xs
xsm
sm
md
lg

ฤทธิ์ร้ายของการหึงหวง

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


เวลาหนังสือพิมพ์รายงานข่าวการฆ่ากันตายเพราะฆาตกรหรือเหยื่อมีอารมณ์หึงหวง คนอ่านมักต้องการรู้สาเหตุว่า เกิดจากความแค้นหรือความโกรธ หรือทั้งสองอย่างในการสำรวจหาเหตุผลของการฆาตกรรมทำให้นักจิตวิทยารู้ว่า คนเราเวลามีอารมณ์หึงหวง และโกรธมากจะสามารถฆ่าคนอื่นได้ และอารมณ์หึงหวงนี้เป็นหนึ่งในสามของต้นเหตุที่ทำให้เกิดการฆาตกรรม (อีก 2 สาเหตุคือ การทะเลาะกัน และการทำอาชญากรรม)

การศึกษาประวัติความเป็นมาของอารมณ์หึงหวงทำให้เรารู้ว่า ทั้งกวีและนักปราชญ์ราชบัณฑิตต่างก็รู้จัก และได้เคยกล่าวถึงอารมณ์ชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยโบราณ มาบัดนี้นักจิตวิทยาได้เริ่มสนใจศึกษาและวิจัยอารมณ์ชนิดนี้บ้าง และได้พบว่า อารมณ์หึงหวงที่มากเกินไป นอกจากจะทำลาย และทำร้ายความรักระหว่างบุคคลแล้ว ยังทำให้ตัวคนที่รู้สึกหึงหวงมีความเจ็บใจด้วย

เราทุกคนควรรู้ดีว่า เวลาสถานภาพสมรสของคน 2 คน ถูกบุคคลที่สามเข้ามารบกวน สุขภาพจิตของคนทั้งสองจะเลวลง แต่จะเลวลงมากเพียงใดนั้นก็ขึ้นกับว่าสามีและภรรยาคู่นั้น ให้ความสำคัญต่อสถาบันสมรสที่ไม่ยอมรับหรือยอมรับการมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่ไม่แต่งงานกันหรือไม่ หรือถ้าสามีและภรรยาต่างก็ถือว่า ตนเป็น "สมบัติ" ของกันและกัน และเป็นสิ่งต้องห้ามสำหรับบุคคลอื่น เขาจะมีอารมณ์หึงหวงที่รุงแรงมาก

เมื่อประมาณ 10 ปีก่อนนี้ นักจิตวิทยาได้เริ่มสนใจศึกษาอารมณ์หึงหวงของมนุษย์ว่ามีสาเหตุมาจากอะไรบ้าง และอารมณ์เช่นนี้มีประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์อย่างไร เพราะเรามีหลักฐานที่แสดงให้รู้ว่า มนุษย์รู้สึกหึงหวงเป็นตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ และเมื่ออารมณ์ชนิดนี้ยังคงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ และจะปรากฏต่อไปในอนาคต นั่นแสดงว่านิสัยนี้ต้องอยู่ในกมลสันดานของมนุษย์จนไม่สามารถขจัดออกไปได้ แม้แต่เทพยดาก็หึงหวงเป็น ดังตำนานเทพนิยายกรีกได้กล่าวถึง Hera ผู้เป็นมเหสีขององค์เทพ Zeus ว่า เมื่อพระนางทรงพบว่า Zeus ทรงมีเทพธิดา Semele เป็นภริยาลับ พระนางทรงกริ้วโกรธด้วยอารมณ์หึงหวงมาก จึงได้วางอุบายให้นาง Semele ถูกไฟคลอกตาย แต่ก่อนที่นาง Semele จะขาดใจ นางได้คลอดบุตรชายคนหนึ่งชื่อ Dionysus (ผู้เป็นเทพแห่งสุรา) และนักจิตวิทยาได้ข้อสรุปจากนิทานเรื่องนี้ว่า การที่ Hera ทรงฆ่า Semele เพราะนางมีอารมณ์หึงหวงพระสวามี Zeus และรู้สึกโกรธชู้มากที่มาทำให้สามีนอกใจตน

เมื่อ 8 ปีก่อนนี้ C.R. Harris แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ San Diego ได้สำรวจความเห็นของคนที่รักกันว่า ถ้าคนรักของตนมีความรู้สึกผูกพันหรือมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ผู้ชายหรือผู้หญิงใครจะเจ็บกว่ากัน และเขาก็ได้คำตอบว่า ถ้าสามีมีอารมณ์ผูกพันกับสตรีอื่น ภรรยาจะรู้สึกเจ็บยิ่งกว่าที่สามีมีเพศสัมพันธ์กับบุคคลอื่น ส่วนสามีนั้นกลับคิดตรงข้ามคือ มักคิดว่า ถ้าภรรยาของตนไปนอนกับชายอื่น ตนจะรู้สึกเจ็บยิ่งกว่ากรณีที่ภรรยามีความรู้สึกผูกพันกับชายคนอื่น

