xs
xsm
sm
md
lg

คำร้องขอต่อพรรคการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

จดหมายเปิดผนึกของผมเมื่อวันอังคาร ไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับความสนใจจากพรรค หากแต่เป็นการหว่านเชื้อเผื่อไว้ เลือกตั้งเสร็จแล้ว วันข้างหน้า คนไทยจะรู้จักตั้งคำถาม และแสวงหาคำตอบให้มากขึ้น เพราะการเมืองเป็นเรื่องที่กระทบชีวิตของทุกคน แม้นว่าจะไม่เกี่ยวข้องหรืออยู่ไกลปืนเที่ยงเพียงใดก็ตาม

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม และสามารถเรียนรู้ได้จากธรรมชาติและสังคมที่แวดล้อมตนอยู่ ความรู้อาจเรียนทันกันหมด ยกเว้นคนที่จิตใจมืดบอด ปิดหูปิดตาของตนแล้ว ยังชอบที่จะปิดปากคนอื่นอีกด้วย

ผมติดใจคำคมของคุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ อดีตอธิการบดีศรีนครินทรฯว่า “ถ้าคิดผิด ก็ทำผิด” นี้อาจจะจริงเกือบทุกเรื่อง ยกเว้นเรื่องการเมือง ที่คนเราจะคิดอย่างไรก็ได้ ขอให้เป็นความเชื่อและผลประโยชน์ที่ชอบและแท้จริงของตนก็แล้วกัน และก็เคารพคนอื่นที่เขาคิดต่าง หากมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลาที่พอดี ความแตกต่างที่หลากหลายก็จะเกลี่ยกลืนกัน กลายเป็นสมการที่ลงตัวและเหมาะสม ไม่ช้าก็เร็ว การเลือกตั้งและพรรคการเมืองเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่ง

ที่ผมบ่นว่าเมืองไทยขาดฐานความคิด และข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการเลือกตั้งก็เป็นเรื่องจริง ที่ผมยกตัวอย่างฝรั่งมังค่า มิได้หมายความว่าเราจะต้องเอาอย่างเขาทุกกระเบียดนิ้ว เราเองที่อ้างว่าเราเป็นประชาธิปไตยเหมือนเขา เพราะเราไปเรียนหรือลอกมาจากเขาเอง ก็จำเป็นอยู่ดีที่เราจะต้องมีมาตรฐานกลางหรือบรรทัดฐานของพฤติกรรมที่ใกล้เคียงความเป็นสากล ฐานความคิดหรือข้อมูลที่ผมอ้างถึง ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเรื่องพิสดารอะไร ตัวอย่างเช่น จะเปรียบเทียบหัวหน้าพรรค ก็สามารถเปรียบกันได้ เรื่องการศึกษา เรื่องครอบครัว ฐานะ ผลงานและประสบการณ์การเมือง ความเข้าใจเรื่องประชาธิปไตย ความสำเร็จหรือล้มเหลว คำพูดและการแสดงความคิดเห็น หรือแม้แต่บุคลิกและภาวะการเป็นผู้นำ การที่หัวหน้าพรรคจะโต้วาทีกันเป็นเรื่องสมควร เป็นวัฒนธรรมศึกษาการเมืองให้ประชาชน เป็นการแสดงความถ่อมตัวและเคารพซึ่งกันและกัน และเป็นการตอบคำถามข้างต้นได้ ผมเสียดายที่นายกฯปฏิเสธ ผมไม่อยากเชื่อที่ได้ยินว่า นายกฯกลัวดร.เอนกซึ่งเป็นนักวิชาการระดับอินเตอร์ แต่เชื่อว่านายกฯคิดว่าไม่จำเป็น คะแนนนำโด่งอยู่แล้ว

การตัดสินใจลงคะแนนเลือกตั้งในต่างประเทศนั้นดูจะง่ายกว่าของเรา ทั้งประเทศตะวันตกที่เดินถนนประชาธิปไตยมานาน หรือประเทศอย่างอินเดีย ศรีลังกา มาเลเซีย หรือแม้แต่เขมร ลาว เวียดนาม ซึ่งกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัจจัยอย่างหนึ่งก็คือฐานความคิดและข้อมูลของเราไม่เพียงพอ สู้เขาไม่ได้ ไม่ต้องดูอื่นไกล เอาที่บ้านผมเป็นตัวอย่างก็ได้

