xs
xsm
sm
md
lg

สู่การปฏิรูปข่าวโทรทัศน์ เพื่อเหยื่อสึนามิ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

สู่การปฏิรูปข่าวโทรทัศน์ เพื่อเหยื่อสึนามิ (จบ)

ในกรณี “พฤษภาทมิฬ” โทรทัศน์ไทยดูเหมือนจะประสบกับปัญหาเรื่องการเลือกมุมมองของข่าว นั่นก็คือ การรายงานข่าวทั่วๆ ไปก้าวไม่ทันความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่บังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ด้วยความเชื่อว่าเพราะระบบการควบคุมโทรทัศน์ของรัฐเป็นอุปสรรค เมื่อเหตุการณ์สิ้นสุดลง กระแสสังคมจึงก่อรูปขึ้นในทิศทางที่ต้องการ “ทีวีเสรี” ด้วยความหวังที่ว่ามุมมองข่าวจะเป็นอิสระจากแรงกดดันของผู้ใช้อำนาจรัฐมากขึ้น ลงท้ายแล้ว กระแสสังคมที่ว่านี้ได้ก่อให้เกิดรูปธรรมที่ปรากฏเป็น itv และบทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ซึ่งดูเหมือนว่ามุ่งหวังจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงบางชนิดโดยผ่านการทำงานของคณะกรรมการอิสระ ซึ่งการจัดตั้งสะดุดไปหลายปีดังที่ทราบกันทั่วไปอยู่แล้ว

ส่วนในกรณีสึนามินั้น ปัญหาที่ประชาชนจำนวนมากสงสัยกันไม่ใช่เรื่องการเมืองอะไร แต่ดูจะเป็นเรื่องเทคนิคล้วนๆ นั่นก็คือ “ความรวดเร็ว” ในการนำเสนอข่าวดังกล่าว ทั้ง “ก่อน” และ “ระหว่าง” ที่เหตุการณ์กำลังเกิดขึ้น ทั้งนี้ ด้วย “ความหวัง” (โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากมุมมองของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ตกเป็นเหยื่อสึนามิ) ว่า “หาก” ข่าวโทรทัศน์สามารถทำหน้าที่ได้ดี ความเสียหายก็อาจจะลดลงได้บ้างไม่มากก็น้อย ทั้งนี้ คงจะเป็นเพราะคนไทยส่วนมากยังจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยโทรทัศน์มากนั่นเอง ทั้งนี้ ความจริงที่ว่า “ความหวัง” ที่ว่านี้จะเป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ในทางเทคนิคหรือไม่นั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะแม้กระทั่งกรมอุตุนิยมวิทยาก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถทำหน้าที่ของตนได้ถูกต้อง ทั้งนี้ ด้วยเหตุผลที่ยังไม่ปรากฏขึ้นชัดเจน

ถึงแม้ในยุคปัจจุบันสื่ออื่นๆ จะมีมากมาย แต่ในแง่ของการใช้งานจริง โทรทัศน์ดูเหมือนจะใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด จึงเป็นธรรมดาอยู่เองว่าจะต้องถูกคาดหมายมาก ทั้งนี้ เพราะความสะดวกในการใช้งานจากเครือข่ายที่ครอบคลุมทั้งประเทศ เนื่องจากผู้คนจำนวนมากติดนิสัยเปิดโทรทัศน์ไว้แบบทั้งวันทั้งคืน ในขณะที่สื่อที่มีความคล่องตัวทางเทคนิคมากกว่าอย่างวิทยุกระจายเสียง กลับมีประชาชนใช้งานน้อยกว่าและแต่ละสถานีมักจะกินอาณาบริเวณจำกัด อีกทั้งโดยทั่วไปแล้ววิทยุกระจายเสียงไทยไม่ได้มีประเพณีว่าชำนาญในเรื่องการทำ “ข่าวสด” เกี่ยวกับเหตุการณ์ทั่วๆ ไปแบบฉับไวเช่นเดียวกับโทรทัศน์นั่นเอง จะมีข้อยกเว้นบ้างก็คงเป็นเรื่องข่าวการจราจรในกรุงเทพฯ ซึ่งไม่ใช่เรื่องประเภทความเป็นความตายของผู้คนจำนวนมากแบบสึนามิ