ในการอธิบายความแตกต่างของความรู้สึกนั้น D. Buss แห่งมหาวิทยาลัย Texas ที่เมือง Austin ในสหรัฐอเมริกาได้ชี้แจงในวารสาร Psychological Science ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2539 ว่า เพราะเหตุที่ผู้ชายไม่สามารถมั่นใจได้ 100% ว่า เวลาภรรยาของตนคลอดลูก ลูกที่คลอดเป็นลูกตน ดังนั้น ผู้ชายจึงหึงหวงภรรยาไม่อยากและไม่ต้องการให้ไป "ยุ่ง" กับคนอื่น พูดง่ายๆ คือไม่อยากเจ็บเพราะถูกสวมเขานั่นเอง ส่วนภรรยานั้น เวลาเธอมีท้อง เธอมั่นใจว่าเด็กที่อยู่ในท้องเป็นลูกของเธอ 100% แต่ที่เธอกลัวและจะรู้สึกว่าเจ็บหนักหนาสาหัส คือ ถ้าสามีของตนมีความสัมพันธ์ทางจิตใจกับหญิงอื่น เธอจะสูญเสียความคุ้มครอง ความเป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยาก หมดการมีเงินเลี้ยงดูลูก และครอบครัว ฯลฯ ซึ่งจะทำให้เธอลำบากมาก และนี่ก็คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้สตรีหึงหวงสามี นอกจากนี้ Buss ก็ยังพบอีกว่า ผู้หญิงส่วนใหญ่เชื่อว่าผู้ชายสามารถมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงโดยไม่มีความรู้สึกรักใดๆ เลยได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่ผู้ชายมีความรู้สึกรัก และผูกพันกับผู้หญิง เขาก็จะมีเพศสัมพันธ์กับเธอแน่นอน ดังนั้น การนอนด้วยแต่ไม่รักของผู้ชายจะทำให้ผู้หญิงเจ็บน้อยกว่าการที่ผู้ชายมีรักและนอนด้วยกับผู้หญิงอื่น เพราะแค่นอนด้วยเมื่อแล้วก็แล้วกันไป แต่ถ้าใจผูกพันด้วยทุกอย่างก็จบกันเท่านั้นเอง

เมื่อสาเหตุของการหึงหวงเป็นเช่นนี้ ดังนั้น คนขี้หึงจึงมีความกลัวสารพัดรูปแบบ เช่น กลัวการถูกแบ่งปันความรัก กลัวถูกทอดทิ้ง กลัวถูกหัวเราะเยาะ กลัวคนกล่าวหาว่าทำหน้าที่บกพร่อง ความกลัวเหล่านี้ทำให้ผู้รู้สึกหึงหวงบางคนทนไม่ได้ต่อการสูญเสียคนรัก จนต้องยึดคนรักไว้กับตัวตลอดเวลา โดยบางคนใช้วิธีจ้องจับผิดคนรัก บางคนทำตัวเป็นคนหูไวตาไว (และปากไว) คอยตัดสัญญาณคนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับคนรักของตนจนคนถูกหึงหวงและคนรอบข้างเข็ดขยาด และระอา และถ้าอารมณ์หึงหวงนี้รุนแรง ผู้ที่ถูกหึงหวงก็จะรู้สึกอึดอัดใจมากจนทนไม่ได้ ทำให้วู่วามด้วยการประกาศหย่าให้รู้แล้วรู้รอดไป หรือประชดประชันด้วยการผูกพันกับคนอื่นจริงๆ

แต่เราก็ต้องยอมรับว่า คนบางคนมีพฤติกรรมที่ชวนให้หึงหวงมาก เช่น กลับจากที่ทำงานไม่เป็นเวลา ทั้งๆ ที่งานที่ทำนั้นมีเวลาทำงานตายตัว หรือเวลาคนรักถามถึงใครบางคนที่เป็นเพศเดียวกันกับคนถาม คนถูกถามมีการหลบสายตา หรือเลี่ยงตอบ หรือจู่ๆ "การบ้าน" ที่เคยทำสม่ำเสมอก็หยุดทำ เหล่านี้เป็นพฤติกรรมที่ชวนสงสัยว่าคงมีที่ส่งส่วยหลายที่ซึ่งสามารถทำให้ครอบครัวแตกหักได้ ดังนั้น ถ้าไม่อยากให้อนาคตของการสมรสแตกหักด้วยการหึงหวง คู่กรณีต้องแสดงความบริสุทธิ์ใจโดยหาวิธีบอกและวิธีอธิบายให้เข้าใจ และเห็นใจกันให้ได้ เช่น ไม่ให้ความสนใจใครอื่นมากเกินความเหมาะสม เป็นต้น

