xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจ การเมืองจีน (14)"พรรคเหนือทุน" ให้คำตอบอะไร?

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

เมื่อปี 2545 ผู้เขียนเคยนำเสนอบทความเรื่อง "อำนาจทุน กับ พลังทุน" ในคอลัมน์เดียวกันนี้(ปัจจุบันรวมอยู่ในหนังสือชื่อ "จีนาภิวัตน์ สู่ตลาดโลก" โดยมูลนิธิวิถีทรรศน์) นับเป็น "ปุจฉา" ครั้งแรก อันเกิดจากการวิเคราะห์สังคมจีนยุคใหม่ ที่เรียกกันเต็มยศว่า "สังคมนิยมเอกลักษณ์จีน"

ในทำนองว่า "สังคมนิยมเอกลักษณ์จีน" ได้ให้อะไรเป็นพิเศษแก่สังคมโลก?

ในบทความดังกล่าว ผู้เขียนได้พยายามวิสัชนาหาคำตอบ บนฐานความเข้าใจในสังคมจีนของตนเอง (ที่ได้มาจากการติดตามข่าวสารและศึกษาค้นคว้าแนวคิดทฤษฎีของพรรคจีน) เป็นหลัก โดยไม่ได้นำไปแลกเปลี่ยนหรือ "ปุจฉา-วิสัชนา" กับใครอื่นเลย

ในทางทฤษฎีวิชาการก็นับเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอย่างมาก

แต่ด้วยความคิดที่ไม่ยึดติดกับสิ่งใดๆ ทำให้ผู้เขียน "กล้า" เสนอแนวคิดของตนเองออกสู่สายตาสาธารณชน ด้วยจิตใจของความเป็นนักค้นคว้าอิสระที่รักในความเป็น "วิทยาศาสตร์" ขององค์ความรู้ของตน ซึ่งอาจจะเป็นเพียงการ "คิดเองเออเอง" ก็ได้

แต่เมื่อมีนักวิเคราะห์ตะวันตกเชื่อ โจซัว คูเปอร์ ราโม (Joshua Cooper Ramo) นำเสนอทฤษฎี "ฉันทมติปักกิ่ง" (Beijing Consensus) ในเดือนพฤษภาคม 2004 ทำให้ทั้งโลกพากันพลิกมุมมองจีนอย่างฉับพลัน จากที่เคยมองการผงาดขึ้นของจีนเป็นภัยคุกคาม หรือกระทั่งมองว่าการพัฒนาประเทศของจีนที่เต็มไปด้วยปัญหา จะทำให้จีนพบกับการล่มจมอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ มาเป็นมองเห็นว่า จีนเป็น "แบบอย่าง" ในการพัฒนาประเทศที่สอดคล้องกับเรียกร้องต้องการของสังคมโลกอย่างแท้จริง

พลัน สิ่งที่เรียกว่า "แบบอย่าง" ของจีน ในสาระลึกๆที่มีลักษณะเป็น "แก่นแกน" ของมัน ก็ผลุดโผล่ขึ้นมาในมโนสำนึกของผู้เขียน นั่นก็คือ "ความเป็นพรรคเหนือทุน" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งเป็นพรรคบริหารประเทศจีนอยู่ในปัจจุบัน

มันคือ "คำตอบ" ที่ผู้เขียนเฝ้าค้นหามาโดยตลอดว่า อะไร คือ "ปัจจัยแกน" ของความสำเร็จของคนจีน?

ซึ่งความจริงแล้ว ผู้เขียนได้ "ตอบ" ไปแล้ว เมื่อปี 2545

จึงขอนำเอาเนื้อหาหลักของบทความชิ้นนั้นมาตีพิมพ์ซ้ำ สำหรับการเดินหน้าเจาะหา "คำตอบ" ในขั้นลึกๆ ต่อไป ว่า "พรรคเหนือทุน" แบบจีน สามารถนำมาปรับใช้กับการเมืองของไทยเราได้หรือไม่? (เพราะปัจจุบันประเทศไทยเรา กำลังติดตันอยู่กับการเมืองกลุ่มทุน ที่พรรคบริหารประเทศเป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศ ไม่สามารถบริหารประเทศจนเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง) ดังนี้...

