xs
xsm
sm
md
lg

สู่การปฏิรูปข่าวโทรทัศน์ เพื่อเหยื่อสึนามิ (1)

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ก่อนอื่น ผมขออนุญาตร่วมไว้อาลัยต่อเพื่อนมนุษย์ทุกเพศทุกวัยและทุกสัญชาติที่ต้องประสบกับความสูญเสียอย่างไม่คาดหมายจากปรากฏการณ์สึนามิ และขอร่วมแสดงความกตัญญูต่อผู้คนจำนวนมากที่อุทิศเวลาและทุนทรัพย์ส่วนตัวเพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานของผู้ตกเป็นเหยื่ออย่างน่าสงสารในลักษณะต่างๆ จิตวิญญาณแห่งการเสียสละแบบนี้แหละคือพลังที่ทำให้มนุษย์สามารถมีความหวังในอนาคตได้มากขึ้น

ก็เช่นเดียวกับผู้คนส่วนมากในเมืองไทย ในทันทีที่สึนามิเกิดขึ้น ผมไม่มีทางเลือกมากนัก ทว่าจำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยการนำเสนอข่าวในโทรทัศน์ต่างประเทศอย่าง BBC และ CNN ในการติดตามว่าอะไรเป็นอะไร ทั้งนี้ ด้วยความหงุดหงิดในทำนองเดียวกันกับผู้สังเกตการณ์อื่นๆ เนื่องจากสถานีโทรทัศน์ของเราแทบทั้งหมดแทบจะไม่ได้ทำอะไรเลยในขณะนั้น และถึงแม้ว่าบางแห่งจะเกาะติดสถานการณ์มากขึ้นต่อมา ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น “หลังเหตุการณ์” นานแล้ว มิหนำซ้ำ การทำงานข่าวหลังเหตุการณ์นี้มักจะเน้นมุมมองธรรมดาๆ ที่ไหลตามน้ำเสียมากกว่า การสร้างสรรค์ในการผลิตมุมมองใหม่ๆ สดๆ จากข้อมูลด้านข่าวยังมีจำกัด

สองสัปดาห์ให้หลัง ผมก็ยังมีความรู้สึกผิดหวังตกค้างคล้ายๆ กับผู้สังเกตการณ์หลายๆ ท่าน รวมทั้งท่านอาจารย์ ดร. วรากรณ์ สามโกเศศว่า “คงไม่เจ็บปวดเท่านี้ หาก...” ซึ่งส่วนหนึ่งของ “หาก...” ในที่นี้หมายถึงการทำงานข่าวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของโทรทัศน์นั่นเอง (“มติชนรายวัน” วันที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2548)

ความจริงที่ว่าโดยรวมๆ แล้ว โทรทัศน์ของเราบกพร่องอย่างยิ่งในกรณีสึนามินี้ ได้รับการยืนยันจากข้อเท็จจริงที่ว่า ITV สามารถออกมาประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรซ้ำๆ ได้ว่าตนเองระงับรายการปกติเพื่อมุ่งมาทำข่าวสึนามินี้ รหัสนัยที่ซ่อนอยู่ในปรากฏการณ์เล็กๆ ที่เราต้องไม่มองข้ามไปง่ายๆ ในกรณีนี้ก็คือ (1) สถานีโทรทัศน์อื่นๆ (บางแห่ง) ไม่ได้ให้ความสำคัญกับข่าวสึนามิเท่าที่ควร และ (2) การที่ ITV ออกมาทำงานข่าวสึนามิมากๆ นี้เป็นการกระทำในทำนองที่ต้องเสียสละรายได้จากการโฆษณาที่มากับรายการอื่นๆ ตามปกติ หาใช่เป็นการกระทำตาม “หน้าที่” สักเท่าใดนักไม่

เกี่ยวกับภาวะไม่ได้ความสารพัดและแนวทางการปฏิรูปโดยรวมๆ ของกิจการโทรทัศน์เมืองไทยนั้นผมได้เคยพูดถึงในรูปแบบต่างๆ มาอย่างพิสดารพอสมควรแล้วในหนังสือสองเล่มที่ผมเป็นผู้เขียนคือ “ฐานันดรที่สี่ จากระบบโลกถึงรัฐไทย” (อัมรินทร์วิชาการ) และ “ระหว่างกระจกกับตะเกียง กุศโลบายสื่อศึกษา แผนที่สู่ศตวรรษที่ 21 บทเรียนจากยุคเศรษฐกิจฟองสบู่จรดยุคปฏิรูปการเมือง” (คบไฟ)

