ตำราดาราศาสตร์จารึกว่า John Couch Adams แห่งมหาวิทยาลัย Cambridge ในประเทศอังกฤษ และ Urbain Le Verrier นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ร่วมพบดาวเคราะห์ Neptune ของสุริยจักรวาลในปี พ.ศ. 2389 เราหลายคนคงไม่รู้ว่า กว่าจะตกลงกันได้ว่าใครพบก่อน สัมพันธภาพทางการทูตระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสเกือบขาดสะบั้น แต่เมื่อเร็วๆ นี้นักประวัติศาสตร์ได้พบหลักฐานเพิ่มเติมว่า Le Verrier คือผู้ที่สมควรได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้พบดาว Neptune แต่ผู้เดียว
ย้อนอดีตไปในคืนวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2324 (รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช) William Herschel นักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอังกฤษได้เห็นดาวสีเหลือง-เขียวดวงหนึ่งปรากฏในกลุ่มดาว Gemini Herschel จึงคิดว่ามันเป็นดาวหางที่ไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน เขาตั้งใจเรียกดาวดวงใหม่ที่พบว่า Georgium Sidus ซึ่งแปลว่า ดาราแห่งกษัตริย์ George แต่ Johann Elert Bode คิดว่าเป็นเรื่องไม่บังควรที่จะนำพระนามของกษัตริย์ไปตั้งเป็นชื่อของดาวเคราะห์ ดาวดวงใหม่นี้จึงได้ชื่อว่า Uranus การศึกษาวิถีโคจรของ Uranus ในเวลาต่อมา ได้ทำให้นักดาราศาสตร์รู้สึกกังวลมาก เพราะได้พบว่า ดาวดวงนี้มิได้มีวิถีโคจรที่เป็นไปตามกฎแรงโน้มถ่วงของ Newton อย่างที่ใครๆ คาดคิดเลย เพราะการทำนายกับการสังเกตเห็นมิได้สอดคล้องกัน เหตุการณ์นี้ได้ทำให้นักดาราศาสตร์ในสมัยนั้นหลายคนคิดว่า กฎแรงโน้มถ่วงของ Newton ผิด หรือมิฉะนั้นก็ใช้ไม่ได้ เพราะดาวเคราะห์ Uranus อยู่ไกลจากดวงอาทิตย์มาก
ความกังวลนี้ได้ทำให้ J.C. Adams หันมาสนใจปัญหานี้บ้าง แต่เขาคิดว่ากฎการโน้มถ่วงของ Newton นั้นยังถูกต้อง และการที่ Uranus มีวิถีโคจรที่ผิดคาด เพราะสุริยจักรวาลมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อน และดาวดวงนี้โคจรอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่า Uranus จากนั้นอิทธิพลของแรงดึงดูดแบบโน้มถ่วงระหว่างดาวลึกลับกับ Uranus ได้ทำให้วิถีโคจรของ Uranus ถูกกระทบกระเทือน และหลังจากที่ได้ตั้งสมมติฐานนี้แล้ว Adams ก็ใช้เวลาอีก 2 ปี เพื่อคำนวณผลกระทบที่เกิดขึ้น และได้ส่งรายงานการคำนวณถึง George Biddell Airy ผู้เป็นนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนักแห่งกรุงอังกฤษ แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกว่า Airy มิได้สนใจอ่านรายงานของ Adams แต่ในเวลาต่อมา เมื่อ Airy เห็นรายงานการวิจัยของ Urbain Le Verrier ที่ปรากฏในวารสาร French Academy of Sciences ฉบับวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2381 Airy รู้สึกตกใจมาก เพราะ Le Verrier ได้เสนอแนะว่า ในการอธิบายวงโคจรที่อปกติของ Uranus สุริยจักรวาลต้องมีดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อีก 1 ดวงที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ยิ่งกว่า Uranus และในฐานะที่เป็นนักดาราศาสตร์ประจำราชสำนัก Airy ได้มอบหมายให้ Games Challis แห่งหอดูดาวที่ Greenwich ค้นหาดาวเคราะห์ที่ Le Verrier ทำนาย แต่ก็ไม่พบดาวดังกล่าวเลย
