xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ขายไม่รับผิดชอบ : เหตุทำให้ผู้ซื้อเดือดร้อน

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ทุกคนที่เคยผ่านหลักสูตรการขาย จะต้องได้ยินได้ฟังคำพูดประโยคที่ว่า ลูกค้าคือพระราชา อันถือได้ว่าเป็นปรัชญาแห่งการขายก็ว่าได้

นัยแห่งความหมายของประโยคที่ว่านี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ผู้ซื้อเป็นผู้ที่ผู้ขายจะต้องให้ความสำคัญเหนือปัจจัยอื่นใดในการดำเนินธุรกิจ ด้วยเหตุที่ว่าถ้าปราศจากผู้ซื้อแล้ว ผู้ประกอบการธุรกิจไม่ว่าจะในฐานะผู้ผลิตหรือผู้ขายย่อมจะดำรงอยู่ไม่ได้

ดังนั้น ผู้ซื้อจึงมีสถานะเป็นผู้มีอุปการคุณอันสูงส่งต่อผู้ประกอบการธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกแห่งการแข่งขันทั้งด้านคุณภาพ ราคา และบริการเฉกเช่นทุกวันนี้ และที่ว่ามานี้คือหลักการทำธุรกิจทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะผู้ผลิตหรือผู้ขายตระหนักดีว่า ถ้าเขาต้องการอยู่รอด และมีส่วนแบ่งการตลาดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วจะต้องพึ่งพาผู้ซื้อ

แต่ถึงกระนั้นในทางพฤตินัยเท่าที่ปรากฏในวงการธุรกิจในประเทศไทย จากอดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังมีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าถึงปรัชญาแห่งการขายที่ว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ประกอบการธุรกิจประเภทผูกขาดหรือแม้กระทั่งผู้ประกอบการธุรกิจที่ผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทแข่งขัน ก็ยังมีพฤติกรรมเป็นพ่อค้าอยู่บนหอคอยงาช้างให้เห็นคือ ไม่สนใจและไม่ใส่ใจคำขอร้องและเสียงก่นด่าของลูกค้าที่ซื้อสินค้าไปแล้วปรากฏว่า มีปัญหาสินค้าด้อยคุณภาพ จะเห็นได้จากกรณีของ เดือนเพ็ญ ศิลาเกษ ที่ซื้อรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้ารุ่นซีอาร์วีไปใช้ประมาณ 2 เดือน และปรากฏว่ามีปัญหาจุกจิก ครั้นนำไปซ่อมที่ศูนย์บริการก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ปัญหาที่เกิดขึ้นหมดไป ทั้งทางผู้ขายก็มิได้แสดงความรับผิดชอบในการเปลี่ยนสินค้าที่มีข้อบกพร่องให้ ทั้งยังพูดทำนองว่า รถรุ่นนี้ผลิตออกมาสู่ตลาดประมาณ 100 คัน และมีปัญหาเพียงหนึ่งคัน

ในที่สุด เดือนเพ็ญ หมดความอดทนจึงได้ใช้ค้อนทุบกระจก และใช้พลั่วทุบกระโปรงหน้าจนบุบ แล้วหันไปซื้อยี่ห้ออื่นมาใช้ดังที่ได้ปรากฏข่าวใหญ่ตามที่สื่อต่างๆ เสนอไปแล้ว

แต่ที่ได้นำเรื่องนี้มาเขียนก็ด้วยเห็นว่า เป็นภัยใกล้ตัวและมีโอกาสจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ถ้าวงการธุรกิจของไทยยังคงมองข้ามความสำคัญของผู้บริโภค และทำธุรกิจโดยการเอาเปรียบลูกค้า ทั้งหน่วยงานของรัฐที่ดูแลเรื่องนี้คือ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือที่เรียกย่อๆ ว่า สคบ.ยังไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะลงไปดูแลแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพเพียงพอเป็นที่ยอมรับจากประชาชนว่า เป็นที่พึ่งเขาได้

จริงอยู่ถ้าเปิดดูพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภคฉบับ พ.ศ. 2522 มาตรา 4 (4) ที่ระบุว่าผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณา และชดเชยความเสียหายก็พอจะบอกได้ว่า ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าแล้วได้รับความเสียหายมีสิทธิจะขอร้อง สคบ.ให้ดำเนินการเรียกค่าเสียหายให้ได้

