xs
xsm
sm
md
lg

เสาโฮปเวลล์คุณภาพต่ำส่อเค้าทุบทิ้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯรฟท.ระบุเสาโครงการโฮปเวลล์ คุณภาพต่ำพบแรงกดอัดต่ำกว่าที่มาตรฐานกำหนด ส่อเค้าไม่นำมาใช้ประโยชน์ในโครงการทางรถไฟยกระดับดอนเมือง และแอร์พอร์ต ลิ้งค์ ขณะที่สนข.เตรียมเสนอแผน 3ทางเลือก จะใช้ตอม่อโฮปเวลล์หรือไม่ ชี้หากทุบทิ้งต้องใช้เงินกว่าพันล้าน

นายจิตต์สันติ ธนะโสภณ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)เปิดเผยถึงการปรับปรุงโครงสร้างทางรถไฟยกระดับ หรือโฮปเวลล์ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ต่อกิจการรถไฟในเส้นทางหัวลำโพง-รังสิต ว่า ในเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าโครงสร้างของโครงการโฮปเวลล์ทั้งในส่วนที่เป็นคานและเสาในเส้นทางที่ไปทางรังสิต มีความแกร่งในการรองรับน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐาน ซึ่งอาจจะต้องทุบโครงสร้างโฮปเวลล์ทั้งหมดทิ้ง

ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)ได้รายงานเบื้องต้น หลังจากมีแผนที่จะออกแบบระบบรางเพิ่มเติมให้กับรถไฟ โดยจะใช้เสาของโฮปเวลล์ ที่มีอยู่ในการยกระดับรถไฟขึ้นไปวิ่งลอยฟ้า เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัดเนื่องจากจุดตัดรถไฟ แต่ภายหลังสนข.ได้รับข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาที่ได้ทำการทดสอบความแข็งแกร่งของโครงสร้างที่มีอยู่ประมาณ 500 เสาแล้ว พบไม่มีความแข็งแรง หากมีการก่อสร้างทางรถไฟอาจจะทำให้เกิดปัญหาเรื่องโครงสร้างในอนาคต

"โครงสร้างของโฮปเวลล์ทั้งหมดประมาณ 500 ต้น ปรากฏว่าผลการทดสอบระบบความแข็งแรงไม่ได้มาตรฐานหรือต่ำกว่ามาตรฐานมาก โดยในเบื้องต้นของโครงการได้ออกแบบการรับแรงกดอัดไว้ที่ 350 กิโลกรัม ต่อตารางเซนติเมตร แต่ว่าหลังจากที่เอาไปกดแล้วได้ค่าเฉลี่ยแค่ 100 กว่าเท่านั้น" นายจิตต์สันติ กล่าว

อย่างไรก็ตาม คงต้องประสานงานกับ สนข.ให้ตรวจสอบให้ชัดเจน เพราะหากต้องทุบโครงสร้างโฮปเวลล์ทั้งหมด จะต้องใช้งบประมาณเป็นจำนวนมากจึงจะสามารถนำพื้นที่ออกมาใช้งานได้ปกติ หากโครงสร้างสามารถรับน้ำหนักได้ 310 หรือ 320 ก.ก.ต่อลูกบาศก์เซนติเมตร ก็ยังพอรับได้ และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่โครงสร้างรับน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานขนาดนี้ หากต้องนำมาปรับปรุงเพื่อรับน้ำหนักของรถไฟและรางที่เป็นเหล็กหลายพันตันแล้ว อาจจะไม่มีความปลอดภัย

ส่วนความคืบหน้าการปรับปรุงโครงสร้างโฮปเวลล์ ในเส้นทางมักกะสัน-สุวรรณภูมินั้น ในเบื้องต้นโครงสร้างของโฮปเวลล์ คงจะไม่สามารถนำไปปรับปรุงใช้ประโยชน์ได้ เพราะรูปแบบโครงสร้างที่แตกต่างกัน ซึ่งในเบื้องต้นการปรับปรุงพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างโครงการแอร์พอร์ตลิ้ง จะต้องทุบโครงสร้างโฮปเวลล์บางส่วน ใช้งบประมาณในการทุบทั้งสิ้น 100 ล้านบาท ใช้เวลาประมาณ 3 เดือน

นายคำรบลักขิ์ สุรัสวดี ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร(สนข.)กล่าวว่า สำหรับโครงการทางรถไฟยกระดับไปรังสิตนั้น ขณะนี้กำลังให้หลายสถาบันการศึกษาสำรวจดูความแข็งแกร่งของโครงสร้างโฮปเวลล์ว่าได้มาตรฐานหรือไม่ ซึ่งจากการสุ่มตรวจโครงสร้างโฮปเวลล์ประมาณ 550 ต้น พบว่ามีประมาณ 50 ต้นเท่านั้น ที่มีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้

ทั้งนี้ การตรวจสอบเสาโครงสร้างของโฮปเวลล์ทั้งหมด คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือนนับจากนี้ โดยความเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ 1.ใช้โครงสร้างโฮปเวลล์ทั้งหมด 2.ไม่ใช้เสาโฮปเวลล์ทั้งหมดหรือใช้โครงสร้างใหม่ทั้งหมด และ 3. เลือกใช้เพียงบางส่วน ทั้งนี้ หากเลือกข้อแรกใช้โครงสร้างเสาโฮปเวลล์ทั้งหมดจะทำให้ประหยัดงบประมาณได้ประมาณ 5,000 ล้านบาท แต่หากจะไม่ใช้เสาโฮปเวลล์ ก็จะต้องทุบเสาทิ้งทั้งหมด เนื่องจากจะต้องวางโครงสร้างเสาใหม่แทนที่โครงสร้างโฮปเวลล์วางอยู่ จะทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงถึง 6,000 ล้านบาท เพราะต้องคิดค่าทุบทิ้งอีก 1,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น