xs
xsm
sm
md
lg

ตึกพังทับคนตาย : ภัยซ้ำซากในสังคมเมือง

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

คนไทยยังไม่ทันหายตกใจจากการเกิดคลื่นยักษ์ถล่ม 6 จังหวัดฝั่งอันดามันที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งชีวิต และทรัพย์สินเป็นจำนวนมหาศาล ก็มีอันต้องตกใจและหดหู่ใจกับเหตุการณ์ตึกถล่มทับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงเสียชีวิต 4 นายที่เขตปทุมวัน ดังที่สื่อมวลชนได้เสนอข่าวโดยละเอียดไปแล้ว

จริงอยู่ ถ้าเทียบเหตุการณ์เกิดเพลิงไหม้อาคารและทำให้โครงสร้างของอาคารพังทับเจ้าหน้าที่ดับเพลิงที่พยายามเข้าไปดับเพลิงถึงแก่ชีวิตในครั้งนี้ กับเหตุการณ์เกิดคลื่นยักษ์ในภาคใต้แล้ว เหตุการณ์ในครั้งนี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กนิดเดียวแทบจะเรียกได้ว่า ไม่น่าจะอยู่ในความสนใจมากพอที่จะหยิบยกขึ้นมาเป็นประเด็นในการวิเคราะห์วิจารณ์

แต่ถ้ามองให้ลึก และย้อนหลังไปดูความถี่ของภัยอันเกิดจากตึกพังแล้ว ก็เป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่่างยิ่งด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

1. อุบัติเหตุอาคารถล่มและเป็นเหตุให้ผู้คนบาดเจ็บและเสียชีวิตที่เกิดขึ้นกับอาคารอันเป็นสถานที่ประกอบการธุรกิจขายอะไหล่ที่เขตปทุมวันในครั้งนี้มิใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้เกิดขึ้นมาแล้วหลายรายในเมืองใหญ่ เช่น กทม. และแม้กระทั่งแห่งอื่น เช่น กรณีที่โรงแรมแห่งหนึ่งได้ถล่มลงมา และทับผู้คนบาดเจ็บล้มตายหลายสิบคนเมื่อหลายปีก่อน และเชื่อว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มิใช่ครั้งสุดท้าย แต่จะต้องมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นอีกเรื่อยๆ ตราบเท่าที่ยังมีการละเมิดกฎหมายควบคุมการก่อสร้างอาคารด้วยความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการ และการเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแก้ไขข้อบกพร่องผิดพลาดในการก่อสร้างอาคาร เพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบการซึ่งประพฤติผิดกฎหมายหยิบยื่นให้

2. จากการเกิดเรื่องนี้ขึ้นทำให้มีการตื่นตัวในหมู่เจ้าหน้าที่รัฐผู้รับผิดชอบ จะเห็นได้จากการที่หลายฝ่ายได้ออกมาแถลงว่ายังมีอาคารอีกจำนวนไม่น้อยที่ล่อแหลมต่อการเกิดภัยจากการพังลงมาอันเนื่องมาจากการต่อเติมและดัดแปลงที่ขาดการควบคุมดูแลให้อยู่ในมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้น การเกิดภัยในครั้งนี้จึงน่าจะถือได้ว่าเป็นการจุดประกายแห่งความหวังว่า จะมีการเอาจริงเอาจังกับการสร้างอาคารในเมืองใหญ่เสียที หลังจากที่มีการปล่อยปละละเลยกันมานาน

แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องไม่ลืมว่าทุกครั้งที่เกิดภัยพิบัติไม่ว่าในเรื่องใด จะต้องมีผู้ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ และท้วงติงในทำนองนี้ประหนึ่งว่ารับรู้และเข้าใจประเด็นแห่งปัญหาทรัพย์สินที่จะเข้าไปดูแลแก้ไขให้เหตุแห่งปัญหานั้นๆ หมดไป ครั้นเวลาผ่านไปกลับปรากฏตรงกันข้าม เพราะสิ่งที่พูดถึงกลับเงียบหายไปอย่างไร้ร่องรอย ประหนึ่งว่าเรื่องนั้นไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย

ด้วยเหตุ 2 ประการดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่ามีความสำคัญ และอาจมีความสำคัญยิ่งกว่าภัยที่เกิดจากคลื่นยักษ์ที่ถล่มภาคใต้ด้วยซ้ำ ทั้งนี้ ถ้ามองในแง่ของตรรกศาสตร์ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. ในสังคมเมืองใหญ่ที่นับวันจะมีการก่อสร้างตึกสูงเพิ่มขึ้นทุกวัน ทั้งนี้ เนื่องจากว่าจำนวนประชากรเพิ่มขึ้นมากเท่าใด ที่ดินซึ่งมีอยู่เท่าเดิมมิได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นจะต้องมีราคาแพงมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อที่ดินแพงขึ้น ผู้ประกอบการที่ต้องการทำเลดีในทางธุรกิจก็มีทางเดียวที่จะมีพื้นที่ประกอบการให้มากเพียงพอแก่การรองรับการขยายตัวทางธุรกิจก็คือ สร้างตึกสูง เพื่อประหยัดต้นทุนในการซื้อที่ดิน และเมื่อมีตึกสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะเกิดภัยพิบัติจากตึกสูงก็มีมากขึ้น ไม่ว่าจะเกิดจากไฟไหม้ แผ่นดินไหว หรือแม้กระทั่งการก่อสร้างที่มิได้มาตรฐาน และตามมาด้วยการถล่มทับคนตาย และบาดเจ็บ รวมไปถึงทำให้ทรัพย์สินที่อยู่ในอาคารเสียหายก็เกิดขึ้นได้มากขึ้น ถ้าทางฝ่ายบ้านเมืองมิได้มีการปรับปรุงวิธีการดำเนินการป้องกันและแก้ไขในสิ่งที่อาจก่อให้เกิดภัยพิบัติที่ว่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะด้วยความประมาทขาดความรอบรู้ หรือแม้กระทั่งการแกล้งโง่เพื่อแลกกับผลประโยชน์ก็ตาม สุดท้ายล้วนเป็นเหตุแห่งการเกิดอุบัติภัยทั้งสิ้น

2. เมื่อเมืองใหญ่จำเป็นต้องมีการก่อสร้างอาคารสูงเพื่อรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และการมีอาคารสูงเกิดขึ้น ย่อมเป็นเหตุการเสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติตึกถล่ม จะมีการแก้ไขและป้องกันในเรื่องนี้อย่างไร?

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผู้เขียนเห็นว่าทำได้ไม่ยาก เพียงแต่บุคคลที่เกี่ยวข้อง 3 ฝ่ายคือ เจ้าของอาคาร หรือผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคาร เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการออกใบอนุญาตก่อสร้าง และประชาชนทั่วไปในเขตพื้นที่ใกล้เคียงกับอาคารที่ก่อสร้างซึ่งเสี่ยงต่อการได้รับภัยพิบัติจากตึกถล่มจะต้องร่วมมือกันดูแลแก้ไข และป้องกันปัญหานี้

ส่วนประเด็นว่าจะแก้ไขอย่างไรนั้น น่าจะทำได้ดังนี้

1. ผู้ที่จะทำการก่อสร้างอาคาร ทั้งที่ก่อสร้างใหม่ และก่อสร้างเพิ่มเติมจะต้องมีจิตสำนึกต่อสังคมโดยรวมด้วยการยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างทุกครั้ง และจะต้องรอให้ใบอนุญาตออกมาอย่างถูกต้องก่อนลงมือก่อสร้างเพื่อป้องกันความสูญเสียอันเกิดจากการต้องทุบทิ้งไป ส่วนที่มิได้รับอนุญาต และมีเงื่อนไขให้ปรับปรุงก่อนจึงจะออกใบอนุญาตให้ และจะต้องไม่แก้ปัญหาการไม่ออกใบอนุญาตด้วยการเสนอผลประโยชน์เพื่อแลกกับการไม่แก้ไขส่วนที่บกพร่อง ทั้งจะต้องไม่อาศัยช่องโหว่ของกฎหมายการยอมจ่ายเป็นรายวัน เมื่อเห็นว่าค่าปรับนั้นน้อยกว่ารายได้ที่ตนเองสามารถหาได้จากการทำธุรกิจในอาคารที่ผิดกฎหมายนั้น

2. หน่วยงานของรัฐจะต้องมีกำหนดเวลาแน่นอนว่ากี่วันกี่เดือนในการพิจารณาเพื่อออกใบอนุญาตให้ และปิดประกาศให้ทราบกันเป็นที่เปิดเผยเหมือนกับที่บางหน่วยงานของรัฐ เช่น กรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการเกี่ยวกับการออกใบทะเบียนรถยนต์ และทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกอยู่ในขณะนี้

ถ้าหน่วยงานของรัฐสามารถทำได้เช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ขออนุญาตสามารถนำข้อมูลจากหน่วยงานรัฐไปเป็นเงื่อนไขในการดำเนินธุรกิจก่อสร้างอาคารได้ เช่น กำหนดใบสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างอาคารกับผู้รับเหมา เป็นต้น

ยิ่งกว่านี้ ทางเจ้าหน้าที่รัฐจะต้องไม่ใช้ความล่าช้าในการออกใบอนุญาตเป็นโอกาสในการเลือกรับผลประโยชน์จากผู้ขออนุญาตเพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาต หรือช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ต้องแก้ไขในส่วนที่บกพร่อง

3. ประชาชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่ใกล้เคียงที่ปลูกสร้างอาคาร หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปที่สัญจรไปมาเมื่อได้พบเห็นความผิดปกติของอาคารที่น่าจะดำเนินการผิดกฎหมาย ก็ควรจะได้แจ้งให้ฝ่ายบ้านเมืองทราบ และหากแจ้งแล้วทางฝ่ายรัฐวางเฉยก็น่าที่จะได้ดำเนินการร้องเรียนต่อสื่อมวลชน รวมไปถึงองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องด้วยเพื่อให้หลายๆ ฝ่ายร่วมมือกันแก้ไขปัญหา

