xs
xsm
sm
md
lg

กัญชา

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


สถิติการเสพยาที่ผิดกฎหมายของสหประชาชาติประจำปี 2547 แสดงให้เห็นว่า 5% ของประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่บริโภคยาเสพติด เช่น แอลกอฮอล์ ยาอี กาเฟอีน กัญชา โคเคน และฝิ่น โดยมีกัญชาเป็นยาเสพติดที่นิยมมากที่สุดคือมีคนประมาณ 146 ล้านคนสูบ ส่วนยาอีมีคนสูบประมาณ 30 ล้านคน และโคเคน 13 ล้านคน ณ วันนี้นักประวัติศาสตร์ได้พบหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เริ่มรู้จักปลูกและสูบกัญชามาได้นานประมาณ 5,000 ปีแล้ว เมื่อจักรพรรดิจีน Shen Nung ทรงใช้กัญชาเป็นยารักษาโรค การติดต่อค้าขายระหว่างจีนกับอินเดียในเวลาต่อมา ทำให้พ่อค้าจีนนำกัญชาไปปลูกในดินแดนต่างๆ ตามเส้นทางสายไหม จากนั้นพืชชนิดนี้ได้แพร่ถึงยุโรป เพราะเมื่อ 2,430 ปีก่อนนี้ Herodotus นักประวัติศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงได้เคยบันทึกว่า ชนเผ่า Seythian ที่อาศัยในแถบทะเลดำ (Black Sea) รู้จักสูบกัญชา และในปี พ.ศ. 2350 เมื่อกองทัพนโปเลียนพิชิตอียิปต์ ทหารฝรั่งเศสได้ลอบนำกัญชาติดตัวไปปลูกในแอฟริกาด้วย

คำว่า กัญชาในภาษาไทยตรงกับคำ marihuana ในภาษาอังกฤษ ซึ่งมีรากศัพท์มาจากคำ mariguanago ในภาษาโปรตุเกสที่แปลว่า จิตใจเบิกบานอีกทอดหนึ่ง ณ วันนี้คนในวงการยาเสพติดมีคำอังกฤษอีกหลายคำที่หมายถึง กัญชา เช่น weed, stuff, Indian hay, grass, pot, tea และ maryjane เป็นต้น

กัญชา (Cannabis sativa) เป็นพืชที่ปลูกง่าย และเจริญเติบโตเร็ว ดอกมีกลิ่นเหมือนกลิ่นมินต์ ต้นกัญชามี 2 เพศคือ เพศผู้กับเพศเมีย เมื่อต้นโตเต็มที่ หากชาวไร่เอามีดกรีดลำต้นจะมียางสีเหลืองไหลเอ่อออกมา ในปี พ.ศ. 2488 นักเคมีได้วิเคราะห์พบว่า ใบกัญชาที่ใช้สูบมีสารประกอบมากมาย เช่น cannabidol cannabichromene และ delta-1 trans tetrahydro cannabinol (THC) ซึ่งสารประกอบชนิด THC นี้มีมากในกัญชาตัวเมีย และมีอิทธิพลต่อระบบประสาทและจิตใจของสิ่งมีชีวิตมาก

เช่นเวลาให้หนูที่ถูกขังเดี่ยวในกรงกินกัญชา หนูที่เคยตะเกียกตะกายดิ้นรน จะมีอาการเคลิบเคลิ้ม และอารมณ์สงบทันที หรือแมวหากได้บริโภคกัญชามากจะเสียชีวิต เพราะพิษที่รุนแรงของกัญชา และสำหรับคนเมื่อ 40 ปีก่อน การสูบจะไม่แพร่หลายจะมีก็แต่คนจน และกรรมกรเท่านั้นที่สูบกัญชา แต่เมื่อถึงยุคสี่เต่าทอง (The Beatles) นักศึกษาในมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกาสูบกันมากขึ้น จนมีการประมาณว่าคนอเมริกัน 5-10 ล้านคนสูบกัญชาเป็นประจำ และถึงแม้ในหลายประเทศการสูบกัญชาจะเป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ผู้คนก็ยังแอบสูบ และลอบสูบอยู่นั่นเอง จนทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ต้องออกกฎหมายอนุญาตให้ร้านขายกาแฟของตนขายกัญชาได้อย่างถูกกฎหมายทำนองรู้แล้วรู้รอดไป

