xs
xsm
sm
md
lg

โทรทัศน์อันตราย!

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา


เมื่อเร็วๆ นี้ นักประสาทวิทยาชาวเยอรมันท่านหนึ่งได้ตีพิมพ์งานวิจัยจากการศึกษาเด็ก 15,000 คน ในโลกตะวันตก โดยเฉพาะเยอรมนี ซึ่งมีสาระสำคัญว่าเด็กๆ ที่ดูโทรทัศน์มากเกินไปมักจะมีความสนใจและประสบการณ์คับแคบ สมองไม่ค่อยยืดหยุ่น ไร้การกระตุ้นและการพัฒนาที่ดี ประสาทสัมผัสผิดปกติ การรับรสและกลิ่นไม่สมดุล สมาธิสั้น มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หดหู่ อันส่งผลถึงผลการเรียนด้วย

การดูโทรทัศน์มากๆ ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีเวลาสำหรับการเล่นกีฬา และติดนิสัยการไม่ชอบเคลื่อนไหวร่างกายตามธรรมชาติ เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็จะกินมากขึ้น ครั้นเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ก็ยังติดนิสัยการกินอาหารที่ไม่เป็นประโยชน์ที่ตนคุ้นเคยในโทรทัศน์ต่อไป ลงท้าย คนเหล่านี้มักจะตายก่อนเวลาอันควรจากโรคอ้วน ความดันโลหิตสูง คอเลสเตอรอลสูง และโรคเบาหวาน (“ผู้จัดการรายวัน” วันที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548)

ความจริงแล้ว ในระดับของรายละเอียด ข้อค้นพบในทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่เท่าไรนัก ทว่าจุดที่ดูจะน่าตื่นเต้นเป็นพิเศษคงจะเป็นการระบบการวิจัยที่ออกจะชาญฉลาด ตรงที่สามารถเชื่อมโยงอันตรายนานาชนิดจากการดูโทรทัศน์อย่างครบวงจรชีวิต นับตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยผู้ใหญ่ จากการก่อรูปของพฤติกรรมทางจิตและร่างกายต่างๆจนถึงการก่อรูปของโรคภัยไข้เจ็บ ลงท้ายด้วยการตายก่อนวัยอันควร

ก่อนหน้านี้หลายสิบปี ก็มีใครต่อใครในสหรัฐอเมริกาเพียรพยายามขุดคุ้ยหาอันตรายของโทรทัศน์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง มีข้อค้นพบเด่นๆ จากงานวิจัยดีๆ มากมาย เช่น

จำนวนเวลาในการดูโทรทัศน์

๐ เมื่ออยู่ในชั้นประถมปีที่หนึ่ง เด็กอเมริกันส่วนมากจะได้ดูโทรทัศน์ในจำนวนเวลาที่เทียบเท่าได้กับการดูโทรทัศน์มากถึงสาม ปีการศึกษาแล้ว

๐ ร้อยละ 62 ของนักเรียนชั้นประถมปีที่สี่ระบุว่าตนเองใช้เวลาดูโทรทัศน์มากกว่าวันละสามชั่วโมง

๐ ร้อยละ 64 ของนักเรียนชั้นประถมปีที่แปดรายงานว่าในแต่ละวันตนเองจะใช้เวลามากกว่าสามชั่วโมงในการดูโทรทัศน์

๐ ครั้นเด็กอเมริกันอายุครบ 18 ปีแล้ว จำนวนเวลาในการดูโทรทัศน์จะมากกว่าเวลาที่อยู่ในโรงเรียน มากกว่าเวลาที่ใช้พูดคุยกับบรรดาครู เพื่อนๆ หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ของตน

๐ เมื่อเด็กๆ เหล่านี้อายุถึง 70 ปี แต่ละคนจะได้ใช้เวลาไปกับการดูโทรทัศน์จำนวนประมาณเจ็ดปีเต็มๆ

ผลกระทบทางสติปัญญา วิชาการ จิตวิทยาและสังคม

๐ จำนวนเวลาในการดูโทรทัศน์มีความสัมพันธ์โดยตรงกับจำนวนคะแนนในการทดสอบความสามารถทั่วไป (standardized achievement test) นั่นก็คือ ยิ่งดูโทรทัศน์มากเท่าใด คะแนนก็ยิ่งต่ำลงเท่านั้น

๐ โทรทัศน์ก็คืออีกหนทางหนึ่งของการหลบหนีจากความจริง (escape from reality) ในทำนองเดียวกับยาเสพติดและเหล้าเบียร์ นักดูโทรทัศน์จะหลุดเข้าไปอยู่ใน “โลกของความเพ้อฝัน” ที่มีให้เห็นในโทรทัศน์มากมาย จนกระทั่งขัดขวางการเรียนรู้ที่จะอยู่กับแรงกดดันและความกังวลต่างๆ ในชีวิตจริงของตน ปรากฏการณ์นี้คล้ายๆ กับ “การเดินทาง” ที่ได้รับจากอิทธิฤทธิ์ของแอลกอฮอล

