญาวิมุตติแก้ปัญหา และกำลังจะพยายามให้ถึงขั้นเจโตวิมุตติถึงแม้จะยาก พร้อมกันนี้ได้บอกด้วยว่าตนเองได้ใช้ขันติธรรมในการต่อสู้กับปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น

โดยนัยแห่งการออกมาตอบโต้ของผู้นำรัฐบาล แปลได้ว่า ฝ่ายอาจารย์ธีรยุทธมีพฤติกรรมเกเร ไม่มีเหตุผลในการออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และในขณะเดียวกันบอกว่ารัฐบาลทำทุกอย่างด้วยความอดทน และมีเหตุผลโดยใช้สติปัญญากำกับการทำงานทุกขั้นตอน ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ส่วนว่าระหว่างผู้ขัดแย้งทั้งสองใครจะถูกหรือใครจะผิดนั้น ผู้เขียนขอยกให้อยู่ในดุลพินิจของผู้อ่าน

แต่ในที่นี้จะขอนำเอาความหมายของคำว่า ขันติ และวิปัสสนาวิมุตติมาอธิบายเพิ่มเติมตามนัยแห่งคำสอนของพุทธองค์ หรือให้ท่านผู้อ่านได้นำไปประกอบการใช้ดุลพินิจเพื่อตัดสินเหตุและผลแห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้น

เริ่มด้วยคำว่า ขันติ อันได้แก่ ความอดทนหรืออดกลั้นต่ออายตนะภายนอกอันได้แก่ รูป รส กลิ่น เสียง เป็นต้น ที่มากระทบและก่อให้เกิดความไม่พอใจจนถึงขั้นทำให้โกรธ โดยการไม่ตอบโต้ออกไปทั้งกาย และวาจา อันมีพื้นฐานมาจากโกธะ และโมหะ คือความโกรธ และความหลงเป็นเหตุ

การไม่ตอบโต้ในทำนองนี้ที่ถือได้ว่าเป็นขันติอย่างแท้จริง คือ การไม่ตอบโต้โดยมีพื้นฐานทางจิตใจมาจากความมีเมตตา และการให้อภัย เช่น เมื่อผู้ใหญ่ถูกเด็กด่าและไม่ด่าตอบเพราะเข้าใจในความเป็นเด็กที่ยังมีวุฒิภาวะไม่เพียงพอ และในขณะเดียวกัน ยังมีจิตเมตตาต้องการให้เด็กมีโอกาสกลับตัวเป็นคนดีจึงให้อภัย เป็นต้น

ในทางกลับกัน เมื่อเด็กถูกผู้ใหญ่ด่า แต่ไม่กล้าตอบโต้เพราะเกรงกลัวในอำนาจของผู้ใหญ่ ไม่ถือว่าเป็นขันติ แต่เป็นการข่มอารมณ์ชั่วขณะ และยิ่งกว่านี้ในขณะที่ข่มอารมณ์นั้น จิตใจอาจเต็มไปด้วยความขุ่นเคืองรอโอกาสตอบโต้เมื่อถึงเวลาในลักษณะผูกอาฆาต

คำอีกคำหนึ่งที่ควรจะได้หยิบยกขึ้นมาอธิบายก็คือคำว่า ปัญญาวิมุตติ โดยนัยแห่งความหมายตามพยัญชนะหรืออักษร หมายถึง ความหลุดพ้นจากกิเลสโดยใช้ปัญญาอันถือได้ว่าเป็นการหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิง เพราะสามารถทำลายอวิชชาคือความไม่รู้ลงได้ด้วยอำนาจแห่งปัญญา คือความรู้แจ้ง

ในทางพุทธศาสนามีคำสอนเกี่ยวกับเรื่องแนวทางปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นหรือวิมุตติอยู่ 3 ขั้น โดยเรียงอันดับจากต่ำไปหาสูง คือ

1. ศีล อันได้แก่ ข้อห้ามมิให้บุคคลกระทำความชั่วด้วยกาย และวาจา หรือที่เรียกว่าไม่ทำกายทุจริต อันได้แก่ การฆ่าสัตว์ และลักทรัพย์ เป็นต้น และวจีทุจริต อันได้แก่ การพูดเท็จ พูดส่อเสียด และพูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น

2. สมาธิ คือ การละกิเลสอย่างกลางด้วยการข่มใจ หรือด้วยการทำใจให้สงบเยือกเย็น ไม่เปิดโอกาสให้ความคิดชั่วร้ายเข้ามาบงการให้จิตคิดในสิ่งที่เป็นบาปอกุศลได้ การละความชั่วด้วยวิธีนี้จึงเป็นเสมือนหินทับหญ้า ตราบใดที่หินยังอยู่หญ้าก็ไม่สามารถงอกขึ้นมาได้ แต่เมื่อใดหินถูกนำออกไปหญ้าก็งอกงามเหมือนเดิม

