ไม่กี่วันมานี้ ผมได้รับดีวีดีภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมหลายเรื่องเป็นอภินันทนาการจากเพื่อนเก่าคนหนึ่งที่เพิ่งมาจากอเมริกา หนึ่งในบรรดาดีวีดีเหล่านี้ก็คือ The China Syndrome (เจมส์ บริดเจส ค.ศ. 1979) ผมไม่ทราบเหมือนกันว่ากรุงเทพฯ จะมีวางตลาดกันแล้วหรือยัง แต่ถ้ายัง ก็คงจะมีเร็วๆ นี้เพราะเราอยู่ในเมืองสวรรค์ที่เต็มไปด้วยของดีราคาถูก
แม้อายุจะเกินสิบปีแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังเป็นสุดยอดของนิทัศน์อุทาหรณ์ของบทบาทของวารสารศาสตร์ว่าด้วยสิ่งแวดล้อมในระบบทุนนิยมอันทันสมัยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเมืองไทยที่ในอนาคตอันใกล้คงจะมีการพูดถึงพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์กันมากขึ้นทุกที
เจมส์ บริดเจส เกิดที่นครปารีสเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1936 ผ่านการศึกษาจากวิทยาลัยครูแห่งอาร์แคนซอส์และมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนียที่นครลอสแองเจลีส บริดเจสเริ่มต้นการทำงานด้วยการเป็นนักแสดง จากนั้นก็เข้าสู่การเขียนบทรายการโทรทัศน์อย่างจริงจัง รวมทั้งกว่าสิบห้าตอนของ The Alfred Hitchcock Hour ครั้นเมื่อเข้ามาเริ่มทำภาพยนตร์ในทศวรรษที่ 1960 เขาก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นคนมีฝีมือสูงกว่าเกณฑ์เฉลี่ยของฮอลลีวูด ในช่วงเวลาที่ว่านั้น เขาได้รับหน้าที่เป็นผู้กำกับและ/หรือผู้เขียนบทของภาพยนตร์จำนวนสิบกว่าเรื่อง สัดส่วนอันเป็นที่รู้จักทั่วไปคือ The Paper Chase (ค.ศ. 1973) และ Urban Cowboy (ค.ศ. 1980) White Hunter และ Black Heart (ค.ศ. 1990)
ทว่าภาพยนตร์ที่สร้างชื่อเสียงให้บริดเจสมากที่สุดคือ The China Syndrome อย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งนี้ นอกจากจะเพราะเป็นผลงานการสร้างของไมเคิล ดักลาสในกรอบของ IPC บริษัทในเครือของเจน ฟอนด้า ประกอบกับคนทั้งสองเป็นผู้แสดงนำแล้ว เนื้อหาของภาพยนตร์เรื่องนี้ยังสอดคล้องกับความรู้สึกของคนจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาในทศวรรษที่ 1970 อีกด้วย เนื่องจาก The China Syndrome เป็นคำอุปมาอุปมัยสำหรับการแปรสภาพจากความเป็นของแข็งเป็นของเหลวอย่างผิดปรกติของพลังงานนิวเคลียร์ อันเป็นผลสืบกับความไม่สมดุลของความร้อนหรือความกดดัน อันจะเป็นที่มาของความหายนะ!
The China Syndrome พาเราไปดูโครงสร้างอำนาจบรรษัทที่อยู่เบื้องหลัง อุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยบ่งชี้ว่าโครงสร้างที่ว่านี้เห็นแก่ผลกำไรของบรรษัทมากยิ่งกว่าสวัสดิภาพสาธารณะอย่างไม่มีเงื่อนไข ภาพยนตร์เน้นอย่างจะแจ้งว่าผู้บริหารบรรษัทล้วนเป็นคนชั่วร้ายอย่างไร้ขอบเขต ทว่าก็ให้ความหวังไว้ว่าคนดีๆ ที่เอาจริงเอาจังเพียงไม่กี่คนสามารถจะต่อสู้กับคนไม่ดีเหล่านี้ได้สำเร็จ
ข้อที่ควรบันทึกไว้ด้วยคือ The China Syndrome จะต้องเป็นภาพยนตร์ที่โชคดีที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของฮอลลีวูดเพราะในตอนที่ออกวางตลาดนั้น องค์กรด้านวิทยาศาสตร์ในสหรัฐอเมริกาตื่นตระหนกกันใหญ่ ถึงขนาดออกแถลงการณ์สารพัดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ว่านำเอาความหวาดกลัวของมนุษย์มา “เล่น” ได้อย่างสมจริงสมจังเกินกว่าเหตุ แล้วก็ด่าทอว่ากลยุทธ์ของภาพยนตร์ซึ่งกระตุ้นให้ใครๆ ผวานั้นเลวร้ายยิ่งกว่าภาพยนตร์เกี่ยวกับไฟครอกตึกสูง อุบัติเหตุเรือบิน หรือสัตว์ร้ายประเภทต่างๆ เสียอีก
นอกจากการโฆษณาฟรีที่ไม่คาดหมายอย่างนี้แล้ว พอภาพยนตร์ออกฉายทั่วประเทศนั้นพียงไม่กี่วัน เหตุการณ์ที่คล้ายคลึงกับเนื้อหาของ The China Syndrome อย่างไม่น่าเชื่อก็โผล่ขึ้นที่หน่วยงานด้านพลังงานนิวเคลียร์จริงๆ แห่งหนึ่งในเมืองชื่อ Middletown คำพูดตอนหนึ่งในภาพยนตร์เรื่องนี้ระบุว่าอุบัติเหตุอย่างนี้มีศักยภาพที่จะทำลายล้างบริเวณที่มีขนาดใหญ่เท่าๆ กับมลรัฐเพ็นซิลวาเนียได้อย่างหมดจด ความบังเอิญในที่นี้ก็คือ Middletown ตั้งอยู่ในมลรัฐที่ว่านั้นพอดี!
