xs
xsm
sm
md
lg

ปราชญ์ชาวบ้าน : รากแก้วของชนรากหญ้า

เผยแพร่:   โดย: ธวัชชัย เพ็งพินิจ

ผู้เขียนรู้สึกโดนใจกับวลี “จากรากหญ้าสู่รากแก้ว” ซึ่งชักนำไปสู่แนวคิดเชิงวัฒนธรรมที่หลากหลาย และทำให้ผู้เขียนมองภาพเกี่ยวกับการพัฒนาที่เน้นการสร้างความเข้มแข็งภายใต้พื้นฐานภูมิปัญญาไทย ซึ่งสอดคล้องกับบริบท วัฒนธรรม และภูมิรู้ของชุมชนหรือท้องถิ่นนั้น โดยมีลักษณะของการเจริญเติบโตภายใต้รากฐานของตนเอง ซึ่งอิทธิพลหรือปัจจัยภายนอกมีผลกระทบให้เกิดความผันผวนภายในโครงสร้างค่อนข้างน้อย หากแนวคิดนี้เป็นอย่างที่ผู้เขียนวาดไว้ ชาวบ้านหรือชนรากหญ้าคงยืนอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเองอย่างมั่นคงในระยะยาว

แต่จากนโยบายของพรรคไทยรักไทย และพรรคการเมืองเกือบทุกพรรค เราจะเห็นว่า มีลักษณะเป็นนโยบาย “ตัวเลข” โดยเอาแนวคิดแบบความทันสมัยมาล่อ ซึ่งนโยบายโดยส่วนใหญ่จะเป็นนโยบายประชานิยม เน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการพัฒนาแบบทุนนิยมที่มีลักษณะแบบให้เปล่า ให้ฟรี ยกเลิกหนี้ ซึ่งโดยภาพรวมก็คือ “การสงเคราะห์”

แนวคิดข้างต้นและนโยบายของพรรคการเมืองนั้นเป็นหนังคนละเรื่องในความรู้สึกผู้เขียน ทั้งๆ ที่ผ่านมานั้นเราจะเห็นว่า การให้นั้นไม่ใช่แนวทางการพัฒนาที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนเลย แต่จากบทเรียนบอกว่าการพัฒนาแบบสงเคราะห์นั้นมักจะนำไปสู่ความล้มเหลวในระยะยาว เพราะแทนที่จะสร้างคุณค่าในความรู้สึก “อยากพัฒนา” ของคนในประเทศกลับกลายเป็นการ “รอให้พัฒนา” โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาที่เอาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมสมัยใหม่และระบบที่มีตัวเลขนำทางนี้ ยิ่งนำไปสู่การทำลายระบบคุณค่าทางวัฒนธรรมของชุมชน เกิดภาวะที่ยิ่งทำยิ่งยากจน ยิ่งนานยิ่งฝังรากลึก และยิ่งพัฒนายิ่งแย่

โดยเฉพาะกับชนรากหญ้าของประเทศที่เกิดปัญหาเรื้อรังอยู่ในทุกอณูไม่ว่าจะเป็น ความยากจน หนี้สิน การล่มสลายของสถาบันครอบครัว การล่มสลายของภูมิปัญญาและวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันนโยบายทางการเมืองมักเอาปัญหาเหล่านี้มาใช้เป็นเครื่องมือ โดยสร้างนโยบายประชานิยมดังที่เป็นอยู่ ดังนั้นพอจะทำนายทายทักได้ว่า ในอนาคต ปัญหาของชนรากหญ้าก็ยิ่งจะสลับซับซ้อนหมักหมมเรื้อรังมากยิ่งขึ้น และยิ่งจะมีแนวโน้มขยายวงกว้างไปสู่ปัญหาระดับประเทศอีกด้วย หากว่านโยบายทางการเมืองมุ่งเน้นนโยบายประชานิยมเชิงตัวเลขดังที่เป็นอยู่

ยังไม่สายเกินไปครับ หากเราจะหันกลับมามองแนวคิดการสร้างความเข้มแข็งให้กับชนรากหญ้าด้วยการพัฒนาไปสู่ความเป็นรากแก้ว เพราะในแต่ละชุมชนนั้นมีรากแก้วที่มีลักษณะเป็นของจริง(Best Practice)ในชุมชน ซึ่งของจริงที่ว่าก็คือ “ปราชญ์ชาวบ้าน” ที่ถือเป็นคลังความรู้ชุมชน เพราะกลุ่มคนเหล่านี้คือผู้ที่สะสมองค์ความรู้จากยุคสมัยและพัฒนาปรับใช้จนเกิดประโยชน์จริง ใช้ได้จริง และเหมาะสมกับบริบท(Context)ทางด้านสังคมและวัฒนธรรมของชุมชนนั้น

ปราชญ์ชาวบ้านที่ว่านี้ ในแต่ละชุมชนต่างก็มีปราชญ์ชาวบ้านในด้านต่างๆ เช่น ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น ด้านการประกอบอาชีพ ด้านการรักษาโรค ด้านการดูแลสุขภาพ ด้านประเพณีพิธีกรรม เป็นต้น ซึ่งแต่ละท่านต่างก็เชี่ยวชาญด้วยประสบการณ์ที่สามารถนำมาใช้ได้จริงๆ ในพื้นที่นั้นๆ

แนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น ได้มีการกำหนดทิศทางโดยเน้นความเหมาะสมด้านสังคมวัฒนธรรมของชุมชนเป็นสำคัญ และเน้นให้คนในสังคมตระหนักในภาระการพัฒนาด้วยตนเอง ภายใต้พื้นฐานของภูมิปัญญาของตนเอง โดยมีแนวคิดว่า หากการพัฒนานั้นเป็นผลึกทางความคิดของชนระดับรากหญ้าแล้ว จะนำไปสู่ความยั่งยืนต่อชีวิตชนรากหญ้าทั้งในระยะสั้นและในระยะยาว

ปัจจุบันปราชญ์ชาวบ้านที่ได้รับการยอมรับในระดับกว้างอาทิ พ่อมหาอยู่ สุนทรธัย พ่อเชียง ไทยดี พ่อผาย สร้อยสระกลาง พ่อทองหล่อเจนไธสง ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ พ่อคำเดื่อง ภาษี พ่อประคอง มนต์กระโทก พ่อจันทร์ที ประทุมภา เป็นต้น ซึ่งท่านเหล่านี้ถือเป็นปูชนียบุคคลที่มีคุณค่าเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศภายใต้ภูมิปัญญาไทย

ดังที่กล่าวมาแล้วว่า ปราชญ์ชาวบ้านนั้นมีปรากฏอยู่ในทุกสังคม ทุกยุคสมัย ในศาสตร์ด้านต่างๆ ซึ่งหากต้องการพัฒนาชนรากหญ้าส่วนใหญ่ของประเทศแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องค้นหาปราชญ์ชาวบ้านที่ถือเป็นรากแก้วในสังคม เพื่อชี้นำสังคมไปสู่ทิศทางการพัฒนาที่เหมาะสมอย่างยั่งยืน

การพัฒนาประเทศควรหันกลับมามองทุนทางสังคม(Social Capital)ของตนเอง มากกว่าการหลงวนอยู่กับวาทกรรมการพัฒนาภายใต้ระบบการค้าที่เรียกว่า “ทุนนิยม” ที่มีปรัชญานำว่า “เศรษฐกิจเสรี” ที่มีตัวเลขเป็นเครื่องชี้วัด เพราะเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การพัฒนาที่เน้นตัวเลขนั้นนำความล่มสลายมาสู่สังคมไทย แต่การพัฒนาที่นำเอาปราชญ์ชาวบ้านมาเป็นตัวนำนั้น จะอยู่บนพื้นฐานของภูมิปัญญาไทย และพร้อมจะนำพาสังคมไทยก้าวไปสู่ความมั่นคงที่ยั่งยืนด้วยตัวของตัวเองมากที่สุด

หากผู้ที่มีบทบาทในระดับนโยบายของประเทศ อยากจะเห็นประเทศไทยและชนรากหญ้าซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศมีทิศทางการพัฒนาที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมกับบริบทของตัวเอง และก้าวไปสู่ความเป็นรากแก้วที่ยั่งยืน ก็ควรที่จะหันนโยบายกลับมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาโดยอาศัยปราชญ์ชาวบ้านเป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งวิธีการนั้นควรเริ่มจากการสำรวจตรวจสอบปราชญ์ชาวบ้านแต่ละพื้นที่ หรือสร้างปราชญ์ชาวบ้านในแต่ละพื้นที่ขึ้นมา เพื่อชี้ให้เห็นว่าการพัฒนาภายใต้ภูมิปัญญาไทยนั้น ปฏิบัติได้จริง เกิดผลจริง และยั่งยืนจริง

อย่างไรก็ตาม ปราชญ์ชาวบ้านนั้นจะต้องมีพื้นที่ยืนของตัวเองในสังคมปัจจุบันระดับหนึ่ง เพราะที่ผ่านมามีปราชญ์ชาวบ้านหลายท่านต้องพังทลายลงกับการเป็นตัวแทนในการให้ความรู้ ซึ่งจะต้องเสียสละเวลา รวมทั้งจะต้องเสียค่าใช้จ่ายของตนเองกับการต้อนรับผู้มาเรียนรู้ดูงาน ดังนั้นรัฐบาลควรจะจ่ายค่าตอบแทนส่วนหนึ่งให้ในฐานะผู้ที่มีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อตอบแทนเวลาที่จะต้องเสียไปในการให้ความรู้และเพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการพัฒนาองค์ความรู้ของตนเองอยู่เสมอ รวมทั้งเพื่อสร้างความภาคภูมิในฐานะ “ปราชญ์ชาวบ้าน” หรือในฐานะ “รากแก้ว” ของการพัฒนา

หากการพัฒนาประเทศมีทิศทางจากปราชญ์ชาวบ้าน เพื่อพัฒนารากหญ้าสู่รากแก้วแล้ว ผู้เขียนว่าการพัฒนาที่เกิดขึ้นจักเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในสังคมไทยอย่างแน่นอน เพราะเป็นการพัฒนาที่มีฐานคิดมาจากองค์ความรู้ของชุมชนเอง ดังนั้นการพัฒนาจึงมีความเหมาะสม เป็นไปได้ และเกิดประโยชน์จริงด้วยประการทั้งปวง
กำลังโหลดความคิดเห็น