เดิมที ในแง่ของข่าวโทรทัศน์ ผมได้กล่าวถึงบทบาทของสื่อมวลชนโดยรวมๆ ว่าไม่ควรจะหมกมุ่นกับการทำข่าวภายในประเทศโดดๆ เท่านั้น ทว่าควรจะเพิ่มความสำคัญให้กับการพัฒนาบุคลากรด้านข่าวต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับสถานภาพที่เปลี่ยนแปลงไปมากของเมืองไทยในระบบโลก โดยข้อเสนอของผมไปไกลถึงขนาดที่ให้ร่วมมือกันลงทุนและวางระบบส่งนักข่าวไทยเก่งๆ ที่มีอยู่ไม่ใช่น้อยๆ ไปประจำในประเทศคู่ค้าสำคัญๆ มากขึ้นเรื่อยๆ (โปรดดู “ภารกิจใหม่ของสื่อมวลชนไทย” ใน “ระหว่างกระจกกับตะเกียง”)

ในกรณีของข่าวภายในประเทศ เป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่าโดยรวมๆ แล้วสถานีโทรทัศน์ในเมืองไทยออกจะเป็นตัวแทนของระบบความคิดที่ล้าหลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งดังที่ปรากฏในกรณี “พฤษภาทมิฬ” เมื่อราวๆ หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมานี้ จนกระทั่งมีการเคลื่อนไหวทางสังคมในยุคที่ก่อให้เกิด “ทีวีเสรี” ในสมัยที่คุณอานันท์ ปันยารชุนเป็นนายกรัฐมนตรี อันนำมาซึ่ง ITV ซึ่งในยุคแรกๆ ได้ทำงานบุกเบิกด้านข่าวโทรทัศน์ได้อย่างน่าตื่นเต้นมาก ทั้งนี้ ในส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะแกนนำของฝ่ายข่าวของ ITV ยุคแรกนั้นมีภูมิหลังผูกติดกับธุรกิจหนังสือพิมพ์ที่มีความชำนาญในการผลิตข่าวมากกว่ากลุ่มที่ทำงานฝ่ายข่าวอยู่ในวงการโทรทัศน์ล้วนๆ นั่นเอง

ทว่าลงท้ายแล้ว เมื่อการเมืองเปลี่ยนแปลงไปจากยุค “ทุนเก่า” มาสู่ยุค “ทุนใหม่” อันเป็นปรากฏการณ์ที่บังเกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เกาะเกี่ยวกับเจตนารมณ์ที่ได้รับการขนานนามว่า “การปฏิรูปการเมือง” ITV กลับถูกเปลี่ยนโฉมไปอย่างหน้ามือเป็นหลังมือโดยอาศัยข้ออ้างที่ว่าสถานีโทรทัศน์แห่งนี้ประสบกับการขาดทุนย่อยยับ จนมีการหาผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิม โดยละทิ้ง “กรอบแห่งการอ้างอิง” (terms of reference) ดั้งเดิม อันเป็น “สัญญาสังคม” ที่ให้กำเนิดแก่ ITV มาตั้งแต่แรก

ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นต่อหน้าต่อตาในแบบฉบับของการ “ปล้นกลางแดด” ผมไม่แน่ใจว่าบุคคลที่น่าจะได้รับการขนานนามว่าเป็น “บิดาแห่งทีวีเสรี” ของเมืองไทยอย่างคุณอานันท์ ปันยารชุนจะรู้สึกอย่างไรในวันนี้!