จุดที่น่าสังเกตคือเหนือจากสูตรง่ายๆ ด้านเนื้อหาซึ่ง “คนดี” ต่อกรกับ “ผู้ร้าย” อย่างน่าหวาดเสียว และในที่สุดก็ได้รับชัยชนะ ซึ่งทุกคนต่างคุ้นเคยเป็นอย่างดีแล้ว The China Syndrome ยังเกาะติดกับกลยุทธ์พื้นๆ จากประเพณีของภาพยนตร์พาณิชย์ตลอดทั้งเรื่อง โดยมีจุดประสงค์ที่จะโน้มน้าวคนดูให้ติดตามไปสู่ประเด็นอันสะท้อนความคิดอ่านของกลุ่มเสรีนิยมก้าวหน้า ผู้ไม่ค่อยไว้วางใจในระบบทุนนิยมตามนัยของลัทธิเสรีนิยมสุดโต่ง ที่มักจะอนุญาตให้ธุรกิจขนาดยักษ์สามารถจากกระทำความผิดต่างๆ ได้อย่างสะดวก ครั้นเมื่อถูกเปิดโปง ก็มักจาสามารถหลบหนีไปได้อย่างลอยนวล
ด้วยประการฉะนี้ The China Syndrome จึงเป็นมิติใหม่ที่ตบแต่งภาพยนตร์ประเภทเร้าใจของฮอลลีวูดให้มีรสชาติเผ็ดๆ ร้อนๆ ทางการเมืองขึ้นมา ก่อนหน้านี้ ฮอลลีวูดมักจะขยันแจกแจงว่าความบกพร่องของโลกมีสาเหตุอยู่สารพัด นับตั้งแต่ความร้ายกาจของพวกมาเฟีย จนกระทั่งความไม่เอาไหนของคุณพ่อและคุณแม่ แต่ก็ไม่ค่อยยอมชี้นิ้วไปที่ธุรกิจขนาดยักษ์เท่าไรนัก
The China Syndrome เปิดฉากแรกออกด้วยการนำเราไปสู่ห้องข่าวของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในนครลอส แอ็ง เจลีส แล้วเราก็ได้พบกับคิมเบอรี่ (เจน ฟอนด้า) ดาวรุ่งแห่ง “ข่าวเบา” ประจำของสถานี ผู้มักจะทำงานกับช่างกล้องคู่ใจทีชื่อริชาร์ด (ไมเคิล ดักลาส) จากนั้น ภาพยนตร์ก็เคลื่อนไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ระหว่างได้รับคำสั่งไปทำข่าวสนับสนุนการประชาสัมพันธ์ให้แก่โรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งหนึ่ง คิมเบอรี่และริชาร์ดก็พบ “อุบัติเหตุ” อันบ่งชี้ภาวะอันตราย โดยบังเอิญ
จุดสำคัญคือริชาร์ด ผู้เป็นช่างภาพโทรทัศน์อิสระ ได้แอบบันทึกภาพสำคัญเอาไว้ นั่นก็คือ ภาพที่แจ็ค (แจ็ค เลมมอน) หัวหน้าวิศวกรประจำโรงงาน กำลังแสดงความตกอกตกใจกับปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นในห้องควบคุมระบบโรงงานในขณะที่คิมเบอรี่และริชาร์ดเชื่อว่านี่คือ “ข่าวใหญ่” หัวหน้าข่าวของสถานีโทรทัศน์กลับเห็นเป็นอื่น โดยอ้างกฎหมายว่ามันเป็นปัญหาด้าน “ความมั่นคง” จึงนำออกอากาศไม่ได้
มิหนำซ้ำ คนระดับสูงของฝ่ายข่าวก็สามารถนำข้อมูลนี้ไปแจ้งให้เจ้าของโรงงานได้รู้ตัวล่วงหน้าเกือบในทันทีโดยไม่ผิดกติกาใดๆ ความใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างคนข่าวกับนักธุรกิจนั้นบ่อยๆ อาจจะเกินเลยไปจนกระเทือนถึงชะตากรรมของ “ความจริง”!
