xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจการเมืองจีน (15) พรรคเหนือทุน คือแกนนำ "พลังสามัคคี"

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

โจซัว คูเปอร์ ราโม นำเสนอ "ฉันทมติปักกิ่ง" (Beijing Consensus) สืบเนื่องมาจากพบว่า กระบวนวิธีหรือ "แพตเทิร์น" การพัฒนาประเทศของจีน น่าจะสามารถสนองความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาได้มากกว่า "ฉันทมติวอชิงตัน" (Washington Consensus) กระบวนวิธีหรือ "แพตเทิร์น" การพัฒนาประเทศที่สหรัฐฯ เป็นผู้ผลักดัน

การพัฒนาประเทศตามแนว "ฉันทมติวอชิงตัน" ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องเปิดเสรีตลาดสินค้าและตลาดทุนในชั่วเวลาข้ามคืน กระโจนเข้าสู่วังวนของกระแสโลกาภิวัตน์สุดตัว ในฐานะเป็น "ส่วนหนึ่ง" ของโลกทุนนิยมเบ็ดเสร็จ

ในทศวรรษ ค.ศ.1990 ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ตั้งแต่เม็กซิโก บราซิล และอาร์เจนตินา ได้เลือกการพัฒนาประเทศตามแนว "ฉันทมติวอชิงตัน" อย่างไม่รีรอ รวมทั้งประเทศไทยเราในเวลาต่อมา (ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ค.ศ.1992) ได้กลายเป็น "เหยื่อ" สังเวยให้กับแนวการพัฒนาแบบ "ฉันทมติวอชิงตัน" อย่างชัดเจน เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจการเงินกันระนาว
ยิ่งเมื่อมีการ "ให้ยา" แก้วิกฤตตามสูตรของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้ประเทศประสบวิกฤตต้องถึงกับ "เดี้ยง" หรือ "คางเหลือง" สูญเสียพลังแห่งชีวิตไปอย่างมาก หากยังเดินหน้าแก้ไขปัญหาตามแนวเสนอของมหาอำนาจทุนนิยม ก็เห็นทีจะ "เสียเมือง" หรือตกเป็นเชลยทางเศรษฐกิจการเมืองของประเทศมหาอำนาจทุนนิยมโลกอย่างถาวร

ดีที่ในระหว่างนี้จีนได้พัฒนาตนเองจนเข้มแข็งพอที่จะซึมซับผลกระทบจากวิกฤตเหล่านี้ได้ สามารถแสดงบทบาทเป็น "เสาค้ำไม้ไผ่" ให้แก่ประเทศผู้ประสบวิกฤตได้เป็นเบื้องต้น เช่น การประกาศไม่ปรับลดค่าเงินหยวนในช่วงวิกฤตการเงินเอเชีย (ค.ศ. 1997) และนำเข้าสินค้าจากประเทศต่างๆ ในจำนวนที่มากขึ้น เร่งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศเอเชียแปซิฟิกได้อย่างเป็นจริง

ขณะที่บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี เป็นต้น ก็ได้แสวงหาความร่วมมือกับจีนมากขึ้นทั้งทางด้านเศรษฐกิจการค้าและวิทยาการใหม่ๆ มีส่วนกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจการค้า การลงทุนในประเทศต่างๆ เหล่านั้นอย่างเป็นจริง

อาจกล่าวได้ว่า "ฉันทมติวอชิงตัน" นำวิกฤตมาสู่ประเทศกำลังพัฒนา ขณะที่จีนคือผู้เข้ามามีส่วนช่วยให้ประเทศเหล่านั้นหลุดพ้นจากวิกฤต

ทั้งๆ ที่จีนยังเป็นเพียงประเทศกำลังพัฒนา กำลังง่วนอยู่กับการสร้างเนื้อสร้างตัวชนิด "ตัวเป็นเกลียว"

อันเป็นที่มาของปุจฉาที่ว่า "จีนมีดีอะไรหรือ?"