ส่วนคนที่ชอบหึงนั้นก็ควรต้องลดความกังวลลงบ้าง โดยไม่จินตนาการฟุ้งซ่านมากไป และไม่จ้องจับผิดคนรักตลอดเวลา และถ้าตนมีปมด้อยก็ควรปรับตัวให้ดีขึ้นดีกว่าการตามหึงโดยไม่ฟังใคร การรีบเสริมความมั่นใจให้ตนเองจะทำให้คนคนนั้นมีความสุขขึ้น และชีวิตสมรสก็จะสมบูรณ์ขึ้นด้วย

ในชีวิตของเราทุกคน เราคงเห็นคนแสดงความรู้สึกหึงหวงกันบ้างแล้ว บางคนออกอาการบ่อย แต่บางคนก็นานๆ ครั้ง และเราก็ควรรู้ว่าอารมณ์ชนิดนี้สามารถทำลายความรู้สึกดีๆ ได้ เพราะการหึงหวงนั้นมักเกิดจากการเปรียบเทียบว่า บุคคลที่สามมีคุณค่ามากกว่าตน และเมื่อรู้สึกเช่นนี้ตนก็จะโกรธ ทำให้ใจไม่เป็นสุข ดังนั้น วิธีที่ดีคือหยุดเปรียบเทียบ เพราะการเปรียบเทียบจะทำให้เขาคนนั้นเป็นคู่แข่งตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้ตนรู้สึกโมโหและเหนื่อย หรือถ้าจะระเบิดก็ดูไม่งาม เพราะคนอื่นจะรู้สึกทุเรศเวลาเห็นคนมีอารมณ์วีนแตก แต่ถ้าเราเก็บอาการหึงหวงไว้หมดจดมิดชิด เราก็จะดูเป็นผู้ใหญ่ที่ดูเหมาะสมสำหรับการเป็นผู้นำและเป็นผู้ดี แต่เราก็ไม่ต้องเก็บกดอารมณ์หึงหวงนี้ตลอดไป เพราะจะทำให้เราเครียดมาก ควรหาทางระบายความในใจโดยการเปิดใจกับเพื่อนซี้บ้าง การเล่าสู่กันฟังจะสามารถช่วยทำให้สุขภาพจิต และสุขภาพกายของคนที่ขี้หึงดีขึ้นได้บ้าง

ในวารสาร American Scientist ฉบับเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2547 Christine R. Harris แห่งมหาวิทยาลัย California ที่ San Diego ได้รายงานการศึกษาวิวัฒนาการของอารมณ์หึงหวงในคนและสัตว์ว่า ไม่เพียงแต่คนเท่านั้นที่หึงหวงเป็น สัตว์ต่างๆ ก็มีความรู้สึกชนิดนี้ได้ โดยเวลาลิงตัวเมียติดสัดและพร้อมจะสืบพันธุ์ ลิงตัวผู้จะติดตามผสมพันธุ์กับตัวเมียบ่อย และในขณะเดียวกันก็กีดกันไม่ให้ตัวผู้ตัวอื่นเข้าใกล้ตัวเมียของตนด้วย และในกรณีชะนีซึ่งเป็นสัตว์ที่มีผัวเดียว-เมียเดียว เวลาชะนีตัวเมียตัวอื่นหลงเข้ามาในบริเวณรังของคู่ผัวเมีย โดยไม่ฟังอีร้าค่าอีรม ชะนีตัวเมียที่เป็นเจ้าของรังจะไล่ตะเพิดตัวเมียที่หลงมาทันที และ Harris ก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความแตกต่างของการหึงหวงระหว่างคนและสัตว์ คือ สตรีเวลามีความต้องการทางเพศมักไม่แสดงอาการชัดเจนเหมือนสัตว์ตัวเมีย ดังนั้น บุรุษจึงอาจหลงแสดงอาการหึงหวงผิดจังหวะ และในภาพรวม อารมณ์หึงหวงเป็นอารมณ์ธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตชั้นสูงมี และใครไม่มี เขาคนนั้นรักใครไม่เป็นครับ

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น