ในอนาคต กรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาจจะช่วยกันจัดการฝึกอบรมให้สื่อทุกประเภทเกี่ยวกับการให้การสนับสนุนในแง่ของการเตือนภัยล่วงหน้าด้านภัยธรรมชาติต่างๆ เป็นครั้งคราว หรือถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น หากจะรวมไปถึงการฝึกอบรมเกี่ยวกับการเตือนภัยล่วงหน้าทางเศรษฐกิจและอื่นๆ ด้วยก็จะดีใหญ่ เพราะในอดีตที่ผ่านมาเพียงเจ็ดแปดปีมานี้เอง เมืองไทยก็ได้ประสบกับอันตรายจากเศรษฐกิจฟองสบู่ “ต้มยำกุ้ง” โดยไม่มีใครสามารถส่งสัญญาณเตือนอย่างได้เรื่องได้ราวกันเลย

สำหรับในช่วง “หลัง” เหตุการณ์นั้น ก็เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสื่อทุกชนิด รวมทั้งโทรทัศน์ ต่างได้พยายามทำงานข่าวเกี่ยวกับกรณีสึนามิมากขึ้นและดีขึ้นในอัตราต่างๆ กัน ซึ่งบทบาทดังกล่าวนี้ย่อมได้รับการขอบคุณจากผู้บริโภคข่าวในเมืองไทยตามเนื้อผ้าอยู่แล้ว

ทว่าในกรณีนี้ จุดสำคัญอยู่ที่บทบาทของข่าวโทรทัศน์ไทย “ก่อน” และ “ระหว่าง” เหตุการณ์มากกว่า ซึ่งสรุปแล้ว ข่าวโทรทัศน์ต่างประเทศอย่าง CNN และ BBC สามารถทำงานได้ฉับไวกว่าทั้งในแง่ภาพและเสียง ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของ “จุดเกิดเหตุ” ทั้งนี้ ในส่วนสำคัญอาจจะเป็นเพราะผู้ผลิตข่าวโทรทัศน์ต่างชาติดังกล่าวมีความพร้อมมากกว่าในแง่บุคลากร เครื่องมือ และระบบการตัดสินใจก็ได้ ความเข้าใจนี้จะผิดถูกอย่างไรไม่ทราบ คงจะต้องมีการศึกษาให้ถูกต้องตามหลักวิชาการกันดู

ถ้าคนไทยทุกคนสามารถเข้าถึง CNN และ BBC ได้ ก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะเราสามารถถือได้ว่าในทางทฤษฎีแล้ว คนไทยได้รับทราบเหมือนกันแล้ว เป็นอะไรที่ยอมรับได้ คล้ายๆ กับว่าเราอยู่ในยุคโลกาภิวัตน์ ใครจะใช้สอยสินค้าและบริการใดๆ จากแหล่งไหนก็ย่อมได้ ขอให้ได้ประโยชน์สูงสุด ก็ถือว่าทดแทนกันได้เหมือนกัน แต่ปัญหาก็คือข่าวโทรทัศน์ต่างชาตินี้มีคนไทยที่มีโอกาสได้ดูอยู่ไม่มาก เพราะส่วนมากแล้ว ผู้ที่จะสามารถรับบริการได้ต้องมีระบบรับสัญญาณโทรทัศน์ของตนเชื่อมโยงกับระบบสมาชิกบางชนิด หรือจานรับสัญญาณดาวเทียมโดยตรง อีกทั้งต้องคุ้นเคยกับภาษาของเครือข่ายผู้ส่งสัญญาณจึงจะทราบว่าอะไรกำลังเกิดขึ้น ที่ไหน และเมื่อใด

คำถามในทางเทคนิคที่ควรจะพิจารณาเหมือนกันก็คือสื่อไทย รวมทั้งโทรทัศน์ (1) มีใครบ้างไหมที่มีหน้าที่คอยเฝ้าดูภาพและเสียงของโทรทัศน์ต่างชาติเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวของโลก รวมทั้งที่เกี่ยวกับสึนามิในช่วงแรกๆ ที่ถูกนำเสนอหรือไม่ (2) มีใครตัดสินใจนำเสนอภาพและเสียงดังกล่าวนี้ต่อในเครือข่ายโทรทัศน์ของตนหรือไม่ (3) ถ้ามี คำถามก็คือด้วย “ความฉับไว” เพียงใดหลังจากภาพและเสียงปรากฏขึ้นครั้งแรกในข่าวโทรทัศน์ต่างประเทศ และ (4) ในที่สุดแล้วเมื่อมีการนำเสนอ ได้กระทำหลังการแพร่ภาพและเสียงปรากฏครั้งแรกนานเท่าใด เพราะเหตุใด