ในประเด็นผลกระทบจากการสูบกัญชานั้น ประวัติศาสตร์ก็ได้บันทึกว่า ในปี พ.ศ. 2471 Walter Bromberg ได้เคยบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับอารมณ์ของคนสูบกัญชาว่า ทันทีที่เขาสูดควันเข้าปอด ความกังวล ความกระวนกระวายใจทั้งหลายทั้งปวงของคนสูบจะค่อยๆ ลดลงๆ และเขาจะรู้สึกเคลิบเคลิ้ม ทั้งๆ ที่ก่อนสูบ เขาจะรู้สึกกลัวและกระสับกระส่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปราว 10-30 นาที เขาจะรู้สึกสงบ และร่างกายลอยเสมือนว่าแขนและขาไม่มีน้ำหนัก ประสาทสัมผัสต่างๆ ก็จะดีขึ้นมาก เช่น ได้ยินเสียงดนตรีชัดขึ้น และดังขึ้น สีต่างๆ ที่เห็นจะสดใสขึ้น และมีชีวิตชีวามากขึ้น กลิ่นต่างๆ ก็หอมขึ้น สมบูรณ์ขึ้น อาหารก็มีรสดีขึ้นเสมือนว่าเป็นอาหารสำหรับฮ่องเต้ ทั้งๆ ที่เป็นอาหารที่เขาบริโภคทุกวัน ดังนั้น ในภาพรวมคนที่สูบกัญชาจะรู้สึกว่า โลกมีความหมายสำหรับเขามากขึ้น และยิ่งขึ้น ส่วนดนตรีที่เล่นถึงแม้จะสิ้นสุดไปแล้ว แต่หูของเขาก็ยังได้ยินโน้ตเพลงต่อไปอีกนาน และเขาอาจจะซึ้งกับภาพวาดโดยนั่งจ้องดูไม่ขยับกายใดๆ นานถึงครึ่งชั่วโมง การวิจัยผลกระทบของการสูบกัญชาในเวลาต่อมายังแสดงให้เห็นอีกว่า ในกรณีคนที่พูดน้อย หลังจากสูบกัญชาแล้วจะลืมตัวคิดว่าตนเป็นคนที่มีลีลาวาทศิลป์มาก หรือคนบางคนอาจเห็นภาพลวงตา เห็นแสงสว่าง เห็นหน้าคนที่ตนไม่เคยรู้จักมาก่อนในชีวิต และเห็นรูปทรงเรขาคณิตที่มีลักษณะแปลกๆ ก็ได้ แล้วหลังจากการสูบประมาณ 2 ชั่วโมง เขาก็จะง่วงหลับฝัน และตื่นอย่างปราศจากผลกระทบข้างเคียงใดๆ

แต่กัญชาก็มิได้ให้ความรู้สึกด้านดีแต่เพียงด้านเดียว มันอาจให้ผลกระทบด้านลบก็ได้ เช่น ถ้าก่อนสูบเขากลุ้มใจ และกลัวมาก หรือหวาดระแวงมากพอได้สูดกัญชาเข้าปอด ความรู้สึกเหล่านี้อาจจะเพิ่มมากจนทำให้คนรอบข้างรู้สึกกลัว เป็นต้น

เมื่อกัญชาให้ผลกระทบทั้งบวกและลบเช่นนี้ การศึกษาผลกระทบของกัญชาอย่างเป็นระบบ จึงได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2511 และนักวิจัยก็ได้พบว่า กัญชาทำให้หัวใจคนสูบทุกคนเต้นเร็วขึ้น แต่ก็ไม่ได้ทำให้ระบบการหายใจของใครมีปัญหา และไม่ได้เพิ่มระดับน้ำตาลในเลือด ไม่ได้ทำให้ม่านตาดำของคนเปลี่ยนขนาด แต่ทำให้ตาแดงขึ้น และสำหรับคนที่สูบกัญชาเป็นครั้งแรก นั่นคือ ระดับ IQ จะตก แต่สำหรับคนที่สูบบ่อยสติปัญญา และความสามารถในการเคลื่อนไหวจะไม่ถูกกระทบกระเทือนใดๆ ส่วน A. T. Weil แห่ง Boston University School of Medicine ในสหรัฐอเมริกาก็ได้พบว่า คนที่สูบกัญชาจัดจะปัสสาวะบ่อย เพราะปากคอเขาแห้งทำให้รู้สึกกระหายน้ำ เขาจึงดื่มน้ำบ่อย และปัสสาวะบ่อยในเวลาต่อมา

