xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจการเมืองจีน (21)สิ่งที่พรรคเหนือทุนไทยเป็นได้และควรเป็น

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ประการแรก คือ ต้อง "ต่อยอด" พัฒนาการของพรรคการเมืองของไทยและของโลก ขึ้นไปยืนอยู่บน "ไหล่" ของยักษ์ แล้วพัฒนาตนเองให้เข้มแข็งก้าวหน้า ขับเคลื่อนกระบวนการเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทยไปสู่อนาคต อย่างสอดคล้องกับความเรียกร้องต้องการของประเทศชาติและประชาชนไทย

แสดงบทบาทเป็น "เหตุปัจจัยหลัก" ของการพัฒนาเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งดีๆ ของสังคมไทยและประชาชนไทยตั้งแต่เริ่มต้นเลยทีเดียว

ต่อยอดพัฒนาการของพรรคการเมืองไทย

ก่อนอื่นขอย้ำว่า เรื่องของพรรคเหนือทุน จัดอยู่ในบริบทของพรรคการเมืองที่ก่อกำเนิดขึ้นมาในสังคมทุนนิยม แต่เป็นพรรคการเมืองที่แตกต่างและ "ก้าวหน้า" กว่าพรรคการเมืองของกลุ่มทุนทั่วไป ตรงที่ก่อตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมาย "รับใช้" ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน มิใช่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อปกป้องหรือสนองตอบผลประโยชน์ของกลุ่มทุนทั้งเก่าและใหม่แต่ประการใด

ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มทุนไม่รักชาติไม่รักประชาชน เพียงแต่ในการจัดการความสัมพันธ์ระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับส่วนรวม พวกเขามีแนวโน้มที่จะคำนึงถึงผลประโยชน์เฉพาะตนเป็นอันดับแรก ซึ่งตรงกันข้ามกับพรรคเหนือทุน ที่มีจุดมุ่งหมายปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นเบื้องต้นเสมอ

ประวัติศาสตร์พัฒนาการของการเมืองและพรรคการเมืองไทยในยุคทุนนิยมครองโลก เริ่มต้นด้วยการก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไทยของคณะราษฎรในปี พ.ศ. 2475 เลิกล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สถาปนาระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข แบ่งอำนาจเป็นสามส่วน คืออำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ

ในบริบทของระบอบการปกครองใหม่นี้ บรรดากลุ่มอำนาจทั้งเก่าและใหม่ ได้กระจายตัวกันเข้ายึดหัวหาดขยายขอบข่ายอำนาจของตนอย่างเร่งรีบ มีการตั้งพรรคการเมืองขึ้นรองรับอย่างต่อเนื่อง เนื้อหาสาระของการเมืองการปกครองในระบอบใหม่จึงคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นอายของการแก่งแย่งกันขึ้นครองอำนาจ เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ ดำเนินการจัดสรรผลประโยชน์ ในระหว่างกลุ่มอำนาจต่างๆให้สามารถลงตัวได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ มากกว่าที่จะหาวิถีทางแก้ไขปัญหาของประชาชนโดยตรง

จึงปรากฏว่า ในระยะแรกๆ ของการเมืองไทยในระบอบรัฐสภา เมื่อใดที่การจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว ก็จะมีการก่อรัฐประหารโค่นอำนาจกันและกัน หรือกระทั่งเลิกล้มระบอบรัฐสภา ดำเนินการปกครองด้วยอำนาจเผด็จการ

ซึ่งในหลายๆ ครั้งของการเปลี่ยนแปลงอำนาจ มี "มือ" ของมหาอำนาจต่างชาติเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวด้วยเสมอ เพื่อ "เลี้ยง" ประเทศไทยให้แล่นไปในครรลองที่ตนกำหนดไว้ ในการเผชิญหน้ากันระหว่างกลุ่มมหาอำนาจด้วยกันเอง

จนกระทั่งขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของประชาชนเข้มแข็งเติบใหญ่ได้ที่ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในเดือนตุลาคม 2516 จึงสามารถบีบให้กลุ่มอำนาจในสังคมไทยปรับท่าที หันมาให้ความสำคัญต่อการเมืองในระบอบรัฐสภา และหลีกเลี่ยงการตกเป็นเบี้ยล่างของมหาอำนาจต่างชาติ เปิดช่องให้กลุ่มทุนใหญ่ในสังคมไทยก่อตั้งพรรคการเมืองของตน เข้าชิงชัยในเวทีเลือกตั้ง และเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ กระทั่งสามารถจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศด้วยตนเองในที่สุด ดังกรณีพรรคไทยรักไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 เป็นต้นมา