คำถามเหล่านี้น่าสนใจอยู่เหมือนกันก็เพราะในความเป็นจริงแล้ว สื่อต่างๆ ทั่วโลกที่มีทรัพยากรไม่มากนัก มักจะชอบเกาะติดสถานการณ์โลกด้วยการนั่งๆ นอนๆ ดูรายงานข่าวของโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายทั่วโลกแบบนี้เป็นกิจวัตร

ไม่ว่าคำตอบของคำถามทางเทคนิคในทำนองนี้จะเป็นอย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญคงไม่ใช่เรื่องใครผิดใครถูก เพราะเรื่องราวมันผ่านไปแล้ว จุดสำคัญคงจะเป็นเรื่องข้างหน้ามากกว่า ว่าใครควรจะพยายามทำอะไรอย่างไรบ้างในอนาคต ข่าวโทรทัศน์ไทยจึงจะสามารถทำหน้าที่เป็น “ส่วนหนึ่ง” ของ “ระบบเตือนภัยล่วงหน้า” ประเภทต่างๆ ให้กับประชาชนของเราได้ดียิ่งขึ้น ในที่นี้ ผมขอเสนอข้อพิจารณาบางประการเท่าที่พอจะนึกออกตอนนี้ว่าความเปลี่ยนแปลงในทางสร้างสรรค์อาจจะเกิดขึ้นได้อย่างไรบ้าง

ในประการที่หนึ่ง เมื่อพิจารณาในเชิงเปรียบเทียบกับระบบสื่อทั้งหมดของประเทศ เราปฏิเสธไม่ได้ว่าโทรทัศน์ได้กลายเป็นสื่อ “มวลชน” ขนานแท้ของเมืองไทยไปเสียแล้ว ทั้งในแง่ปริมาณของทรัพยากร ความสะดวก ความนิยม ความรวดเร็ว และความครอบคลุมของเครือข่ายที่กินอาณาบริเวณได้ทั่วถึงที่สุดจนกล่าวได้ว่าไม่มีที่ว่างในทางสังคมและภูมิศาสตร์ใดๆ เลยที่โทรทัศน์เข้าไปไม่ถึง ฉะนั้น ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม นอกจากการนำเสนออะไรอื่นๆ ไปตามความจำเป็นทางธุรกิจแล้ว สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งคงจะไม่มีทางเลือกมากนัก นอกจากถือเป็นปรัชญาประจำใจว่าตนเองต้องทำหน้าที่ในด้านการผลิตและนำเสนอข่าวอย่างเต็มที่ด้วย

ในที่นี้ หลักการพื้นฐานก็คือ โทรทัศน์ไม่ใช่ธุรกิจทั่วๆ ไป ที่ใครอาจจะทำอะไรก็ได้เพื่อผลกำไรสูงสุด ทว่าเป็นธุรกิจพิเศษที่มีภารกิจเชิง “สัญญาสังคม” บางชนิดพ่วงมาด้วย ฉะนั้น ผู้ประกอบการในธุรกิจพิเศษนี้จึงมีข้อผูกพันที่จะต้องจัดสรรงบประมาณและทรัพยากรอื่นๆ ให้กับฝ่ายข่าวของตนอย่างเพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายข่าวสามารถทำงานในการผลิตและนำเสนอเรื่องราวและบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่สำคัญๆ ทั้งในและต่างประเทศได้ถูกต้อง ฉับไว และครอบคลุมด้วยตนเอง ไม่ใช่อาศัยสิ่งที่เรียกๆ กันว่า “ข่าวในกระป๋อง” เกือบล้วนๆ

