xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวสารการเลือกตั้งในโทรทัศน์

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ไม่กี่วันก่อน ท่านหัวหน้าพรรคไทยรักไทยได้บอกปัดคำท้าทายของท่านหัวหน้าพรรคมหาชนและพรรคประชาธิปัตย์ในอันที่จะประชันฝีปากก่อนวันเลือกตั้ง ในทำนองแบ่งรับแบ่งสู้ว่า “เอาไว้ว่างๆ ก่อน” แล้วก็พูดเสริมว่า ให้แต่ละพรรคเอานโยบายมาแข่งขันกันดีกว่า อธิบายให้ประชาชนเข้าใจ อย่านั่งเถียงกันแบบนักโต้วาที เพราะไม่ใช่ธรรมเนียมไทย โดยธรรมเนียมไทยจะไม่เอาผู้ใหญ่มานั่งทะเลาะกันให้คนดู (“กรุงเทพธุรกิจ” วันที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2548)

แม้นว่านี่อาจจะเป็นการแสดงชั้นเชิงทางการเมืองที่ชาญฉลาดแบบเหนือเมฆของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย (อีกครั้งหนึ่ง) ทว่าหากจะพิจารณาอย่างเป็นธรรม วาทศิลป์ข้างต้นนั้นก็มีความจริงที่สำคัญมากแฝงอยู่ด้วย นั่นก็คือ การต่อสู้ทางการเมืองยุคใหม่ควรจะเป็นเรื่องของการแข่งขันเชิงนโยบายเป็นสำคัญ

หากใครจะใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวนี้มาวิเคราะห์บทบาทของหนังสือพิมพ์รายวันในกรุงเทพฯ ก็คงจะค้นพบว่าสื่อแขนงนี้ให้ความสำคัญกับมิติด้านนโยบายของพรรคการเมืองพอสมควรทีเดียว ทั้งนี้ อาจจะเป็นเพราะในบริบทของประวัติศาสตร์ไทย นักหนังสือพิมพ์จำนวนมากคือปัญญาชนชั้นนำของสังคม

ส่วนในด้านของผู้บริโภคหนังสือพิมพ์นั้นเล่า กล่าวโดยทั่วไปแล้ว บุคคลที่รู้หนังสือมากพอที่จะชอบอ่านหนังสือพิมพ์นั้นย่อมถือได้ว่าเป็นแกนของสาธารณชนทางการเมือง (political public) ของสังคมนั้นๆ

กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นี่คือผู้คนกลุ่มที่ทับซ้อนกับผู้เป็นสมาชิกของ “ชมรมคนรู้ทันทักษิณ” นั่นเอง

ด้วยประการฉะนี้ พูดอย่างรวมๆ เราย่อมกล่าวได้ว่าทั้งในแง่ของผู้ผลิตและผู้บริโภค หนังสือพิมพ์จึงเป็นพลังทางการเมืองที่ก้าวหน้าพอสมควร ส่วนรายละเอียดที่ว่าแต่ละยุค แต่ละฉบับ แต่ละเหตุการณ์ และแต่ละประเด็น เป็นอย่างไรอย่างแม่นยำนั้น จำเป็นต้องมีการวิจัยที่ถูกต้องตามหลักวิชาการมายืนยัน

ปัญหาที่น่าสนใจมากก็คือในสังคมไทยปัจจุบัน ในช่วง ๒๔ ชั่วโมงของแต่ละวัน จำนวนการตีพิมพ์ของหนังสือพิมพ์รายวันที่มีเนื้อหาทางการเมืองในบางระดับทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ทั้งหมดคงจะมีไม่เกินสองล้านฉบับ สำหรับจำนวนการจำหน่าย การซื้อ และการอ่านที่แท้จริงในแง่ของปริมาณและคุณภาพนั้นคำนวณได้ยากมาก ที่แน่นอนก็คือ ความแพร่หลายของหนังสือพิมพ์นั้นกระจุกตัวอยู่ในหมู่ผู้มีการศึกษาในชุมชนเมืองเป็นหลัก

ความจริงง่ายๆ ก็คือในระบบการสื่อสารทางสังคมสมัยใหม่ หนังสือพิมพ์ไม่ใช่พลังทางการเมืองโดยโดดๆ ทว่าดำรงอยู่ควบคู่ไปกับสื่ออื่นๆ อีกมากมายหลายประเภท นับตั้งแต่โปสเตอร์จนกระทั่งถึงอินเทอร์เน็ต ทว่าสื่อที่เป็นคู่แข่งโดยตรงของหนังสือพิมพ์ ทั้งในแง่ของการแย่งชิงงบประมาณการโฆษณาและผู้บริโภค ก็คือวิทยุและโทรทัศน์ ซึ่งมีกระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นจำนวนมาก

