xs
xsm
sm
md
lg

บทเรียนจากสึนามิ

เผยแพร่:   โดย: เกษม ศิริสัมพันธ์

อันที่จริง คอลัมน์ "โลกกว้าง-ทางแคบ" ซึ่งปรากฏใน ผู้จัดการรายวัน ฉบับวันอังคารที่ 4 เดือนนี้ ได้เขียนไว้แต่ตอนสายของวันอาทิตย์ที่ 26 ธันวาคมปีที่แล้ว เตรียมตัวเดินทางไปต่างจังหวัดในตอนปีใหม่ที่ผ่านมา จึงต้องเขียนต้นฉบับไว้ล่วงหน้า

เวลาที่เขียนบทความดังกล่าวนั้น เป็นเวลาที่คลื่นสึนามิเพิ่งโถมเข้าใส่ชายฝั่งทะเลอันดามันของเรา ซึ่งมีจังหวัดภูเก็ต พังงา และกะบี่ ตอนนั้นจึงยังไม่ได้ข่าวคราวของความสูญเสียอย่างมหาศาลจากภัยพิบัติธรรมชาติครั้งนี้

แต่บังเอิญคอลัมน์ฉบับสัปดาห์ที่แล้ว ได้พูดถึงเรื่องหลักธรรมสำคัญประการหนึ่งของพระพุทธศาสนา คือเรื่อง ความไม่ประมาท ซึ่งเข้ากับเรื่องภัยพิบัติอันเกิดจากคลื่นยักษ์สึนามิครั้งนี้พอดี

เฉพาะอย่างยิ่งคำกล่าวของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งพูดกับชาวต่างประเทศผู้หนึ่ง ได้สรุปลักษณะสำคัญของผู้ที่นับถือพุทธศาสนา ไว้ว่า "A Buddhist is a man who hopes for the best and prepares for the worst." แปลว่า "พุทธมามกะคือผู้ที่หวังผลเลิศทุกประการ แต่ก็เตรียมรับผลร้ายที่สุดทุกประการเหมือนกัน"

เรื่องภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ใต้ทะเลครั้งนี้ที่ทำให้เกิดความสูญเสียและความเสียหายอย่างมากมายมหาศาลครั้งนี้ ก็เพราะเราตั้งอยู่ในความประมาท!

เอาแต่หวังผลเลิศทุกประการ! แต่ไม่เตรียมรับผลร้ายที่สุดทุกประการ! นั่นเอง

อย่างนี้เรียกว่าตั้งอยู่ในความประมาทโดยแท้! เมื่อเกิดภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ครั้งนี้ ความสูญเสียจึงมากมายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยพบเคยเห็นกันมาก่อนเลย!

จริงอยู่บ้านเมืองเราไม่เคยได้ประสบกับภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์ใต้น้ำสึนามิมาก่อนก็จริง!

แต่มีผู้ที่ได้เคยเตือนให้ระมัดระวังเรื่องภัยพิบัติอันเกิดจากคลื่นยักษ์นี้มาแล้ว ถึงสองครั้งสองหน แต่ไม่มีใครสนใจสดับตรับฟังคำเตือนดังกล่าว!

ผู้ที่กล่าวเตือนนั้น ไม่ใช่ใครอื่น คืออดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา คือคุณสมิทธ ธรรมสโรช ได้เตือนว่าภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ อาจเกิดขึ้นแถวบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศเรา

คุณสมิทธ ได้เตือนครั้งแรก เมื่อเดือนกันยายน 2536 เมื่อดำรงตำแหน่งเป็นอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ครั้งนั้นเกิดคลื่นสึนามิ เข้าซัดชายฝั่งประเทศนิการากัว ทำให้ผู้คนจำนวนหลายล้านคน ต้องไร้ที่อยู่อาศัย คนตายบาดเจ็บและสูญหาย รวมกันแล้วมีจำนวนเหยียบหมื่นทีเดียว

ครั้งที่สอง เมื่อเดือนกรกฎาคม 2541 คราวนี้คุณสมิทธได้พ้นจากตำแหน่งอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ไปดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงคมนาคมแล้วก็ตาม เมื่อคลื่นสึนามิพัดเข้าฝั่งตอนเหนือของปาปัวนิวกินี มีผลให้หมู่บ้านในบริเวณนั้นถูกทำลายราบเรียบไปหมดเป็นบริเวณกว้าง มีคนตาย 2 พันกว่าคน ครั้งนี้คุณสมิทธก็ได้มีหนังสือเตือนภัยจากคลื่นยักษ์แบบนี้เป็นครั้งที่สอง

