xs
xsm
sm
md
lg

กัมพูชายุคฟื้นฟูมีอะไรน่าลงทุน

เผยแพร่:   โดย: พิชิต เดชนีรนาท

นับตั้งแต่เกิดการจลาจลโดยมีกลุ่มประชาชนได้ทำลายทรัพย์สินของชาวต่างชาติในกรุงพนมเปญ ซึ่งกระทบต่อบรรยากาศการค้าการลงทุนในกัมพูชาเป็นอย่างมาก รัฐบาลกัมพูชาจึงจำเป็นต้องเร่งพิสูจน์ให้ชาวโลกมีความเข้าใจในการปรับปรุงประเทศ ตั้งแต่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง เพื่อให้ชาวต่างชาติมีความมั่นใจในการเข้าไปทำธุรกิจการค้าการลงทุนในกัมพูชาต่อไป

สำหรับประเทศไทยที่มีพรมแดนติดกับกัมพูชานั้น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เล็งเห็นถึงศักยภาพของกัมพูชา จึงได้จัดคณะนักธุรกิจไทยประมาณ 20 คน เดินทางเยือนกัมพูชาเมื่อปลายปี 2547 ไปยังจังหวัดสำคัญ เช่น บันเตียเมียนเจย พระตะบอง โพธิสัต กัมปงชนัม และกรุงพนมเปญ เพื่อเข้าศึกษาลู่ทางการค้า การลงทุน รวมทั้งตรวจสอบสถานการณ์ในปัจจุบันของกัมพูชา ซึ่งก็พบข้อเท็จจริงว่ามีความสงบเรียบร้อยดี สามารถขยายการค้าการลงทุนได้อย่างต่อเนื่อง ในบทความนี้จึงอยากขอเล่าสู่กันฟังในศักยภาพของจังหวัดต่างๆที่คณะได้ไปสำรวจ เพื่อเป็นข้อมูลให้แก่นักธุรกิจที่สนใจใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนในกัมพูชา

บันเตียเมียนเจยเมืองแฝดของอรัญประเทศ

บันเตียเมียนเจยเป็นจังหวัดของกัมพูชามีอำเภอปอยเปตติดชายแดนไทยด้านอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว มีพื้นที่ประมาณ 11,551 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่ราบ มี 8 อำเภอ 64 ตำบล มีประชากร 669,961 คน ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรปลูกข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และเลี้ยงสัตว์ จังหวัดได้มีการเตรียมความพร้อมด้านอุตสาหกรรม โดยเฉพาะการพัฒนาถนน 4 สายหลัก

บันเตียเมียนเจยมีศักยภาพการแปรรูปสินค้าเกษตร และมีศักยภาพที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานอุตสาหกรรมในบริเวณที่ติดกับชายแดนไทยอีกด้วย สำหรับอุตสาหกรรมที่ทางจังหวัดต้องการมาก คือ อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป เช่น การอบสินค้าเกษตรให้แห้ง การทำอาหารสัตว์จากข้าวโพด

พระตะบองอู่ข้าวอู่น้ำ

จังหวัดพระตะบองห่างจากชายแดนไทยประมาณ 120 กม. ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำการเกษตรปลูกข้าวมากที่สุดของประเทศ นอกจากนั้นก็มี ข้าวโพด ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ในช่วงฤดูฝนการเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวโพดเสียหายมาก ขาดเทคโนโลยีในการเก็บรักษา การแปรรูป นอกจากนั้นประสิทธิภาพการสีข้าวยังต่ำ นักธุรกิจไทยจึงน่าจะมีโอกาสเข้าไปลงทุนในด้านนี้

จังหวัดพระตะบองมีพื้นที่ปลูกปอ 16 เฮกตาร์ มีการนำวัตถุดิบปอมาทอเป็นกระสอบได้ 5 ล้านกระสอบต่อปี ปัจจุบันได้นำวัตถุดิบบางส่วนมาใช้ทำสินค้าพื้นเมืองมากขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมที่น่าลงทุน ได้แก่ กิจการเกษตรและเกษตรแปรรูป เช่น โรงสีข้าวที่มีประสิทธิภาพ และการผลิตกระแสไฟฟ้า เป็นต้น

โพธิสัตมีส้มชื่อดัง

จังหวัดโพธิสัตมีชายแดนติดกับประเทศไทยด้านจังหวัดตราด ห่างจากชายแดนประมาณ 175 กม. แต่ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาจังหวัดขาดแคลนน้ำเพื่อใช้ในการเกษตร จึงมีความต้องการให้ฝ่ายไทยเข้าไปช่วยจัดระบบชลประทานรวมทั้งการผลิตไฟฟ้าซึ่งสามารถร่วมมือกันได้ในอนาคต