ซ้ำร้าย ทำไปทำมา ITV ก็ถูกปรับเปลี่ยนจากสถานีโทรทัศน์เพื่อข่าวที่คุณสุทธิชัย หยุ่นและคณะช่วยกันบุกเบิกเอาไว้ด้วยความขยันขันแข็ง ไปเป็นสถานีโทรทัศน์เพื่อความบันเทิงเฝือๆ เกือบล้วนๆ ท่ามกลางการกุมขมับของคนข่าว ITV ที่คงจะทำอะไรได้ไม่ค่อยถนัดอย่างยิ่งจนคนมีฝีมือด้านข่าวต่างทยอยออกจาก ITV ไปไม่ใช่น้อยๆ อนึ่ง โปรดอย่าลืมว่า นักบุกเบิกข่าวรายสำคัญอีกท่านหนึ่งคือ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ก็เคยถอยจากสถานภาพผู้อำนวยการฝ่ายข่าวของ ITV มาแล้ว

ทั้งนี้ โดยไม่ต้องกล่าวถึงการนำ ITV เข้าตลาดหลักทรัพย์ด้วยลีลาที่หวือหวา แต่พอเอาเข้าจริง เงินทุนจริงๆ ไม่รู้อยู่ที่ไหนกันแน่ จนนักเขียนตำราว่าด้วย “หุ้นลม” ต้องเกาะติดสถานการณ์ด้วยความระทึกใจ

ที่ประหลาดเหมือนกันก็คือ ลงท้ายแล้วรัฐวิสาหกิจอย่างองค์กรสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) ซึ่งเดิมทีใครๆ ก็คิดว่าล้าหลังกว่าภาคเอกชนล้วนๆ กลับกลายเป็น “องค์กรตัวอย่าง” ด้วยการนำอันเต็มไปด้วยความเป็นนักบริหารมืออาชีพและวิสัยทัศน์ของคุณมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ทั้งในแง่ของความโปร่งใสของกระบวนการเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ ความกระตือลือล้นในการพัฒนารายการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านข่าว อีกทั้งการวางแผนงานด้านเทคโนโลยีเพื่อรองรับอนาคต

ทั้งนี้ ภายใต้สโลแกนอันสมสมัยอย่างยิ่งที่ว่า “สังคมอุดมปัญญา” (knowledge-based society) อันสมควรได้รับการสนับสนุนให้เดินไปข้างหน้าได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งการสร้างคนดูที่มีคุณภาพมากขึ้นเพื่อรองรับรายการคุณภาพที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขีดที่กระแส “น้ำดีไล่น้ำเสีย” สามารถเกิดขึ้นได้ในวงการโทรทัศน์

ที่ผมเล่าข้อมูลที่ดูจะขัดแย้งกันมากมาทั้งหมดนี้ ก็เพื่อจะยืนยันข้อสังเกตของนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวสวีเด็นท่านหนึ่งอีกครั้งหนึ่งว่าเมืองไทยเป็น “วัฒนธรรมอ่อน” (soft culture) ความผันผวนต่างๆ เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ความเอาจริงเอาจังต่างๆ มีไม่มากนัก ใครจะทำอะไรก็ทำได้ ไม่ค่อยมีหลักเกณฑ์อะไร หรือแม้จะมีหลักเกณฑ์ ก็เปลี่ยนได้ ที่เมืองไทยเราสนุกนักหนาและเละเทะสาหัสก็เพราะ “วัฒนธรรมอ่อน” นี่แหละ

ด้วยเหตุนี้ บุคลิกภาพ วิสัยทัศน์ และความสามารถด้านการจัดการของผู้นำองค์กรจึงเป็น “จุดตัดสิน” ความสำเร็จและความล้มเหลวขององค์กร หรือถ้าจะพูดแบบท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ก็คงจะต้องบอกว่า ถึงแม้เงื่อนไขทางเศรษฐกิจและการคลังจะดีเพียงใด “ไม่ใช่ใครจะเป็นผู้นำก็ได้” จึงจะก่อให้เกิดผลลัพธ์สูงสุด นั่นแล