ในขณะเดียวกัน Le Verrier ก็ได้เขียนจดหมายถึง Johann Gottfried Galle แห่งเยอรมนี และได้ขอร้องให้ Galle ใช้กล้องโทรทรรศน์ส่องดูท้องฟ้า ณ ตำแหน่งที่ Le Verrier พยากรณ์ไว้ว่าจะต้องมีดาวเคราะห์อีกดวงหนึ่งที่ยังไม่มีใครเคยเห็นมาก่อนปรากฏอยู่ และภายในเวลาเพียงครึ่งชั่วโมง Galle และ Heinrich Louis d' Arrest ผู้เป็นผู้ช่วยของ Galle ก็เห็นดาวที่ไม่เคยมีใครเคยรายงานการเห็นมาก่อน และวันต่อมาคนทั้งสองก็พบว่า ดาวดังกล่าวได้ขยับเลื่อนตำแหน่งนั่นแสดงว่า ดาวที่เห็นเป็นดาวเคราะห์ดวงใหม่จริงๆ
รายงานการพบดาว Neptune ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2389 ได้ทำให้สงครามวิชาการระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศสระเบิด เพราะวงการดาราศาสตร์ทั่วโลกต่างพากันแซ่ซ้องสรรเสริญความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของ Le Verrier ว่าเป็นผู้ที่ทำให้กฎแรงโน้มถ่วงของ Newton ยังคงศักดิ์สิทธิ์คือใช้ได้ต่อไป และแทบไม่มีใครเอ่ยถึงผลงานของ Adams เลย เหตุการณ์นี้ทำให้ Airy นักดาราศาสตร์อาวุโสของอังกฤษเดือดดาลมาก
John Adams ผู้มีครอบครัวที่คล้ายกับ Newton ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2362 Adams ในวัยเด็กเป็นคนเก่งคณิตศาสตร์เคร่งศาสนา ขี้อาย ทำงานจริงจัง ชอบร้องเพลง และเล่นไวโอลิน ขณะศึกษาที่มหาวิทยาลัย Cambridge เขาเรียนคณิตศาสตร์ได้คะแนนยอดเยี่ยม เช่น ได้รางวัล Smith ซึ่งมีเกียรติมาก และได้รับตำแหน่ง Senior Corangler เพราะสอบคณิตศาสตร์ได้เป็นที่หนึ่งในการสอบ Mathematical Tripos ในปี พ.ศ. 2384 Adams ได้อ่านรายงานการวิจัยของ G.B. Airy ซึ่งกล่าวว่า วิถีโคจรของดาว Uranus ไม่ได้เป็นไปตามทฤษฎีแรงโน้มถ่วงของ Newton เหตุการณ์นี้ทำให้นักดาราศาสตร์ในสมัยนั้นบางคนคิดว่า Uranus คงโคจรผ่านตัวกลางที่มีความหนาแน่นมาก จนแรงเสียดทานที่เกิดขึ้นทำให้รัศมีวงโคจรของมันเบี่ยงเบน บางคนคิดว่า Uranus น่าจะเป็นดาวหางมากกว่าดาวเคราะห์ เพราะวงโคจรของมันรีมากกว่าวงโคจรของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ แต่ Adams กลับคิดว่า ความอปกติทั้งหลายทั้งปวงเกิดจากดาวเคราะห์ลึกลับอีกดวงหนึ่ง โดยเขาได้สมมติมวลของดาวเคราะห์ดวงใหม่ และตำแหน่งที่มันอยู่ขึ้นมาแล้วใช้ข้อมูลทั้งสองนี้คำนวณโดยใช้กฎแรงดึงดูดของ Newton ประกอบการคำนวณที่ใช้เวลานาน 2 ปี (เพราะในสมัยนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้) ทำให้ Adams สามารถอธิบายวิถีโคจรของ Uranus ได้ ดังนั้นงานขั้นต่อไปคือต้องหานักดาราศาสตร์ที่มีกล้องโทรทรรศน์มายืนยัน Adams