ลักษณะพรรคกลุ่มทุน

ในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหมด ล้วนแต่ปกครองด้วยอำนาจทุน พรรคการเมืองที่ทำหน้าที่บริหารประเทศดำเนินนโยบายประกันผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนใหญ่อย่างไม่มีอะไรเคลือบแคลง ส่วนนโยบายต่อสาธารณะ เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมนั้น จะทำไปในลักษณะสนองตอบต่อความต้องการเฉพาะหน้าของผู้ลงคะแนนเสียงเป็นสำคัญ
นโยบายส่วนใหญ่จึงเข้าข่าย "ขายผ้าเอาหน้ารอด" มุ่งรักษาฐานคะแนนเสียงเป็นสำคัญ

บางทีจุดหนักของนโยบายที่ประกาศไว้ในการหาเสียง อาจไม่ตรงกับการดำเนินนโยบายที่เป็นจริงภายหลังได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งแล้ว ร้อนถึงเจ้าของคะแนนเสียงต้องออกมาโวยหรือแสดงการประท้วง ทวงคำสัญญา แต่ก็จะไม่ค่อยเป็นผล จนกว่าจะเข้าฤดูกาลหาเสียงเลือกตั้งครั้งสำคัญๆ อีกครั้ง ซึ่งพรรคการเมืองแต่ละฝ่ายก็จะออกมาโฆษณาเผยแพร่นโยบายหาคะแนนเสียง (นโยบายหาคะแนนเสียงนะ มิใช่นโยบายที่จะดำเนินการให้เป็นจริงซึ่งผู้นำเสนอเองก็รู้อยู่แก่ใจว่าไม่มีทางเป็นไปได้หรือเป็นไปได้ยากมาก)

ขณะที่ในประเทศกำลังพัฒนา พรรคการเมืองเกิดขึ้นจากการ "สร้าง" ของกลุ่มทุนโดยตรง ผู้บริหารทุนคือผู้บริหารพรรค ต้อง "ลงทุน" และมีค่าใช้จ่ายที่จะต้อง "ควักกระเป๋า" ส่วนตัวอยู่ตลอดเวลา การตั้งพรรคการเมืองจึงไม่ต่างจากการ "ลงทุน" ทำธุรกิจ การดำเนินนโยบายจึงแวดล้อมอยู่กับการเสริมฐานธุรกิจของตนเองเป็นสำคัญ ส่วนนโยบายที่จะส่งผลดีต่อสาธารณะนั้น ขึ้นกับหิริโอตตัปปะส่วนตัว และจะดำเนินนโยบายดีและเป็นผลประโยชน์ต่อสาธารณชนได้จริงแค่ไหน ก็ยังต้องดู "กึ๋น" หรือความกล้าหาญ ความมีวิสัยทัศน์ยาวไกลมากน้อยแค่ไหนประกอบด้วย เนื่องจากนโยบายสำคัญๆ ที่ต้องการปฏิรูปหรือทำอะไรใหม่ๆ ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมรวมนั้น หนีไม่พ้นต้องกระทบกับกลุ่มผู้เสพประโยชน์เดิมๆ ที่มักจะเป็นผู้ทรงอำนาจในสังคมมานาน

อีกนัยหนึ่ง ผู้จะก้าวขึ้นใช้อำนาจบริหารรัฐกิจตามครรลองของอำนาจทุนและสร้างประโยชน์ให้แก่สาธารณชนได้บ้าง ไม่เพียงต้อง "เงินถึง" แต่ยังจะต้อง "ใจถึง" และ "ปัญญาถึง" อีกด้วย

จึงไม่แปลกที่ "การเมือง" ในประเทศกำลังพัฒนา ไม่น่าลงทุนเท่าไรนัก เพราะหากไม่เก่งจริง ก็จะ "เจ๊งบ๊ง" ไม่เข้าท่า ดังที่นักการเมืองฝ่ายค้านบางคนทำนายว่า อีกไม่กี่ปีนายกฯ ทักษิณอาจถึงกับไม่มีแผ่นดินอยู่

มันช่างเสี่ยงจริงๆ จึงไม่แปลกที่กว่ากลุ่มทุนไทยจะก้าวขึ้นสู่เวทีการเมืองอย่างจริงจัง ก็ต้องคิดแล้วคิดอีก ชั่งแล้วชั่งอีกถึงผลได้ผลเสียที่จะกระทบต่อตัวเอง