๐ โทรทัศน์ขัดขวางพัฒนาการแห่งความสามารถทางการจินตนาการเนื่องจากนี่เป็นการแก่งแย่งเวลาไปจากการละเล่นตามธรรมชาติของมนุษย์

๐ การปล่อยให้เด็กๆ ดูโทรทัศน์ด้วยตนเองนั้นมีค่าเท่ากับการปล่อยให้ลูกๆ หลานๆ ของคุณออกไปเล่นบนท้องถนนได้ตลอดเวลาไม่ว่าจะกลางวันหรือกลางคืน กับใครก็ได้ที่เขาได้พบปะด้วย

๐ ทุกๆ วัน ทุกแห่งหนในสหรัฐอเมริกา พวกเด็กเสียที่หยาบคาย ป่าเถื่อน และโง่เขลา พวกคนไม่เอาไหน ตลอดทั้งนักหลอกลวงต้มตุนนานาชนิด ซึ่งปกติแล้วจะไม่มีใครอนุญาตให้เข้ามาในบ้านของตน กลับสามารถเข้ามาในบ้านของคนดูโทรทัศน์ได้อย่างง่ายดาย

๐ อันตรายสำคัญๆ ของโทรทัศน์อยู่ที่ความสามารถของมันในการขัดขวางพฤติกรรมที่สอดคล้องกับธรรมชาติแท้ๆ ของมนุษย์ นั่นก็คือ การพูดคุยกัน การละเล่นต่างๆ การพบปะสังสรรค์และตอบโต้ทางความคิดกันภายในครอบครัว

๐ ในความเป็นจริงแล้ว ประชากรที่เป็นเพศหญิงจะมีมากกว่าเพศชาย แต่รายการโทรทัศน์ช่วงเวลาดีๆ ที่เรียกกันว่า “ไพรม์ ไทม์” จะมีผู้ชายมากกว่าผู้หญิงในจำนวน 3 ต่อ 1 เป็นอย่างน้อย สัดส่วนคล้ายๆ กันยังเป็นจริงในกรณีของเยาวชน ผู้สูงอายุ และชนกลุ่มน้อยต่างๆ ด้วย

๐ เนื้อหาจำนวนมากของโทรทัศน์เป็นเรื่องราวของ “การขับขี่รถยนต์แบบผิดปกติ” นั่นก็คือ การขับแบบเร็วและแรง การเหยียบเบรกแบบกะทันหัน การเสียดสีของยางกับพื้นถนนที่ส่งเสียงเสียดแทงใจ และความเสียหายของทรัพย์สิน แต่ความตายและการบาดเจ็บที่สืบเนื่องมาจากพฤติกรรมประเภทนี้โทรทัศน์กลับนำมาแสดงไม่มากนัก นอกจากนี้ บทลงโทษทางกฎหมายก็แทบไม่มีอีกด้วย

ความรุนแรง

๐ ตลอดช่วงชีวิตของเด็กอเมริกันทั่วๆ ไปคนหนึ่ง เขาจะได้เป็นพยานของความรุนแรงในโทรทัศน์มากมาย กล่าวคือ ฆาตกรรมจำนวน 8,000 ครั้ง และความรุนแรงในรูปแบบอื่นๆ อีก 100,000 ครั้ง

๐ เด็กเล็กในวัยก่อนเข้าโรงเรียนประสบกับปัญหาในการแยกแยะความจริงจากความเพ้อฝัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องราวที่ปรากฏในโทรทัศน์ ความมีชีวิตชีวาสดๆ ของโทรทัศน์ทำให้เรื่องเพ้อฝันดูเหมือนเป็นเรื่องจริงขึ้นมา

๐ เนื้อหาของโทรทัศน์ที่เด็กๆ ได้ดูจำนวนมากมายจะนำเสนอว่า “ทางออก” สำหรับการแก้ไขปัญหาในความสัมพันธ์ส่วนตัว การถูกดูหมิ่นดูแคลน ความอยุติธรรม และการตอบสนองสิ่งที่ตนเองต้องการ คือการใช้ “ความรุนแรง”

๐ การวิจัยจำนวนกว่าสามพันเรื่องในระยะสามสิบปีที่ผ่านมา ล้วนเป็นหลักฐานที่แสดงว่าความรุนแรงในโทรทัศน์ส่วนผลกระทบที่วัดได้ต่อจิตใจของเด็กๆ

๐ เมื่อ ค.ศ. 1980 รายการ “ไพรม์ ไทม์” ที่รุนแรงที่สุดในโทรทัศน์ในขณะนั้นแสดงการกระทำที่รุนแรง 22 ครั้งต่อหนึ่งชั่วโมง ใน ค.ศ. 1992 รายการ “ไพรม์ ไทม์” ที่รุนแรงที่สุดในโทรทัศน์ (Young Indiana Jones) แสดงความรุนแรง 60 ครั้งต่อหนึ่งชั่วโมง

๐ ใน ค.ศ. 1992 รายการโทรทัศน์อย่าง “Cookie’s Cartoon Club” “Tom and Jerry Kids” และ “Looney Tunes” ได้แสดงความรุนแรงจำนวน 100 ครั้ง 88 ครั้ง และ 80 ครั้งตามลำดับ

๐ ครึ่งหนึ่งของฆาตกรรมและการข่มขืนในอเมริกาเหนือเป็นผลที่สืบเนื่องจากการดูโทรทัศน์ ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

๐ หลังจากมีการนำโทรทัศน์ไปใช้ในเซาท์ แอฟริกาเมื่อ ค.ศ. ๑๙๗๔ อัตราการฆาตกรรมในหมู่ประชากรผิวขาวได้เพิ่มขึ้นจากเดิมอีกร้อยละ ๕๖ ในช่วงเก้าปีหลังจากมีโทรทัศน์

มิติทางการเงิน การพาณิชย์ และกายภาพ

๐ มีรายงานใน ค.ศ. 1995 ว่ารายได้สุทธิต่อปีของโทรทัศน์ในสหรัฐอเมริกามีอย่างน้อยๆ 25 พันล้านเหรียญ

๐ การดูโทรทัศน์หมายถึงการเปิดรับการโฆษณาเชิงพาณิชย์จำนวนประมาณ 22,000 เรื่องต่อปี ในจำนวนนี้ 5,000 เรื่องจะเกี่ยวข้องกับสินค้าด้านอาหาร และเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนเดียวกันนี้เป็นของหวานและของขบเคี้ยวที่มีคุณค่าทางอาหารต่ำ

๐ โดยเฉลี่ยแล้ว ในขณะที่ดูโทรทัศน์กระบวนการทางเคมีของร่างกาย (รวมทั้งการเผาผลาญแคลอรี) จะน้อยกว่าร้อยละ ๑๔.๕ เมื่อเปรียบเทียบกับการนอนเฉยๆ

๐ ผู้ชายที่ดูโทรทัศน์สามชั่วโมงหรือมากกว่านั้นต่อวันมักจะมีลักษณะอ้วนฉุกว่าผู้ชายที่ดูโทรทัศน์วันละน้อยกว่าหนึ่งชั่วโมงถึงสองเท่า

ข้อกล่าวอ้าง

ทั้งๆ ที่ผลกระทบในทางลบของโทรทัศน์มีอยู่มากมายเหลือเกิน แต่โทรทัศน์ก็คงจะไม่หายไปไหนง่ายๆ เพราะในระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ มันได้กลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจจนคงจะไม่มีอะไรอื่นมาทดแทนได้อย่างเสมอเหมือนเสียแล้ว ในเวลาเดียวกัน ใครๆ ก็ช่วยกันหาข้ออ้างที่จะทำและดูโทรทัศน์กันต่อไปเรื่อยๆ อย่างหน้ามืดตามัว ตัวอย่างของข้ออ้างเหล่านี้มีอยู่มากมาย เช่น

๐ ดูโทรทัศน์เพื่อรู้ข่าว ในความเป็นจริง เนื้อหาของข่าวโทรทัศน์เกือบร้อยทั้งร้อยเป็นเรื่องของการวัดระดับความนิยม (ratings) ซึ่งนอกจากจากจะมี “การเมือง” ในตัวมันเองแล้ว ยังเป็นเรื่องของ “ธุรกิจ” เกือบล้วนๆ ฉะนั้น คงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมโทรทัศน์จึงกลายเป็นเวทีสำหรับข่าวประเภทหมากัดคนและคนกัดหมา เป็นสำคัญ เพราะว่ากันว่าคนส่วนมากชอบเรื่องราวแบบนี้ เนื่องจากมันไม่กดดันให้สมองต้องทำงานหนัก ทว่าเปิดโอกาสให้คนได้วิพากษ์วิจารณ์เรื่องโง่ๆ ที่ “คนอื่น” เป็นคนกระทำ มีอะไรจะสนุกกว่านี้เล่า

ดูไปนานๆ เข้าก็เลยลืมไปว่าตนเองยังไม่รู้เลยว่าในวันนี้มี “ข่าว” จริงๆ อะไรเกิดขึ้นในประเทศของตนและในโลกบ้าง