ทว่า โดยสถานภาพและความเป็นมาของกลุ่มทุนผู้ก่อตั้งพรรค พรรคไทยรักไทยมีข้อจำกัดอยู่ในตัว คือถึงอย่างไรก็ยังคงมุ่งปกป้องและเสริมสร้างเครือข่ายผลประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศไทยเป็นเบื้องต้น ยังคงมิใช่พรรคการเมืองของประชาชน เพื่อประชาชน และโดยประชาชนอย่างแท้จริง

พรรคอื่นๆ ที่ยังโลดแล่นอยู่บนเวทีการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน เป็นต้น ก็จัดอยู่ในความเป็นพรรคกลุ่มทุนเช่นเดียวกับพรรคไทยรักไทย เคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อปกป้องและเสริมสร้างเครือข่ายผลประโยชน์ของกลุ่มทุนต่างๆในสังคมไทยเป็นเบื้องต้น

สรุปคือ พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของไทย ณ วันนี้ ล้วนแต่เป็นพรรคตัวแทนผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่ในสังคมไทย มีข้อจำกัดอย่างยิ่งในการที่จะดำเนินนโยบายที่สามารถยังประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนไทย

สำหรับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ก่อตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2485 ยึดมั่นในอุดมการณ์มาร์กซิสม์ มุ่งดำเนินการปฏิวัติด้วยความรุนแรงตามแบบอย่างพรรคบอลเชวิคและพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน มีความเป็น "นักปฏิวัติ" มากกว่านักการเมือง ไม่อาจเชื่อมโยงตนเองเข้าไปในโครงสร้างพัฒนาการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยได้ จึงค้นไม่พบช่องทางขยายฐานทางการเมืองของตน และจำต้องยุติบทบาททางประวัติศาสตร์ของตนลงโดยปริยายในราวปลายทศวรรษ พ.ศ. 2520

ด้วยเหตุนี้ ความจำเป็นที่จะต้องมีพรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง ในรูปของ "พรรคเหนือทุน" จึงมีอยู่อย่างชัดเจน

ต่อยอดพัฒนาการพรรคการเมืองโลก

ก่อนจะลงลึกไปกว่านี้ ขอทบทวนความเข้าใจเรื่องพรรคการเมืองในบริบทสังคมทุนนิยมพอเป็นสังเขป เพื่อให้พัฒนาการของการเมืองไทยเชื่อมต่อกับพัฒนาการของการเมืองโลก สำหรับเป็นฐานรองรับการ "ต่อยอด" ของพรรคการเมืองเหนือทุนไทย

ก่อนยุคทุนนิยมไม่มีพรรคการเมือง อำนาจการปกครองอยู่ในมือของเจ้าผู้ครองนครหรือเจ้าแผ่นดิน ใช้อำนาจในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์แบบชี้ต้นตายชี้ปลายเป็น

ภายหลังการปฏิวัติทุนนิยม พรรคการเมืองจึงได้ถือกำเนิดขึ้น กลุ่มทุนอุตสาหกรรมได้ก้าวขึ้นมาใช้อำนาจบริหารประเทศในรูปของพรรคการเมือง ซึ่งมีหลายพรรคหลายกลุ่มเกิดขึ้นพร้อมๆ กัน ตามการรวมตัวของกลุ่มผลประโยชน์หลักๆ ในสังคม ซึ่งได้รวมตัวกันเข้าเป็นชาติรัฐ (national state) และดำเนินการปกครองในระบอบรัฐสภา ใช้การเลือกตั้งและเสียงส่วนใหญ่ในรัฐสภา กำหนดทิศทาง แนวทาง และนโยบายการใช้อำนาจบริหารประเทศ หรือที่เรียกรวมๆ ว่า เป็น "การเมือง" ในระบอบประชาธิปไตย

ดังนั้น พรรคการเมืองจึงเป็นผลิตผลทางประวัติศาสตร์ร่วมกันกับระบอบทุนนิยมและชาติรัฐ

หรือถ้าจะให้ชัดลงไปอีก การผลิตแบบอุตสาหกรรมที่ใช้ทุนเงินทุน เครื่องจักร และวัตถุดิบ เป็นหลัก ได้เข้าแทนที่การผลิตแบบเกษตรกรรมที่ใช้แรงงานคน สัตว์ และที่ดินเป็นหลัก นำไปสู่การเชื่อมโยงของอำนาจทุน มีการรวมตัวกันของผู้ครองกรรมสิทธิ์ในทุน (ในรูปเงินทุน เครื่องจักรและวัตถุดิบ) ทั้งในและระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ ของยุโรป (แหล่งกำเนิดของระบอบทุนนิยม)

อีกนัยหนึ่ง พรรคการเมือง คือรูปแบบการรวมตัวกันเข้าของกลุ่มผู้ครองกรรมสิทธิ์ในทุน มุ่งใช้อำนาจบริหารเพื่อสนองประโยชน์ให้แก่ตนเองและระบอบทุนนิยมโดยรวม

