xs
xsm
sm
md
lg

คำโกหกอันศักดิ์สิทธิ์

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

หลังจากที่ใครๆ ก็สงสัยในใจกันมาหลายวันว่า หัวหน้าพรรคไทยรักไทยจะไปร่วมงานการประชันฝีปากกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่ กลางๆ สัปดาห์นี้ หนังสือพิมพ์บางฉบับได้ตีพิมพ์แจ้งความเชิญชวนประชาชนเสมือนว่าท่านได้ยินยอมพร้อมใจที่จะไปร่วมงานในทำนองนี้ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 แล้ว

ทว่าเอาเข้าจริงอะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีใครทราบได้ เพราะ ณ นาทีนี้ ดูเหมือนว่าการเลือกตั้งกำลังอยู่ในระหว่างการชิงไหวชิงพริบกันอย่างถึงพริกถึงขิง ชนิดที่ว่าแต่ละฝ่ายต่างล้วงต่างควักเอากลเม็ดเด็ดพรายต่างๆ ออกมาใช้กันมากมายแบบเททั้งกระเป๋าทีเดียว

หากตัดสินใจไม่ไปร่วมงานแบบนี้ ก็อาจจะหมายความว่าท่านเห็นว่าการใช้เวลาที่มีอยู่เพียงน้อยนิดก่อนวันเลือกตั้งกับกิจกรรมอื่นๆ คงจะให้ผลตอบแทนมากกว่า เพราะไหนๆ พรรคไทยรักไทยก็ดูจะได้เปรียบกว่าหลายขุมอยู่แล้ว เรื่องอะไรจะเปิดโอกาสให้มวยรองบ่อนมาลูบคมเล่นในเวทีสาธารณะเดียวกันเพื่อเทียบรัศมีกันอย่างง่ายๆ ดีไม่ดีอาจจะพลาดท่าเสียทีอะไรสักอย่างขึ้นมาในนาทีสุดท้ายก็ได้

ในทางตรงกันข้าม หากท่านไป ก็น่าจะเป็นผลดีกว่าในระยะยาว นอกจากจะเป็นการแสดงสปิริตว่าท่านให้เกียรติแก่คู่แข่งตามความคาดหมายของวัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว การเผชิญหน้ากันในนาทีสุดท้ายแบบจะๆ เช่นนี้น่าจะเป็นโอกาสชั้นเยี่ยมที่จะประกาศ “คำโกหกอันศักดิ์สิทธิ์” (noble lie) ตามนัยยะของเพลโตว่าพรรคไทยรักไทยคือทางเลือกที่ดีที่สุดของคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

แต่ไหนแต่ไรมา การใช้อำนาจรัฐจะดำเนินไปได้อย่างราบรื่นก็ต่อเมื่อมีความยินยอมพร้อมใจของประชาชนโดยผ่านทาง “คำพูด” ที่ฟังแล้วบังเกิดความระรื่นหูของผู้นำ ไม่ใช่การอาศัยจำนวนเสียงที่เหนือกว่าในสภาผู้แทนราษฎรล้วนๆ หรือการพึ่งพาพลังในการปราบปรามโดดๆ

การใช้ความชอบธรรมจากจำนวนเสียงที่มากกว่าในรัฐสภาอย่างเดียวย่อมง่อนแง่นเกินไป เพราะอาจจะโดนข้อกล่าวหาว่าเป็นเผด็จการทางรัฐสภา (ดังที่พรรคไทยรักไทยประสบอยู่เป็นครั้งเป็นคราวในการเป็นรัฐบาลรอบแรก) ซึ่งดูจะเป็นข้อกล่าวหาที่น่าสนใจเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในบริบทของระบบการบริหาร “แบบซีอีโอ” ตำรับชินคอร์ป ที่สภาผู้แทนราษฎรถูกลดบทบาทไปจากอุดมคติดั้งเดิมแห่งการเป็นเวทีแห่งการอภิปรายเพื่อเสาะแสวงหา “ทางเลือกที่ดีที่สุด” ให้แก่รัฐบาลและสังคม จนกลายเป็นอะไรที่น้อยลงไปกว่านั้นเรื่อยๆ เนื่องจากศูนย์กลางแห่งการตัดสินใจสำคัญๆ ดูเหมือนว่าถูกเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่อื่นเสียแล้ว

