xs
xsm
sm
md
lg

ระวัง เด็กๆ กำลังจะเปิดโทรทัศน์!

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

นอกจากความจำเป็นหรือกรณีพิเศษจริงๆ แล้ว ผู้เขียนเป็นคนที่ไม่ค่อยดูโทรทัศน์ (ข้อยกเว้นสำคัญคือรายการเกี่ยวกับชีวิตสัตว์ในโทรทัศน์ของโลกตะวันตก) โดยเฉพาะโทรทัศน์ไทย เพราะอะไรๆ เท่าที่เคยดูๆ อยู่บ้างนั้นแทบจะไม่มีอะไรที่มีคุณค่าในตัวมันเองให้ดูเลย (นอกจากการดูเพื่อต้องการที่จะเข้าใจยุคสมัยมากขึ้นเท่านั้น) มิหนำซ้ำ บ่อยๆ จะพบแต่สิ่งที่น่ารำคาญอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เช่น การแข่งขันกันส่งเสียงวิ๊ดว๊ายกะตู้วู้และออกท่าทางประเภท “เหนือจริง” ประกอบรายการสารพัดตลอดเวลา นัยว่าเพื่อที่จะเพิ่มมูลค่าที่ไร้ความหมายให้แก่กิจกรรมอันว่างเปล่าที่กำลังทำๆ กันอยู่ในนามของความสนุกสนานนั่นแหละ

ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงความซ้ำซากที่ผลิตขึ้นด้วยต้นทุนถูกๆ จนกระทั่ง “ฟรีทีวี” ที่ว่ากันว่ามีอยู่ห้าหกช่องดูเหมือนจะมีค่าเท่ากับช่องเดียวเสียแล้ว เพราะวัฒนธรรม “การเดินสาย” ทำให้คนดูไม่มีทางเลือก ไม่ว่าจะเปิดช่องใดก็จะพบคนหน้าตาเหมือนๆ กันจำนวนไม่เกินหนึ่งร้อยคน วิ่งไปวิ่งมา จากช่องนี้ไปช่องโน้น เพื่อที่จะทำโน่นทำนี่แบบเดิมซ้ำๆ ซากๆ คล้ายๆ กันไปหมด จนน่าประหลาดใจว่าปรากฏการณ์ชนิดนี้มีที่มาที่ไปอย่างไรกันแน่ ทำไมคนดูจึงดูเหมือนว่าทนกันได้ราวกับเป็นพระอิฐพระปูน

ในบางครั้งก็ถึงขั้นน่าโกรธเพราะอะไรๆ ที่ปรากฏในโทรทัศน์ไทยนั้น นอกจากจะดูถูกบรรดา “ผู้ใหญ่” อย่างไม่มีความเมตตาใดๆ ตลอดเวลาแล้ว ยังมักจะทำร้ายเด็กๆ อย่างไม่มีความปรานีอีกด้วย ที่น่ารังเกียจที่สุดคงจะเป็นการนำความน่ารักของเด็กเล็กๆ มาเป็นเครื่องมือหลอกล่อความสนใจของคนดูการโฆษณาสินค้าที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับเด็กเลย ไม่ทราบว่าพฤติกรรมอันไร้ความรับผิดชอบอย่างยิ่งชนิดนี้ใครมีหน้าที่ดูแลอยู่หรือไม่

ก่อนที่เมืองไทยจะไม่มีอะไรดีๆ เหลือให้โทรทัศน์มีโอกาสได้ทำลายให้สิ้นซากอีก อย่างน้อยๆ ในวันนี้ก็ขอให้ช่วยกันหาวิธีดูแลเด็กๆ ด้วย ถ้ามันสายไปสำหรับเด็กโตๆ เสียแล้ว ก็โปรดอย่าปล่อยให้สายเกินไปสำหรับเด็กเล็กๆ เพราะเขาอยู่ในฐานะที่เป็นเหยื่อตลอดเวลา มีข้อมูลมากมายแสดงให้ประจักษ์ว่าเขาดูแลตนเองไม่ได้เลย เช่น

