xs
xsm
sm
md
lg

บังคับใช้พ.ร.ฎ.หลัง9มี.ค.นี้ "บวรศักดิ์"การันตีไม่ฉุกเฉินไม่งัดมาใช้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"บวรศักดิ์"เอาเกียรติยศและตำแหน่งการันตี พ.ร.ฎ.ประชุม ครม.ฉุกเฉิน เป็นเรื่องดี ไม่มีเหตุฉุกเฉินไม่งัดมาใช้เด็ดขาด เผยหลังวันที่ 9 มี.ค.มีผลบังคับใช้ "โภคิน"ยันเป็นเจตนาดี โดยเฉพาะการกำหนดองค์ประชุม ครม.เพื่อให้เกิดความชัดเจน เพราะปัจจุบันการเวียนมติ ครม.ทำได้อยู่แล้ว ติงอย่างนำไปเปรียบสมัย"สุจินดา"เพราะเป็นเผด็จการ ด้าน ครป.ชี้เป็นการกระทำชำเรารัฐธรรมนูญ หวั่นนายกฯใช้อำนาจตรา พ.ร.ก.ระบุที่ผ่านมาไม่มีอำนาจยังตราเป็นว่าเล่น พร้อมทวงถามหลักนิติรัฐจาก"บวรศักดิ์"

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฏ.) ว่าด้วยการเสนอเรื่อง และการประชุมครม. ซึ่งกำหนดให้ องค์ประชุมครม.คือ 1 ใน 3 และในเรื่องฉุกเฉิน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี หารือกับเฉพาะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกมติครม.ได้ โดยใช้วิธีการเวียนมติครม. ซึ่งเป็นการให้ อำนาจนายกฯมากเกินไป ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอทรงลงพระปรมาภิไธย หลังวันที่ 9 มี.ค.นี้จะสามารถมีผลบังคับใช้ได้

นายบวรศักดิ์ ยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีการหมกเม็ดในการดำเนินการ เพราะได้ทำมาตั้งแต่ปี 2546 โดยล่าสุดได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุมสัมมนาประมาณ 500 คน โดยมีนักวิชาการและสื่อมวลชนเข้าร่วม

ส่วนเนื้อหาสาระที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันในขณะนี้ เพราะสื่อนำเสนอไม่หมด ประเด็นดีๆ กลับไม่มีการหยิบยกมาพูด

ทั้งนี้สาระสำคัญในการร่าง พ.ร.ฏ.ฉบับนี้ ความจริงถือว่าเป็นการเข้ามาจัดระบบการเสนอเรื่องเข้าสู่ ครม.ให้มีความโปร่งใส มากขึ้น สมัยก่อนมีการเสนอวาระจรเข้ามาได้ตลอด แต่ในฉบับนี้จะทำไม่ได้ เว้นแต่มีเหตุฉุกเฉินเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน และวาระเวียนก็จะมีไม่ได้แล้ว ซึ่งต้องยอมรับว่ารัฐบาลในอดีตมีหนังสือเวียนหลายครั้ง และในช่วงท้ายๆ ของรัฐบาลต่างๆ ก็มักมีมติครม.ออกมาเป็นภาษาเขียนทั้งนั้น

"ข้อสำคัญมติ ครม.ฉุกเฉิน เมื่อออกไปแล้วจะต้องแจ้งให้ ครม.ใหญ่ทราบในทันที ถ้าครม.ใหญ่ไม่เห็นด้วยก็สามารถแก้ไขได้ รัฐบาลนี้ถ้าไม่มีเหตุฉุกเฉิน อย่างเช่นการ เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา หรือเหตุการณ์ สึนามิ ที่จะต้องประชุมตัดสินใจออกมติ ก็จะไม่มีการใช้ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ต้องดูเหตุผลและความจำเป็น ผมเอาเกียรติยศ และตำแหน่งผมนี่แหละการันตีได้ ทำไมไม่พูดถึงเรื่องดีๆ กันบ้าง เวลานี้ผมกำลังเขียนบทความในเรื่องนี้อีกวันสองวันจะเสร็จและจะนำลงในเว็ปไซด์ สลค.เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนได้ทราบ จริงๆแล้วต้องยอมรับว่า รัฐบาลนายกฯทักษิณ ใจกว้างมากที่ยอมให้เขียนกฎหมายมัดคอตั้งกฎเกณฑ์นี้ขึ้นมาถือเป็นการเขียนกฎหมายให้มีหลักเกณฑ์เหมือนประเทศอื่นที่เขาทำกัน เช่น อิตาลี เยอรมัน" นายบวรศักิด์ กล่าว