จึงไม่แปลกอีกเช่นกัน ที่ระบบการบริหารประเทศ ระบบราชการของไทยเรา จึงครองความล้าหลังคร่ำครึได้อย่างคงทน เพราะว่าผู้คิดใช้อำนาจเปลี่ยนแปลง มักจะ "แพ้ภัยตนเอง" เสียก่อน คือทนไม่ได้กับสิ่งที่จะสูญเสียในระหว่างการผลักดันการเปลี่ยนแปลง

"อำนาจเชิงระบบ" แบบเก่า จึงดูทนทายาด ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศให้เจริญ ประชาชนอยู่เย็นเป็นสุขแต่ประการใด

ดังนั้น ไม่ว่าโลกเขาจะก้าวไปเร็วแค่ไหน ก็ยังได้ยินนักการเมืองทั้งที่เป็น ส.ส.และ ส.ว.บางคน พูดได้พูดดีว่า "ก็ชอบที่จะเป็นแบบไทยๆ" ก็เพราะพวกเขาสามารถชูคออยู่ได้ในระบบอำนาจแบบเก่าอย่าง "ทรงเกียรติ" (นักการเมืองไทยมีสถานภาพของ "ผู้ทรงเกียรติ" มีอำนาจอิทธิพล)

"นักการเมือง" ของไทยไม่น้อยจึงมักไม่แสดงบทบาทสร้างสรรค์ที่จะนำไปสู่การนวัตกรรมใหม่ๆในทางการเมือง แต่เป็นผู้มุ่งรักษาผลประโยชน์จำเพาะของกลุ่มของพวกมากกว่า

คำตอบตลบหลังอีกทีก็ว่า เนื่องจากพัฒนาการกลุ่มทุนของสังคมไทยเป็นไปอย่างล่าช้าและไม่เป็นอิสระ กว่าจะมาถึงยุค "ทุนไฮเทค" ที่เป็นทุนคนไทยยุคใหม่จริงๆ ประเทศและประชาชนก็แทบไม่เหลืออะไร นักการเมืองทั่วไปจึงไม่มีความเข้มแข็งทางความคิด ขาดวิสัยทัศน์ และขาดคุณสมบัติเป็นนักการเมืองที่ดี (นักการเมืองที่ดีต้องยึดมั่นในผลประโยชน์ของชาติของประชาชน มีความเข้าใจโลก โดยเฉพาะโลกยุคใหม่ที่พลังเศรษฐกิจกำหนดทิศทางอนาคตโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ)

ในที่สุด ความคร่ำครึโบราณ (ล้าหลัง) ที่เกาะตัวกันแน่นเป็นเสมือนหินปูนหรือฟอสซิล ที่มีอยู่ทั่วไปในโครงสร้างอำนาจ ก็กลายเป็น "ตัวเขมือบ" ศักยภาพเฉพาะตัวที่พอมีอยู่ในตัวนักการเมือง ค่อยๆ กัดกร่อนทำลายความมุ่งมั่นที่พอมีอยู่ให้หมดไป

ปรากฏการณ์ที่สะท้อนให้เห็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาทางการเมืองประเทศไทยดังกล่าวแสดงว่า มิใช่อำนาจทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะแก้ไขได้โดยลำพัง จำเป็นจะต้องมีพลังมวลชนหรือพลังของสังคมทุกส่วนทุกแขนง หลั่งไหลเข้ามาสนับสนุนหรือกระทั่งแสดงตัวเป็น "เจ้าภาพ" ร่วม ซึ่งตรงนี้ ผู้ใช้อำนาจบริหารตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ จะต้องตระหนักซึ้งถึงก้นบึ้งของหัวใจ

ความอหังการควรมีไว้แสดงกับระบบคร่ำครึ หากมิใช่กับตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ซึ่งจะมีการพัฒนาเปลี่ยนแปลงได้เสมอในเงื่อนไขเฉพาะ เป็นเป้าหมายที่ต้องสามัคคีไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อช่วยกัน "สาง" ปมปัญหาใหญ่ของสังคมไทยในระยะยาว

การเมืองยุคใหม่ คือการบริหารอำนาจเหนือทุน

ในมุมมองของผู้เขียน สังคมโลกปัจจุบัน มีระบบการบริหารอำนาจของรัฐอยู่สองแบบใหญ่ๆ คือการบริหารอำนาจโดย (กลุ่ม) ทุน และการบริหารอำนาจเหนือ (กลุ่ม) ทุน