อย่างไรก็ดีผลผลิตปลาเค็มตากแห้งของจังหวัดมีมากและมีชื่อเสียงมาก และในอดีตจังหวัดก็ยังมีชื่อเสียงในการปลูกส้มพันธุ์ของโพธิสัตเอง ซึ่งปัจจุบัน เนื่องจากขาดตลาดรองรับ ขาดผู้รวบรวมผลผลิตออกสู่ตลาด การผลิตจึงลดน้อยถอยลง ส่วนผลผลิตเกษตรชนิดอื่น ได้แก่ การปลูก งา ข้าวโพด ถั่ว ข้าว

นอกจากนั้นยังมีแหล่งน้ำตกสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยก่อสร้างรีสอร์ตรองรับนักท่องเที่ยวได้ อีกทั้งจังหวัดยังมีการอำนวยความสะดวกในการอนุญาตให้รถผ่านแดนเข้ามาขนสินค้าเกษตรและการท่องเที่ยว โดยเข้ามาทางจังหวัดตราด

กัมปงชนัมดังปลาเค็มตากแห้ง

จังหวัดกัมปงชนัมมีพื้นที่ประมาณ 552 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่สองในสามเป็นภูเขา มีประชากรประมาณ 500,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพการเกษตร ทำประมง จังหวัดนี้มีผลผลิตปลามากที่สุด ผลผลิตปลา 2,000-5,000 ตันต่อปี นำมาผลิตปลาเค็มตากแห้ง มีศักยภาพในการเลี้ยงจระเข้ รวมทั้งการผลิตอาหารสัตว์

นักธุรกิจที่เดินทางไปกับคณะในครั้งนี้มีความสนใจที่จะลงทุนผลิตปลากระป๋องในจังหวัดนี้เนื่องจากมีวัตถุดิบปลามาก โดยจะเริ่มจากขนาดเล็กก่อน หากมีลู่ทางก็จะขยายเป็นโรงงานขนาดใหญ่ได้ นอกจากนี้จังหวัดยังขาดแคลนไฟฟ้ายังต้องซื้อไฟฟ้าจากเวียดนามราคา 12 บาทต่อกิโลวัตต์ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะร่วมมือด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าเช่นกัน

ภาวะการลงทุนในกัมพูชา

เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา(Mr. Suon Sitthy)ได้สรุปภาพรวมว่ารัฐบาลกัมพูชากำลังปรับปรุงกฎหมายให้โปร่งใส ให้หลักประกันในความมั่นใจในการลงทุน เปิดกว้าง ไม่แบ่งแยกต่างชาติ การลงทุนในกัมพูชาสามารถลงทุนได้ 100 % เกือบทุกสาขา ยกเว้นสาขาที่เป็นภัยต่อสังคมและประเทศ ส่วนที่ดินสงวนไว้ให้ชาวกัมพูชา ต่างชาติสามารถเช่าระยะยาวได้ มีความเป็นไปได้ในการลงทุนร่วมกับภาคเอกชนกัมพูชาในการผลิตไฟฟ้า โครงการที่ขอรับส่งเสริมทั่วไปสามารถอนุมัติได้ใน 28 วัน ถ้าที่ไม่ซับซ้อนอนุมัติใน 7 วัน ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลอย่างน้อย 6 ปี มากสุด 9 ปี ยกเว้นภาษีเครื่องจักร วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต

นักลงทุนไทยที่เข้าไปลงทุนในกัมพูชาช่วงแรกคือในปี 2534 มีการลงทุนในสาขา การธนาคาร โทรคมนาคม การบิน โรงแรม หลังจากนั้นมาเลยเซียก็เริ่มสนใจเข้ามาลงทุนบ้าง ตั้งแต่เริ่มมีการบันทึกข้อมูล 1 สิงหาคม 2537 ถึง 30 กันยายน 2547 คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนกัมพูชา(Cambodia Investment Board) ได้อนุมัติโครงการจำนวน 1,001 โครงการ มูลค่า 3,989 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยประเทศไทยลงทุนเป็นอันดับ 5 ของการลงทุนจากต่างชาติ มีจำนวน 57 โครงการ มูลค่าเงินทุนไทยจดทะเบียน 135 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการลงทุนในอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารมากที่สุด รองลงมาเป็น โรงแรมและการท่องเที่ยว เสื้อผ้าสำเร็จรูป การแปรรูปไม้ แปรรูปสินค้าเกษตร โทรคมนาคม เป็นต้น

หลังจากที่นายกรัฐมนตรีไทยได้ประกาศปฏิญญาพุกามปี 2546 ซึ่งแสดงถึงศักยภาพที่ประเทศไทยจะให้ความร่วมมือช่วยเหลือพัฒนาประเทศเพื่อนบ้านอย่างจริงจัง ทำให้บรรยากาศความร่วมมือไทย-กัมพูชามีมากขึ้น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น การทำความเข้าใจกัมพูชามากขึ้นก่อนตัดสินใจมาลงทุนรวมทั้งการปรับทัศนคติระหว่างกัน การลงทุนจากไทยต่อไปคงต้องพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการของกัมพูชาซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนที่แท้จริงและยั่งยืน