ถึงแม้ผลกระทบจะมีทั้งดีและชั่ว แต่ทุกวันนี้โลกได้ตระหนักแล้วว่า กัญชามิใช่ยาเสพติดเยี่ยงเฮโรอีน เพราะแพทย์ไม่มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า คนที่สูบกัญชาแล้วต่อไปจะสูบเฮโรอีน ถึงแม้เราจะพบว่าคนติดเฮโรอีนหลายคนติดกัญชาก่อน แต่ความจริงก็มีว่า คนที่สูบบุหรี่จัดหรือดื่มแอลกอฮอล์มากจะมีโอกาสติดเฮโรอีนมากกว่าคนที่สูบกัญชา และติดเฮโรอีน และงานวิจัยด้านนี้ยังแสดงให้เห็นอีกว่า เวลาหยุดสูบกัญชาคนที่เคยสูบกัญชาก็ไม่มีอาการเศร้าซึมใดๆ และไม่รู้สึกกระหายที่จะสูบกัญชาในปริมาณที่มากขึ้นๆ สำหรับคนที่สูบกัญชาก็จะไม่ได้รับการกระตุ้นให้มีพฤติกรรมรุนแรงถึงระดับเป็นฆาตกร และไม่กระตุ้นความรู้สึกทางเพศ อีกทั้งไม่ทำให้คนเป็นโรคจิต

เพราะกัญชาทำให้คนสูบมีอาการเคลิบเคลิ้มจนความรู้สึกเจ็บปวดลดลง ดังนั้น คนหลายคนจึงคิดว่า กัญชาเป็นยาชนิดหนึ่ง แต่ American Medical Association, National Multiple Sclerosis Society, American Glaucoma Society, Amercian Academy of Opthalmology และ American Cancer Society ก็ยังไม่ยอมรับว่ากัญชาเป็นยา เพราะกัญชายังมีสารประกอบอีกร่วมร้อยชนิดที่นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่รู้เกี่ยวกับคุณและโทษของสารเหล่านั้น หากบริโภคไปนานๆ

ส่วนวงการศาสนานั้น ก็ยังถือว่ากัญชาเป็นยาเสพติดที่ผู้คนไม่ควรข้องเกี่ยว และสำหรับวงการกฎหมายนั้นก็ขึ้นกับประเทศ เช่น ในอินเดียการสูบกัญชาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย เพราะช่วยให้ผู้สูบคลายเครียด และกังวลน้อยลง และในประเทศเนเธอร์แลนด์เมื่อปีกลายนี้ รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้ออกกฎหมายอนุญาตให้ร้านขายยา 2,000 แห่งทั่วประเทศ สามารถจำหน่ายกัญชาตามใบสั่งแพทย์ได้ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลตระหนักดีว่า ผู้ป่วยเรื้อรังที่กำลังทนทุกข์ทรมานด้วยโรคเอดส์ และมะเร็งจำนวนมาก เวลารู้สึกปวดก็มักแสวงหากัญชาตามตลาดมืดมาสูบ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้อนุญาตให้ประชาชนซื้อกัญชาอย่างถูกกฎหมาย โดยไม่ต้องหลบซ่อนซื้ออีกต่อไป

กฎหมายนี้ทำให้บริษัทสองบริษัทของเนเธอร์แลนด์ที่ได้รับใบอนุญาตให้ปลูกกัญชาพันธุ์พิเศษ สามารถนำกัญชามาบรรจุหลอดเล็กๆ แล้วส่งวางขายในร้านยาให้ผู้ป่วยนำไปละลายในชา หรือในเครื่องพ่นจมูกได้ ท่ามกลางเสียงคัดค้านว่ากฎหมายดังกล่าวถูกเข็นออกมา ทั้งๆ ที่รัฐบาลยังไม่มีข้อมูลของกัญชาอย่างสมบูรณ์ แต่รัฐบาลเองก็อ้างว่า นักวิจัยเนเธอร์แลนด์กำลังร่วมมือกับนักวิจัยสหรัฐฯ อังกฤษ แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์อยู่ แต่เมื่อยังไม่มีข้อสรุป และยังต้องใช้เวลาอีกนาน และเมื่อความเจ็บปวดเป็นเรื่องที่รอบรรเทาไม่ได้ จึงสมควรอนุญาตให้กัญชาเป็นยาการุญ "ชั่วคราว"

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน



กำลังโหลดความคิดเห็น