บ้านผมเป็นครอบครัวใหญ่ อยู่ชานกรุงเทพนี่เอง เลือกตั้งทีไร ก็มีผู้เอาซองมาให้เท่ากับ 500 X จำนวนผู้มีสิทธิในทะเบียนบ้าน เขาไม่สนหรอกว่าผมเป็นใคร เขามาหาแม่ครัวและคนขับรถ เขาไม่มีทางทราบเลยว่าบ้านผมจะลงคะแนนไปคนละทางสองทาง เพราะไม่มีใครสั่งใคร ปีนี้ผมลองถาม โดยไม่มีการชี้นำ คนรถผมคนหนึ่ง ในอดีตเคยขับให้มจ.เพลิงนพดล เอกอัครราชทูตไทยประเทศอังกฤษ บอกว่าส.ส.เขตจะเลือกคนชื่อประกอบ คราวนี้ลงพรรคไหนก็ยังไม่รู้ เพราะเขาเปลี่ยนพรรคทุกครั้ง แต่เขาบริการดี ส่วนบัญชีพรรคจะเลือกไทยรักไทย เพราะชอบบ้านเอื้ออาทร ถึงจะยังจับสลากไม่ได้ เขา ก็มีจดหมายมาบอกและให้ความหวังอยู่ทุกระยะ คนขับอีกคนอยู่แปดริ้ว บอกว่าเลือกไม่เลือกส.ส.เขตก็ต้องเป็นของจาตุรนต์อยู่แล้ว แต่บัญชีพรรคไม่เอาไทยรักไทยแน่ๆ เพราะตั้งแต่พรรคนี้เป็นรัฐบาล หมู่บ้านเขาเป็นหนี้อ่วมทุกคน มิหนำซ้ำยังใจคอไม่ดีมีคนไปสำรวจโน่นสำรวจนี่ไม่ได้หยุด ราวกับว่ารัฐบาลต้องการคุมให้อยู่ทุกคน

พี่สะใภ้ผมอายุ 84 ปีเป็นครูปม.รุ่นอาวุโสของประเทศ ไปเมืองนอกเมืองนามานับครั้งไม่ถ้วน บอกว่าคราวนี้ยังไงๆก็ต้องเลือกประชาธิปัตย์ ไว้คานอำนาจ ปากเสียยังไงก็ชั่ง ส่วนเมียผมซึ่งเกษียณซี 10 เคยอยู่ทั้งอังกฤษและอเมริกามาประเทศละกว่า 5 ปี บอกยังคิดไม่ออก ผู้แทนเขตห่วยแตกทั้ง 3 คน เขารู้จักนายกฯทักษิณ บัญญัติ ดร.เอนกในฐานะต่างๆมาก่อน เลยยังไม่ตัดสินใจ ลูกชาย 2 คนของผมถามว่าพรรคทางเลือกไม่มีจริงๆเลยเหรอพ่อ ลูกสะใภ้คนเดียวจบรัฐศาสตร์เคยนิยมสมัครตามคุณแม่ เสียดายที่เดี๋ยวนี้ไม่มีประชากรไทย แบบเดิมฯลฯ ส่วนเมียคนขับสนใจและถามผมแต่ว่าเมื่อไรเขาจะมาแจกเงิน จะมากกว่าเดิมไหมหนอ เห็นมั้ยล่ะครับ ช่างยุ่งจริงๆ

เรื่องนี้จะง่ายขึ้นหากวันข้างหน้าเรามีระบบพรรคการเมืองที่แท้จริง ทำไมจึงพูดเยี่ยงนี้ ผมไม่ได้พูดเองนะครับ บรรดาส.ส.กับวุฒิสมาชิกที่ผมพบเป็นประจำบนเครื่องบินอาทิตย์ละหลายๆคนนั่นแหละที่พากันพูด เขาบอกว่าตอนนี้ก็คอยให้เลือกตั้งมันพ้นๆไปเสียก่อน เสร็จแล้วต้องค่อยคอยจับตาหาบ้านใหม่ หาหัวหน้ากระเป๋าหนักและใจถึง ผมถามว่า อ้าวแล้วจะเอาทักษิณไปไว้เสียที่ไหน เขาบอกไม่ต้องเอาไปหรอก นายกฯจะไปเอง แถมยังสอนผมว่า ในเมืองไทยมีหรือพรรคที่หัวหน้าตั้งจะยั่งยืน ดูอย่างเช่น สฤษดิ์ ถนอม เกรียงศักดิ์ แล้วก็ชวลิต ถ้าหากไม่นับสุจินดา ผมถามว่าประชาธิปัตย์ล่ะ เขาว่าโธ่เอ๋ย นั่นโรงงานผลิตส.ส.ไว้คอยขายให้พรรคอื่นต่างหากไม่เชื่ออาจารย์ลองนับประชาธิปัตย์ในไทยรักไทยดูสิ

ผมเองอยากเคารพและยกย่องสถาบันรัฐสภา เพราะปราศจากสิ่งนี้เราจะเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ แต่ผมไม่รู้ว่านานอีกเท่าใด บ้านเมืองจึงจะหลุดพ้นออกจาก”วงจรอุบาทว์” และ “วัฎจักรน้ำเน่า”ได้

