xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมเวเฟอร์วงจรรวมของจีนกำลังมาแรง

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

ประเทศจีนได้พยายามพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเวเฟอร์วงจรรวม ซึ่งถือว่าเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ โดยรัฐบาลมี “โครงการ 909” (คำว่า 909 ย่อมาจากทศวรรษที่ 1990 และแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 9 ของประเทศจีน ซึ่งครอบคลุมช่วงปี 2538 – 2543) ที่จะเร่งรัดการก่อสร้างโรงงานผลิตเวเฟอร์วงจรรวม 5 โรงงาน รวมทั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาไอซีจำนวน 20 แห่ง ภายในปี 2543

ต่อมาในช่วงแผนพัฒนาฉบับที่ 10 ซึ่งครอบคลุมช่วงปี 2544 – 2548 ได้ตั้งเป้าหมายที่จะสร้างโรงงานเวเฟอร์วงจรรวมขนาด 6 นิ้ว จำนวน 3 – 4 โรงงาน โรงงานที่ใช้เทคโนโลยีปานกลางขนาด 8 นิ้ว จำนวน 4 – 5 โรงงาน และโรงงานที่ใช้เทคโนโลยีสูงขนาด 12 นิ้ว จำนวน 1 – 2 โรงงาน โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตขนาด 0.13 – 0.18 ไมครอน

หลายคนเคยสบประมาทว่าประเทศจีนคงใช้เวลานานหลาย 10 ปี จึงจะพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ได้ เนื่องจากขบวนการผลิตเวเฟอร์วงจรรวมมีความสลับซับซ้อน ต้องลงทุนมหาศาล และจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงมาก

อย่างไรก็ตาม ด้านการเงินไม่ใช่อุปสรรคสำหรับจีน รัฐบาลจีนพร้อมให้เงินสนับสนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันทรัพยากรมนุษย์ก็ไม่ใช่ข้อจำกัดอีกต่อไป เนื่องจากจีนผลิตวิศวกรที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก แต่ละปีจีนมีบัณฑิตที่จบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์มากถึง 145,000 คน ขณะเดียวกันก็สามารถดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านเวเฟอร์วงจรรวมจากต่างประเทศเข้าไปทำงานที่ประเทศจีนได้

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีนกำลังพัฒนารวดเร็วมาก เนื่องจากเหตุผลหลายประการ

ประการแรก มีคลัสเตอร์ของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์กระจุกตัวในแถบนครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง และนครเทียนสิน โดยเป็นการผลิตแบบครบวงจรตั้งแต่การออกแบบวงจรรวม การผลิตเวเฟอร์วงจรรวม การประกอบและทดสอบไอซี

ประการที่สอง มีการพัฒนาการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างโรงงาน สถาบันวิจัย และสถาบันการศึกษา ทำให้พึ่งตนเองด้านเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อยๆ

ประการที่สาม จีนเป็นฐานการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์สำคัญของโลก จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่มากสำหรับผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ โดยในปี 2547 จีนเป็นตลาดเซมิคอนดักเตอร์ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีมูลค่าประมาณ 1,600,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 2,800,000 ล้านบาท ในปี 2551

ประการที่สี่ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ใช้แรงงานค่อนข้างมาก ซึ่งจีนมีแรงงานจำนวนมากเพื่อสนองความต้องการ ตั้งแต่แรงงานระดับธรรมดาจนถึงแรงงานที่มีความรู้ระดับสูง

ประการที่ห้า จีนเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับไอซีในอัตราสูงถึง 17% แต่มีการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตรา 14% หากเป็นไอซีที่ผลิตภายในประเทศ นับเป็นการคุ้มครองอุตสาหกรรมเวเฟอร์วงจรรวมภายในประเทศในอัตราที่สูงมาก

มาตรการข้างต้นสร้างความไม่พอใจแก่สหรัฐฯ เป็นอย่างมาก จึงนำเรื่องไปฟ้องร้องต่อองค์การการค้าโลกเมื่อต้นปี 2547 และในที่สุดจีนต้องยอมอ่อนข้อให้สหรัฐฯ โดยจะเก็บภาษีในอัตราเท่าเทียมกันนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2548 เป็นต้นไป