๐ การวิจัยจำนวนมากมายแสดงว่าเด็กอายุต่ำกว่าแปดขวบไม่สามารถแยกแยะการโฆษณาสินค้าในโทรทัศน์ได้เลยว่าอะไรจริง อะไรถูกต้อง อะไรไม่มีอคติ ผลกระทบต่อเด็กก็คือเขาได้ก่อรูปการบริโภคอาหารที่ไม่เป็นผลดีกับสุขภาพมาตั้งแต่เล็ก ลงท้าย เมื่อยังไม่ทันจะเป็นผู้ใหญ่ดี เด็กเหล่านี้ก็เริ่มเป็นโรคอ้วน

๐ ปัญหานี้เป็นกว้างขวางมากในสหรัฐอเมริกา จนทำให้สมาคมนักจิตวิทยาอเมริกันให้ข้อเสนอแนะว่าการโฆษณาที่พุ่งเป้าไปที่เด็กอายุต่ำกว่าแปดปีจะต้องถูกควบคุมอย่างเข้มงวด ตัวอย่างเช่น ดร.เดล คุนเกลแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียแห่งซานตาบาร์บาราค้นพบว่า เนื่องจากเด็กเล็กไม่เข้าใจเจตนาการชวนเชื่อของการโฆษณา เขาจึงตกเป็นเป้าแห่งการชวนเชื่อทางการค้าอย่างง่ายดาย ส่วน ดร.ไบรอัน วิลคอก แห่งมหาวิทยาลัยเนบราสกา ก็ยืนยันว่า “นี่เป็นความห่วงใยที่สำคัญเพราะสินค้าส่วนมากที่มุ่งเป้าไปที่เด็กคืออาหารผสมน้ำตาลต่างๆ ลูกอม ขนมหวาน น้ำหวานและของขบเคี้ยว การโฆษณาสินค้าที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเหล่านี้ต่อเด็กๆ ก่อให้เกิดนิสัยการกินผิดๆ ที่อาจจะดำรงอยู่ตลอดชีวิต และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดโรคอ้วนในหมู่เด็กๆ”

๐ การวิจัยในสหรัฐอเมริกาเมื่อ ค.ศ. 2000 เรื่องหนึ่งคำนวณว่ามีการลงทุนถึงปีละ 12 พันล้านเหรียญในการซื้อเวลาโฆษณาทางโทรทัศน์ที่มีเยาวชนเป็นเป้าหมาย และในแต่ละปีเยาวชนอเมริกันจะต้องดูโฆษณาจำนวนมากถึง 40,000 เรื่องต่อคน

๐ ในขณะที่เด็กเล็กๆ ดูโทรทัศน์ เขามักจะอยู่ในภาวะจังงัง ผิดกับตอนที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์ บางคนต้องทำตัวแอบๆ ซ่อนๆ ในขณะที่ดูโทรทัศน์ เพราะถูกกดดันจากโทรทัศน์ให้ต้องตั้งใจดูอย่างจริงจัง หลังจากดูโทรทัศน์แล้วก็มักตกอยู่สภาพของคนขี้รำคาญ แสดงอาการประสาทๆ ขี้เบื่อ ชอบทะเลาะเบาะแว้ง

๐ การดูโทรทัศน์มักจะทำให้เด็กติดงอมแงมเหมือนติดยาเสพติด จนหยุดดูโทรทัศน์ไม่ได้คล้ายๆ กับคนติดเหล้า ประสบการณ์ในการดูโทรทัศน์จะมีลักษณะเสมือนการฝันกลางวัน สายตาจดจ้องอยู่ที่จอโทรทัศน์อย่างไม่ละ ศรีษะและร่างกายแข็งกระด้าง ไม่เคลื่อนไหวตามธรรมชาติเป็นเวลานานๆ จนส่งผลกระทบในทางลบต่อพัฒนาการของสมอง

สมองมนุษย์พัฒนาจากความรู้สึก การเคลื่อนไหว การพูด การคิดและจินตนาการ การดูโทรทัศน์บ่อยๆ และนานๆ ทำให้สมองซีกที่ไม่เกี่ยวข้องกับการพูดคือ “ซีกขวา” ทำงานอย่างหนัก สำหรับเด็กเล็กๆ การที่ตนได้รับภาพจำนวน 625 เส้น 800 จุด ซึ่งปรากฏตัว 25 ครั้งต่อวินาที นั้นถือว่าเหนื่อยมาก นอกจากนี้ การไม่ค่อยขยับสายตาทำให้เกิดภาวะไม่ยอมหลับ ความกังวล ฝันร้าย การปวดหัว การมองเห็นที่ผิดปกติ สมาธิสั้น และความรู้สึกมึนชา ลงท้าย เด็กเล็กๆ เหล่านี้กำลังถูกลิดรอนทักษะแห่งความรู้สึกไปเป็นอย่างมาก