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จองจำบ้านเมืองเราไว้ไม่ให้หลุดและทุกคนทุกพรรค ทุกสถาบันวิชาการพากันมองข้ามไปหมด ก็คือ”โครงสร้างของระบบรวมศูนย์-รวบอำนาจในสังคมไทย” นั่นเอง

เลือกตั้งครั้งนี้ก็คงเป็นอย่างเดิม ไม่มีผู้ใดแตะต้อง พลังของระบบรวมศูนย์-รวบอำนาจมีแต่จะเพิ่มขึ้น เพราะทุกพรรคไม่เข้าใจเรื่องการปกครองท้องถิ่นหรือการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ทุกพรรคสนับสนุนการตั้งอำเภอและจังหวัดใหม่เพิ่มขึ้น เพื่อยึดเป็นฐานอำนาจตนเอง ไม่เคยมีใครถามว่า สระแก้วหรืออำนาจเจริญรวมกันแล้วเทียบกับหาดใหญ่เป็นอย่างไร ทำไมหาดใหญ่จึงไม่มีผู้ว่าฯหรือต้องการเป็นจังหวัด หาดใหญ่อยู่ได้อย่างไร

เรื่องต่อไปนี้สาหัส ผมศึกษาและพูดมาร่วม 40 ปี เหมือนเสียงเห่าหอนจากที่ไกล หรือต้องไปเสี้ยมสอนให้ฝรั่งมาพูด คนไทยจึงจะสนใจ

ขอเริ่มถามว่า ทำไมเกียรติศักดิ์ เสนาเมืองจึงไปเล่นฟุตบอลอาชีพในเวียดนาม แล้วนักฟุตบอลชั้นนำไทยตามซิโก้ไปเป็นสิบ คำตอบทั่วไปก็คือ ที่นั่นเงินดี บรรยากาศวงการลูกหนังดี การเมืองฟุตบอลดี รวมแล้วไม่ห่วยเหมือนเมืองไทย บ้างก็ว่าเห็นแก่เงินไม่รักชาติ สุดแท้แต่อุปาทาน บ้างก็ว่า แปลก เวียดนามล้าหลัง ยากจน จะเอาอะไรมาเทียบกับไทย ทำไม? ทำไม?

แต่ผมว่า เพราะเวียดนามมีเมืองที่ประชากรเกินล้านถึง 4 เมือง เกิน 200,000 อีกมากมาย เมืองคือฐานในการพัฒนา เป็นเครื่องจักรที่สร้างความหลากหลายของอาชีพ สร้างจำนวน(ลูกค้าหรือผู้ดู) และสร้างขนาดพอเพียงทางเศรษฐกิจ ที่แข่งขันและเชื่อมโยงกับภายนอกได้ นี่ยังไม่ต้องพูดเรื่องคุณภาพของคน ของเรามีไหม

โกรธหรือตกใจเถิด ถ้าผมจะบอกว่า ในเชิงภูมิศาสตร์ประชากร ไทยเป็นประเทศที่ป่าเถื่อนที่สุด (the most primate country)ในโลก อย่างน้อยที่สุดในมิติหนึ่ง คือขนาดและความแตกต่างของเมืองที่ใหญ่ที่สุดกับเมืองที่รองเป็นอันดับสอง ประเทศอย่างนี้ยากที่จะพัฒนาอย่างสมดุลได้

เมื่อผมเกิดนั้น เชียงใหม่เล็กกว่ากรุงเทพฯ 6 เท่า 30 ปีที่แล้ว 20 กว่าเท่า เดี๋ยวนี้ผมไม่รู้ว่ากี่เท่า แต่รู้ว่าคณะทันตแพทย์ตั้งมานานแล้ว เดี๋ยวนี้คนชั้นนำเชียงใหม่ยังมาทำฟันที่กรุงเทพฯ และยังมีลักษณะต่างๆอีกนานัปการที่ทำให้เชียงใหม่ยังไม่เป็นเมืองถาวร

ที่เป็นเช่นนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติหรือเป็นเรื่องของการออกแบบ ผมว่าเป็นเรื่องของแบบ แบบของระบบการปกครอง ระบบเศรษฐกิจ(ไม่ใช่ลัทธิ) ระบบการศึกษา ค่านิยมและวัฒนธรรม คือสิ่งที่เรียก “ระบบรวมศูนย์-รวบอำนาจ” ที่กรุงเทพฯรวมและรวบทุกอย่างไว้เบ็ดเสร็จ

กรุงเทพฯดูดทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรมนุษย์เข้ามาไว้ในส่วนกลางหมด แล้วจึงกระจายไป(ชั่วคราว)ในภายหลัง ตามความเห็นของกรุงเทพฯ เมื่อใครเข้ามาอยู่ในระบบแล้ว เริ่มตั้งแต่ก้าวที่หนึ่งที่เข้าโรงเรียน ซึ่งก็ขึ้นกับกรุงเทพฯอีกแหละ ก็จะต้องไต่บันไดขึ้นไปเรื่อยๆให้ถึงกรุงเทพฯ ถึงกรุงเทพฯแล้วกลับบ้านไม่ได้ เพราะคุณสมบัติสูงเกินไป เรียนสูงเกินไป ค่านิยมสูงเกินไป รสนิยมสูงเกินไป บริโภควิสัยสูงเกินไป ความจำเป็นในการศึกษาของลูกสูงเกินไป ส่วนคนที่ยากจนนั้น อยู่ที่บ้านก็ไม่มีงาน เพราะลูกค้าชั้นดีหนีไปอยู่กรุงเทพฯหมด ก็ต้องตามกันไป เพราะวันหนึ่งๆขายไข่ต้มและถั่วแระ ชั่วๆดีๆก็ได้ 2-300 บาท ดีกว่ารับจ้างทำนาแค่ 140 บาท

นี่คือสาเหตุที่ตำบลหมู่บ้าน และเขตเทศบาลเล็กลงหรือเท่าเดิม ทั้งๆที่ขยายเขตและคนเกิดมากขึ้น ทั้งๆที่จีดีพีเติบโต นี่คือสาเหตุที่เราเสียนักฟุตบอลชั้นนำให้เวียดนาม เสียแรงงานฝีมือให้ต่างประเทศ นี่คือสาเหตุที่คนไทยไอคิวต่ำลง เพราะครอบครัวแตกสลาย ลูกไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ วันๆไม่ได้พูดกับมนุษย์ และนี่ก็คือปัญหาของกรุงเทพฯด้วย

ทั้งหมดนี้มิใช่เพราะกระทรวงมหาดไทยหรือระเบียบบริหารราชการแผ่นดินอย่างเดียว กระทรวงทบวงกรมต่างๆมิไยที่จะพูดถึงเรื่องท้องถิ่นก็แข่งกันจัดตั้งหน่วยงานที่ขึ้นกับศูนย์กลางโดยตรง ภาคเอกชนเช่น ธนาคารพาณิชย์ ธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ศูนย์การค้า และร้านสะดวกก็จำเริญรอยตามกัน นอกจากนั้น ยังมีโครงสร้างข้างเคียงคือลูกเมียหรือบริวาร ทำหน้าที่เช่นเดียวกันอีก คือ ดูดๆๆๆ เข้าส่วนกลาง การกระจายงบประมาณสู่ท้องถิ่นภายใต้โครงสร้างปัจจุบันก็มีผลเช่นเดียวกัน เพราะกลไกถูกวางไว้เช่นนี้ นักการเมืองดีๆ ท้องถิ่นดีๆ เมืองถาวรดีๆ อาชีพดีๆ ศิลปวัฒนธรรมกีฬาดีๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

จังหวัดถาวรของเราคือเมืองชั่วคราว มีคนจรหมอนหมิ่นเป็นประมุข บางจังหวัดมีผู้ว่าฯ 10 คนใน 12 ปี แต่ละคนต้องปรับตัวและโครงการพัฒนาเข้ากับรัฐมนตรีที่เปลี่ยนไปมา หัวหน้าส่วนราชการอื่นๆก็เหมือนกัน อำนาจและเงินของรัฐขึ้นกับคนเหล่านี้ อย่าเข้าใจว่าผมเห็นด้วยกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ มันคนละเรื่อง

ผมมิได้บ่นหรือด่า ผมได้เห็นและเข้าใจจากการสัมผัสจริง จึงอยากจะวิงวอนร้องขอให้รัฐบาลและพรรคการเมือง หันมาศึกษาการทำลายชาติ(โดยมิได้ตั้งใจ)ของระบบรวมศูนย์-รวบอำนาจ อย่างจริงจังเสียที ถ้าเราไม่แก้ไข ต่อให้พัฒนาอย่างไร ก็ไม่มีวันสำเร็จ

ในจังหวัดของผมมีบัณฑิตและมหาบัณฑิตใหม่ที่จบจากมหาวิทยาลัยชั้นดีทั้งในและนอกจำนวนหลายสิบคน ในสาขาวิชาที่ชาติต้องการ เขาไม่ต้องการเกลือกกลั้วกับการเมือง รักและกลับมาอยู่ภูมิลำเนา ขณะนี้ ขายหนังสือพิมพ์ ของชำ เสื้อผ้า และกาแฟเพราะเป็นอาชีพของบรรพบุรุษ ไม่มีโครงสร้างอาชีพของรัฐหรือเอกชนที่รองรับได้ จะทำอย่างไร ดี คำตอบอยู่ที่นโยบายการเมือง ช่วยด้วยๆๆๆๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น