ไม่ใช่มีหนังสือเตือนภัยเฉยๆ คุณสมิทธยังได้เสนอแนวทางปฏิบัติในกรณีเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ไว้ถึง 10 ประการ รวมถึงมีการเตรียมการฝึกซ้อมรับภัยจากคลื่นยักษ์นี้ด้วย

เมื่อพิจารณาจากข้อเสนอแนะดังกล่าว จะเห็นได้ว่า อดีตอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาผู้นี้ เป็นผู้ที่ศึกษาอย่างจริงจัง จนสามารถรอบรู้ลักษณะต่างๆ ของภัยพิบัติอันเกิดจากคลื่นใต้น้ำประเภทนี้ได้เป็นอย่างดีทีเดียว

เช่น คุณสมิทธได้เขียนเตือนไว้ในข้อเสนอแนะข้อหนึ่งว่า เมื่อสังเกตเห็นว่าระดับน้ำทะเลลดลงอย่างรวดเร็ว ให้เตรียมตัวหนีได้แล้ว เพราะคลื่นยักษ์กำลังพัดตามเข้ามาแล้ว

หรืออีกข้อหนึ่งคุณสมิทธเตือนไว้ว่า คลื่นสึนามิ มีหลายระลอกด้วยกัน ดังนั้น เมื่อประสบกับคลื่นระลอกแรก ให้รออยู่ก่อนอย่ารีบลงไปชายหาด เพราะจะมีคลื่นระลอกหลังตามมาอีก

หรือคุณสมิทธเขียนไว้ว่า ถ้าอยู่ในเรือกลางทะเล หรือจอดอยู่ในอ่าวก็ให้รีบนำเรือออกไปกลางทะเล เพราะคลื่นสึนามิเมื่ออยู่กลางทะเลจะมีขนาดเล็กไม่มีพิษไม่มีภัย แต่เมื่อซัดเข้าเกือบถึงชายฝั่งแล้วจึงกลายเป็นคลื่นยักษ์มีฤทธิ์มีเดชทำลายล้างได้ อย่างมหาศาล

ลักษณะดังกล่าวล้วนตรงกับสภาพซึ่งผู้ประสบภัยพิบัติครั้งนี้ได้กล่าวยืนยันว่า ได้เกิดขึ้นจริงทั้งสิ้น! แสดงว่าคุณสมิทธเป็นผู้รู้จริงและรู้ล่วงหน้า ได้เคยเตือนมาก่อนแล้วทั้งนั้น!

นอกจากนี้คุณสมิทธยังทำบันทึกเสนอรัฐบาลในสมัยนั้น ให้ริเริ่มติดตั้งเครื่องสัญญาณเตือนภัยจากคลื่นสึนามิ ทางด้านทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย

แต่คำเตือนและบันทึกของคุณสมิทธ นอกจากจะถูกละเลยไม่มีใครสนใจแล้ว ตัวคุณสมิทธยังถูกชี้หน้าว่า เป็นผู้ไม่หวังดีต่อบ้านเมือง คิดจะทำลายธุรกิจการท่องเที่ยว ขนาดประกาศไม่ให้คุณสมิทธเข้าเมืองภูเก็ตเลยทีเดียว!

ผู้ที่มองข้ามคำเตือนของคุณสมิทธเช่นนี้ เป็นผู้ตั้งอยู่ในความประมาทโดยแท้!

ตามคำกล่าวของท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ (ซึ่งอ้างในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ก่อน และได้นำมากล่าวซ้ำอีกในตอนต้นของบทความครั้งนี้ด้วย) คนเช่นนั้นเป็นผู้ที่หวังแต่ผลเลิศ! ไม่ยอมเตรียมตัวรับผลร้ายที่อาจเกิดขึ้นได้!

จึงเป็นผู้ตั้งอยู่ในความประมาท! ไม่ใช่วิสัยของผู้ที่เป็นพุทธมามกะอย่างแท้จริง!

คิดดูก็แปลก! ขนาดโบราณท่านสอนไว้ว่า เมื่อได้ยินเสียงจิ้งจกร้องทัก ยังให้ระวัง! ให้เลี้ยวซ้ายแลขวา ระแวดระวังดูภัยให้รอบตัวเสียก่อน!