ทั้งๆ ที่นี่เป็นผลงานที่จะเปิดโอกาสให้เธอได้เริ่มต้นทำ “ข่าวหนัก” ตามความไผ่ผันอย่างงดงาม คิมเบอรี่ต้องยอมรับคำสั่งอย่างเสียไม่ได้ ในยามที่หัวหน้าข่าวพยายามป้อนคำหวานๆ ให้คิมเบอรี่ “เชื่อง” ลง ริชาร์ดกลับโกรธจัด แล้วก็ขโมยฟิล์มไปปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญอิสระด้านพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งนำไปสู่การจัดตั้งขบวนการประท้วงครั้งใหญ่
หากการเสนอภาพลับๆ จากโรงงานอาจจะนำมาซึ่งปัญหาทางกฎหมาย การประท้วงนี้กลับกลายเป็น “ข่าวใหญ่” ได้อย่างสบายๆ นี่ดูจะเป็นกลยุทธ์ด้านข่าวที่ล้วงออกมาจากตำราชั้นดีทีเดียว!
จากนั้น The China Syndrome ก็เข้าเกียร์สูงขึ้นเรื่อยๆ ตามไวยากรณ์ของภาพ-ยนตร์ประเภทหนึ่งที่เน้นความตื่นเต้นเป็นสรณะ โดยไม่ลืมฉากการขับรถเร็วๆ ไล่กันด้วย ทว่าเหนือสิ่งอื่นใด ภาพยนตร์เรื่องนี้เน้นพัฒนาการทางบุคลิกภาพของตัวละครแบบคิมเบอรี่และแจ็ค ผู้ต่างค่อยๆ แปรสภาพเป็นคนที่กล้าชนกับปัญหามากขึ้น ทั้งนี้ ก็เพราะสถานการณ์ชั่วๆ ที่นักธุรกิจซึ่งอยู่เบื้องหลังโรงงานเป็นตัวบีบบังคับ ท้ายที่สุด เราจึงได้เห็นวิศวกรเชื่องๆ แบบแจ็คกลายเป็น “วีรบุรุษแห่งสติสัมปชัญญะ” ส่วนคิมเบอรี่ก็ทำหน้าที่ของนักข่าวแนวสอบสวนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ จนคนร้ายต้องถูกเปิดโปงกลางจอโทรทัศน์ ท่ามกลางประจักษ์พยานนับไม่ถ้วน
แม้น The China Syndrome ออกจะให้เกียรติกับสื่อมวลชนที่ค่อนข้างจะอนุรักษนิยมแบบโทรทัศน์เกินกว่าความเป็นจริงไปหลายขุม การยึดนักข่าวโทรทัศน์เป็นตัวเดินเรื่อง (แทนที่จะเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ซึ่งก้าวหน้าในแนวสอบสวนกว่ามาก) คงจะหลีกเลี่ยงได้ลำบากเหมือนกันสำหรับภาพยนตร์ที่ต้องการดึงดูดคนดูมากๆ ในยุคที่โทรทัศน์ครองความเป็นเจ้าอย่างนี้
กระนั้นก็ตาม ความที่ภาพยนตร์เรื่องนี้หยอดอารมณ์ขันเจ็บๆ เกี่ยวกับโทรทัศน์ไว้เป็นระยะๆ พอสมควร (โดยเฉพาะการชะงักข่าวในระยะหน้าสิ่วหน้าขวานสู่การโฆษณาขนมหวาน) หากเราเปิดใจให้กว้างสักหน่อย ด้วยการกลั้นใจยอมรับว่าความบกพร่องข้อนี้คือความจำเป็นของ “ศิลปะมวลชน” เราก็จะสามารถมองเห็นระดับความโหดเหี้ยมของวัฒนธรรมพาณิชย์อย่างโทรทัศน์ได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น
จากมุมมองของเจน ฟอนด้า The China Sydrome คืออีก้าวหนึ่งในพัฒนาการของเธอในฐานะของศิลปินหัวก้าวหน้า ในช่วงที่เป็นผู้นำในขบวนการต่อต้านสงครามเวียตนาม ฟอนด้ามักจะถูกล่าวหาว่าไร้เดียงสาทางการเมือง เพราะมักจะใช้วิธีการสั่งสอนตรงๆ จนจำนวนคนที่อยากฟังเธอพูดลดน้อยถอยลงทุกทีๆ หลังสงครามเวียตนาม ใครๆ ก็พากันชื่นชมเธอว่ามีความเป็นมนุษย์มากขึ้น จากการทำงานอย่างใกล้ชิดกับสามีผู้เป็นนักการเมืองคือทอม เฮย์เด็น ณ องค์การแห่งการรณรงค์สู่ประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจแห่งแคลิฟอร์เนียที่คนทั้งคู่ก่อตั้งขึ้น ฟอนด้าได้หันมาทำภาพยนตร์การเมืองตามการเรียนรู้ใหม่ๆ ของตนมากขึ้น รวมทั้ง Coming Home (ค.ศ. 1978) อันเป็นบทวิพากษ์ผลกระทบของสงครามเวียตนามในท่าที่สะท้อนถึงความเป็นผู้ใหญ่ทางการเมืองเป็นอย่างสูง แล้วในปีต่อมา ฟอนด้าก็เดินหน้าไปอีกก้าวใหญ่ๆ
“ดิฉันคิดว่า The China Syndrome มีผลกระทบค่อนข้างรุนแรง ทั้งในทางสังคมและธุรกิจ” ฟอนด้าอธิบาย “มันเป็นตัวอย่างของภาพยนตร์สองชนิด เราต้องการทำภาพยนตร์ที่พูดอะไรบางอย่างที่เราต้องการจะพูด แต่เราต้องการพูดกับคนดูจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ด้วย มันคือภาพยนตร์ประเภทเขย่าขวัญ ทว่าในเวลาเดียวกัน มันก็เป็นอะไรที่สำคัญต่อชีวิตประจำวันของคนดูภาพยนตร์ เอาละ เราอย่าพูดอะไรให้มันเกินจริงจะดีกว่า ไม่มีภาพยนตร์เรื่องไหนดอกที่จะสามารถก่อให้เกิดขบวนการมวลชนขึ้นมาได้ภาพยนตร์อาจจะส่งผลกระทบได้ในบางระดับ แต่มันก็เป็นเพียงก้าวเล็กๆ ไปสู่บางทิศทางเท่านั้น ดิฉันคิดว่าตอนนี้ตัวเองชักจะเข้าใจวิธีการที่จะพูด โดยให้มีคนฟังจำนวนมากๆ แล้วละ!”
ในขณะที่ความสำเร็จทางธุรกิจทำให้ผู้บริหารบริษัทโคลัมเบียยิ้มแย้มแจ่มใสกันใหญ่ ฟอนด้ากลับได้รับความพึงพอใจจากความสำเร็จทางสังคมของภาพยนตร์เรื่องนี้ ดั่งบทสำรวจเรื่องหนึ่งรายงานว่าหลังจากที่ได้ดู The China Syndrome ผู้คนจำนวนร้อยละ 37 ระบุว่าไม่เห็นด้วยกับพลังงานนิวเคลียร์ ร้อยละ84 คิดว่าธุรกิจให้ความสำคัญกับกำไรของตนมากกว่าความเสี่ยงในชีวิตของสาธารณชน และร้อยละ 72 เชื่อว่าความชั่วร้ายของนักธุรกิจดั่งปรากฎในภาพยนตร์คือเรื่องที่เป็นไปได้ในความเป็นจริง ข้อมูลอย่างนี้ดูจะบ่งชี้ถึงบทบาทของ The China Syndrome ในการสร้างความสำนึกทางสังคมต่อภยันตรายสาธารณะที่ออกจะมากับพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์ อุตสาหกรรมที่อยู่ในมือของนักธุรกิจผู้หลงไหลกับยอดกำไรมากจนไม่น่าไว้วางใจ
ถึงจะเก่าไปบ้าง The China Syndrome ก็ยังคงเป็นเพชรของภาพยนตร์ว่าด้วยการต่อสู้กับความโลภของธุรกิจขนาดใหญ่ภายใต้ระบบทุนนิยมโดยผ่านทางวารสารศาสตร์ด้านสิ่งแวดล้อมอันส่งประกายระยิบระยับอยู่เสมอ จนยากที่ภาพยนตร์รุ่นหลังๆ จะบดบังรัศมีได้.
___________________________________________________________
* เนื่องจากในระยะสักยี่สิบปีมานี้ เมืองไทยตกอยู่ในยุคคลั่งไคล้สื่อมวลชน แต่ความเข้าใจในธาตุแท้ของสื่อมวลชนดูเหมือนว่ายังมีจำกัดมาก อีกทั้งวัฒนธรรมในการวิจารณ์สื่อมวลชนของเราก็ล้าหลังเหลือเกิน นับจากนี้ไป ผู้เขียนจึงจะนำเสนอบทวิเคราะห์ภาพยนตร์ว่าด้วยสื่อมวลชนในโลกตะวันตกในคอลัมน์นี้เป็นระยะๆ โดยจะสลับกับการนำเสนอบทความเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