xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจการเมืองจีน (19)ทำไม ต้องเป็นพรรคเหนือทุน

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

การเมืองโลกปัจจุบัน แบ่งออกเป็น "นิ่ง" กับ "ไม่นิ่ง"

การเมืองนิ่ง หมายถึงกระบวนการขับเคลื่อนของอำนาจการบริหารประเทศ ที่พรรคการเมืองต่างๆ พากัน "อาสา" เข้ามาเป็นผู้ใช้อำนาจนั้น ดำเนินไปอย่างเป็นระบบ ตามกฎกติกาที่กำหนดไว้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ

ประเทศพัฒนาแล้วของโลก ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ล้วนมีการเมือง "นิ่ง" คือมีพรรคการเมืองครองเสียงข้างมากในสภา ทั้งที่เป็นพรรคเดียวและพรรคร่วม สามารถบริหารประเทศได้ตามวาระ ซึ่งอาจจะครบหรือไม่ครบวาระก็ไม่มีความสลักสำคัญประการใด มีความผันผวนน้อย ไม่กระทบต่อการขับเคลื่อนของเศรษฐกิจสังคมโดยรวมแต่ประการใด

ส่วนประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในระดับบน คือได้ก้าวเข้าสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่แล้ว และกำลังอยู่ในขั้นของการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยเรื่อยลงไปจนถึงประเทศ "ชายขอบ" ด้อยพัฒนาทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ โดยทั่วไปแล้วจะมีการเมืองที่ "ไม่นิ่ง" หรือกระทั่ง "วุ่นวาย"

ความ "ไม่นิ่ง" สองระดับ

หากวิเคราะห์กันกว้างๆ คำว่าการเมืองไม่นิ่ง มีสองนัย ประการแรก มีการผลัดเปลี่ยนกันขึ้นบริหารประเทศระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ถี่มาก ความไม่นิ่งเช่นนี้ ถือว่าไม่นิ่ง "ในระบบ"

ประการที่สอง มีการล้มล้างกฎกติกาการเมืองในระบบอยู่เป็นประจำ โดยการยึดอำนาจรัฐประหาร เป็นต้น อันเป็นความไม่นิ่ง "นอกระบบ"

ณ วันนี้ ความไม่นิ่งในระบบมีให้เห็นทั่วไปทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา เช่นอิตาลีมีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย แต่เศรษฐกิจการผลิต ตลาดการค้า ตลาดเงินและตลาดทุนก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ไม่มีสะดุด ไม่กระทบต่อสังคมรวมมากมายนัก

หรือในช่วงหนึ่งของเกาหลีใต้ มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยจากการต่อสู้กันในรัฐสภา

ตรงกันข้าม ความไม่นิ่งนอกระบบ มักจะเกิดกับประเทศกำลังพัฒนาที่ออกจะ "ด้อย" เช่นในประเทศเล็กๆ ของทวีปแอฟริกา หรือในเอเชียที่มีให้เห็นล่าสุดคือการยึดอำนาจของกษัตริย์เนปาล ล้มรัฐบาลด้วยพระองค์เอง

ส่วนประเทศไทย นับว่ามีการเมืองที่ค่อนข้างนิ่งมาแล้วระยะหนึ่ง (ภายหลังเหตุการณ์ "พฤษภาทมิฬ" 2535) มีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นใช้อำนาจบริหารประเทศในระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งเมื่อมาถึงการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่แล้วในต้นปี 2544 พรรคไทยรักไทยก็สร้างประวัติศาสตร์การเมืองไทย เมื่อสามารถกวาดที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่ง และในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งหลังสุดนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2548) การเมืองไทยก็ได้ก้าวหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อพรรคไทยรักไทยสร้างประวัติศาสตร์กวาดที่นั่งในรัฐสภาได้มากถึงเกือบ 80% สามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ที่จะบริหารประเทศได้อย่างมั่นคงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมือง (ในระบบ) ของไทย
นับว่าการเมืองได้ก้าวเข้าสู่ระยะ "นิ่ง" แล้วอย่างมีนัยสำคัญ

ถึงนิ่งก็ยังไม่แน่ว่าประชาชนจะได้อะไรจริง

คงไม่ถึงกับเป็นเรื่อง "หมาป่ากับลูกแกะ" นะ ถ้าจะรุกถามพรรคไทยรักไทย ผู้จะใช้อำนาจบริหารประเทศแต่เพียงผู้เดียวในช่วง 4 ปีนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปว่า พรรคนี้มีอะไรเป็นหลักประกันว่า จะใช้อำนาจบริหารให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