๐ นอกจากนี้ เนื่องจากการดูโทรทัศน์เป็นประสบการณ์แห่งการรับรู้อย่างเฉยเมย ฉะนั้น สมอง “ซีกซ้าย” ที่ควบคุมการพูดและเหตุผลจึงมีโอกาสได้ทำงานน้อยลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพราะในการเรียนรู้ที่จะพูด เด็กจะต้องฝึกฝนกับคนจริงๆ (ไม่ใช่จากการฟังเสียงที่ผลิตในเชิงกลไกอย่างโทรทัศน์) เนื่องจากโทรทัศน์เน้นภาพ โอกาสในการเรียนรู้ทักษะการพูดของเด็กจึงลดลง เพราะโทรทัศน์ไม่บังคับให้เด็กต้องตอบโต้ ทักษะในการพูดที่น้อยลงจะส่งผลกระทบในทางลบต่อความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพราะเด็กจะขาดแรงจูงใจในการเสาะแสวงหาถ้อยคำใหม่ๆ

๐ การดูโทรทัศน์มากๆ ที่หมายถึงการดูภาพจำนวนมากๆ ที่รเปลี่ยนแปลงไปๆ มาๆ ตลอดเวลาจะส่งผลให้เด็กๆ ขาดสมาธิที่จะทำอะไรนานๆ รวมทั้งการบ่มเพาะความเกียจคร้านที่จะอ่านหนังสือ อันก่อให้เกิดความเสียหายต่อการขยายพรมแดนแห่งความรู้และจินตนาการที่มักจะมากับการอ่านหนังสือ

๐ เดิมที วัฒนธรรมเด็กมีรากฐานอยู่ที่การละเล่น เสียงธรรมชาติ และเพลงกล่อมเด็ก เด็กๆ ในยุคก่อนๆ จึงสามารถเล่นอะไรได้นานๆ ด้วยความเอาใจใส่ การดูโทรทัศน์มากขึ้นทำให้ “งาน” ที่แท้จริงของเด็กคือ “การละเล่น” ค่อยๆ หายไป ยังผลให้เด็กมีลักษณะเฉยเมย ไม่ค่อยริเริ่มอะไร การพบปะกับผู้คนจริงๆ ในระหว่างการละเล่น ทำให้เด็กเขาได้เรียนรู้ทีละนิดๆ ว่าเขาคือ “ใคร”

โทรทัศน์ที่เต็มไปด้วยภาพและเสียงเชิงกลไกเป็นของปลอมๆ ไม่ได้ชักนำให้เด็กต้องสำนึกในความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างไปจากมนุษย์อื่นๆ ของตนเอง การดูโทรทัศน์มากๆ ทำให้เด็กเชื่อมโยงกับตนเองและมนุษย์อื่นๆ ในลักษณะที่เป็น “ของ” ที่เหมือนๆ กัน ยังผลให้ความคิดสร้างสรรค์ของเด็กไม่ได้รับการพัฒนา “เด็กรุ่นโทรทัศน์” จึงมักจะมีความสามารถในการสร้างสรรค์ในเวลาที่ดำรงชีวิตจริงๆ ร่วมกับผู้อื่นได้ต่ำกว่าปกติ ลงท้าย เด็กๆ รุ่นนี้อาจจะมีพฤติกรรมในเชิงที่ขัดกับการอยู่ร่วมกันกับผู้อื่นเป็นสังคม เพราะไม่มีความสนใจในตนเองและผู้อื่นในฐานะที่เป็นมนุษย์