อุดมคติของทฤษฎีประชาธิปไตยคือ “รัฐเข้มแข็ง” ที่ถูก “ควบคุม” โดยพลเมือง และด้วยประการฉะนี้จึงมุ่ง “ตอบสนอง” ต่อความต้องการของพลเมือง ทว่าในอีกด้านหนึ่ง อุดมคติของทฤษฎีเสรีนิยมก็คือ “รัฐอ่อนแอ” ที่ปกครองน้อยที่สุด ทว่าปล่อยให้พลเมืองมีเสรีภาพมากที่สุด

รัฐบาลต่างๆ ของสังคมเปิดทุกแห่งจึงต้องเรียนรู้ที่จะจัดการกับความคาดหมายที่ดูจะขัดแย้งกันเหล่านี้ให้ได้ โดยอาศัย “คำโกหกอันศักดิ์สิทธิ์” เป็นหลัก ทั้งนี้ โดยพึ่งพาความสามารถที่จะเรียกหาอาวุธแห่งความรุนแรงมาบังคับกันให้น้อยที่สุด เพราะการทำร้ายหรือทำลายชีวิตถือว่าไม่ใช่ทางเลือก ทว่าเป็นมาตรการสุดท้ายที่ล้าหลังที่สุดและต้นทุนสูงที่สุด

ฉะนั้น “คำโกหกอันศักดิ์สิทธิ์” นี่แหละคือปัจจัยหลักที่จะช่วยให้การปกครองดำเนินไปได้อย่างมีอารยธรรมที่สุด นั่นก็คือ การใช้ลมปากที่มีต้นทุนในการผลิตไม่แพงนัก แน่นอน ไม่ใช่ลมปากของผู้นำเท่านั้น ทว่าของฝ่ายค้านทุกประเภท และพลเมืองทุกกลุ่มด้วย

ความหมายในที่นี้ก็คือ ในอุดมคติแล้ว ระบบการสื่อสารหลักๆ ของสังคมต้องเปิดสำหรับการใช้สอยของผู้เจริญแล้วในอันที่จะค้นหา “คำโกหกอันศักดิ์สิทธิ์” แห่งยุคสมัยร่วมกัน นี่คือพิธีกรรมของวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ใครๆ ก็ต้องการเข้าร่วม โดยไม่มีการขัดขวาง ยิ่งมีเสรีภาพในการแสดงออกมากเท่าใด ความชอบธรรมของรัฐบาลก็มีมากขึ้นเท่านั้น

พูดตามจริง ไทยรักไทยคือพรรคการเมืองที่มีทรัพยากรแห่งการผลิตและเผยแพร่ “คำโกหกอันศักดิ์สิทธิ์” มากมายกว่าพรรคการเมืองไทยอื่นๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ประการที่หนึ่ง เพราะความโดดเด่นทางการเมืองของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ประกอบกับความเชื่อมโยงของเมืองไทยกับระบบเศรษฐกิจการเมืองโลกมีมากและลึกขึ้นตลอดเวลา นายกรัฐมนตรีจากพรรคนี้จึงตกเป็นข่าวในสื่อระหว่างประเทศมากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ในรอบสี่ปีที่ผ่านมา พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร มีโอกาสได้ขึ้นปกนิตยสารที่ตีพิมพ์เผยแพร่ไปทั่วโลกนับได้หลายสิบครั้ง รวมทั้งนิตยสาร Time ฉบับวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ ที่กำลังวางตลาดอยู่วันนี้ ไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลยว่าบุคคลเดียวกันนี้เป็นจุดศูนย์กลางของข่าวต่างประเทศประเภทต่างๆ นับจำนวนได้เป็นหมื่นๆ ครั้ง