นโยบาย "ประชานิยม" ที่โปรยหว่านไปทั่ว ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ในทางเป็นจริงจะสามารถทำได้แค่ไหน หรือเป็นเพียงกลยุทธ์การตลาด "การเมืองเลือกตั้ง"

เพราะในช่วง 4 ปีที่พรรคไทยรักไทยเป็นแกนนำการบริหารประเทศ ประกาศว่าเป็นช่วงของการ "ซ่อม" ประเทศ ยังมีปัญหามากมายที่ยังไม่ได้แก้ไข เตรียมยกยอดมาทำต่อในช่วง "สร้าง" 4 ปีข้างหน้า

โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินและความยากจน ที่ (พิจารณาในระดับภาพรวม) ไม่เพียงไม่ได้ช่วยปลดเปลื้องภาระหนี้สินเท่านั้น หากแต่กำลังนำพาประชาชนเข้าสู่ความเป็นหนี้อย่างเป็นระบบ

ต่อไปนี้คนไทยส่วนใหญ่จะไม่เพียงเป็นหนี้เจ้าหนี้นอกระบบ (ต่อไปเหมือนเดิม) เท่านั้น แต่ยังจะเป็นหนี้ในระบบ คือเป็นหนี้ธนาคาร บริษัทเงินทุนต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มทุนผูกขาดทั้งในชาติและต่างชาติ

สังคมไทยจะประกอบไปด้วย "เจ้าหนี้" กับ "ลูกหนี้" เท่านั้น ในอนาคตอันใกล้

ทุกฝ่ายต้อง "เคลื่อน" โดยถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

แนวคิดชี้นำและวิธีคิดต่างๆ ในการบริหารอำนาจของพรรคไทยรักไทย ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริงหรือไม่? นี่คือคำถามเชิง "ปรัชญา"

ถ้าตอบไม่ได้ หรือไม่เคลียร์ ก็อย่าหวังเลยว่า พรรคไทยรักไทยจะสามารถบริหารประเทศจนประชาชนส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะกลุ่มทุนพรรคไทยรักไทยเท่านั้นจะเป็นผู้กอบโกยประโยชน์อย่างเป็นกอบเป็นกำ เกิดมหาเศรษฐีรุ่นใหม่ในกลุ่มของพวกเขาเอง ชูคอในสังคมเหนือผู้คนทั่วไป ในฐานะ "อภิสิทธิ์ชน"

เมื่อ "ปุจฉา" มาถึงจุดนี้แล้ว ก็ชักจะ "วิสัชนา" เห็นจริงได้ไม่ยากว่า การเมืองนิ่งของประเทศไทย ไม่ได้หมายความว่าประชาชนจะได้ประโยชน์จริงเสมอไป

เมื่อเป็นเช่นนี้ สังคมไทยเห็นทีจะต้องคิดค้นมาตรการต่างๆสำหรับ "ควบคุม" การบริหารประเทศของพรรคไทยรักไทยใน 4 ปีต่อไปนี้ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้

ด้านหนึ่ง ต้องระดมระบบ กลไก ติดตามตรวจสอบทั้งในระบบและนอกระบบอย่างเต็มที่ จี้ติด และทวงถาม การดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยทุกส่วนของสังคมจะต้องตื่นตัวกันขึ้น จัดตั้งกันเข้า โดยอาศัยเครือข่าย "ประชาสังคม" ที่มีอยู่ในประเทศไทยอย่างเต็มที่

อีกด้านหนึ่ง พรรคการเมืองอื่นๆ เช่นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคมหาชน ที่สามารถแสดงบทบาทตรวจสอบในระบบรัฐสภาได้ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ จงรีบ "ปฏิรูป" ตนเองจากภายในให้เร็วและมากที่สุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นพรรคเหนือทุนให้ได้ ด้วยการปรับจุดยืนใหม่ ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ปรับแนวคิดใหม่ มุ่งไปยังการปฏิรูประบบ โครงสร้าง กลไกอำนาจรัฐให้เอื้อต่อการพัฒนาความเจริญให้แก่ประเทศชาติ นำประชาชนก้าวไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าอย่างแท้จริง โดยไม่ติดข้องกับผลประโยชน์เฉพาะตัวของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง (แม้แต่กลุ่มทุนที่ให้การสนับสนุนพรรคในด้านการเงิน)

หากสามารถถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลักอย่างแท้จริง ยืนหยัดเชิดชูอุดมการณ์ให้สูงเด่นเสมอ อุทิศตัวให้กับภารกิจ "รับใช้ประชาชน" ก็จะได้รับการยอมรับจากประชาชนได้เร็วและมาก มีโอกาสฟื้นตัว ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอีกครั้งอย่างกว้างขวาง

พรรคไทยรักไทยจะ "มา" แล้ว "ไป"

ในกรณีพรรคไทยรักไทย แม้เป็นพรรครัฐบาล ก็จำเป็นต้อง "ปฏิรูป" ตนเองไปในทำนองเดียวกัน มิเช่นนั้นแล้ว ก็จะต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเมืองในอนาคตอันใกล้

เนื่องจากปัญหาของประเทศไทย ความเดือดร้อนที่ประชาชนไทยเผชิญอยู่ ไม่อาจแก้ไขให้ตกไปได้อย่างแท้จริงด้วยกระบวนทัศน์หรือทฤษฎีชี้นำแบบเดิมๆ ที่ไม่ได้ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง

แนวคิดและนโยบายต่างๆ ที่นำเสนอสู่สาธารณะ ล้วนแต่มี "วาระซ่อนเร้น" สำหรับการเร่งกอบโกยผลประโยชน์เข้าสู่กลุ่มทุนใหญ่ไฮเทคอย่างชัดเจน

พิจารณาจาก "ผลงาน" ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา หลักๆ ก็ยังปรากฏอยู่ในแวดวงของกลุ่มทุนใหญ่ในพรรคไทยรักไทยเท่านั้น จุดนี้ได้สร้างความคลางแคลงใจอย่างมหันต์ในสังคมไทย ว่าพรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองที่ "มา" แล้ว จะ "ไป" (เมื่อกอบโกยประโยชน์ได้จนอิ่มหมีพีมันไปตามๆ กันแล้ว)

มิใช่พรรคการเมืองที่มุ่งปักหลักบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ที่แท้จริงของประเทศชาติและประชาชน

ความเป็นไปได้ของพรรคเหนือทุน

การ "ปฏิรูป" ตนเองจากพรรคกลุ่มทุนไปสู่ความเป็นพรรคเหนือทุนของพรรคการเมืองต่างๆ มิใช่ไม่มีความเป็นไปได้ จากการกำหนดของ "เหตุปัจจัย" หรือสภาพแวดล้อมใหญ่ของสังคมโลก และสภาวะเป็นจริงของสังคมไทย โดยเฉพาะคือความเรียกร้องต้องการของประชาชนที่ต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทันทีทันใด

ในสภาวะที่สังคมโลกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวกัน การเมืองที่ "เอื้อ" ต่อการพัฒนาประเทศชาติและมุ่ง "รับใช้" ประโยชน์ของประชาชน จึงจะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน ในท่ามกลางกระแส "โลกาภิวัตน์" ได้อย่างเป็นจริง

การใช้ปัญญาชี้นำความคิด มองลึกถึงกฎเกณฑ์พัฒนาการของสังคมไทยและสังคมมนุษย์โดยรวม มองเห็นเส้นทางที่ "จำต้อง" เดินไป บวกกับการนำเอาหลักธรรมคำสอนของพระศาสดาเข้ามาขัดเกลาจิตใจ ลด-ละ-เลิกจากความโลภ โกรธ หลง รู้จัก "พอ" กับสิ่งที่ตนเองมีอยู่ แล้วก้มหน้าก้มตาอุทิศตนให้แก่การพัฒนาประเทศให้เจริญและสร้างความผาสุกให้แก่ประชาชน คือสิ่งที่พรรคการเมืองของไทยจะต้อง "ทำ" และ "เป็น" ให้ได้

มิเช่นนั้น ประเทศไทยจะเสียโอกาส เสียจังหวะในการขับเคลื่อนตนเองอย่างต่อเนื่อง ในท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์

ทั้งๆที่การเมือง "นิ่ง"

ความจริงยิ่งใหญ่กว่าการพูดคำโต (กรณีศึกษาของพรรคฯ จีน)

สังคมไทยต้องปรับตัวเข้าหา "ความเป็นจริง" และ "เคารพความเป็นจริง" อย่างแท้จริง ก่อนอื่นใดคือ พรรคการเมืองต่างๆ ผู้นำพรรคการเมืองต่างๆ ต้องเน้น "การปฏิบัติ" ที่ถือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เลิกนิสัย "พูดคำโต" ให้ประชาชนนิยมชมชื่น

ทำไม พรรคคอมมิวนิสต์จีนจึงสามารถบริหารประเทศได้ดี เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาชาวโลก

คำตอบเบื้องต้นก็คือ เขาเป็นพรรคที่เน้นการปฏิบัติ รับรู้จากการปฏิบัติ เกิดปัญญาจากการปฏิบัติ ปัจจุบันเป็นพรรคการเมืองที่มีชื่อในเรื่องของการ "ก้มหน้าก้มตาพัฒนาประเทศ" ที่ทั้งโลกพากันกล่าวขวัญ

ใช้ปัญญานำ ทำงานอย่างเป็นวิทยาศาสตร์

เอกลักษณ์อย่างหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่พรรคการเมืองอื่นๆ ควรสนใจศึกษา แล้วนำมาปรับใช้กับตนเอง ก็คือ นอกจากความยึดมั่นและมุ่งมั่นในภารกิจทางประวัติศาสตร์ของตนเอง ที่จะนำประชาชนจีนก้าวไปสู่ความมั่งมีศรีสุขตลอดไปแล้ว ที่สำคัญคือความเป็นพรรคที่ใช้ "ปัญญา" นำการบริหาร มีวิธีการบริหารจัดการที่เป็นวิทยาศาสตร์ วัดผลได้จริง และสามารถ "ปรับตนเองจากภายใน" ได้เสมอ

มีลักษณะของการนำทางปัญญาอย่างเป็นพลวัต มีการ "นวัตกรรม" ทางความคิดทฤษฎีชี้นำ ในทุกขั้นตอนหรือทุกๆ ห้วงแห่งการขับเคลื่อนของภารกิจปฏิวัติหรือพัฒนาประเทศ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของประเทศจีนและประชาชนจีนอย่างใหญ่หลวง และอย่างชัดเจนเสมอ

ในกระบวนการดังกล่าว ก่อนอื่นใด พรรคฯ จีนจะเป็นผู้นำเสนอแนวคิดทฤษฎีและวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ที่เห็นว่าสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกและสังคมจีน ชี้นำการกำหนดแนวทางนโยบายใหม่ๆ ให้แก่รัฐบาลจีน เพื่อขับเคลื่อนกระบวนการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคม และในด้านอื่นๆ ของประเทศจีนและประชาชนจีนต่อไป

พร้อมกันนั้น ด้วยความเป็นพรรคการเมืองคุณภาพ มีระเบียบวินัยสูง มีการบ่มเพาะบุคลากรระดับต่างๆ อย่างรอบด้าน มีทรัพยากรบุคคลที่สมบูรณ์ยิ่ง (ยุทธศาสตร์การดึงดูดบุคลากรชั้นเลิศจากสังคมมาเข้าพรรคก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องศึกษา) พรรคฯจีนจึงสามารถกำหนดตัวบุคคลเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ในหน่วยงานรัฐบาลได้เป็นอย่างดี ตามหลัก "ให้ผู้ที่เหมาะสมไปทำงานในตำแหน่งที่เหมาะสม"

ยิ่งกว่านั้น คณะผู้นำจีน ทั้งในฐานะนำทางการเมืองภาครัฐและฐานะนำทางการเมืองภายในพรรค จะขยันลงพื้นที่ "เป้าหมาย" สำรวจวิเคราะห์สภาวะเป็นจริงอย่างเป็นระบบ เพื่อติดตามตรวจสอบการดำเนินแนวทางนโยบายต่างๆ ของหน่วยงานภาครัฐ และเพื่อค้นพบปัญหาใหม่ๆ ที่สะท้อนถึงสภาวะเป็นจริงที่กำลังเปลี่ยนไป และความเรียกร้องต้องการของประชาชนในอนาคต

ความรู้ความเข้าใจทั้งหมด จะถูกประมวลเข้าเป็นองค์ความรู้ใหม่ และผูกโยงเข้าเป็นแนวคิดทฤษฎี วิสัยทัศน์ใหม่ๆ สำหรับชี้นำการกำหนดแนวทาง นโยบายใหม่ๆ ของพรรคและรัฐบาลต่อไป

มาถึงตรงนี้เราก็พอจะได้คำตอบเบื้องต้นแล้วว่า ทำไม ประเทศไทยจึงต้องมีพรรคเหนือทุน เช่นที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนกำลังเป็นอยู่

และเมื่อมาถึงจุดนี้ เห็นทีต้องถามพรรคไทยรักไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย และพรรคมหาชนว่า พวกคุณพร้อมหรือยัง ที่จะเป็นพรรคเหนือทุน?

ก่อนที่พรรคเหนือทุนจริงๆ จะเกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น