แต่นี้ขนาดอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ทำหนังสือเตือนระบบราชการเมืองไทยยังไม่เห็นความสำคัญ คงตั้งอยู่ในความประมาทต่อไป!

เมื่อเกิดภัยพิบัติคราวนี้ ผลบุญของคุณสมิทธจึงอุบัติขึ้น ถูกแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เตรียมติดตั้งสัญญาณเตือนภัยคลื่นสึนามิ!

เรียกว่าเมื่อวัวหายแล้วจึงคิดล้อมคอก! ส้มจึงได้หล่นใส่ตักคุณสมิทธ!

แต่อีกด้านหนึ่ง อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยาคนปัจจุบัน ถูกย้ายไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรีชั่วคราว เพราะนายกรัฐมนตรีเกิดข้องใจว่า ทำไมกรมอุตุนิยมวิทยาจึงไม่เตือนภัยเรื่องสึนามิ ครั้งนี้บ้างเลย?

แต่เรื่องนี้ต้องเห็นใจฝ่ายข้าราชการประจำอยู่เหมือนกัน!

หลังจากกรณีคุณสมิทธเตือนว่าอาจเกิดภัยพิบัติจากคลื่นยักษ์สึนามิถึงสองครั้งแล้ว นอกจากถูกเมินเฉยแล้ว ยังมีเสียงตำหนิว่าคุณสมิทธเป็นผู้ไม่หวังดี คิดทำลายธุรกิจการท่องเที่ยวของบ้านเรา!

กรณีของคุณสมิทธย่อมเป็นตัวอย่างให้ข้าราชการต้องระมัดระวัง! หัวหด! ไม่กล้าออกมากล่าวเตือนอะไรกันได้อีก!

ถ้ากรมอุตุนิยมวิทยาครั้งนี้กล้า "ฟันธง" แล้วไม่เกิดคลื่นยักษ์ขึ้นจริง นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศเกิดแตกตื่น! กรมอุตุนิยมวิทยาก็คงถูกกระแทกหน้าซ้ำอีกครั้ง คงหนักกว่าเก่าเป็นแน่!

เราไม่ส่งเสริมและไม่ปกป้องข้าราชการซึ่งทำหน้าที่ในทางเทคนิคเฉพาะด้านกันเลย! ข้าราชการฝ่ายเทคนิคจึงย่อมเกิดความขยาด! เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว จะไปโทษกันได้อย่างไร!

สังคมไทยเป็นสังคมฉาบฉวย พูดอ้างถึงเรื่องต่างๆ อย่างเช่น เรื่องการท่องเที่ยว ก็เป็นเพียงกล่าวอ้างให้เป็นเพียงคาถาเพื่อให้ดูขลังเท่านั้นเอง! ไม่ได้มีการพิจารณาไตร่ตรองให้ลุ่มลึกรอบด้านกันเลย!

แต่พอเกิดเหตุร้ายขึ้นจริงอย่างคราวนี้! เป็นภัยพิบัติซึ่งมีการสูญเสียของนักท่องเที่ยว ทั้งตายบาดเจ็บและสูญหายมากมายเหลือคณานับ! ผู้ที่อ้างว่าการที่คุณสมิทธเตือนภัยจากพายุสึนามิเมื่อ 6 ปีก่อน จะกระทบกระเทือนถึงการท่องเที่ยว ไม่ทราบว่า เดี๋ยวนี้เอาหน้าไปซุกไว้ที่ไหน?

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยทุกระดับทั้งประเทศ ต้องมีทัศนคติต่อเรื่องราวด้านต่างๆ ด้วยความรอบรู้และด้วยความมีเหตุผลอย่างแท้จริง! ไม่ใช่เป็นสังคมสุกๆ ดิบๆ ครึ่งๆ กลางๆ และตั้งอยู่ในความประมาท อย่างที่เราเป็นกันอยู่ในทุกวันนี้!

ยังมีอีกเรื่องหนึ่ง! มีสื่อมวลชนต่างประเทศไปเสนอข่าวว่า มีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งของกรมอุตุนิยมวิทยา ได้โทรศัพท์ไปแจ้งครอบครัวซึ่งประกอบอาชีพประมงให้รู้ตัวล่วงหน้าเรื่องพายุคราวนี้ จึงเกิดปัญหาว่า ทำไมระดับเจ้าหน้าที่สามารถแจ้งข่าวเตือนครอบครัวได้ แต่ทำไมกรมอุตุนิยมวิทยา ไม่ได้แถลงเตือนประชาชน?