ถ้าบุคลากร 3 ฝ่ายที่ว่านี้ได้ดำเนินการก็เชื่อว่าปัญหาการก่อสร้างตึกสูงที่เป็นเหตุให้เกิดภัยพิบัติคงจะน้อยลง และหมดไปได้ในที่สุด เพราะว่าปัญหาใดๆ ก็ตามที่เกิดจากคน ถ้าคนตั้งใจแก้ไขแล้วเชื่อว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ ถึงแม้ปัญหามิได้เกิดจากคนโดยตรง แต่คนเป็นเหตุเสริมให้รุนแรงหรือลดลงได้ เช่น ปัญหาภัยจากคลื่นยักษ์อันเกิดจากแผ่นดินไหวทางใต้ ซึ่งถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัยที่คนจะไปห้ามมิให้เกิด แต่ถ้าคนตั้งอยู่ในความไม่ประมาท เตรียมตัวให้พร้อมที่เอาตัวรอดก็จะทำให้ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินลดลงได้ ในทางกลับกันที่ความเสียหายเกิดขึ้นมา เช่น ที่จังหวัดทางภาคใต้ ก็เนื่องจากความประมาทของคน

ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงเชื่อว่าภัยพิบัติจากตึกถล่มเหตุใหญ่อยู่ที่คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ต้องการสร้างหรือเจ้าของอาคารที่ต้องการจะมี ต้องการจะเป็นในสิ่งที่ขัดต่อกฎหมายเพื่อผลประโยชน์ของตนเองโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายต่อบุคคลอื่น หรือในบางคนลืมคิดถึงภัยที่จะเกิดขึ้นได้ แม้กระทั่งอันเนื่องจากความโลภครอบงำ และเจ้าหน้าที่รัฐที่มองเห็นผลประโยชน์เฉพาะหน้าที่ที่เขาเสนอให้โดยไม่คำนึงถึงเกียรติของความเป็นข้าราชการ และภัยอันอาจเกิดขึ้นเพราะความละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันของตนที่จะตามมาในอนาคต

ดังนั้น ถ้าจะแก้ไขปัญหานี้ให้ได้ผลอย่างจริง 3 ฝ่ายดังกล่าวแล้วข้างต้น จะต้องทำหน้าที่ของตนอย่างเคร่งครัดโดยยึดผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง และมองข้ามผลประโยชน์เล็กน้อยที่ตนเองหรือพวกของตนเองจะได้รับ

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากข่าวในสัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากการเกิดอุบัติเหตุได้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กทม.ได้ออกมาขานรับในการดูแลแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ก็ทำให้ประชาชนเบาใจได้ว่า ทางฝ่ายบ้านเมืองในยุคนี้เอาจริง และถ้าเอาจริงเช่นนี้ตลอดไปก็เชื่อได้ว่าปัญหาอุบัติภัยประเภทนี้หรือแม้ประเภทอื่นก็จะลดลง หรือในกรณีที่คนไม่สามารถทำให้ลดลงได้ ก็เชื่อว่าความเสียหายก็คงจะน้อยลง เมื่อคนทุกคนอยู่ในภาวะแห่งความไม่ประมาท

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อคิดขึ้นได้ว่าในช่วงนี้เป็นช่วงใกล้เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น เมื่อเกิดอะไรขึ้นในสังคม และสิ่งที่เกิดขึ้นพอจะหยิบฉวยเป็นประเด็นแห่งการหาเสียงได้ก็จะมีคนที่หวังผลในทางการเมืองวิ่งเข้าหาปัญหานี้แล้วนำมาเป็นประเด็นโจมตีคู่แข่งทางการเมือง และในขณะเดียวกันเสนอโครงการแก้ไขในอนาคตในลักษณะสัญญาว่าจะให้โน่นให้นี่เต็มไปหมด และนี่เองที่ทำให้ผู้เขียนหวาดหวั่นว่าจะเป็นการแก้ปัญหาด้วยการพูด และพูดเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้ทำหรือก็น้อยกว่าที่พูด ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าเป็นกรรมของคนที่ตกเป็นเหยื่อภัยพิบัติในครั้งนี้ และครั้งต่อไปก็แล้วกัน เพราะช่วยไม่ได้ที่มาพบชะตากรรมในขณะที่มีการหาเสียงทางการเมือง

ที่พูดเช่นนี้ใช่ว่าคิดเองและเออเองโดยไม่มีบทเรียนในอดีต แต่เคยมีเรื่องทำนองนี้ให้เห็นบ่อยๆ ที่เกิดเรื่องใดขึ้นแล้วมีคนเข้าไปหยิบมาเป็นประเด็นสร้างภาพหรือหาเสียง แต่หลังเลือกตั้งทุกอย่างก็เงียบหายไป ยกตัวอย่างเช่น การลอบทำร้ายบุคคลสำคัญในทางสังคม และผู้คนบางคนหวังว่าผู้เสียหายจะได้รับความเป็นธรรม แต่สุดท้ายได้แต่หวัง ดังที่เกิดขึ้นกับทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นตัวอย่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น