จุดที่พึงสังเกตก็คือ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมา รัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจเอกชนของไทยดูเหมือนว่าจะมีการลงทุนกับการลงแจ้งความในสื่อระหว่างประเทศมากกว่าในอดีตที่ผ่านมาทั้งหมด นับตั้งแต่การโฆษณานานาชนิดของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การบินไทย อีลิท การ์ด และเบียร์ช้าง จนเมืองไทยได้กลายเป็นแหล่งเงินโฆษณาใหม่ที่น่าสนใจของสื่อระหว่างประเทศ ถึงขนาดที่อาจจะกล่าวได้ว่าพรรคไทยรักไทยมี “เครือข่าย” ของตนในระบบสื่อระหว่างประเทศในระดับหนึ่ง

ถึงแม้การกำหนดทิศทางการทำข่าวของสื่อระหว่างประเทศเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แบบตรงไปตรงมาเลยทีเดียวนัก แต่งบประมาณการโฆษณาและความใกล้ชิดโดยธรรมชาติระหว่างแหล่งข่าวของรัฐบาลไทยและผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ย่อมทำให้โอกาสในการจัดการกับ “มุมมอง” ของข่าวที่ปรากฏเป็นไปได้ตลอดเวลาในระดับหนึ่ง

ประเด็นใหญ่ใจความอย่างหนึ่งของการอภิปรายในสื่อระหว่างประเทศเหล่านี้ก็คือ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตรคือผู้นำที่ดีเด่นคนหนึ่งของทวีปเอเชียหรือไม่ และเขาจะต้องทำอะไรอย่างไรอีกบ้าง จึงจะได้มาซึ่งสถานภาพนั้น

ไม่ว่ารายละเอียดแห่งการอภิปรายดังกล่าวจะเป็นอย่างไรก็ตาม ในตัวมันเอง ปรากฏการณ์อย่างนี้ก็ถือเป็นความสำเร็จชนิดหนึ่งแล้ว ไม่มีนายกรัฐมนตรีของไทยคนใดในอดีตที่ได้ “go inter” ในขีดขั้นเดียวกันนี้

ประการที่สอง ความที่เป็นรัฐบาลที่ดูเหมือนว่ามีการลงทุนกับการวางระบบและแผนงานด้านการตลาดทางการเมืองอย่างจริงจังกว่าที่เราเคยได้เห็นกันมาก่อนหน้านี้ พรรคไทยรักไทยจึงได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นๆ ภายในประเทศในแง่ของการประชาสัมพันธ์ทั้งในระดับบรรษัทและบุคคล ดังปรากฏในการสำรวจครั้งหนึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ว่าพรรคไทยรักไทยได้รับโอกาสในการเป็นศูนย์กลางของข่าวโทรทัศน์มากกว่าพรรคการเมืองอื่นๆ เป็นอย่างมาก (The Nation, February 2, 2005)

ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพูดถึงการทุ่มเทในการจัดการกิจกรรมต่างๆ ของพรรคไทยรักไทยที่สามารถผลิต “เหตุการณ์” ที่เรียกร้องความสนใจจากสื่อต่างๆ แบบตลอด 24 ชั่วโมง ยังผลให้พรรคดังกล่าวสามารถแก่งแย่งพื้นที่จากสื่อต่างๆ ได้มากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเป็นธรรมชาติอยู่แล้ว นอกจากทุนทางการเงินและความคิดแล้ว การจัดองค์กรที่แบ่งหน้าที่ชัดเจนของพรรคไทยรักไทยน่าจะเป็นคำอธิบายถึงกิจกรรมที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้