และได้มาซึ่งข้อวิสัชนาที่ว่า "ฉันทมติปักกิ่ง"

จีนเลือกพัฒนาประเทศตามความเหมาะสม

ในการนำเสนอผลงานค้นคว้าวิจัยของตนเอง (ต่อศูนย์นโยบายต่างประเทศแห่งลอนดอน) เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2004 โจซัว ราโม สรุปว่า ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ ที่สำคัญเพราะเลือกที่จะพัฒนาไปตามความเหมาะสมและความจำเป็นของสังคมจีน ด้วยการ 1. อาศัยความพยายามของตนเอง กล้าคิดกล้าทำ กล้าทดลอง กล้านวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ 2. ยืนหยัดปกป้องอธิปไตย และปกป้องผลประโยชน์ของตนเองอย่างเต็มที่ และ 3. ดำเนินไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน และอย่างค่อยเป็นค่อยไป สั่งสมกำลังไปเรื่อยๆ

เขาเรียกกระบวนวิธีการพัฒนาของจีนเช่นนี้ว่า "ฉันทมติปักกิ่ง" และเห็นว่า "ความกล้าทดลองและนวัตกรรมใหม่ๆ" คือหัวใจของ "ฉันทมติปักกิ่ง"

โดยกล่าวว่า การนวัตกรรมใหม่ๆ คือตัวจักรขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน

ในความหมายของเขา ความรู้ทำให้เกิดกระบวนการนวัตกรรม การนวัตกรรมใหม่ๆ สามารถยกระดับประสิทธิภาพในการผลิต และนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประเทศจีนทำได้ดีมาก ด้วยการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างขนานใหญ่ ดำเนินการปฏิรูปและปรับโครงสร้างวิสาหกิจทั่วทั้งประเทศ นำเข้าทุนและวิทยาการใหม่ๆ จากต่างประเทศ รวมทั้งบุคลากรและผู้ชำนาญการระดับโลก ปิดช่องว่างทางความรู้ระหว่างจีนกับโลกได้สำเร็จ

"พรรคฯ" คือหัวใจของหัวใจ

แม้โจซัว ราโม จะไม่ระบุไว้ในงานค้นคว้าของเขาว่า แนวคิดหรือกระบวนวิธีการพัฒนาประเทศของจีนมาจากไหน โดยใคร แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจโครงสร้างของการกำหนดแนวทางนโยบายพัฒนาประเทศจีนพอสมควร ก็ย่อมทราบทันทีว่า กระบวนวิธีการพัฒนาประเทศของจีน มีต้นตอมาจากทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง ซึ่งเป็นทฤษฎีชี้นำของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

พรรคฯ จีน ใช้ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงชี้นำการปฏิบัติพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ดำเนินการทดลองทางสังคม เกิดการนวัตกรรมใหม่ๆ ทางด้านการพัฒนาประเทศอย่างไม่ขาดสาย รวมไปถึงการนวัตกรรมทางด้านความคิดทฤษฎี สำหรับชี้นำการปฏิบัติในขั้นใหม่ๆ ต่อไป

ดังนั้น ข้อสรุปของเขาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงของประเทศจีน อีกนัยหนึ่งก็ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง นั่นคือการนำของพรรค คอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ในฐานะพรรคบริหารประเทศ สามารถกำหนดแนวทางนโยบายขับเคลื่อนการพัฒนาในประเทศจีน ได้รับผลสำเร็จอย่างดียิ่ง เป็นที่ชื่นชมของชาวโลก ซึ่งปัจจุบันนี้มีแนวโน้มต้องการเรียนรู้แบบอย่างการพัฒนาประเทศจากจีนมากขึ้นเรื่อยๆ

ดุลอำนาจโลกจะเปลี่ยนไป

การเสนอ "ฉันทมติปักกิ่ง" ของราโม จึงค่อนข้างจะเหมาะเจาะ ตรงกับความต้องการดังกล่าว เพราะทันทีที่เขานำเสนอต่อศูนย์นโยบายต่างประเทศ ลอนดอน สื่อยักษ์ใหญ่ของยุโรปก็พากันตีข่าวกันอย่างครึกโครมเป็นที่รับรู้ไปทั่วโลก