ความที่เป็นสื่อที่อาศัยแต่เสียงและเสียงและภาพ ถึงผู้บริโภคจะไม่รู้หนังสือเลยก็พอจะจับใจความได้ว่าอะไรเป็นอะไร นอกจากความง่ายในการบริโภคแล้ว วิทยุและโทรทัศน์ยังสะดวกและราคาถูกอีกด้วย เพียงผู้บริโภคจ่ายค่าเครื่องรับเพียงครั้งเดียว โดยมีค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ก็สามารถรับคลื่นสัญญาณได้แล้ว ในปัจจุบัน วิทยุคงจะมีมากถึงขนาด 30 ล้านเครื่อง ส่วนโทรทัศน์น่าจะมีราวๆ 15 ล้านเครื่อง เพราะในเวลานี้บางบ้านจะมีวิทยุและโทรทัศน์ได้ถึงอย่างละ 4-5 เครื่องหรือมากกว่านี้ด้วยซ้ำไป ถึงจะกระจุกตัวอยู่ในชุมชนเมือง แต่ก็กระจายไปทุกหย่อมหญ้าทั่วประเทศอย่างแท้จริง

เนื่องจากวิทยุทุกวันนี้มีลักษณะเฉพาะสลับซับซ้อนเกินกว่าจะจะพูดถึงได้อย่างไม่คลาดเคลื่อนมากๆ ในเนื้อที่อันจำกัด ในที่นี้ จึงจะกล่าวถึงโทรทัศน์ อันเป็นคู่แข่งที่แท้จริงของหนังสือพิมพ์เท่านั้น

ประเด็นสำคัญก็คือ ในเชิงเปรียบเทียบแล้ว เมืองไทยดูเหมือนจะตกอยู่ในภาวะที่อาจจะเรียกว่า “ทวิภพ” ทางการสื่อสารมวลชน อันเป็นภาพสะท้อน “ทวิภพ” ในชีวิตทางเศรษฐกิจและการเมืองไทยอีกโสตหนึ่ง

ในด้านหนึ่ง หนังสือพิมพ์รายวันคือพลังทางการเมืองที่เต็มไปด้วยความหลากหลายโดยสอดรับกับวัฒนธรรมประชาธิปไตย ทว่าความแพร่หลายค่อนข้างจะจำกัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นบนๆ ประมาณหนึ่งในห้าของประชากรทั้งประเทศ ในอีกด้านหนึ่ง เรามีโทรทัศน์ซึ่งทำหน้าที่เป็นพลังทางการเมืองแบบอนุรักษนิยม ทว่าสามารถครอบงำประชากรได้ทั้งประเทศในระดับต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชนชั้นกลางๆ ล่างๆ อาจจะราวสี่ในห้าของประชากรทั้งประเทศนั้นคงจะชื่นชอบโทรทัศน์มากเป็นพิเศษ

เนื่องจากเป็น “ของฟรี” สำหรับผู้บริโภค โทรทัศน์จึงต้องหารายได้ทั้งหมดของตนจากงบประมาณการโฆษณาจากธุรกิจต่างๆ ความที่ต้องอาศัยงบประมาณจากวงการธุรกิจล้วนๆ อีกทั้งเป็นสื่อ “มวลชน” จริงๆ โทรทัศน์จึงมักจะมีลักษณะระมัดระวังจนเข้าข่ายอนุรักษนิยมในความหมายที่ค่อนข้างสมบูรณ์

นัยก็คือรายการต่างๆ ก็มักจะแสดงมาตรฐานทางรสนิยม “แบบมวลชน” เช่น ละครและภาพยนตร์ประเภทที่ผู้แสดงยึดถือมาตรฐานทางศีลธรรมแบบธรรมะกับอธรรม เรื่องตลกโปกฮาประเภทสามเกลอหัวแข็งเหยียบเปลือกกล้วยหกล้ม การเล่นเกมชิงรางวัลที่อาศัยเงินสดมากๆ เข้าล่อ ที่ออกจะน่าเบื่อเสียเป็นส่วนมาก และเพียงนานๆ จึงจะมีอะไรน่าสนใจสักทีหนึ่ง

ทั้งนี้ โดยสลับกับการนำเสนอรายการประเภทมิตรรักนักเพลงจากค่ายต่างๆ คละเคล้าไปกับการแสดง “วาทกรรม” ของพวก “เด็กแนว” ผู้มีความชำนาญในการเล่นวี้ดว้ายกระตู้วู้ได้อย่างไม่รู้จบ นัยว่าเป็นการสร้างสรรค์ใหม่ในลีลาย้อนยุค นั่นก็คือ พิธีกรวัย ๑๖-๑๘ ปีสามารถทำอะไรเหมือนๆ กับเด็กอายุ ๖ - ๘ ขวบได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจยิ่งนัก