บทบาทของภาคเอกชน:หอการค้าพนมเปญ

นักธุรกิจรายใหญ่ที่เป็นสมาชิกหอการค้า นักธุรกิจระดับสูงกัมพูชาในหลายสาขา เช่น สาขาก่อสร้าง ขนส่ง นิคมอุตสาหกรรม พัฒนาที่ดิน การค้า เครื่องดื่ม เกษตรแปรรูป ประมง ประมาณ 51 คน ได้พบปะกับนักธุรกิจไทยเพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นกัน การพบกันดังกล่าวแสดงบทบาทและศักยภาพของภาคเอกชนกัมพูชาที่มีความก้าวหน้าพอสมควรการที่นักธุรกิจไทยได้ไปเยือนหอการค้าพนมเปญเป็นโอกาสดีที่นักธุรกิจจากประเทศทั้งสองจะได้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น การมีพรมแดนติดกันและมีการค้ากันมานาน สิ่งเหล่านี้จะสร้างโอกาสและความเชื่อมั่นหลักประกันในการขยายการค้าการลงทุนในระยะต่อไป

โดยฝ่ายไทยสนใจที่จะไปลงทุนทำธุรกิจขนส่งทางรถไฟ การขนส่งโดยรถไฟเพียงแต่เปลี่ยนหัวลากรถไฟโดยไม่ต้องขนถ่ายสินค้าจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย

พลังงานไฟฟ้าเป็นกิจการที่ต้องการมาก

ปัจจุบันการไฟฟ้าของไทยได้จ่ายไฟฟ้าให้กัมพูชาหลายจุดในจังหวัดต่างๆตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในราคาพิเศษตามความช่วยเหลือรัฐบาลไทย แต่ความต้องการไฟฟ้ายังมีอีกมาก ในจังหวัดบันเตียเมียนเจยมีความต้องการ 5 MW. พระตะบอง ประมาณ 12 MW. และมีแผนงานสร้างเขื่อนพลังน้ำเพื่อจ่ายไฟ 2 แห่ง คือ เขื่อนพลังน้ำพระตะบอง 1 ขนาด 24 MW. และเขื่อนพลังน้ำพระตะบอง2 ขนาด 36 MW. จังหวัดกัมปงชนัม และกรุงพนมเปญยังมีความต้องการไฟฟ้าอีกจำนวนมาก

การไฟฟ้าแห่งชาติกัมพูชา(Electricity Du Combodge:EDC) รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนมาจำหน่ายให้เอกชนโดยการใช้เครื่องปั่นไฟจากน้ำมันดีเซล และยังไม่มีสายส่งเชื่อมระหว่างเมือง

มีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการก่อสร้างสายส่ง 115 KV. และสร้าง Substation ในแต่ละจุด หรืออาจจะลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน โดยใช้ถ่านหินที่อาจนำเข้าจากต่างประเทศมาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิต ไฟฟ้าที่ผลิตได้สามารถขายให้กับกรุงพนมเปญและจังหวัดใกล้เคียง หากมีปริมาณมากพออาจส่งกลับมายังประเทศไทยตามบริเวณชายแดนได้

การเกษตรและเกษตรแปรรูปมีโอกาสมาก

กัมพูชาเป็นประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจคล้ายประเทศไทย ทรัพยากรทางการเกษตรมีหลายชนิดที่ของไทยยังขาดแคลน ในขณะที่ในกัมพูชามีการผลิตมากแต่ขาดตลาดรองรับ และการเก็บรักษาที่ดี เช่น พืชไร่ ข้าว ข้าวโพด ถั่วเหลือง ประมงน้ำจืดก็มีมากเกินความต้องการ การไปลงทุนร่วมกับกัมพูชาจึงเป็นโอกาสหนึ่งในการแสวงหาวัตถุดิบที่ประเทศไทยยังขาดแคลน

การที่คณะนักธุรกิจได้เข้าไปเยือนกัมพูชาในครั้งนี้ได้ศึกษาข้อเท็จจริง พบเห็นยังมีลู่ทางขยายการค้าการลงทุนในประเทศกัมพูชาต่อไป แต่การจะประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมในหลายเรื่องก็ด้วยความร่วมมือระหว่างองค์กรของรัฐและเอกชน การพบกันระหว่างนักลงทุนทั้งสองฝ่ายสม่ำเสมอ และการสร้างความไว้วางใจในระยะยาวล้วนเป็นสิ่งสำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น