xs
xsm
sm
md
lg

ดันไทยก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมเต็มตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ประเทศที่มีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรมระดับแนวหน้า เช่น เยอรมัน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เกาหลี ไต้หวัน ล้วนใช้ฐานความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สถิติการนำเข้าแม่พิมพ์ที่มีคุณภาพและความเที่ยงตรงสูงจะเพิ่มขึ้นทุกปี แม่พิมพ์เหล่านี้ส่วนใหญ่ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นตลาดที่ต้องการสินค้ามีประสิทธิภาพ เนื่องจากแม่พิมพ์เป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีขนาดรูปร่างเหมือนกันจำนวนมากๆ เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ของเด็กเล่น เครื่องใช้พลาสติก โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์การแพทย์ เป็นต้น
แม้ว่าในปัจจุบันประเทศไทยสามารถผลิตแม่พิมพ์คุณภาพ แต่ไม่สามารถทดแทนการนำเข้า โดยปี 2540 มูลค่าการนำเข้าแม่พิมพ์ประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มเป็น 2 หมื่นล้าน ในปี 2545
อย่างไรก็ตาม ลักษณะแม่พิมพ์ที่ผลิตและใช้ในปัจจุบัน จำเป็นจะต้องประกอบด้วยคุณภาพ ซึ่งสามารถผลิตได้ในเชิงปริมาณโดยชิ้นงานคงที่ เวลาการผลิตและการออกแบบที่สั้นลง เนื่องจากความต้องการของภาคอุตสาหกรรมมีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงผลิตภัณฑ์อย่างรวดเร็ว เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และการแข่งขันที่มีความรุนแรงมากขึ้น กรณีที่เด่นชัดคือ แม่พิมพ์ของโทรศัพท์มือถือที่ขนาดเล็กลงเรื่อยๆและเปลี่ยนแปลงเร็ว ที่ผ่านมาประเทศไทยอาจยังไม่มีการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เท่าที่ควร แต่จากการที่อุตสาหกรรมประกอบของไทย ต้องพึ่งพาชิ้นส่วนนำเข้าเป็นหลัก ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และยกขีดความสามารถของอุตสาหกรรม สนับสนุนให้สามารถผลิตชิ้นส่วนคุณภาพสูงป้อนอุตสาหกรรมประกอบต่างๆจึงจำเป็นอย่างยิ่ง เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

นอกจากนี้ การต้องนำเข้าแม่พิมพ์เพิ่มขึ้น เป็นผลให้ต้นทุนการผลิตสูงตามไปด้วย รวมทั้งยังสูญเสียโอกาสด้านการแข่งขัน และมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีการพัฒนาแม่พิมพ์ เช่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย หากมีการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ในไทย ผลประโยชน์ที่จะได้รับ คือ จะลดการนำเข้าได้ 5% ต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มจากการสร้างแม่พิมพ์ที่มีความสลับซับซ้อนเที่ยงตรงสูง เป็นฐานในการผลิตสินค้าไปยังอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันไทย-เยอรมัน จึงมีโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ปี 2547-2551 เพื่อมุ่งให้เกิดการพัฒนาในอุตสาหกรรมดังกล่าว เนื่องจากอุตสาหกรรมแม่พิมพ์มีความสำคัญ ในการพัฒนาอุตสาหกรรมทุกชนิดอย่างที่กล่าวมาแล้ว นอกจากจะส่งเสริมให้มีการผลิตแม่พิมพ์ต้นแบบสำหรับภาคอุตสาหกรรม ยังจะเน้นผลิตแรงงานด้านแม่พิมพ์ ที่ในแต่ละปีไทยมีการผลิตบุคลากรแม่พิมพ์เพียง 200 คน ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดแรงงาน โดยสถาบันจะเป็นศูนย์กลางระหว่างสถานศึกษา และเอกชน ร่วมกันผลิตแรงงานตั้งแต่ระดับล่างให้มีทักษะการใช้เครื่องจักรด้านแม่พิมพ์ได้, ระดับกลาง ให้สามารถออกแบบแม่พิมพ์, ระดับสูง ให้ใช้เครื่องจักรได้ทั้งกระบวนการการใช้งาน คาดว่าจะผลิตแรงงานได้ถึง 3,000 คน
การพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์แบบก้าวรุก ถือเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ของประเทศครั้งใหญ่ ซึ่งจะช่วยในการปรับปรุงพัฒนารากฐานอุตสาหกรรมของประเทศให้เข้มแข็ง และช่วยให้อุตสาหกรรมต่างๆสามารถพัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีในการผลิต ให้สามารถแข่งขันได้ในภาวะการกีดกันการค้าที่รุนแรงในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น