การเปรียบเทียบดังกล่าวเกิดขึ้นจากการที่ผู้เขียนพยายามติดตามศึกษาความเป็นไปในประเทศจีน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ ในแง่มุมที่สามารถสะท้อน "ความแตกต่าง" ของสังคมจีนกับสังคมอื่นๆ ซึ่งก็คือ ความแตกต่างของระบบเศรษฐกิจ การเมือง ฯลฯ

ทั้งหมดหนีไม่พ้นเรื่องการบริหารอำนาจ

ในภาพรวม จีนได้นำกลไกตลาดเข้าไปใช้ เกิดการบริหารอำนาจเชิงระบบ ซึ่งแบ่งได้เป็นอำนาจของ "มือที่มองไม่เห็น" และ "มือที่มองเห็น"

"มือที่มองไม่เห็น" คืออำนาจขับเคลื่อนในตัวเองของกลไกตลาด ซึ่งเป็นอำนาจตาม "ธรรมชาติ" ส่วน "มือที่มองเห็น" เป็นการใช้อำนาจของระบบโครงสร้างและกลไกรัฐ ผ่านแนวทางนโยบายต่างๆ ของคณะผู้บริหารในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งเป็นเรื่องของความรับรู้ วิสัยทัศน์ สมรรถภาพและประสิทธิภาพของคณะผู้บริหารประเทศ

อำนาจธรรมชาติจะแสดงบทบาทได้เต็มที่ ก็ต่อเมื่อการทำงานของกลไกตลาดสามารถดำเนินไปได้อย่างเป็นอิสระ ปราศจากการผูกขาดตัดตอน นั่นคือการทำงานของกลไกตลาดจะต้องไม่ถูกอำนาจเฉพาะอันใดครอบงำ บิดเบือน จนบิดเบี้ยว

อำนาจในระบบบริหารของรัฐจะแสดงบทบาทได้ดีอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ เกิดประสิทธิผลสูงสุดเสมอ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้อำนาจสามารถกำหนดแนวทางนโยบาย ดำเนินการ "ปรับ" ให้กลไกตลาดขับเคลื่อนตัวเองไปได้อย่างสมดุลและทรงประสิทธิภาพสูงสุดเสมอ

ในความเข้าใจของผู้เขียน (ไม่มีตำราอิง) กลุ่มทุนในโลกทุนนิยม ได้ใช้อำนาจทุนครอบงำกลไกตลาด บิดเบือนบทบาทเป็นจริงของกลไกตลาด ทำทุกอย่างที่จะให้กลไกตลาด "รับใช้" ผลประโยชน์ของตนเอง เพื่อความยิ่งใหญ่อย่างไม่มีขอบเขตของทุนและกลุ่มทุน

กล่าวในภาษาทั่วไป ก็ว่ากลุ่มทุนคือผู้ผูกขาดตลาด เป็นผู้ควบคุมการทำงานของตลาด ทำให้เกิดความบิดเบี้ยวในตลาด การทำงานของตลาดจึงไม่มีประสิทธิภาพเต็มร้อย

กลุ่มทุนโลก บริหารอำนาจครอบโลกอย่างต่อเนื่องมานานกว่าสองศตวรรษแล้ว แต่ไม่อาจสร้างสันติสุขให้แก่ชาวโลกได้ ที่สำคัญเพราะพวกเขาไม่ได้แก้ปัญหาของโลก แต่มุ่งแก้ปัญหาของตนเอง (โยนปัญหาให้แก่ส่วนอื่นๆของโลก)

มาบัดนี้ ประเทศจีนในระบอบสังคมนิยม ได้นำกลไกตลาดเข้าไปใช้ในการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ใช้อำนาจรัฐ โดยคณะผู้บริหารที่ทรงวิสัยทัศน์ "เปิดทาง" หรือนำร่องการพัฒนาเติบใหญ่ของกลไกตลาดในประเทศจีน ซึ่งทำกันอย่างเป็นขั้นเป็นตอน อย่างมีความเข้าใจในบทบาททางประวัติศาสตร์ของกลไกตลาด ประสานกับสภาวะเป็นจริงของสังคมจีน ที่เป็นสังคมนิยมขั้นปฐมและมีลักษณะเฉพาะแบบจีน