อำนาจบริหารประเทศนี้ ส่วนใหญ่ได้มาด้วยการแย่งชิงจากกษัตริย์ที่ปกครองแผ่นดินในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมักจะเป็นไปอย่างรุนแรง หรือไม่ก็เป็นชัยชนะของกลุ่มทุนในการต่อรองอำนาจกับกลุ่มอำนาจเก่า (กษัตริย์ศักดินา) และกลุ่มทุนเป็นฝ่ายมีชัย ได้เข้าใช้อำนาจบริหารประเทศ ขณะที่กลุ่มอำนาจเก่ายังคงสามารถรักษาผลประโยชน์ที่เคยมีเคยได้ไว้เป็นส่วนใหญ่ และยินยอมที่จะร่วมกันกับกลุ่มทุนพัฒนาระบอบทุนนิยมให้ขยายตัวเติบใหญ่ต่อไป

กระบวนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจจากกลุ่มกษัตริย์ศักดินามาสู่กลุ่มทุน ในรูปแบบต่างๆ ในยุโรป ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 16 จนถึงปลายศตวรรษที่ 19 การเมืองในระบอบประชาธิปไตยกลุ่มทุนหรือชนชั้นนายทุนได้เข้าแทนที่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างเบ็ดเสร็จแล้ว เว้นแต่ในบางจุดยังอ่อนไหวไม่มั่นคง เช่นเยอรมนีและอิตาลี ซึ่งพลาดท่าในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และต่อมาถูกกลุ่มชาตินิยมสุดขั้วคือพวกนาซีในเยอรมนีกับฟาสซิสต์ในอิตาลี (รวมทั้งกลุ่มลัทธิทหารในญี่ปุ่น) ฉกฉวยจังหวะปลุกระดมลัทธิเผด็จการ ก่อสงครามโลกครั้งที่สอง ร้อนถึงประเทศประชาธิปไตยในระบอบทุนนิยม รวมทั้งสหภาพโซเวียต รัฐสังคมนิยมแห่งแรกของโลกต้องจับมือกันตอบโต้ จนได้รับชัยชนะ

อย่างไรก็ดี ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สอง สังคมโลกตกอยู่ภายใต้การเผชิญหน้ากันระหว่างค่ายทุนนิยมกับค่ายสังคมนิยม โลกทุนนิยมภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกาได้ปรับกลยุทธ์ใหม่ หันมาสนับสนุนกลุ่มทุนในสามประเทศอักษะคือเยอรมนี อิตาลี กับญี่ปุ่น พัฒนาการผลิตแบบทุนนิยม ดำเนินการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่มีพรรคการเมืองกลุ่มทุนเป็นผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ

กลุ่มทุนคือ "เจ้าภาพ" ตัวจริงในการเมืองระบอบประชาธิปไตยทุนนิยม

ลักษณะร่วมกันของการบริหารประเทศโดยพรรคการเมืองกลุ่มทุนทั้งแบบดั้งเดิมและแบบสมทบ ทั้งของไทยและของโลก ก็คือ กลุ่มทุนพากัน "ลงขัน" ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมือง กำหนดตัวบุคคลและแนวทางการบริหารประเทศที่เอื้อต่อการพัฒนาระบอบทุนนิยม ซึ่งตามกฎกติกาที่ตกลงกันไว้ ก็จะเป็นการจัดตั้งพรรคการเมืองหลายพรรค ดำเนินการแข่งขันต่อสู้เพื่อครองที่นั่งในรัฐสภา และจัดตั้งรัฐบาลดำเนินการบริหารประเทศ

นับเป็นการแข่งขันที่ "แฟร์ดี" สำหรับกลุ่มทุนด้วยกัน ที่สามารถใช้เวทีการเมืองในระบอบรัฐสภาช่วงชิงอำนาจบริหารประเทศ ซึ่งต่างฝ่ายมีสิทธิอย่างเท่าเทียมกันที่จะใช้กลยุทธ์หรือวิธีการต่างๆ ที่เป็นไปได้ ต่อสู้กันสุดฤทธิ์สุดเดช

ฝ่ายที่ได้ชัยชนะ ก็จะเข้าบริหารประเทศในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎกติการ่วมกัน (เรียกว่ารัฐธรรมนูญ) ส่วนผู้แพ้ก็ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน เปิดโปงการทำงานของรัฐบาล หรือทำในสิ่งต่างๆ ที่จะพลิกฟื้นคะแนนนิยมของประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง สำหรับการชิงชัยบนเวทีเลือกตั้งในคราวต่อไป

จึงเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคการเมืองกลุ่มทุนในประเทศยุโรป คือแม่แบบของพรรคการเมืองกลุ่มทุนของประเทศต่างๆ ในทวีปอื่นๆ ทั่วโลก