จึงเดินทางไปหา Airy ที่ Greenwich เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2388 แต่ Airy ขณะนั้นไปฝรั่งเศส Adams ซึ่งเป็นคนขี้อาย และถ่อมตน จึงเขียนจดหมายและรายงานเรื่องที่ตนพบเพียงสั้นๆ ให้ Airy อ่าน แล้วตนเองก็เดินทางกลับ Cambridge แต่ Ariy มิได้ไว้ใจผลคำนวณของ Adams เพราะรายงานไม่มีรายละเอียด และขณะนั้น Airy ก็กำลังมีปัญหาครอบครัว คือภรรยากำลังจะคลอดบุตรคนที่ 9 และ Challis ผู้เป็นผู้ช่วยของ Airy ก็ถูกกล่าวหาว่า ฆาตกรรมลูกสาวตนเอง Airy จึงมิได้สนใจผลงานของ Adams เท่าที่ควร
ส่วน Le Verrier นั้น ก็มีประวัติว่ามีอายุมากกว่า Adams 8 ปี และเป็นนักคณิตศาสตร์ผู้มีความสามารถสูงมากคนหนึ่ง ซึ่งได้เคยศึกษาที่ L' Ecole Polytechnique อันเป็นสถาบันการศึกษาที่ดีที่สุดของฝรั่งเศสในสมัยนั้น เขาได้มาทำงานเป็นนักดาราศาสตร์ประจำสถาบันอันทรงเกียรตินี้ เมื่อมีอายุได้ 34 ปี และ Francois Arago แห่งหอดูดาวที่ Paris ได้เสนอแนะ Le Verrier ให้สนใจปัญหาดาว Uranus และหลังจากที่ได้คำนวณเรื่องนี้นาน 2 เดือน Le Verrier ก็นำเสนอผลงานวิจัยของตนต่อ French Academy of Sciences โดยได้สรุปว่า อิทธิพลแรงดึงดูดแบบโน้มถ่วงที่ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์กระทำต่อดาว Uranus ไม่มากพอที่จะอธิบายการเคลื่อนที่ที่ผิดปกติของ Uranus ได้ ดังนั้น สุริยจักรวาลจะต้องมีดาวเคราะห์ดวงใหม่ ซึ่งขณะนั้นอยู่ระหว่างกลุ่มดาว Aquarius และ Capricorn ที่ทำให้วิถีโคจรของ Uranus เป็นดังที่เห็น ซึ่งผลการสรุปนี้ตรงกับที่ Adams ได้คำนวณไว้ แต่ความแตกต่างอยู่ที่ Le Verrier ตีพิมพ์ผลงานของตน ส่วน Adams เงียบไม่ตีพิมพ์ผลงานใดๆ
เมื่อ Airy รู้ข่าวเกี่ยวกับงานของ Le Verrier การเป็นคนอังกฤษ และการเป็นนักเรียน Cambridge ร่วมกับ Adams ทำให้ Airy คิดว่า เกียรติสำหรับเรื่องนี้ควรเป็นของ Adams แต่เพียงผู้เดียว จึงได้มอบหมายให้ Challis ค้นหาดาวลึกลับ แต่ Challis ก็ไม่พบ ดังนั้น เมื่อโลกรู้ในวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2389 ว่า d' Arrest กับ Galle พบดาว Neptune ทำให้ Le Verrier เป็นวีรบุรุษที่ใครๆ ก็อยากพบ แม้กระทั่งกษัตริย์และราชินีก็มีพระราชประสงค์จะให้ Le Verrier เข้าเฝ้าเพื่อถวายข่าวเหตุการณ์เหล่านี้ทำให้ Airy รู้สึกว่านักดาราศาสตร์ฝรั่งเศสได้เครดิตมากไปแล้ว จึงเขียนจดหมายบอก Le Verrier ว่า Adams ก็รู้ข้อมูลเกี่ยวกับ Neptune เช่นกัน จดหมายนี้ทำให้ Le Verrier ไม่พอใจมาก เพราะ Airy ได้ปกปิดข่าวของ Adams มาโดยตลอด และมาอ้างในภายหลังว่า ตนก็รู้มานานแล้ว ไม่เพียงแต่ Le Verrier เท่านั้น ที่รู้สึกเช่นนี้เพราะบรรดานักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสคนอื่นๆ ก็คิดเช่นกันว่า นักวิทยาศาสตร์อังกฤษกำลังพยายามขโมยเครดิตทางปัญญา โดยอ้างจดหมายและหลักฐานต่างๆ ของ Adams (อ่านต่ออังคารหน้า)
สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน