xs
xsm
sm
md
lg

ญี่ปุ่นกับเส้นทางสู่อันดับ 1 ด้านเครื่องจักรกล

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

เครื่องจักรกลสำหรับแปรรูปโลหะ (Machine Tool) ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกลึง เครื่องไส เครื่องเจาะ เครื่องปั๊ม พับโลหะ ฯลฯ แม้เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กซึ่งตลาดมีขนาดเพียงแค่ 1% ของผลผลิตของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมด แต่นับว่าสำคัญมาก เนื่องจากถือเป็นเครื่องจักรสำหรับผลิตเครื่องจักรของอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งหมด

อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลแบบ Machine Tool สมัยใหม่ถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 2318 เมื่อนาย John Wilkinson นักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ คิดค้นเครื่องจักรสำหรับใช้เจาะรูปทรงกระบอกลงบนเนื้อโลหะ ต่อมาในปี 2337 นาย Henry Maudslay ได้ประดิษฐ์เครื่องกลึงขึ้นเป็นครั้งแรก

ในช่วงแรกอังกฤษเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมนี้ โดยรัฐบาลอังกฤษมีกฎระเบียบห้ามส่งออก เพื่อป้องกันไม่ให้ประเทศอื่นๆ ซื้อ Machine Tool เพื่อนำไปผลิตสินค้าแข่งขันกับอังกฤษ อย่างไรก็ตาม มาตรการห้ามส่งออกไม่มีประสิทธิผลมากนัก ยังคงมีการลักลอบส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ

ต่อมาประเทศอื่นๆ ในยุโรปและสหรัฐฯ ก็ประสบผลสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรม Machine Tool ของตนเองขึ้นมา สำหรับประเทศที่โดดเด่นมากในช่วงนั้น คือ เยอรมนี ซึ่งพัฒนาตนเองจนกลายเป็นประเทศส่งออก Machine Tool มากที่สุดของโลก นับตั้งแต่ปี 2453 เป็นต้นมา

แม้เยอรมนีพ่ายแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อปี 2488 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม Machine Tool ของเยอรมนีเป็นอย่างมากเนื่องจากเครื่องจักรถูกทำลายในช่วงสงคราม ต่อมาเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้น เยอรมนีก็แซงสหรัฐฯ กลับขึ้นเป็นอันดับ 1 ของโลกอีกครั้งหนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2513 เป็นต้นมา

สำหรับกรณีของญี่ปุ่น ภายหลังพ่ายแพ้สงคราม ญี่ปุ่นก็เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ต้องนำเข้าเครื่องจักรกลจำนวนมากจากต่างประเทศ นับเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฟื้นฟูประเทศภายหลังสงคราม ดังนั้น กระทรวงการค้าต่างประเทศและอุตสาหกรรม (MITI) ของญี่ปุ่น จึงกำหนดให้ Machine Tool เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมาย

MITI ยังสนับสนุนให้บริษัทญี่ปุ่นซึ่งขณะนั้นมีขนาดเล็ก ให้เน้นผลิตเครื่องจักรกลเฉพาะที่ตนเองถนัดเท่านั้น เพื่อให้เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นต้นว่า บริษัท Okuma และบริษัท Yamazaki Mazak เน้นผลิต Lathe และ Machining Center ขณะที่บริษัท Okamoto เน้นผลิต Grinder

เหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้น คือ กองทัพอากาศสหรัฐฯ ต้องการเครื่องจักรที่สามารถผลิตชิ้นส่วนอากาศยานให้มีราคาถูก ผลิตได้รวดเร็ว และมีความเที่ยงตรงแม่นยำสูง จึงว่าจ้างบริษัท Parsons Corporation และสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเสตท์ (MIT) ทำการวิจัยและพัฒนาเครื่องจักรกลโดยใช้เทคโนโลยีใหม่ คือ Numerical Control (NC) ขึ้นเป็นครั้งแรกในโลก

การวิจัยประสบผลสำเร็จและสาธิตให้สาธารณชนได้รับทราบเมื่อเดือนกันยายน 2495 จากนั้นก็ไม่ได้นำผลการวิจัยไปขึ้นหิ้งแต่อย่างใด โดยได้ถ่ายทอดให้กับผู้ผลิต Machine Tool ของสหรัฐฯ เพื่อกระตุ้นให้นำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

MITI เล็งเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี NC จึงรวบรวมผู้ผลิตเครื่องจักรกลของญี่ปุ่นและผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้ร่วมมือกันทำการวิจัยขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังได้ตระหนักว่าเทคโนโลยีเครื่องจักรกลและเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์กำลังจะควบรวมเข้าด้วยกัน จึงควบรวมกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2499 และกฎหมายส่งเสริมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิสก์ซึ่งบัญญัติขึ้นเมื่อปี 2500 รวมเข้าเป็นกฎหมายฉบับใหม่ซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อปี 2514

ต่อมาอุตสาหกรรม Machine Tool ได้ก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีไปสู่ระบบ Computer Numerical Control (CNC) ซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ควบคุม ทำให้ความเที่ยงตรงแม่นยำของเครื่องจักรกลดีขึ้นมาก และสะดวกในการออกแบบให้เครื่องจักรกลสามารถทำงานได้หลากหลาย ทำให้การผลิตมีความคล่องตัวมากขึ้น อันนำไปสู่การปฏิวัติระบบการผลิตใหม่ คือ Flexible Manufacturing System (FMS)

เดิมญี่ปุ่นยังเป็นรองสหรัฐฯ และเยอรมนีตะวันตกเป็นอย่างมาก เนื่องจาก Machine Tool เป็นกลไกที่ต้องการความเที่ยงตรงแม่นยำสูงมาก ยากที่ญี่ปุ่นซึ่งมีประสบการณ์น้อยกว่าจะก้าวตามทันผู้ผลิตเดิมซึ่งสะสมทักษะมาเป็นเวลายาวนานหลายสิบปี แต่ญี่ปุ่นได้พัฒนาตนเองอย่างรวดเร็วจนก้าวขึ้นสู่อันดับ 1 ของโลก นับตั้งแต่ปี 2525 เป็นต้นมา เนื่องจากเหตุผลหลายประการ

ประการแรก บริษัทสหรัฐฯ และบริษัทเยอรมนีได้ดำเนินกลยุทธ์ผิดพลาด โดยยังคงเน้นผลิตเครื่องจักรกลขนาดใหญ่ซึ่งมีความสลับซับซ้อนและมีราคาแพง โดยเป็นเครื่องจักรกลที่ออกแบบสำหรับใช้ในงานใดงานหนึ่งโดยเฉพาะ แม้เครื่องจักรเหล่านี้มีประสิทธิภาพสูง แต่ตลาดมีขนาดเล็ก ขณะที่บริษัทญี่ปุ่นเน้น Machine Tool โดยใช้เทคโนโลยี CNC ทำให้เครื่องจักรของญี่ปุ่นขายดีมาก เนื่องจากราคาไม่แพงมากนัก แต่มีความเชื่อถือได้สูง และสามารถใช้งานได้หลากหลาย

ประการที่สอง ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี CNC ส่งผลให้ความแตกต่างระหว่างความเที่ยงตรงแม่นยำระหว่างเครื่องจักรกลของเยอรมนีและสหรัฐฯ และเครื่องจักรกลของญี่ปุ่นลดน้อยลงไปมาก ทำให้ลูกค้าหันมาสนใจซื้อเครื่องจักรญี่ปุ่นซึ่งมีราคาถูกกว่ามาก ขณะที่คุณภาพใกล้เคียงกัน

บริษัทญี่ปุ่นไม่ได้ผลิตเพื่อป้อนตลาดภายในประเทศเท่านั้น ยังส่งออกไปยังต่างประเทศจำนวนมาก เป็นต้นว่า เดิมในปี 2519 สินค้า Machine Tool จากญี่ปุ่น ครองตลาดสหรัฐฯ เพียงแค่ 4% เท่านั้น แต่ในปี 2525 ส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเป็น 50%

การส่งออกที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของญี่ปุ่น ผลส่งให้สมาคมอุตสาหกรรม Machine Tool ของสหรัฐฯ ต้องขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเมื่อเดือนมีนาคม 2526 เนื่องจากเห็นว่าการนำเข้า Machine Tool จากญี่ปุ่นจำนวนมาก จะทำให้อุตสาหกรรม Machine Tool ของสหรัฐฯ ล้มหายตายจากไป ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคงของประเทศ

เพื่อแก้ไขกรณีพิพาท MITI ได้จัดตั้งแผนกพิเศษขึ้นเพื่อรับผิดชอบเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ในเรื่องสินค้า Machine Tool โดยเฉพาะ ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อลดแรงกดดัน รัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกการเก็บอากรขาเข้า Machine Tool จากต่างประเทศ นับตั้งแต่เดือนเมษายน 2526 เป็นต้นมา