**โภคินยันออกพ.ร.ฎ.เป็นเจตนาดี

นายโภคิน พลกุล รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายออกมาคัดค้านการออก พ.ร.ฎ.ว่าด้วยการเสนอเรื่อง และการประชุมครม. ซึ่งกำหนดให้องค์ประชุมครม. คือ 1 ใน 3 และในเรื่องฉุกเฉิน ให้อำนาจนายกรัฐมนตรี หารือกับเฉพาะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อออกมติ ครม.ได้ โดยใช้วิธีการเวียนมติ ครม. ซึ่งเป็นการให้ อำนาจนายกฯมากเกินไป ว่า เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับความคิดของแต่ละคน แต่การนำไป เปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาล พล.อ.สุจินดา คราประยูร อาจทำให้หลายคนไม่เข้าใจ เพราะไปเปรียบเทียบกับระบบเผด็จการ

นายโภคิน กล่าวว่า การเวียนมติค รม.เคยมีมาก่อนหน้านี้แล้ว อย่างในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ที่มารับช่วงต่อจากรัฐบาล นายบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งขณะนั้นมีกฎหมายสำคัญ 7 ฉบับ ที่เป็นประโยชน์ เช่น พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ หรือ กฎหมายเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพทั้งหลาย ที่มีการนำเสนอเข้าๆ ออกๆ สภาผู้แทนราษฎร จนกระทั่งเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งการเสนอกฎหมายเหล่านี้ จะต้องเป็นมติครม.

"ผมจึงใช้วิธีการเวียนมติครม.แทนการประชุมครม.เพื่อเสนอร่างกฎหมาย เหล่านี้ ขณะนั้นถูกต่อว่าจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า ทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นรัฐบาลรักษาการ ผมจึงได้นำหลักฐานมาให้ดูว่า ในสมัยพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาลรักษาการ ก็มีการเวียนมติครม.แบบนี้เช่นกันในหลายเรื่อง รวมถึงการเสนอร่างกฎหมาย"

นายโภคิน กล่าวว่า เรื่องนี้จริงๆ แล้วอยู่ที่สาระของเรื่อง ถ้าเรื่องนั้นมีเหตุมีผล หรือจำเป็นต้องทำ ถ้าไม่ทำจะทำให้เกิดความเสียหาย ถึงแม้จะไม่มี พ.ร.ฎ.ดังกล่าว ก็เป็นหน้าที่ของครม.จะต้องแก้ปัญหา เพื่อเสนอกฎหมายเข้าสู่สภา ขณะนั้นแม้จะถูกต่อว่า แต่เมื่อชี้แจงข้อเท็จจริง ก็ไม่มีปัญหา เพราะทุกคนเห็นว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้ไปเวียนแบบสมัยของ พล.อ.สุจินดา ที่เกี่ยวกับเรื่องของการนิรโทษกรรม

"อยากจะถามว่า ทำไมจึงจะเวียนมติครม.แบบนี้ไม่ได้ ส่วนในเรื่องขององค์ประชุมของครม.ว่าจะต้องมีจำนวนเท่าไรนั้น ตรงนี้ยังไม่ได้มีการวางหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน การออก พ.ร.ฎ.ถือว่าเป็นเจตนาที่ดี แต่จะต้องไปวางหลักเกณฑ์ให้ชัดเจน ส่วนหลักเกณฑ์ที่วางคนอาจจะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วย ก็วิพากษ์วิจารณ์กันไป แต่ท้ายที่สุดจะต้องหาจุดที่เหมาะสม"

ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า นายกรัฐมนตรีมีอำนาจเรียกประชุมได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องออก พ.ร.ฎ. นายโภคิน กล่าวว่า จุดใหญ่น่าจะอยู่ที่การกำหนดองค์ประชุม ว่า ควรจะมีจำนวนเท่าไร เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการทำงาน ถึงแม้ในทางปฏิบัติ รัฐบาลภายใต้การนำของนายกฯทักษิณ อาจจะไม่มีปัญหามากนัก สามารถเรียกประชุมได้อยู่แล้ว เพราะพรรคไทยรักไทยตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียว ได้ ส.ส.มาถึง 75% ของที่นั่งทั้งหมด ตรงนี้จะทำงานอะไรก็ได้อยู่แล้ว ขอให้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ไม่ขัดต่อกฎหมายที่มีอยู่

**ครป.อัดเป็นการชำเรารธน.

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) กล่าวว่า ร่างพ.ร.ฎ.ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ครม.ฉุกเฉิน เป็นการเปิดช่องให้ นายกฯ ตราพระราชกำหนด หรือ พ.ร.ก.ได้โดยปริยาย ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับว่า พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ไปล้มล้างรัฐธรรมนูญ เพราะ ถ้านายกฯเห็นว่ามีเรื่องเร่งด่วนฉุกเฉิน ก็ใช้อำนาจตาม พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ตราพระราชกำหนดได้เลย ซึ่งหากสภาเห็นว่า ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน และเข้าชื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความเหมือนที่ผ่านๆ มา ก็คงทำไม่ได้ เพราะนายกฯใช้อำนาจตาม พ.ร.ฎ. ตนเห็นว่านี่เป็นการขโมยอำนาจวินิจฉัยในกรณีเร่งด่วนฉุกเฉินจากฝ่ายนิติบัญญัติ และจาก ครม.ทั้ง 35 คน มาไว้ที่ตัว นายกฯคนเดียว

นายสุริยะใส กล่าวว่า นายบวรศักดิ์จะมาอ้างว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายกฯคนต่อๆ ไปคงไม่กล้าใช้อำนาจตรงนี้ไปออกพ.ร.ก.นั้นคงไม่จริง ที่สำคัญถ้านายกฯ ไม่คิดจะใช้อำนาจส่วนนี้แล้วจะออก พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มาทำไม เพราะทุกวันนี้ก็มีอำนาจล้นฟ้าอยู่แล้ว

"ต้องไม่ลืมว่ารัฐบาลนี้บริหารอำนาจโดยแหกกรอบทฤษฎีเป็นว่าเล่น เช่น กรณีการตรา พ.ร.ก.จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในกิจการโทรคมนาคม ก็พบชัดเจนว่า ผิดทั้งหลักกฎหมายเพราะไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนฉุกเฉินที่ต้องออกเป็นพ.ร.ก.และยังผิดทั้งหลักเศรษฐศาสตร์ที่การจัดเก็บภาษีประเภทภาษีสรรพสามิตเขาจัดเก็บเฉพาะกับสินค้าบาปจำพวกเหล้า บุหรี่ อาบอบนวด แต่รัฐบาลนี้ก็ทำมาแล้ว ผลของกฎหมายฉบับนี้จะทำให้รัฐมนตรีไม่มีส่วนร่วม ลองนึกดูขนาดคนระดับรัฐมนตรียังไม่มีส่วนร่วม แล้วประชาชนทั่วไปจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร"

นายสุริยะใส กล่าวว่า อยากให้ นายบวรศักดิ์ ทบทวนเรื่องอีกครั้งหนึ่ง นายบวรศักดิ์พูดเสมอว่าปฏิรูปการเมืองต้องยึดเรื่องหลักนิติรัฐ แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นกฎหมายที่ไร้หลัก และทำลายระบบ กฎหมายและรัฐธรรมนูญของประเทศ อย่างรุนแรง และถือว่าเป็นการกระทำชำเรารัฐธรรมนูญโดยปริยาย
กำลังโหลดความคิดเห็น