อย่างไรก็ดี มีเพียงบางประเทศเท่านั้นที่พรรคการเมืองกลุ่มทุนสามารถทำหน้าที่บริหารประเทศบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ประเทศเจริญรุ่งเรืองและประชาชนอยู่ดีกินดี มีอิสรเสรีภาพส่วนตัวในระดับสูง ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจทุนนิยมพัฒนาได้ดี มีฐานการผลิตอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งล้วนแต่เคยเป็นดินแดนอาณานิคมของกลุ่มประเทศยุโรป เป็นแหล่งรองรับผู้อพยพชาวยุโรปที่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในระบอบทุนนิยมเป็นอย่างดี เมื่อลงหลักปักฐานในดินแดนอาณานิคมแล้วก็เริ่มพัฒนาเศรษฐกิจในระบอบทุนนิยมได้ทันที การเมืองในระบอบรัฐสภาหรือประชาธิปไตยทุนนิยมก็เฟื่องฟูได้ในระยะเวลาอันสั้น มีศักยภาพเพียงพอที่จะขยายอำนาจไปยังต่างแดนแข่งขันกับกลุ่มประเทศทุนนิยมรุ่นเก่าในยุโรปไปทั่วทุกแห่งหน

ตรงกันข้าม ดินแดนอาณานิคมหรือแหล่งอารยธรรมเก่าแก่ของโลก เช่น เอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกา ต่างตกอยู่ในสถานเดียวกันคือถูกอำนาจต่างชาติทุนนิยมเข้าครอบครอง มีเพียงบางประเทศเท่านั้น เช่น ญี่ปุ่น ที่ปรับตัวได้ทัน สามารถพัฒนาเศรษฐกิจทุนนิยมขึ้นมาได้ด้วยลัทธิชาตินิยม อำนาจการปกครองตกอยู่ในมือกลุ่มทุนผูกขาด เผด็จการฟาสซิสต์ นิยมใช้การรุกราน ยึดครองดินแดนประเทศเพื่อนบ้าน เช่นเกาหลีและจีน สร้างเป็นฐานการก้าวสู่ความเป็นมหาอำนาจของตนต่อไป

แต่ประเทศส่วนใหญ่ ไม่มีโอกาสพัฒนากลุ่มทุนในชาติ มีแต่กลุ่มทุนนายหน้า ติดเนื่องอยู่กับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนต่างชาติ การพัฒนาทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยทุนนิยม จึงเป็นเพียง "เปลือก" ที่ใช้สำหรับห่อหุ้มประเทศหรือดินแดนในอิทธิพลของมหาอำนาจทุนนิยม

พรรคการเมืองที่ตั้งขึ้น จึงเป็นได้เพียงตัวแทนผลประโยชน์ของมหาอำนาจต่างชาติและกลุ่มทุนนายหน้าในประเทศเท่านั้น ดังนั้น ผลประโยชน์ต่างๆ จึงตกเป็นของทุนต่างชาติและกลุ่มทุนนายหน้าอย่างสิ้นเชิง ไม่มีส่วนตกหล่นถึงประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริงเลย
ดังนั้น การ "ต่อยอด" ของพรรคการเมืองประชาชน ในรูปของพรรคเหนือทุน บนฐานการพัฒนาของพรรคการเมืองกลุ่มทุน ก็คือจะต้องศึกษาเรียนรู้ความเป็นมืออาชีพของพรรคการเมืองกลุ่มทุน ในการบริหารจัดการ เสริมความเข้มแข็ง ความมีประสิทธิภาพให้กับตนเอง หลีกเลี่ยงการเป็นพรรคการเมืองใต้อิทธิพลมหาอำนาจต่างชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ทั้งนี้ พรรคเหนือทุนจะต้องไม่เป็นตัวแทนผลประโยชน์กลุ่มทุนใดๆ ทั้งทุนต่างประเทศและทุนในประเทศ ทั้งทุนผูกขาดและทุนขุนนางนายหน้า แต่จะต้องเป็นพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประเทศชาติและของประชาชนเท่านั้น และอย่างแท้จริง

ซึ่งทั้งหมดนั้น ไม่ได้หมายความว่าพรรคการเมืองเหนือทุนจะไม่สนใจในการเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนต่างๆ ในสังคมไทย อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม แต่ประการใด

ในบทต่อไป ผู้เขียนจะนำเสนอการต่อยอดพัฒนาการของพรรคการเมืองมาร์กซิสต์ ต้นแบบของพรรคการเมืองเหนือทุน

(ขอย้ำว่า บทความของผู้เขียน ไม่ใช่บทสรุป แต่เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิด เท่านั้น)
กำลังโหลดความคิดเห็น