ในขณะที่วงการข่าวขนานแท้และดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์มี “ประเพณี” ในการเผยแพร่เรื่องราวที่สวนทางกับความต้องการของ “ธุรกิจ” และกลุ่มอำนาจอื่นๆ ในสังคม ในกรณีของโทรทัศน์ ประเพณีดังกล่าวนี้ไม่มีอยู่เลย นี่หมายความว่า “ข่าว” ที่เราได้เห็นกันทางโทรทัศน์เป็นสิ่งที่ธุรกิจและคนทั่วไปชอบ แต่มันหาใช่ “ข่าว” ที่แท้จริงในความหมายที่ครอบคลุมถึง “สิ่งที่สำคัญอย่างแท้จริง” ในแต่ละวันไม่

๐ ความบันเทิงนิดๆ หน่อยๆ จะเป็นอะไรไป หากเราจะวิเคราะห์กันไปให้ถึงที่สุดแล้ว เป้าหมายของโทรทัศน์หาใช่การให้ความบันเทิงกับเราไม่ ทว่าเป้าหมายก็คือการระดมให้คนมาชุมนุมกันเสมือนฝูงวัวฝูงควายเพื่อที่ได้ป้อนแจ้งความสินค้าต่างๆ เข้าไปฝังอยู่เต็มสมองของคนดู จนในที่สุดทำให้เขาควักเงินออกมาทำอะไรๆ ที่ไม่เคยตั้งใจจะทำให้ได้นั่นเอง

การผลิตรายการโทรทัศน์มักจะต้องใช้เงินมหาศาล ด้วยเหตุผลกลใดกันที่บุคคลที่ลงทุนกับการทำและเสนอรายการเหล่านี้ถึงจะ “น่ารัก” ขนาดที่มาช่วยให้ “ความบันเทิง” กับคนดูโทรทัศน์ เงินเหล่านี้จะมาจากไหนได้เล่า นอกจากผลกำไรจากธุรกิจ ซึ่งส่วนหนึ่งถูกนำมาใช้จ่ายกับการทำและเสนอรายการโทรทัศน์

ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็เพื่อต่ออายุให้แก่วงจรการผลิตผลกำไรต่อไปนั่นเอง เพราะฉะนั้น คำถามที่คนดูโทรทัศน์จะต้องตอบให้ได้ก็คือตนเองกำลังได้รับ “ความบันเทิง” ชนิดไหน และเพื่อประโยชน์ของใคร

๐ โทรทัศน์ช่วยให้เด็กอยู่กับบ้านไม่ทำให้พ่อแม่ปวดหัว ข้ออ้างนี้ได้ยินบ่อยๆ จากพ่อแม่ยุคใหม่ที่ไม่สนใจที่จะรักใคร่ดูแลลูกๆ หลานๆ ด้วยตนเอง ทว่าชอบที่จะปล่อยให้พระเอก นางเอก และผู้ร้ายสารพัดชนิดในจอโทรทัศน์เป็นคนเลี้ยงเด็กให้ตนแทน

นอกเหนือจากข้ออ้างในทำนองนั้นแล้ว ยังมีรายการข้ออ้างอีกมากมายยาวยืดอย่างไม่รู้จบ แต่ลงท้ายแล้ว ก็มักจะสรุปว่าควรจะทำและดูโทรทัศน์ที่สร้างปัญหาอย่างมากมายดังสาธยายข้างต้นแล้วกันต่อไป

การพูดและคิดถึงการปรับปรุงรายการโทรทัศน์เป็นสิ่งที่แทบจะไม่เคยมีใครได้ยินหรือสนใจ ทั้งๆ ที่คลื่นโทรทัศน์คือ “ทรัพยากรสาธารณะ” ไม่มีใครมีสิทธิ์เป็นเจ้าของได้ เพราะมันเป็นของทุกคน ประเด็นสำคัญที่สุดก็คือ คลื่นโทรทัศน์จะต้องถูกใช้เพื่อประโยชน์ของบุคคลที่ไม่มีโอกาสได้ใช้คลื่นโทรทัศน์

เพราะฉะนั้น หน้าที่เบื้องต้นที่สุดของผู้มีสิทธิ์ใช้คลื่นโทรทัศน์ก็คือการทำงานของตนเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริง ผิดไปจากนี้ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมจะต้องหาทางแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อที่ผู้ประกอบการโทรทัศน์ที่มีวิสัยทัศน์และจริยธรรมจะได้มีพื้นที่มากกว่าผู้ประกอบการประเภทหาเช้าๆ กินค่ำๆ

นี่คือ “โจทย์แห่งศตวรรษ” ไม่ว่าคำตอบจะเป็นอะไร มันมีนัยครอบคลุมถึงความเป็นความตายของมนุษย์เลยทีเดียว.
กำลังโหลดความคิดเห็น