การวางระบบอย่างตั้งใจที่จะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านข่าวของตนกับสถานีโทรทัศน์อื่นๆ อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่หยุดอยู่เพียงที่การนำเสนอเรื่องราวทั่วๆ ไปที่ใครๆ ก็รู้กันดีอยู่แล้ว ทว่ามีระบบที่เกื้อกูลให้เกิด “ข่าวเดี่ยว” เด่นๆ เป็นครั้งเป็นคราวแบบที่เราได้เห็นกันในวงการหนังสือพิมพ์ อนึ่ง การสนับสนุนให้นักข่าวที่สามารถผลิตผลงานสำคัญๆ เป็นผู้นำเสนอข่าวด้วยตนเองบ่อยๆ น่าจะเป็นการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานที่เป็นกำลังใจแก่นักข่าวที่เป็นคนทำงานข่าวโดยตรงมากขึ้น นักอ่านข่าวหล่อๆ สวยๆ อันคงจะเป็นเสน่ห์ที่ต้องใจมวลชนก็คงจะมีต่อไปได้ แต่พื้นที่สำหรับนักข่าวที่มีฝีมือ แต่อาจจะไม่หล่อหรือสวยเท่าไรนัก น่าจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ เพื่อเพิ่ม “เกียรติภูมิ” ให้แก่การทำข่าวดีๆ ยากๆ ไม่ใช่ตั้งหน้าตั้งตาตกแต่งแทบทุกอย่างให้เป็นเรื่องสนุกๆ รื่นหูรื่นตาไปเสียหมด

เมื่อผู้ประกอบการต่างก็ถือเป็นปรัชญาประจำใจว่าจะลงทุนเพื่อพัฒนางานข่าวให้มากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้บริการแก่ผู้บริโภคในตลาดให้ดีขึ้นเรื่อยๆ อย่างนี้ ในท้ายที่สุด ฝ่ายข่าวที่จะต้องมีระบบตัดสินใจของตนเองที่ทำงานได้อย่างคล่องตัว ก็จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ข่าวที่มีคุณค่าทางธุรกิจให้แก่สถานีโทรทัศน์นั้นๆ ได้มากขึ้นด้วย เพราะในโลกปัจจุบัน อุปสงค์ต่อผลิตภัณฑ์ข่าวระดับคุณภาพทุกประเภท (ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ) เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจของรัฐ ผู้ประกอบการต่างๆ และประชาชนทั่วไปมีมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งนี้ ปริมาณที่จำเป็นจะมากขึ้นเป็นทวีคูณหากคำว่า “ข่าว” ไม่ใช่หมายถึงเฉพาะแต่เหตุการณ์และบทวิเคราะห์ที่เกิดขึ้นวันต่อวัน ทว่าครอบคลุมไปถึงเรื่องราวและบทวิเคราะห์ประเภท “แนวโน้ม” สำคัญต่างๆ ในระยะสั้น กลางและยาวทั้งหลายด้วย

หากข้อสังเกตนี้เป็นจริง นี่ย่อมหมายความว่าจริงๆ แล้ว เมืองไทยเรายังมีพื้นที่ว่างสำหรับการเติบโตของนักข่าวที่มีจินตนาการและขยันขันแข็งประเภทต่างๆ อยู่อีกมาก ไม่ใช่จำกัดอยู่กับอะไรๆ เท่าที่เราได้รู้ได้เห็นในหน้าจอโทรทัศน์ของเราในทุกวันนี้เป็นอันขาด

ประการที่สอง เพื่อให้ปรัชญาข้างต้นถูกนำไปปฏิบัติได้ง่ายขึ้นในหมู่ผู้ประกอบการ รัฐอาจจะพิจารณากำหนดมาตรการทางภาษีใหม่ๆ ขึ้นมาสนับสนุน เช่น การนำสิ่งที่อาจจะเรียกว่า “ภาษีหลายอัตรา” มาใช้กับธุรกิจพิเศษชนิดนี้ ในที่นี้ หลักการเบื้องต้นก็คือการกำหนดความหมายและขอบเขตให้ชัดเจนว่ารายการโทรทัศน์ต่างๆ สามารถจัดแบ่งออกได้เป็นกี่ประเภท โดยแต่ละประเภทรัฐจะคิดภาษีการค้าและภาษีประกอบอื่นๆ เหลื่อมล้ำกันตาม “คุณค่า” ที่เจ้าพนักงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะช่วยกันกำหนดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดการผลิตและเผยแพร่รายการที่มีประโยชน์ทางสังคมสูงสุด ซึ่งนิยามเช่นนี้สามารถแปรปรับไปได้เป็นเรื่อยๆ ตามความเปลี่ยนแปลงต่างๆ สุดแต่การอภิปรายถกเถียงกันในหมู่คนที่ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการประเภทนี้ ในขณะเดียวกัน สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งก็สามารถปรับปรุงนโยบายด้านรายการได้เสมอด้วย