ประการที่สาม เนื่องจากสมาชิกระดับสูงหลายๆ คนของพรรคไทยรักไทยเป็นมหาเศรษฐี บุคคลเหล่านี้นับตั้งแต่หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค จนกระทั่งถึงสมาชิกพรรค จึงเป็นผู้ถือหุ้นรายสำคัญของสื่อสำคัญๆ ครบถ้วนทุกชนิด นอกจากนี้ บุคคลกลุ่มเดียวกันในฐานะนักธุรกิจยังเป็นแหล่งที่มาของงบประมาณการโฆษณาที่ไปเลี้ยงดูปูเสื่อสื่อนานาชนิดเป็นจำนวนไม่น้อยด้วย กล่าวคือ การโฆษณาเชิงพาณิชย์ในช่วงปกติและการโฆษณาเชิงการเมืองในระยะเวลามีการเลือกตั้ง

ด้วยประการฉะนี้ อิทธิพลของพรรคไทยรักไทยในวงการสื่อจึงมีอยู่มากมาย ฉะนั้น ย่อมเป็นธรรมดาอยู่เองว่า “มุมมอง” ของสื่อเกี่ยวกับเจ้าของกระเป๋าเงินเหล่านี้ย่อมจะมีความรักใคร่ใยดีปะปนอยู่มากกว่าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเอาเป็นเอาตาย

เพราะความได้เปรียบเชิงโครงสร้างข้างต้นนั้น การไปร่วมงานประชันฝีปากกับหัวหน้าพรรคการเมืองอื่นๆ จึงน่าจะเป็นคุณูปการต่อพรรคไทยรักไทยในแง่ของการตัดสินใจลงคะแนนเสียงในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 เป็นอันมาก

ประการที่หนึ่ง เนื่องจากการเผยแพร่แนวนโยบายในช่วงก่อนการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองยังค่อนข้างกว้างและคลุมเครือ เนื่องจากโดยทั่วไปแล้ว การต่อสู้ในการหาเสียงจะไปเน้นที่วาทศิลป์และตัวบุคคลเสียมากกว่า

เวทีการอภิปรายสาธารณะอย่างนี้จึงดูจะเป็นโอกาสของหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ในการโฆษณาแนวนโยบายแบบสรุปรวบยอดของตนได้เป็นอย่างชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบกับการนำเสนอแนวนโยบายแบบเดี่ยวๆ แล้ว การคุยโม้โอ้อวดที่ไม่จริงในเวทีสาธารณะที่หัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคมาปรากฏตัวพร้อมๆ กันนี้จะกระทำได้ยากกว่า

การนำเสนอแนวนโยบายในเวทีเดียวกันน่าจะเป็นประโยชน์มากในแง่ที่เป็นการผูกมัดพรรคการเมืองต่างๆ ว่าต้องการจะทำอะไรและอย่างไรกันแน่ ลงท้ายแล้ว ผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งจะได้มีข้อคิดประจำใจอย่างสั้นๆ ว่าตนเองกำลังใช้สิทธิเลือกระหว่างอะไรกับอะไรกันแน่

ประการที่สอง นอกจากจะเป็นโอกาสในการอธิบายแนวนโยบายสำคัญๆ ของแต่ละพรรคแล้ว การดีเบตนี้น่าจะผลิตข้อมูลนำนโยบายที่สำคัญขึ้นมาได้อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ หน้าตาของรัฐบาลชุดต่อไปน่าจะเป็นอย่างไรในแง่ที่ว่าพรรคใดจะผสมพันธุ์กับพรรคใดได้หรือไม่ และในเงื่อนไขอย่างไรบ้าง แนวโยบายที่สำคัญดังกล่าวนี้ยังไม่เคยมีปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในเวทีสาธารณะอื่นๆ ข้อมูลอย่างนี้ก็นับว่าจะเป็นประโยชน์สำหรับการพิจารณาของผู้มีสิทธิในการลงคะแนนเสียงเหมือนกัน