3. ปัญญา คือ ความรู้ สามารถทำลายอวิชชาอันเป็นรากเหง้าของอกุศลทั้งปวงได้ ผู้ใดก็ตามที่บำเพ็ญเพียรจะบรรลุญาณ คือความรู้ขั้นสูง ซึ่งสามารถทำลายอวิชชา คือความไม่รู้ได้โดยสิ้นเชิง หรือที่เรียกว่า ได้บรรลุพระอรหันต์นั่นเอง

จากการอธิบายความหมายแห่งคำที่ผู้เป็นเหตุแห่งความขัดแย้งได้นำมากล่าวอ้างข้างต้นนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าจะทำให้ท่านผู้อ่านมองเห็นว่า ใครถูก และใครผิด หรือผิดทั้งคู่โดยนัยแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนา

อีกประการหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนใคร่ขอนำอานิสงส์แห่งการมีความอดทนตามที่ปรากฏในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย 5 ประการ ดังนี้

1. เป็นที่รัก เป็นที่พอใจของคนหมู่มาก

2. ไม่มากไปด้วยเวร

3. ไม่มากไปด้วยโกรธ

4. ไม่หลงตาย

5. สิ้นชีวิตแล้วย่อมถึงสุคติโลกสวรรค์

ในทางกลับกันผู้ที่ไม่มีความอดทนย่อมมีโทษ 5 ประการในทางตรงกันข้าม เช่น ไม่เป็นที่รักใคร่เป็นที่พอใจของคนหมู่มาก เป็นต้น

ไม่ว่าท่านผู้อ่านอ่านเรื่องนี้แล้วจะมองเห็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดังกล่าวข้างต้นอย่างไร และเห็นว่าใครเป็นคนผิดหรือว่าผิดทั้งคู่ ส่วนว่าถูกทั้งคู่นั้นคงเป็นไปไม่ได้ เพราะในแง่ตรรกะแล้วคนที่ขัดแย้งกันในเรื่องนี้นั้นมีโอกาสถูกคนใดคนหนึ่งหรือผิดทั้งคู่เท่านั้น เพราะในความถูกอันเดียวมีความผิดได้หลายอย่าง จึงไม่ควรมองคนที่ขัดแย้งในสิ่งเดียวกันว่าใครควรจะเป็นคนถูกก่อนที่จะหาเหตุผลให้รอบคอบรัดกุมก่อนสรุป เพราะโอกาสผิดทั้งคู่ก็มีอยู่

ดังนั้น ในเรื่องนี้ก็เกิดขึ้นได้ในทำนองเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตามในฐานะเป็นคนไทย และมีส่วนได้รับความสุขและความทุกข์จากพฤติกรรมโดยรวมของสังคมในทุกเรื่องที่เกิดขึ้น จึงไม่อยากเห็นคนไทยขัดแย้งกันเองในเรื่องที่ต้องการความสามัคคีปรองดองในชาติเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาระดับชาติ เช่น ปัญหาการก่อความไม่สงบในภาคใต้เป็นตัวอย่างไม่ควรที่คนไทยจะมองโดยการแยกส่วนออกเป็นฝ่ายค้าน และรัฐบาล แต่อยากเห็นทุกคนช่วยกันจะดีกว่า

แต่การที่จะเกิดความสามัคคีเช่นนี้ได้ ทุกฝ่ายก็จะต้องลดการถือตัวถือตนลงให้อยู่ในภาวะแห่งความเสมอภาคในความเป็นคนด้วยกัน และให้ถือความต่างกันเพียงหน้าที่และความรับผิดชอบ

ดังนั้น เด็กวัดที่อาศัยวัดก็จะต้องทนต่อการถูกพระภิกษุตำหนิ แต่ในขณะเดียวกัน พระเองก็ต้องรับฟังคำวิพากษ์วิจารณ์จากเด็กวัดผู้หวังดีที่อยากเห็นพระสงฆ์วางตัวเหมาะสมกับเพศและภาวะแห่งตนเช่นกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้วัดยังคงเป็นวัด สังคมมนุษย์ยังคงเป็นสังคมมนุษย์ผู้มีจิตใจสูงส่งที่ใช้กติกา และเหตุผลปกครองกัน แทนที่จะใช้อารมณ์และสัญชาตญาณปกครองกันเยี่ยงมนุษย์ในยุคโบราณ ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของทุกคนในสังคมโดยรวมนั่นเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น