ยิ่งกว่านั้น การนำเสนอกระบวนวิธีหรือ "แพตเทิร์น" พัฒนาประเทศแบบ "ฉันทมติปักกิ่ง" มีนัยสำคัญแห่งยุคสมัย นั่นคือ หากประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ นำเอาไปปรับใช้กับตนเองแล้วได้ผล ทำให้ประเทศเจริญมั่งคั่งขึ้นมา ก็เท่ากับเป็นการประกาศถึงจุดอวสานของ "ฉันทมติวอชิงตัน"

ซึ่งหมายถึงว่า "แกนโลก" จะเอียงมาทาง "ฉันมติปักกิ่ง" ทันที สถานภาพของประเทศจีนจะยิ่งโดดเด่นบนเวทีโลกในฐานะ "แม่แบบ" ของประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

เมื่อนั้นสังคมโลกจะย้ายจุดสมดุลของตนไปยังจุดใหม่ในระดับใหม่ที่มีประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนากับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ อยู่ในซีกหนึ่ง และประเทศพัฒนาแล้วอยู่ในอีกซีกหนึ่ง โดยทั้งสองซีกนี้จะดำรงอยู่ด้วยกันในกรอบกฎกติการะดับโลกเดียวกัน ทั้งขับเคี่ยวและปรองดองในกันและกันอยู่ในที จนกระทั่งสามารถลดช่องว่างระหว่างกันได้อย่างเป็นจริง

เมื่อนั้นสังคมโลกก็จะย่างเข้าสู่ยุคแห่ง "สังคมปรองดอง" เปิดประตูก้าวมุ่งสู่สังคมอุดมการณ์

พรรคเหนือทุนคือ "กุญแจ"

เส้นทางดังกล่าวแม้จะดูยาวไกลมาก ต้องใช้เวลาและปัญญามาก แต่ก็สามารถเริ่มต้นได้ในทันที โดยเริ่มต้นที่ "พรรคเหนือทุน"

ปัจจุบัน พรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นพรรคเหนือทุนที่ใหญ่ที่สุด มีสมาชิก 68 ล้านคน (ราว 5% ของประชากรจีน) มีความเป็นมาค่อนข้างโชกโชน เติบโตขึ้นในท่ามกลางการดำเนินสงครามปฏิวัติ

จำเป็นไหมที่ "พรรคเหนือทุน" ประเทศอื่นจะต้องเติบโตขึ้นมาในลักษณะเดียวกันกับพรรคฯ จีน?

คำตอบคือ "ไม่จำเป็น"

ยุคนี้ สังคมโลกไม่ต้องการสงคราม ไม่ต้องการความล้าหลัง แต่ต้องการสันติภาพและการพัฒนาพรรคการเมืองที่กำลังบริหารประเทศส่วนใหญ่ต้องการบริหารประเทศให้เจริญรุ่งเรือง เพื่อจะได้ไม่อับอายในโลกยุคโลกาภิวัตน์

เพียงแต่ว่า พรรคฯ เหล่านั้นไม่สามารถปฏิบัติภารกิจของตนได้อย่างสมบูรณ์ เพราะติดหนึบอยู่กับผลประโยชน์กลุ่มทุนที่เป็นฐานสนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของพรรคเหล่านั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตั้งพรรคการเมืองที่ตั้งอยู่บนฐานการสนับสนุนของประชาชนที่แท้จริง ดำเนินการเคลื่อนไหวจัดตั้งมวลชน ใช้มวลประชามหาชนเป็นฐานสนับสนุนเป็น "ผนังทองแดงกำแพงเหล็ก" (เมื่อถึงคราวเลือกตั้งลงคะแนนเสียง ก็จะได้คะแนนเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้น)

พรรคเช่นนี้ สามารถติด "อาวุธ" ทางความคิดได้ด้วยแนวคิดทฤษฎีที่จะพัฒนาประเทศตามกระบวนวิธีที่เหมาะสมสำหรับตน สามัคคีประชาชนทั้งประเทศในทุกระดับชั้น ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มทุนเข้าร่วมขบวนการพัฒนาสร้างสรรค์ประเทศชาติให้เจริญรุ่งเรือง ประชาชนอยู่ดีกินดีถ้วนหน้า เกิดสันติสุขทั่วทุกหย่อมหญ้า