บัดนี้ เจ้าหน้าที่กรมอุตุนิยมวิทยาผู้นี้ ได้ออกมาปรากฏตัวและยืนยันแล้วว่า ตัวเธอเองเป็นเจ้าหน้าที่ระดับกลาง ไม่มีหน้าที่ ไม่มีความรู้ทางอุตุนิยมวิทยา และไม่ได้ล่วงรู้ข้อมูลเกี่ยวกับพายุครั้งนี้เลย ครอบครัวเธอเป็นชาวประมงจริง แต่เธอไม่ได้โทรศัพท์ไปเตือนบิดา และตัวบิดาเอง ก็ออกมายืนยันว่าไม่เคยมีโทรศัพท์จากลูกสาวเลย!

นี่แสดงว่าแม้สื่อมวลชนต่างประเทศ ก็มีการระบายสีข่าวเหมือนกัน!

มีข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ขณะนี้คงเป็นที่แน่นอนแล้วว่า จะมีการติดตั้งระบบสัญญาณเตือนภัยพายุสึนามิ เมื่อได้เกิดความพินาศเสียหายถึงปานนี้แล้ว ก็คงต้องติดตั้งระบบดังกล่าวกันแล้ว!

แต่มีข้อสังเกตบางประการ ประการแรก ได้ทราบว่าระบบที่ใช้อยู่ด้านมหาสมุทรแปซิฟิก มีศูนย์กลางที่ฮาวายนั้น เป็นระบบของอเมริกัน ซึ่งมีข้อบกพร่องอยู่เหมือนกัน มีข่าวว่า ขณะนี้ทางญี่ปุ่นกำลังทำการศึกษาค้นคว้าปรับปรุงเรื่องสัญญาณเตือนภัยดังกล่าว ดังนั้นเราจะลงทุนตอนนี้ ก็ควรพิจารณาให้เหมาะสมและทันสมัยที่สุด

ประการที่สอง ต้องตระหนักว่าพายุสึนามิไม่ใช่เกิดประจำตามฤดูกาลอย่างพายุไต้ฝุ่นนานๆ หลายปี หรือหลายสิบปี หรืออาจถึงร้อยปี ก็จะเกิดขึ้นก็เป็นได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับเป็นคลื่นใต้น้ำที่เกิดขึ้นจากแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด

เหตุการณ์ครั้งก่อนคราวนี้ที่เกิดแถวทะเลอันดามันและมหาสมุทรอินเดีย เกิดเมื่อ ค.ศ. 1883 หรือประมาณ 122 ปีมาแล้ว เมื่อภูเขาไฟที่เกาะการากาตัว ใกล้เกาะสุมาตราเกิดระเบิดปะทุขึ้นมา ครั้งนั้นยังไม่รู้จักกันในชื่อคลื่นสึนามิ และในสมัยนั้นแถวชายฝั่งก็ไม่มีผู้คนแออัดอย่างสมัยนี้ ก็คงมีหมู่บ้านชาวประมงบ้างเท่านั้น ยังไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวอย่างสมัยนี้

ที่นำเรื่องนี้มากล่าวไม่ได้หมายความว่าจะมีพายุเช่นนี้อีกครั้งก็ต้องรออีก 100 กว่าปี จริงๆ แล้วพายุสึนามินั้น สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ! ดังนั้นจึงต้องตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตลอดเวลา! ต้องให้การศึกษาประชาชนให้รู้จักลักษณะสำคัญของพายุ และมีการซ้อมการตระเตรียมและการหลบภัยไว้อย่างสม่ำเสมอ

สำคัญที่สุด ภัยพิบัติต่างๆ ทั้งที่เกิดจากธรรมชาติ และที่เกิดจากฝีมือมนุษย์กันเองอย่างการก่อการร้ายนั้น การตื่นตัวในภัยดังกล่าวต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทตลอดเวลา อย่าได้ทำกันแบบไฟไหม้ฟางซึ่งเป็นนิสัยของคนไทยทั่วๆ ไปเป็นอันขาด!
กำลังโหลดความคิดเห็น