ต่อมาเมื่อปี 2530 ได้มีข้อตกลงระหว่างสหรัฐฯ และญี่ปุ่นเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาทไม่ให้ลุกลามออกไป โดยญี่ปุ่นยินยอมที่จะจำกัดโควต้าการส่งออก Machine Tool ไปยังสหรัฐฯ โดยสมัครใจ โดยกำหนดเป้าหมายว่าเครื่องกลึงแบบ CNC และเครื่อง Machining Center ของญี่ปุ่น จะต้องมีส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ในปี 2535 ไม่เกิน 57.5% และ 51.5% ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อมาสหรัฐฯ ยิ่งไม่พอใจญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากเมื่อปี 2530 บริษัท Toshiba Machine ของญี่ปุ่น ได้ลักลอบจำหน่าย Machine Tool ที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำสูง ให้แก่สหภาพโซเวียด ซึ่งสหรัฐฯ เกรงว่าจะกระทบต่อความมั่นคงของตนเองอย่างรุนแรง เนื่องจากสหภาพโซเวียดสามารถนำ Machine Tool แบบนี้ไปผลิตอุปกรณ์ทางการทหารที่มีความเที่ยงตรงแม่นยำสูงขึ้น เป็นต้นว่า นำไปผลิตใบพัดเรือดำน้ำติดขีปนาวุธนิวเคลียร์แบบใหม่ที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนของเรือดำน้ำเงียบลงจนกองทัพเรือของสหรัฐฯ ไม่สามารถตรวจจับได้

ปัจจุบันญี่ปุ่นยังคงครองตลาด Machine Tool มากเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2546 มีส่วนแบ่งตลาดโลก 26.2% รองลงมา คือ เยอรมนี 20.5% อิตาลี 9.1% จีน 8.5% สหรัฐฯ 6.4% ไต้หวัน 5.7% สวิสเซอร์แลนด์ 5.6% เกาหลีใต้ 5.3% สเปน 2.3% และสหราชอาณาจักร 2%

สำหรับการจัดอันดับผู้ผลิตนั้น จากการศึกษาของสถาบัน Metal Working Insiders พบว่าในปี 2546 บริษัท Yamazaki Mazak ของญี่ปุ่น นับเป็นผู้ผลิต Machine Tool ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของโลก โดยมียอดขาย 46,000 ล้านบาท รองลงมา คือ บริษัท Gildemeister DMG ของเยอรมนี มียอดขาย 44,000 ล้านบาท, บริษัท Mori Seiki ของญี่ปุ่น 31,100 ล้านบาท, บริษัท Okuma ของญี่ปุ่น 30,900 ล้านบาท, บริษัท Makino ของญี่ปุ่น 22,000 ล้านบาท, บริษัทแดวูของเกาหลีใต้ 12,500 ล้านบาท, บริษัท Haas ของสหรัฐฯ 10,400 ล้านบาท และบริษัทฮุนไดของเกาหลีใต้ 7,500 ล้านบาท

สำหรับจีนเป็นตลาด Machine Tool ใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากเศรษฐกิจขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงนำเข้าเครื่องจักรกลจำนวนมาก โดยจากสถิติของสมาคมผู้ผลิต Machine Tool ของเยอรมนี (VDM) ในปี 2546 จีนสั่งซื้อ Machine Tool เป็นสัดส่วน 18% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดทั่วโลก สำหรับตลาด Machine Tool ที่มีขนาดใหญ่รองลงมา คือ ญี่ปุ่น 14% เยอรมนี 12% สหรัฐฯ 10% อิตาลี 9% เกาหลีใต้ 7% คานาดา 4% ฝรั่งเศส 3%

แนวโน้มสำคัญในปัจจุบัน คือ บริษัทเยอรมนี ญี่ปุ่น และไต้หวัน ได้ไปตั้งโรงงานผลิต Machine Tool ในประเทศจีน เป็นต้นว่า บริษัท Gildemeister DMG ได้ก่อสร้างโรงงานผลิต Machine Tool ที่นครเซี่ยงไฮ้ และเปิดดำเนินการเมื่อปี 2545 ส่วนบริษัท Okuma ของญี่ปุ่น ได้เซ็นสัญญาร่วมลงทุนเมื่อกลางปี 2545 กับรัฐวิสาหกิจของจีน ในการก่อตั้งบริษัท BYJC-Okuma (Beijing) Machine Tool จำกัด เพื่อก่อสร้างโรงงานผลิต Machine Tool ขึ้นที่กรุงปักกิ่ง

สุดท้ายนี้ ปัจจุบัน Machine Tool ยังคงถือว่าเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศเช่นเดียวกับในอดีต โดยเฉพาะกรณีของรัฐบาลสหรัฐฯ ถึงกับมีกฎระเบียบห้ามส่งออก Machine Tool ที่มีเทคโนโลยีระดับสูงไปยังประเทศจีน เป็นต้นว่า ห้ามส่งออก Machine Tool ซึ่งมีตั้งแต่ 5 แกนขึ้นไป เนื่องจากเกรงว่าจะนำไปใช้ในการผลิตอาวุธ หรือกรณีญี่ปุ่นก็มีคำสั่งห้ามจำหน่ายให้แก่ประเทศจีนในลักษณะคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ตาม คำสั่งห้ามดังกล่าวข้างต้นไม่ส่งผลกระทบต่อจีนมากนัก เนื่องจากหันไปซื้อ Machine Tool จากประเทศอื่นๆ แทน
กำลังโหลดความคิดเห็น