อีกนัยหนึ่ง มุ่งสร้างสังคมแห่งความปรองดองขึ้นในประเทศตน แล้วเชื่อมโยงเข้าสู่ความเป็นสังคมปรองดองระดับโลกต่อไป

พรรคเหนือทุนเป็นแกนนำ "พลังสามัคคี"

ด้วยสถานภาพของความเป็นพรรคการเมือง "เหนือทุน" ที่ตั้งอยู่บนฐานการสนับสนุนของปวงประชามหาชน ในฐานะเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่ตัวแทนกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด จะทำให้พรรคการเมืองเช่นนี้ มีความพร้อมสูงสุดในการบริหารจัดการการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้าน โดยไม่ติดข้องอยู่กับผลประโยชน์ของกลุ่มทุนใดๆ

พรรคเช่นนี้ มีความพร้อมที่จะบริหารจัดการความขัดแย้งและความความแตกต่างอันหลากหลายระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม จะอยู่ "เหนือความขัดแย้ง" ใดๆ สามารถ "ถักทอ" สัมพันธภาพอันดีกับทุกกลุ่มผลประโยชน์ เชื่อมโยงเข้าไปในเครือข่ายประโยชน์ร่วมกันในระดับชาติได้อย่างเป็นจริง

ดังนั้น พรรคเช่นนี้จึงอยู่ในฐานะที่จะสามัคคีพลังสร้างสรรค์ของทั้งสังคมได้อย่างเป็นจริง (พรรคกลุ่มทุนทำไม่ได้ เพราะขัดแย้งกับกลุ่มทุนอื่นและไม่ได้รับความเชื่อถือไว้วางใจจากประชาชน)

ตาม "ตรรกะ" นี้ ในสังคมโลกที่ทั้งโลกเฝ้าถวิลหาสันติภาพและการพัฒนา ความสามัคคีจึงเป็น "เหตุปัจจัย" สำคัญที่สุดที่จะนำไปสู่การได้มาซึ่งสันติภาพและการพัฒนา โดยผู้ที่จะทำหน้าที่เป็น "แกนนำ" ในการสามัคคีพลังสร้างสรรค์ทั้งปวงเข้าด้วยกัน ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องเป็น "พรรคเหนือทุน"

ประวัติศาสตร์กำหนด

สำหรับผู้ที่เข้าใจจังหวะก้าวของประวัติศาสตร์ ย่อมไม่ทึกทักว่า สิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอมาทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่อง "พรรคเหนือทุน" เป็นเพียงความเพ้อเจ้อส่วนตัว

แม้ว่ามันออกจะเป็น "ความเพ้อฝัน" แต่ก็เป็นความเพ้อฝันที่ตั้งอยู่บนฐานแห่งความเป็นจริง คือความเป็นจริงที่กำลังเกิดขึ้นในประเทศจีน

จีนกำลังสร้างประวัติศาสตร์ยุคใหม่ให้แก่มวลมนุษยชาติเป็น "ห้องทดลอง" มหึมาของกระบวนการวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ เพื่อพิสูจน์ว่าประเทศที่ล้าหลังยากจน สามารถพัฒนาตนเองจนเจริญก้าวหน้าได้ด้วยกำลังและสติปัญญาของตนเองเป็นหลัก

มาบัดนี้ โจซัว คูเปอร์ ราโม ได้ดึงเอา "รหัส" หรือ "ดีเอ็นเอ" ของกระบวนการพัฒนานี้ออกมา และนำเสนอออกมาในรูปของ "ฉันทมติปักกิ่ง" แล้ว

ขณะที่ผู้เขียนขอเสนอลึกลงไปอีกถึง "ทางออก" หรือ "มรรค" ว่า สามารถดำเนินไปได้ในทันที ด้วย "พรรคเหนือทุน"

จะว่าเป็นการ "ตัดต่อพันธุกรรม" ทางการเมือง ก็ยอม...
กำลังโหลดความคิดเห็น