แต่เมื่อดูต่อไปถึงแนวทางที่จะดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายก็พบว่า ในมาตรา 39 ที่ระบุว่า ในกรณีคณะกรรมการเห็นสมควรเข้ามาดำเนินคดีเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคหรือเมื่อได้รับการร้องขอจากผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิ ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งพนักงานอัยการโดยความเห็นชอบของอธิบดีกรมอัยการ หรือข้าราชการในสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางนิติศาสตร์เป็นเจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค เพื่อให้มีหน้าที่ดำเนินคดีแพ่งและคดีอาญา แก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล และเมื่อได้แจ้งไปยังกระทรวงยุติธรรมเพื่อแจ้งให้ศาลทราบแล้ว ให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินคดีตามที่คณะกรรมการมอบหมายให้

ในการดำเนินคดีในศาลให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจฟ้องร้องเรียกทรัพย์สินหรือค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ร้องขอได้ด้วย และการนี้ให้ได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง

จากเนื้อหาของ พ.ร.บ.ทั้ง 2 มาตราที่อ้างมานี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า ผู้บริโภคมีสิทธิในการเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ประกอบการธุรกิจที่ผลิตหรือขายสินค้าที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภคได้ตามมาตรา 4 (4)

แต่ถึงกระนั้นเมื่อดูตามมาตรา 39 แล้วก็จะพบว่าในการดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งการชดเชยค่าเสียหายนั้น มิได้กระทำได้โดยตรง แต่ต้องไปพึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และเลขานายกรัฐมนตรีเป็นเลขานุการ อันหมายถึงว่าคณะกรรมการชุดนี้ก็จะต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง และไม่แน่ว่าจะเห็นควรฟ้องแทนผู้เสียหายได้หรือไม่ เพราะข้อความที่ว่า "ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่า การดำเนินคดีนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม" นั้นก็เปิดช่องให้พิจารณาแล้วไม่ดำเนินการก็ได้ และการเปิดช่องเช่นนี้ ท่านผู้อ่านเพียงนึกถึงบทบาทของผู้ประกอบการกับผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่เป็นเพียงปัจเจกบุคคลคนธรรมดา โดยจะมีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายที่ว่านี้ได้มากกว่ากัน และรับรองได้ว่าถ้าคิดอย่างรอบคอบในประเด็นนี้แล้ว ท่านผู้อ่านคงคิดไม่ต่างไปจากผู้เขียนว่า เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างผู้ประกอบการซึ่งเป็นองค์กรธุรกิจกับปัจเจกบุคคลแล้ว ภายใต้กฎหมายที่ระบุไว้เช่นนี้ยากที่ปัจเจกชนจะดำเนินการใดๆ ให้บรรลุผลได้ และเป็นได้ว่า เดือนเพ็ญ เองก็คงจะประสบปัญหาในการดำเนินการตามกฎหมายในทำนองนี้ จึงได้หันมาใช้วิธีการนำเรื่องนี้ให้เป็นข่าวเพื่อเป็นการฟ้องประชาชนด้วยการเอาค้อนทุบรถ รวมไปถึงการหันไปซื้อรถใหม่จากผู้ประกอบการอันเป็นคู่แข่งกับสินค้าที่ตนเองซื้อมา และไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบการเท่าที่ควรจะเป็น

ส่วนว่าการกระทำในลักษณะนี้จะไปเข้าทางใครหรือไม่ ผู้กระทำคงไม่คิดไกลถึงขนาดนั้น แต่เชื่อว่ากระทำไปด้วยเหตุแห่งความโมโหโกรธามากกว่า แต่บังเอิญไปเอื้อต่อกลยุทธ์ในการแข่งขันสินค้าคู่แข่งน่าจะเป็นได้มากกว่าความตั้งใจ

จากตัวอย่างที่ว่านี้เป็นเพียงหนึ่งในหลายๆ รายที่เดือดร้อนจากการซื้อสินค้าด้อยคุณภาพ และไม่ได้รับการดูแลแก้ไขจากผู้ประกอบการ ไม่เพียงแต่สินค้าประเภทรถยนต์เท่านั้น สินค้าและบริการประเภทอื่นก็มีอยู่ดาษดื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สินค้าที่เป็นปัจจัยสี่ เช่น บ้านที่ผู้ซื้อไปแล้วปรากฏว่า ผู้ประกอบการไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ เช่น ในเงื่อนไขการขายได้ระบุอย่างชัดเจนว่า จะต้องจัดให้มีโน่นมีนี่ แต่ครั้นมีการโอนและเข้าไปอยู่แล้วปรากฏว่า มิได้เป็นไปตามที่ระบุไว้แต่ก็ไม่รู้จะไปทวงสิทธินี้ได้อย่างไรและที่ไหน เพราะส่วนใหญ่ผู้ซื้อที่เป็นปัจเจกบุคคลไม่มีกำลังเงิน และอำนาจในการเรียกร้องต่อผู้ประกอบการ ครั้นจะหันไปพึ่งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็ดังได้กล่าวแล้วว่า ต้องใช้เวลาและความอดทนในการรอคอยเพราะมีขั้นตอนมากมาย