ในส่วนของข่าว นอกจากจะให้น้ำหนักกับข่าวเกี่ยวกับ “กีฬานำเข้า” ที่หาได้ง่ายๆ อย่างไม่รู้จบสิ้นแล้ว ข่าวเกี่ยวกับเศรษฐกิจการเมืองในต่างประเทศกลับมีไม่มากนัก โดยอ้างว่าคนดูไม่ค่อยสนใจ สำหรับข่าวภายในประเทศก็มักจะนำเสนอเหตุการณ์ต่างๆ ตามกระแสแบบเหมือนๆ กันแทบจะทุกช่องทุกวัน อันเห็นได้ชัดเจนว่ามีการลงทุนในระบบงานข่าวน้อยเหลือเกิน ทั้งๆ ที่ข่าวคือสินค้าที่มีศักยภาพในทางบวกต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมมากที่สุด

ทั้งนี้ โดยสลับกับรายการสนทนาประจำวันต่างๆ ข้อที่น่าสังเกตมากคือในขณะที่รายการสนทนาทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้น รวมทั้งการสรุปข่าวต่างประเทศทั่วไป ดูจะมีคุณภาพดีพอสมควร ส่วนมากของรายการประเภทนี้จะเป็นการสนทนาการเมืองในลักษณะที่ไม่แตกต่างไปจากที่ปรากฏในข่าวมากนัก เกือบร้อยทั้งร้อยของรายการประเภทนี้อยู่ในรูปแบบ “การโต้วาที” ดังที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

อีกเพียงไม่กี่วันข้างหน้า คนไทยก็จะได้ต้องไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปของตนแล้ว ทว่าดูเหมือนว่าโทรทัศน์จะไม่ได้ช่วยเตรียมตัวเขามีข้อมูลพรักพร้อมสำหรับการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้สักเท่าไรเลย

ข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่เราได้ดูกันทางโทรทัศน์นั้น เกือบร้อยทั้งร้อยเป็นข่าวประเภท “เหตุการณ์” ที่เกิดขึ้นวันต่อวันที่นั่นที่นี่ โดยมากจะเน้นมิติด้านการแข่งขันในแง่ที่ว่าใครไปหาเสียงที่ไหนบ้าง และใครน่าจะชนะ ใครน่าจะแพ้ ในหลายกรณี ข่าวที่ปรากฏในโทรทัศน์เป็นเรื่องราวประเภทที่นักการเมือง “จัดการ” ให้เกิดขึ้นโดยสอดคล้องกับความสนใจของโทรทัศน์ เช่น เรื่องราว หรือการกระทำ หรือเอกสารที่ผิดธรรมดาต่างๆ ทั้งนี้ เพื่อให้มีองค์ประกอบของความน่าสนใจ น่าตกใจ น่าทึ่ง น่าติดตามมากๆ โดยมีเป้าหมายอยู่การได้รับการนำเสนอเป็นข่าวจากมุมมองของตนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

นักการเมืองบางคนและบางพรรคมีความเข้าใจวัฒนธรรมทางการเมืองของโทรทัศน์เป็นอย่างดี จึงมีความช่ำชองในการจัดการโทรทัศน์เป็นอย่างมาก จึงทำตัวเป็นแหล่งข่าวได้เก่ง สามารถช่วงชิงความสนใจจากโทรทัศน์ได้บ่อยๆ แทบไม่เว้นแต่ละวัน ยังผลให้เกิดความได้เปรียบคู่แข่งขันมากขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่ข่าวเกี่ยวกับการเลือกตั้งชักจะมีลักษณะของการจัดฉากเพื่อนำเสนอ “การแสดง” บางอย่างมากขึ้นทุกทีนั่นอาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงที่จะนำเสนอได้ยาก เพราะ “ข่าว” เป็นอะไรที่ต้องเกิดขึ้นจริงๆ และหากว่านักการเมืองบางคนและบางพรรค มีความเชี่ยวชาญในการปั่นหัวโทรทัศน์ให้หันมาสนใจตนเองได้เก่งมากจริงๆ ก็คงจะไม่ว่ากัน เพราะดีไม่ดีจะโดนข้อหา “ตกข่าว”

ทว่าคนดูโทรทัศน์ที่สนใจ “ทางเลือก” ทางการเมืองจริงๆ ทั้งหลายคงย่อมจะอดหวังไม่ได้ว่ารายการสนทนาเกี่ยวกับการเลือกตั้งต่างๆ ทางโทรทัศน์จะสามารถช่วยปิด “ช่องว่าง” ที่ “ข่าว” เข้าไม่ถึงได้ เพื่อเขาจะได้ข้อมูลสำคัญอย่างครบถ้วน อันจะเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจลงคะแนนเสียงเพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐบาลประเภทที่เขาต้องการมากที่สุด ทั้งนี้ ก็เพราะว่ารายการประเภทนี้อยู่ในอำนาจของโทรทัศน์จะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าประเด็นสำคัญๆ ที่ยังขาดแคลนอยู่คืออะไรบ้าง และใครควรจะเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกมาแสดงทัศนะและข้อมูลให้ปรากฏได้ดีที่สุด อันจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด

เอาเข้าจริง รายการสนทนาทางการเมืองก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จเท่าไรนัก การเลือกประเด็นและผู้รับเชิญก็ยังวนเวียนอยู่กับเรื่องเก่าๆ ที่มีเรื่องราวอยู่ในข่าวแล้วเสียเป็นส่วนมาก บุคคลที่ได้รับเชิญมาพูดก็มักจะเป็นคนเก่าๆ ซ้ำๆ ซากๆ ส่วนมากจะเป็นนักการเมืองที่มีสีสันออกไปทางหวือหวาๆ สักหน่อย แนวทางในการจัดการการสนทนาทั่วๆ ไปก็คือการยุยงส่งเสริมให้ผู้รับเชิญกัดกันในประเด็นเล็กๆ น้อยๆ โดยได้พูดกันคนละนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็กระโดดไปสู่เรื่องอื่น ในทำนองเดียวกันกับการรับประทานอาหารแบบบุ๊ฟเฟต์

ในรายการพวกนี้ แม้ประเด็นทางนโยบายบางอย่างจะผลุบๆ โผล่ๆ ขึ้นมาบ้างเป็นครั้งเป็นคราวก็ตาม เอาเข้าจริงก็ไม่ค่อยจะได้ความลึกอะไรสักอย่าง ลงท้ายแล้ว รายการอย่างนี้ก็มักจะเป็นอะไรไม่มากไปกว่าการแสดงสีสันทางบุคลิกภาพของนักการเมืองแต่ละคนเท่าไรนัก

จุดสำคัญก็คือ “มุมมอง” เกี่ยวกับ “นโยบาย” ยังคับแคบมาก เป็นเรื่องในระดับสามัญสำนึกเกือบล้วนๆ ไม่ครอบคลุมถึงภารกิจพื้นฐานสำคัญที่สุดของพรรคการเมืองที่อาสามาเป็นรัฐบาล จนประชาชนแทบจะไม่รู้ว่าตนเองกำลังจะต้องเลือกอะไร นอกจากการเดาสุ่มๆ เอาจากการนำเสนอข้อเสนอต่างๆ แบบกะปริบกะปรอยที่เรียกกันง่ายๆ ตามความสะดวกว่า “นโยบาย"

ฉะนั้น เราแทบจะไม่ค่อยได้ยินการประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวของรัฐบาลที่ผ่านมาว่าคืออะไรบ้าง ในการเลือกตั้งคราวนี้ แต่ละพรรคการเมืองมีแนวนโยบายอย่างไรเกี่ยวกับกิจการระหว่างประเทศเช่นอิรัก พม่า เงินบริจาคจากต่างประเทศเพื่อเหยื่อสึนามิ ความร่วมมือทางการทหารกับต่างประเทศ แนวทางเกี่ยวกับการจัดการปัญหาในภาคใต้ ผลกระทบของข้อตกลงกับองค์กรการค้าโลกและสัญญาการค้าทวิภาคี การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออกของประเทศ ตลาดหลักทรัพย์ บทบาทของธนาคารชาติ สิทธิและเสรีภาพของสื่อ รัฐวิสาหกิจ แรงงานต่างด้าว ปัญหาการทับซ้อนของผลประโยชน์ บทบาทขององค์กรอิสระของรัฐต่างๆ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐบาลกับวุฒิสภา ฯลฯ

เหนืออื่นใด จุดที่ยังขาดแคลนเป็นอย่างยิ่งในการสนทนาทางการเมืองในโทรทัศน์ก็คือภาคประชาชนมี “ทางเลือก” ในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างไรและเพราะอะไร หากไม่เอาใจใส่ในประเด็นทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ นอกจากจะ “ตกข่าว” แล้ว โทรทัศน์ยังจะอยู่ห่างไกลจากการมีส่วนร่วมในการสร้างความรุ่งเรืองให้แก่วัฒนธรรมประชาธิปไตยของเรามากขึ้นทุกทีด้วย

นอกจากจะเป็นการทำ “หน้าที่” ของสื่อที่ดีแล้ว การทำข่าวและรายการสนทนาทางการเมืองในเชิงนโยบายของภาคประชาชนเช่นนี้หาใช่ “ของร้อน” ไม่ ทว่าเป็น “สินค้า” ชั้นดี ที่จะช่วยให้โทรทัศน์มีความใกล้ชิดกับตลาดของตนอย่างมีความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่การหยิบฉวยอะไรๆ มาขายไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น