ไม่นานนัก กลไกตลาดก็ได้แสดง "พลัง" หรือประสิทธิภาพโดยรวมออกมาอย่างรวดเร็ว

ความเป็นจริงที่ทุกคนประจักษ์ได้ก็คือ การทำงานของกลไกตลาดในประเทศจีนดีขึ้นเรื่อยๆ จากการ "ควบคุมบังคับ" อย่างถูกต้องโดยแนวทางนโยบาย ระบบกลไกที่ทรงประสิทธิภาพของคณะผู้ใช้อำนาจรัฐ อันได้แก่คณะผู้นำ ผู้ปฏิบัติงานทั้งของพรรคและรัฐบาลที่ยึดมั่นในหลักทฤษฎีลัทธิมาร์กซ์ ความคิดเหมาเจ๋อตง ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง และหลักคิดสำคัญเรื่อง "สามตัวแทน"

ความเติบใหญ่ทางด้านเศรษฐกิจของจีนในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา และในอนาคตต่อไปนี้ คือผลพวงแห่งการบริหารอำนาจของคณะพรรคและรัฐบาลจีน ประสานไปกับการแสดงบทบาทหรือ "พลัง" เชิงโครงสร้างของกลไกตลาดในประเทศจีน

ในกรอบความหมายทางรัฐศาสตร์ ก็คือการบริหารอำนาจเหนือทุน พรรคและรัฐบาลจีนใช้อำนาจสูงสุดเหนือทุน กลไกตลาดปลอดจากการผูกขาดตัดตอนของกลุ่มทุน ศักยภาพเชิงโครงสร้างของอำนาจรัฐและกลไกตลาดสามารถแสดงตัวออกมาได้อย่างมาก มากกว่าที่มีอยู่ในประเทศโลกทุนนิยม

เป็นความก้าวหน้าอีกขั้นหนึ่งของสังคมโลก

ผู้เขียนเคยนำเสนอข้อสันนิษฐานหลายครั้งว่า ระบบทุนโลกแก้ปัญหาโลกไม่ได้ (ตรงกันข้าม ระบบทุนโลกเป็นผู้ก่อปัญหาใหญ่ให้แก่ชาวโลกมากกว่า) แต่โลกยังจะต้องพัฒนาก้าวหน้าต่อไป ซึ่งจะปรากฏเป็นจริงได้ก็ด้วยการบริหารอำนาจเหนือทุน

ในทางประวัติศาสตร์ ทุนเป็นพลังขับเคลื่อนของเศรษฐกิจการผลิตและการบริการต่างๆ เป็นปัจจัยพื้นฐานของชีวิตเศรษฐกิจของสังคมโลก แต่เมื่อทุนถูกใช้เป็นเครื่องมือแสวงอำนาจ และใช้อำนาจ ทุนจึงพลิกตัวเองจากความเป็นพลังขับเคลื่อน มาเป็นอำนาจควบคุม ชะตากรรมของสังคมโลกภายใต้อำนาจควบคุมของทุนโดยกลุ่มเจ้าของทุน จึงตกอยู่ในสภาพ "ย่ำแย่" เนื่องจากทุนมีธาตุแท้พื้นฐานที่การ "ต่อทุน" คือสร้างกำไรจากการลงทุน ชอบที่จะ "เขมือบ" มากกว่า "ให้"

ดังนั้น เมื่อทุนโดยผู้ใช้อำนาจทุนเคลื่อนไปถึงไหน ที่นั่นก็จะถูก "กิน" ไม่มีเหลือ ผู้ใช้อำนาจโดยทุนจึงทำตัวเป็นผู้ผูกขาดชะตากรรมของชาวโลก อันเนื่องมาจากพลังอำนาจแห่งทุน

เมื่อไรที่เรารู้จักวิธีและสามารถแยกเอาทุนออกมาจากอำนาจ ปรับบทบาททุนให้เป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ทุนก็จะกลายเป็นปัจจัยสร้างสรรค์สำคัญยิ่งของกระบวนการพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองของสังคมรวม และความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งหมายถึงชาวโลกโดยรวม

ในสังคมที่ทุนคือพลังอำนาจ จะมีใครกล้าคิดกล้าทำเช่นนั้น

ตรงกันข้าม ในประเทศจีนซึ่งอำนาจแยกออกจากทุนแล้ว ความเติบใหญ่ของกลุ่มทุนมีแต่จะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่กระบวนการพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ไม่มีปัญหาเรื่อง "อำนาจทุน" มีแต่ "พลังทุน"
กำลังโหลดความคิดเห็น