ประการที่สาม นอกจากการแถลงแนวนโยบายของตนเองแล้ว นี่น่าจะเป็นโอกาสสำหรับตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในอันที่จะสอบถามรายละเอียดสำคัญๆ ที่ตนสงสัยจากหัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ ได้ ไม่ใช่ปล่อยให้เขาพูดแต่ฝ่ายเดียว เพราะลงท้ายแล้ว คุณค่าของแนวนโยบายของพรรคการเมืองจะมีมากหรือน้อยเพียงใดย่อมไม่ใช่การยัดเยียดจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง ทว่าจะต้องวัดเอาจากผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากแนวนโยบายนั้นๆ เป็นสำคัญ

ประการที่สี่ เนื่องจากในปัจจุบันคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต) ได้ออกประกาศห้ามทำโพลการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนของการสำรวจความคิดเห็นก่อนการเลือกตั้ง และการสำรวจหน้าหน่วยการเลือกตั้ง ฉะนั้น ข้อมูลสำคัญๆ บางประการเกี่ยวกับการเลือกตั้งจึงขาดหายไปมาก ฉะนั้น การดีเบตของหัวหน้าพรรคดังกล่าวจึงน่าจะช่วยปิดช่องว่างบางอย่างที่เกิดขึ้นจากสุญญากาศทางข้อมูลนี้ได้

ในที่นี้ ผู้เขียนใคร่ขอเสนอให้ กกต. ปรับปรุงเนื้อหาของประกาศดังกล่าว โดยยกเลิกการห้ามทำโพลทั่วไปทั้งหมด เนื่องจากนี่เป็นสิทธิในการแสดงความคิดเห็นและการแสวงหาความรู้ชนิดหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้การทำโพลในเมืองไทยมีมาตรฐานสูงขึ้นเรื่อยๆ กกต. อาจจะกำหนดให้ผู้ทำโพลเปิดเผย (1) หลักเกณฑ์ในการตั้งโจทย์ (2) จำนวนและสถานที่อันเป็นที่มาของข้อมูล (3) วิธีการเก็บและตีความข้อมูล (4) จำนวนและแหล่งการเงินของการเก็บข้อมูล และ (5) โอกาสของความคลาดเคลื่อนตามหลักวิชาการ โดยให้แสดงข้อมูลเหล่านี้ประกอบการเผยแพร่ผลการสำรวจโพลทุกครั้ง

สำหรับการสำรวจหน้าหน่วยเลือกตั้งนั้น ผู้เขียนเห็นว่าอาจจะอนุญาตให้กระทำได้หลังจากสิ้นสุดเวลาการเลือกตั้งแล้วเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอผลการสำรวจก่อนน่าจะเปิดโอกาสให้ผู้นำเสนอผลการสำรวจพยายามใช้ข้อมูลบางอย่างให้เป็นประโยชน์แก่นักการเมืองบางคนบางพรรคได้ ที่สำคัญก็คือ ข้อมูลบางส่วนที่รู้ก่อนแบบเดาสุ่มเช่นนี้ไม่น่าจะเป็นประโยชน์อะไรมากไปกว่าความอยากรู้อยากเห็นแบบผลีผลามธรรมดาๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในไม่ช้าไม่นานผลการคะแนนเสียงที่ถูกต้องเป็นจริงก็จะปรากฏขึ้นแล้ว

เหนือสิ่งอื่นใด การดีเบตคือพิธีกรรมที่หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ จะช่วยกันสร้าง “คำโกหกอันศักดิ์สิทธิ์” เพื่อใช้เป็นหลักในการกำกับตนเองและซึ่งกันและกัน อีกทั้งเป็นแนวทางในการตรวจสอบรัฐบาลและฝ่ายค้าน โดยประชาชนกลุ่มต่างๆ ในอีกสี่ปีข้างหน้าว่าใครได้ทำตามสัญญาที่ได้ให้ไว้กับสังคมหรือไม่และมากน้อยเพียงใด.
กำลังโหลดความคิดเห็น