อุตสาหกรรมเวเฟอร์วงจรรวมในประเทศจีนยังเผชิญกับอุปสรรคอยู่บ้าง โดยต้องเผชิญกับกฎระเบียบของรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งห้ามส่งออกเทคโนโลยีผลิตเวเฟอร์วงจรรวมขนาด 12 นิ้ว และเทคโนโลยีการผลิตที่มีวงจรขนาด 0.25 ไมครอนหรือต่ำกว่า ไปยังประเทศจีน เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงที่สำคัญต่อความมั่นคงของประเทศ เกรงว่าจีนจะนำไปใช้ประโยชน์ทางการทหาร นอกจากนี้ หน่วยราชการสหรัฐฯ ยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานเวเฟอร์วงจรรวมในประเทศจีน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าไม่ใช้โรงงานผลิตชิปเพื่อใช้ในการทหาร

แม้เผชิญกับอุปสรรคข้างต้น จีนก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วโดยได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากยุโรปและญี่ปุ่น โดยเฉพาะบริษัท Semiconductor Manufacturing International Corp (SMIC) ของจีนได้ขยายกิจการและพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วมาก โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่านับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป บริษัท SMIC จะแซงหน้าบริษัทชาร์เตอร์เซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเวเฟอร์วงจรรวมใหญ่ที่สุดของสิงคโปร์ กลายเป็นบริษัทรับจ้างผลิตเวเฟอร์วงจรรวมใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก

สำหรับโรงงานแห่งแรกของบริษัท SMIC ตั้งอยู่ภายในสวนอุตสาหกรรมไฮเทค Zhangjiang High-tech Park ในเขตผู่ตงของนครเซี่ยงไฮ้ เริ่มแรกผลิตโดยใช้เทคโนโลยีของบริษัทโตชิบาเมื่อปลายปี 2544 เป็นเวเฟอร์วงจรรวมขนาด 8 นิ้ว เทคโนโลยีระดับ 0.25 ไมครอน ต่อมาในปี 2545 ได้พัฒนาเทคโนโลยีโดยลดขนาดวงจรเหลือ 0.15 ไมครอน มีกำลังผลิต 90,000 แผ่น/เดือน และได้ก้าวไปสู่เทคโนโลยีระดับ 0.13 ไมครอน ในปลายปี 2547

บริษัท SMIC ยังได้ก้าวกระโดดทางเทคโนโลยี โดยเมื่อเดือนกันยายน 2547 โรงงานแห่งใหม่ของบริษัทซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัทอินฟินีออนของเยอรมนีและบริษัท Elpida ของญี่ปุ่น ได้เริ่มผลิตเวเฟอร์วงจรรวมโดยใช้เทคโนโลยีในระดับทัดเทียมกับโรงงานในต่างประเทศ เป็นการผลิตเวเฟอร์ขนาด 12 นิ้ว ระดับเทคโนโลยี 0.1 ไมครอน สำหรับผลิตชิป DRAM ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ได้คาดการณ์ว่าในปี 2548 บริษัทแห่งนี้จะก้าวกระโดดทางเทคโนโลยีอีกครั้งหนึ่งไปสู่ระดับ 0.09 ไมครอน เพื่อผลิตเวเฟอร์สำหรับชิป SRAM

นอกจากนี้ บริษัท SMIC ยังเข้าไปซื้อโรงงานผลิตเวเฟอร์วงจรรวมของบริษัทโมโตโรล่าซึ่งตั้งที่นครเทียนสิน เป็นการผลิตเวเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว โดยเมื่อปลายปี 2546 บริษัทโมโตโรล่าได้โอนกรรมสิทธิ์ของโรงงานแห่งนี้ให้แก่บริษัท SMIC เพื่อแลกกับหุ้นของบริษัท SMIC

สำหรับบริษัท Grace Semiconductor Manufacturing ได้ลงทุน 65,000 ล้านบาท ก่อสร้างโรงงานเวเฟอร์วงจรรวมโดยใช้เทคโนโลยีของบริษัทโอกิของญี่ปุ่น ตั้งอยู่ที่สวนอุตสาหกรรมไฮเทค Zhangjiang High-tech Park ของนครเซี่ยงไฮ้ เปิดดำเนินการช่วงต้นปี 2546 เป็นการผลิตเวเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว เริ่มแรกใช้เทคโนโลยี 0.25 ไมครอน และปัจจุบันจะปรับปรุงขึ้นมาสู่ระดับ 0.15 ไมครอน เน้นผลิตเวเฟอร์เพื่อเป็นวัตถุดิบผลิตชิปโทรศัพท์มือถือ