หลักการทั่วไปก็คือ รายการที่มีคุณค่าน้อย ก็คิดภาษีมาก รายการที่มีคุณค่ามาก ก็คิดภาษีน้อย (หรือไม่คิดเลยก็ยิ่งดีใหญ่) ซึ่งลงท้ายแล้วมีผลเป็นการสนับสนุนทางการเงินโดยผ่านทางมาตรการภาษี ซึ่งทำหน้าที่เป็นกลไกชักชวนให้ผู้ประกอบการเกิดความต้องการด้วยตนเองในอันที่จะลงทุนกันผลิตและนำเสนอรายการบางประเภทมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในระยะยาวน่าจะส่งผลให้รายการดีๆ ทุกประเภท (รวมทั้งข่าว) สามารถแจ้งเกิดได้ง่ายขึ้นเพราะ “ต้นทุน” ในการผลิตและนำเสนอรายการประเภทที่จำเป็นต่อการพัฒนาต่างๆ ลดลงอย่างมาก

ปรากฏการณ์ประเภทรายการดีๆ ที่ไม่ค่อยมีกำไรมักจะถูกไล่ที่ก็จะค่อยๆ หายไปเอง สุดท้ายแล้ว รายการโทรทัศน์น่าจะมีประโยชน์สอดคล้องกับความจำเป็นของสังคมส่วนรวมมากขึ้น โดยที่สถานีโทรทัศน์แต่ละแห่งไม่ต้องเสียสละผลประโยชน์ของตนเองมากเกินไปนัก มิหนำซ้ำ ยังได้เกียรติยศมาชดเชยอีกด้วย

ประการที่สาม เพื่อให้หลักเกณฑ์ในการคิดภาษีหลายอัตรานี้ไม่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ แนวทางหนึ่งคือการเผยแพร่ผลการประเมิณอัตราภาษีตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนดขึ้นอย่างเปิดเผยในรูปแบบที่เป็นที่ยอมรับได้ในหมู่สาธารณชน ทั้งนี้ การพิจารณากำหนดอัตราภาษีดังกล่าวอาจจะทำแบบปีต่อปี (หรือตามฤดูกาลการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างรายการ) ตัวอย่างเช่น ในปีที่ผ่านมา สถานี ก. ผลิตและเผยแพร่รายการที่ตรงกับความต้องการของการพัฒนาสังคมมากขึ้น ก็เสียภาษีในปีต่อไปน้อยลง หรือ สถานี ข. ผลิตและเผยแพร่รายการที่ตรงกับความต้องการนั้นๆ น้อยลง ก็เสียภาษีในปีต่อไปมากขึ้น เป็นต้น

อนึ่ง จุดสำคัญที่สุดของแนวความคิดในทำนองข้างต้นนี้จะนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่นั้นคงจะอยู่ที่กระบวนการสองระดับ กล่าวคือ (๑) การอภิปรายถกเถียงของคณะกรรมการผู้กำหนดประเภทรายการกลุ่มต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ โดยไม่ขัดขวางการเติบโตของจินตนาการใหม่ๆ และการกำหนดอัตราภาษีที่สอดคล้องกับระดับความสำคัญของรายการนั้นๆ และ (๒) การนำหลักเกณฑ์ในทำนองนี้ไปใช้เป็น “ดัชนี” ตีความรายการต่างๆ ของแต่ละสถานีว่าจัดอยู่ในประเภทใดบ้าง คิดสะระตะแล้ว ภาษีที่แต่ละแห่งจะต้องเสียในแต่ละปีเป็นเท่าใด ความแม่นยำในการใช้นิยามอ้างอิงไปตีความให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้ประกอบการและสาธารณชนคงจะไม่ใช่เรื่องง่ายในระยะแรกๆ ซึ่งยังไม่มี “แบบอย่าง” แต่ในระยะยาว การตีความก็คงจะมีมาตรฐานกลางมากขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าจะให้ดี ในระยะแรกๆ รัฐก็อาจจะขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการเรียนการสอนด้านสื่อสารมวลชนจัดการให้มีการทำประชาพิจารณ์ในประเด็นต่างๆ แล้วนำเสนอตุ๊กตาให้ผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ พิจารณาซ้ำโดยละเอียดขึ้นจากหลายๆ มุมมอง จนกระทั่งได้ “พิมพ์เขียว” มาทดลองใช้ดูว่าจะเกิดอะไรขึ้น โดยค่อยๆ ปรับปรุงไปเรื่อยๆ ก็ได้