ดังนั้น ส่วนใหญ่จึงปล่อยให้เรื่องที่เกิดขึ้นเลยตามเลย และถือว่าเป็นกรรมที่ตนเองไม่ฉลาดพอที่จะตามทันกลโกงของผู้ประกอบการธุรกิจ

เมื่อความเดือดร้อนเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค อันเนื่องมาจากความไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการ ทั้งหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ยังเป็นที่พึ่งของประชาชนผู้เดือดร้อนไม่ได้ตามที่ควรจะเป็น จะทำอย่างไรจึงจะแก้ปัญหาดังที่ได้เกิดขึ้นกับเดือนเพ็ญได้?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนคิดว่าควรจะได้มองโดยแยกออกเป็น 2 ประเด็น ประเด็นแรก เริ่มที่การควบคุมมาตรฐานสินค้าให้อยู่ในระดับที่สังคมคนรับได้ในแง่ของคุณภาพ และราคารวมไปถึงการให้บริการหลังการขายในแต่ละประเภทสินค้า และจะต้องระบุให้ชัดเจนว่า สินค้าและบริการประเภทใดต้องมีคุณภาพระดับไหน และต้องให้บริการหลังการขายอย่างไร ส่วนราคานั้นจะมีการควบคุมหรือไม่ควบคุมก็ได้ เพราะธุรกิจที่มีการแข่งขันผู้ประกอบการจะต้องใช้กลไกราคาในการแข่งขันกันอยู่แล้วจึงไม่สามารถเอาเปรียบลูกค้า ด้วยการกำหนดราคาแพงกว่ากำลังซื้อที่ลูกค้ามีอยู่ได้ ยกเว้นสินค้าที่มีการผูกขาดควรมีการควบคุมราคาด้วย

ส่วนประเด็นที่สอง จะต้องเดินไปที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคจะต้องได้รับการปลูกฝังความรู้ความเข้าใจในการซื้่อหาสินค้า และบริการในแต่ละประเภทซึ่งมีกฎหมายควบคุมว่าจะต้องรู้อะไรบ้างก่อนลงมือซื้อ และหลังจากซื้อไปแล้วถ้าเกิดความเสียหายเกิดขึ้นจะดำเนินการอย่างไร เพื่อเรียกร้องสิทธิตามที่กฎหมายคุ้มครอง รวมไปถึงการบอกให้รู้ถึงขั้นตอนในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายโดยอาศัยหน่วยงานรัฐด้วยว่า จะดำเนินการได้อย่างไร และใช้เวลามากมายเท่าใด ในแต่ละประเภทสินค้า

อีกประการหนึ่งที่ผู้บริโภคที่เดือดร้อนควรจะทำ ถ้าประสบปัญหาความเดือดร้อนก็คือ ไม่ควรนิ่งเฉยโดยปล่อยให้ผู้ประกอบการที่เอาเปรียบผู้บริโภคลอยนวล แต่การจะได้นำข้อมูลออกเปิดเผยต่อสื่อมวลชนดังที่ เดือนเพ็ญ ได้กระทำไปแล้วแต่ไม่ต้องถึงกับลงมือทำลายสินค้าที่ซื้อไปให้ได้รับความเสียหาย เพียงแค่แจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดของความเดือดร้อน และสิ่งที่ต้องการให้ผู้ประกอบการแก้ไขก็น่าจะเพียงพอ เพราะเชื่อว่าถ้าหน่วยงานรัฐเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ทันทีที่ข่าวเช่นนี้ออกไป คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคก็คงจะต้องลงมาดูแลแก้ไขโดยไม่ต้องรอให้ผู้เดือดร้อนไปขอร้อง ทั้งนี้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคมาตรา 39 อยู่แล้ว เพียงแต่เมื่อลงมาดำเนินการควรจะได้กำหนดเงื่อนไขเวลาให้ชัดเจนว่า จะใช้เวลานานมากน้อยแค่ไหนเพียงไร และมั่นใจได้แค่ไหนว่าผู้เดือดร้อนจะได้รับความเป็นธรรมจากปรากฏการณ์แห่งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการธุรกิจกับผู้บริโภค

ถ้าทำได้เช่นนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าความเดือดร้อนอันอาจเกิดขึ้นจากการไม่รับผิดชอบของผู้ประกอบการธุรกิจต่อสินค้าด้อยคุณภาพคงจะบรรเทาเบาบางลง และหมดไปในที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น