ขณะที่บริษัท TSMC ของไต้หวันซึ่งเป็นบริษัทรับจ้างผลิตเวเฟอร์วงจรรวมใหญ่ที่สุดในโลก ได้ลงทุนเป็นจำนวนเงินมากถึง 36,000 ล้านบาท ก่อตั้งโรงงานผลิตเวเฟอร์วงจรรวมที่นครเซี่ยงไฮ้ในประเทศจีน เป็นการย้ายเครื่องจักรเก่าที่ใช้ผลิตเวเฟอร์ขนาด 8 นิ้ว จากไต้หวันมายังโรงงานแห่งใหม่ในประเทศจีนโดยได้เปิดดำเนินการในปี 2547

ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคม 2547 มีการประกาศลงทุนก่อสร้างโรงงานเวเฟอร์วงจรรวมครั้งเดียวพร้อมกัน 2 แห่ง มีเงินลงทุนรวม 80,000 ล้านบาท ตั้งโรงงานที่นครวูซี โดยเป็นการผนึกกำลังร่วมลงทุนระหว่าง 3 กลุ่ม คือ บริษัท Hynix ของเกาหลีใต้ บริษัท ST Microelectronics จากทวีปยุโรป และรัฐบาลท้องถิ่น คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จและเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ต้นปี 2549

อย่างไรก็ตาม แม้มีการขยายกิจการอย่างรวดเร็ว ปริมาณการผลิตเวเฟอร์วงจรรวมของประเทศจีนยังมีขนาดน้อยมาก โดยปัจจุบันอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของจีนยังต้องพึ่งพาการนำเข้าไอซีจากต่างประเทศเป็นสัดส่วนสูงถึง 80% ของปริมาณการใช้ภายในประเทศทั้งหมด ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญได้พยากรณ์ว่าอุตสาหกรรมเวเฟอร์วงจรรวมของจีนจะมีส่วนแบ่งตลาดโลกเพิ่มขึ้นเป็น 2.5% ในปี 2548 และจะเพิ่มเป็น 6 – 8% ในปี 2553 และจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 15% ในปี 2563

อนึ่ง นอกจากการพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตเวเฟอร์วงจรรวมแล้ว รัฐบาลจีนยังมีนโยบายส่งเสริมธุรกิจออกแบบวงจรรวมภายในประเทศในลักษณะ Fabless Semiconductor ด้วย ซึ่งจะดำเนินธุรกิจเพียงออกแบบวงจรรวมเท่านั้น จากนั้นจะไปจ้างบริษัทอื่นผลิตเวเฟอร์วงจรรวมและประกอบขึ้นเป็นไอซี ขณะเดียวกันจะทำการตลาดด้วยตนเอง

ธุรกิจออกแบบวงจรรวมจึงลงทุนต่ำมากเนื่องจากไม่ต้องมีโรงงานเป็นของตนเอง นับเป็นการเปลี่ยนโฉมหน้าอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้บริษัทขนาดเล็กซึ่งมีเงินทุนจำกัด แต่มีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง สามารถออกแบบชิปและแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกได้

ปัจจุบันประเทศจีนมีบริษัทประกอบธุรกิจออกแบบวงจรรวมมากถึง 468 บริษัท แต่ส่วนใหญ่เป็นบริษัทขนาดเล็ก โดยมีเพียง 10 กว่าบริษัทเท่านั้นที่มีรายได้เกินกว่า 500 ล้านบาท/ปี สำหรับบริษัทออกแบบวงจรรวมใหญ่ที่สุดของจีน คือ บริษัท Beijing Datang Microelectronics มีรายได้ในปี 2546 เป็นเงิน 2,400 ล้านบาท

เดิมเมื่อประมาณ 10 ปีมาแล้ว ประเทศจีนจะออกแบบวงจรรวมประเภท Melody Chip เป็นหลัก แต่ปัจจุบันได้พัฒนาการออกแบบวงจรรวมไปสู่ SoC (system-on-a-chip) ซึ่งเป็นวงจรรวมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น โดยวงจรรวมแบบ SoC จะมีส่วนประกอบมากมายตั้งแต่หน่วยความจำ หน่วยประมวลผล ฯลฯ นับเป็นการท้าทายสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เยอรมนี เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งครองตลาดโลกในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น