พูดง่ายๆ แนวทางในทำนองนี้เป็นอะไรกลางๆ กล่าวคือ เสรีภาพของผู้ประกอบการก็ยังอยู่ครบถ้วน เพียงแต่ว่ารัฐเข้ามามีส่วนในการสนับสนุนให้รายการที่มีประโยชน์ทางสังคมมากๆ ประเภทต่างๆ สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น โดยการให้ความช่วยเหลือทางการเงินผ่านทางระบบภาษีหลายอัตรา เนื่องจากนี่เป็นการปฏิบัติกับอุตสาหกรรมทั้งหมดพร้อมๆ กันอย่างโปร่งใส จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแทรกแซงเสรีภาพของผู้ประกอบการ แต่เป็นความพยายามที่จะทำให้ “บางส่วน” ของสถานีโทรทัศน์ทุกแห่งสามารถทำหน้าที่เสมือนสิ่งที่เรียกๆ กันว่า “โทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ” ได้ง่ายขึ้นมากกว่า

แนวความคิดในทำนองนี้ไม่ได้ขัดอะไรกับการจัดตั้ง “โทรทัศน์เพื่อประโยชน์สาธารณะ” ที่สมบูรณ์แบบโดยตรงขึ้นมา หรือการดำรงอยู่ของโทรทัศน์ในรูปแบบอื่นๆ ไม่ว่าจะของรัฐ กึ่งรัฐกึ่งเอกชน หรือเอกชนล้วนๆ เพียงแต่ว่ารัฐสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตและนำเสนอรายการที่สาธารณชนสามารถตกลงกันได้ว่าเป็นที่ต้องการของสังคมส่วนรวมโดยสะดวกเท่านั้น

ผลลัพธ์ข้างเคียงสำคัญที่น่าจะเกิดขึ้นประการหนึ่งก็คือ ผู้ผลิตรายการรายย่อยๆ ที่ผลิตรายการที่มีคุณค่าพิเศษมากๆ คงจะสามารถตั้งไข่ได้ง่ายและมากขึ้น ยังผลให้ลดการผูกขาดทางความคิดลง และเพิ่มความหลากหลายในการสร้างสรรค์ขึ้น

นี่เป็นเพียงการทดลองคิดดูเพียงคร่าวๆ ว่า ทำอย่างไรการลงทุนด้านข่าวโทรทัศน์จึงจะมีมากขึ้น การทำงานข่าวแปลกๆ น่าตกใจมากๆ แบบสึนามิ รวมทั้งเรื่องราวเชิงโครงสร้างที่ลี้ลับและยากๆ ต่างๆ อีกมากมาย จะสามารถเป็นไปได้โดยง่ายขึ้น ด้วยฝีมือของนักข่าวรุ่นใหม่ๆ มากมาย จนข่าวโทรทัศน์ของเราสามารถทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเตือนภัยประเภทต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นกว่าเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้

ท่ามกลางความปรารถนาดีอันอบอุ่นจากเพื่อนมนุษย์ทั่วโลก ความมั่นใจในประสิทธิภาพที่สูงขึ้นของข่าวโทรทัศน์ไทยในอนาคต คงจะเป็นอะไรดีๆ อีกอย่างหนึ่งที่สามารถช่วยปลอบใจผู้ที่ได้รับความทุกข์จากการที่ต้องประสบกับสึนามิโดยไม่รู้อีโหน่อีเหน่ได้บ้างเหมือนกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น