๐ รังสีและแสงเทียมๆ ของโทรทัศน์สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กได้เป็นอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์ท่านหนึ่งได้ค้นพบว่าต้นถั่วที่ปลูกไว้ใกล้ๆ จอโทรทัศน์จะได้รับอิทธิพลจากสารพิษของโทรทัศน์ เช่น รากของถั่วจะผุดขึ้นมาจากใต้ดิน เป็นต้น คำถามก็คือเด็กๆ ที่ดูโทรทัศน์มากๆ จะได้รับอิทธิพลจากรังสีและแสงเทียมๆ ของโทรทัศน์ที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้สักเพียงใด

ความที่องค์ความรู้เกี่ยวกับอันตรายของโทรทัศน์ต่อเด็กๆ ในสหรัฐอเมริกามีประวัติศาสตร์ยาวนาน ดังนั้น ความเข้าใจถึงความจำเป็นที่จะปกป้องเด็กๆ จากโทรทัศน์จึงปรากฏตัวขึ้นหลายรูปแบบ เช่น กฏหมายของรัฐบาลกลางว่าด้วยการสื่อสารแห่ง ค.ศ. 1996 ได้ระบุเอาไว้ว่าหลังจากกฏหมายฉบับนี้มีผลครบสองปีแล้ว ให้มีการผลิตเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า V-chip เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของพ่อแม่ในการควบคุมว่าจะตัดรายการโทรทัศน์ใดจากการเข้าถึงของเด็กๆ

ทั้งนี้ เทคโนโลยีดังกล่าวจะทำงานควบคู่ไปกับระบบการแยกแยะประเภทของรายการโทรทัศน์ที่เรียกว่า “แนวทางแยกแยะรายการโทรทัศน์ของพ่อแม่” ซึ่งอุตสาหกรรมโทรทัศน์เป็นคนวางระบบขึ้นเอง โดยมีการจัดแบ่งที่ประยุกต์จากตัวแบบของสมาคมภาพยนตร์แห่งอเมริกา นั่นก็คือ TV-G ซึ่งหมายถึงรายการที่คนดูทั่วไปสามารถดูได้ TV-PG คือรายการที่ต้องมีพ่อแม่คอยประกบTV-14 หมายถึงรายการที่ต้องเตือนให้พ่อแม่มีความระมัดระวังอย่างมาก และ TV-MA คือรายการสำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ในระยะเวลาไม่นานนัก ก็มีการร้องเรียนกันขึ้นมาว่าการจัดแบ่งที่มีรากฐานอยู่ที่อายุของคนดูเช่นนี้ไม่ดีเพียงพอ กล่าวคือ ไม่ใช่สิ่งที่พ่อแม่ต้องการเนื่องจากมันไม่บ่งบอกเลยว่าเนื้อหาจริงๆ มีอะไรบ้าง ลงท้าย ยิ่งทำให้รายการที่ตั้งใจจะไม่ให้เด็กๆ ได้ดูกลับได้รับความสนใจมากขึ้น ในเวลาต่อมา จึงมีการปรับปรุงระบบการจัดแบ่งให้ละเอียดขึ้น นั่นก็คือ มีการเพิ่มเติมสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงเนื้อหาจริงๆ ขึ้นมาในรายการแต่ละประเภทข้างต้น กล่าวคือ V หมายถึงมีความรุนแรง S หมายถึงเกี่ยวข้องกับกามารมณ์ Lหมายถึงมีการใช้ภาษาไม่เหมาะสม D หมายถึงมีการใช้บทสนทนาไม่เหมาะสม และ FV หมายถึงความรุนแรงเชิงเพ้อฝัน

ฉะนั้น รายการโทรทัศน์รายการหนึ่งอาจจะได้รับการกำหนดว่าเป็นรายการประเภท TV-14-S เป็นต้น หลังจากนั้น พ่อแม่ก็อาจจะใช้ V-chip ตัดรายการนั้นออกจากสารบบของโทรทัศน์ที่ตั้งไว้ในบ้านของตนเลย เป็นต้น

เนื่องจากระบบดังกล่าวยังถูกนำมาใช้ได้ไม่กี่ปี และก็ไม่ใช่ว่าจะใช้กันกว้างขวางทั่วไปในทุกบ้านในสหรัฐอเมริกา ดังนั้น ประสบการณ์ที่จำกัดนี้จึงยังไม่สามารถให้ข้อสรุปที่เป็นจริงเป็นจังได้มากนักว่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมการบริโภคและผลกระทบต่อเด็กๆ ในลักษณาการอย่างไรในอนาคตบ้าง แต่ที่แน่ๆ แล้วก็คือ คนอเมริกันจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มมองเห็นอันตรายที่พ่วงมากับโทรทัศน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบในทางลบของมันต่อเด็กๆ

อย่างไรก็ตาม เท่าที่เป็นอยู่ ในขณะที่พ่อแม่ส่วนมากมักจะฝากความหวังเอาไว้กับ “ผู้อื่น” ในการจัดการแยกแยะรายการโทรทัศน์ว่าอะไรจะเหมาะสมกับการบริโภคของลูกๆ ของตน พ่อแม่ที่มองการณ์ไกลกว่านั้นกลับให้ความสำคัญกับการหาวิธีการควบคุมพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็กๆ ด้วยตัวเอง บ้างก็ไม่ยอมมีโทรทัศน์ภายในบ้านของตนเสียเลย บ้างก็จำกัดจำนวนการดูโทรทัศน์ของเด็กๆ บ้างก็หาทางสร้างกิจกรรมทดแทนอื่นๆ เช่น การละเล่นประเภทต่างๆ การเล่นดนตรี การวาดภาพ การแกะสลัก การเล่นกีฬา การทำสวน การท่องเที่ยว การดูธรรมชาติ การสนับสนุนให้มีการอ่านหนังสือ เป็นต้น

เหนือสิ่งอื่นใด พ่อแม่ชาวอเมริกันที่มีการศึกษาสูงๆ จะเข้าใจเป็นอย่างดีว่าการพัฒนาชีวิตภายในครอบครัวให้มีความรักและความอบอุ่นอย่างแท้จริง รวมทั้งการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้พบปะครอบครัวที่ดีอื่นๆ ที่มีความสนใจคล้ายๆ กันคือวิธีการที่ดีที่สุดที่จะทำให้เด็กๆ ห่างจากโทรทัศน์มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

นั่นเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา ในเมืองไทย หลังจากเวลานานถึงห้าทศวรรษที่โทรทัศน์ถูกนำเข้ามาใช้ในประเทศดูเหมือนว่าเรายังแทบไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรกันเลยไม่ว่าจะเป็นการวิจัยอันจริงจังเกี่ยวกับเรื่องราวทั่วๆ ไปเกี่ยวกับกิจการโทรทัศน์ของประเทศ ความสัมพันธ์ของโทรทัศน์กับการสร้างวัฒนธรรมทางการเมือง บทบาทของโทรทัศน์ต่อพฤติกรรมการบริโภคและความใฝ่ฝันของชนชั้นต่างๆ อิทธิพลของโทรทัศน์ในการเคลื่อนย้ายระบบคุณค่าจากวัฒนธรรมทุนนิยมมาทดแทนวัฒนธรรมดั้งเดิม ฯลฯ

คงจะอีกนานหลายสิบปีละกระมังกว่าที่โจทย์ในระดับมหภาคเหล่านั้นจะได้รับความเอาใจใส่อย่างจริงจังจากใครๆ ที่ควรจะสนใจ เพราะเพียงแค่ “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์โทรทัศน์” ชนิดวันต่อวัน ที่มุ่งหวังที่จะสร้างพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ให้แก่วงการโทรทัศน์ก็ยังไม่มีกันเลย เพราะมันเป็นอะไรที่เอาไปขายทำกำไรไม่ได้ ไม่เหมือนกับเรื่องใต้สะดือที่ใครๆ อาจจะเอาไปเมาท์เล่นให้สนุกปาก หรือเป็นภาพโป๊ๆ เปลือยๆ ที่ใครจะสามารถตัดเอาไปแปะข้างฝาเพื่อดูเล่นเสียด้วย

เมืองไทยจึงดูเหมือนจะเป็นเมืองที่ถูกสาป ไม่มีใครอยากรู้ความจริง ต้องรอให้ความฉิบหายมาเยือนเสียก่อน จึง (อาจ) จะได้ยินใครบางคนละเมอขึ้นมาว่า “น่าเสียดาย.....” แต่มันก็สายไปเสียแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น