ส่วนประเด็นที่เป็นรูปธรรมกว่านั้นก็คือ สถานีโทรทัศน์ของเมืองไทยไม่ได้ออกแบบมาสำหรับการทำข่าวที่เอาจริงเอาจังอะไร การทำๆ ข่าวอย่างที่เป็นอยู่ส่วนมากดูจะเป็นการทำๆ กันแบบเรื่อยๆ มาเรียงๆ มากกว่า ทว่าไปเน้นกันที่ความสนุกสนานครึ่งผีครึ่งคนที่ใช้ลงทุนเงินและความคิดนิดๆ หน่อยๆ สลับกับการเอะอะมะเทิ่งทว่าได้เงินโฆษณาง่ายๆ และกำไรมากๆ กันเสียมากกว่า ความที่รู้อย่างนี้ เมื่อได้เห็นข่าว “สมรภูมิจอแก้วเปิดศึกรับปีระกา ทุกค่ายต่างเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง” (“ผู้จัดการรายวัน” วันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2548) ผมจึงอ่านด้วยความระมัดระวัง สรุปแล้วก็ดูจะไม่มีอะไรใหม่เท่าไร นอกจากสีสันภายนอก

อย่าลืมว่า ในปัจจุบันสถานีโทรทัศน์ของเมืองไทยได้รับเงินจากธุรกิจการโฆษณาปีละสี่ห้าหมื่นล้านบ้าน มีเครื่องรับกระจายไปทั่วทุกครัวเรือนของประชากรทั้งประเทศจำนวนกว่า 60 ล้านคน ด้วยเหตุนี้ หากจัดการไม่ดีในระดับของการวางระบบ โทรทัศน์จึงจะเป็นอะไรที่มีพลังแห่งการทำลายได้มาก นอกจากนี้ เมื่อพลังแห่งการทำลายนี้ แพร่กระจายออกไปแล้ว ก็จะไปฝังตัวอยู่ในจิตวิญญาณของมนุษย์ ฉะนั้น จึงไม่ใช่อะไรที่จะเปลี่ยนแปลงกันได้ง่ายๆ บทเรียนดังกล่าวนี้เป็นสิ่งที่รู้กันดีในกลุ่มประเทศที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงระบบสังคมขนานใหญ่ว่า ลงท้ายแล้ว การเปลี่ยนแปลงทางสังคมใดๆ จะต้องเริ่มต้นที่ความคิดเสียก่อน และไม่มีอะไรที่เปลี่ยนแปลงได้ยากเย็นเท่ากับความคิด

ด้วยประการฉะนี้ เด็กๆ ของเรารุ่นที่อายุราวๆ ยี่สิบถึงสามสิบปีในปัจจุบันผู้เติบโตมาพร้อมๆ กับ “ความรุ่งเรือง” (ทางการเงิน ไม่ใช่ทางวัฒนธรรม) ของโทรทัศน์ไทย ซึ่งพ่อแม่ผู้ไม่รู้อิโหน่อิเหน่มักจะปล่อยให้โทรทัศน์ทำหน้าที่เป็น “พี่เลี้ยง” เกือบตลอดเวลา เพราะคิดว่าเป็นวิธีการเลี้ยงลูกด้วยราคาถูกที่สุด จึงกลายเป็นพวกสมาธิสั้นบ้าๆ บอๆ อย่างที่เห็นๆ กันอยู่มากมายทุกวันนี้ ที่ผมพูดเช่นนี้ไม่ใช่เป็นการกล่าวหาเด็กๆ อย่างลอยๆ ผมขอยืนยันว่าเด็กๆ จำนวนมากมายที่ผมมีโอกาสได้สอนในหลายมหาวิทยาลัย ชักจะยอมรับสภาพอย่างนั้นของตนและเริ่มหวาดกลัวอย่างยิ่งว่าอนาคตของตนจะเป็นเช่นใดต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดีขึ้นบ้าง

นอกจากจะแร้นแค้นเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อการเติบโตของเด็กๆ (และผู้ใหญ่ๆ) แล้ว โดยรวมๆ แล้ว โทรทัศน์ไทยยังดูเหมือนว่าจะไม่ค่อยให้ความสนใจกับการพัฒนางานข่าวเท่าที่ควร ทั้งๆ ที่นี่เป็นสินค้าพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของธุรกิจสื่อสารมวลชน นอกจากนี้ การผลิตและนำเสนอข่าวที่มีความสำคัญต่อชีวิตทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมและวัฒนธรรม (ทั้งในระดับประเทศและระดับโลก) จะต้องถือว่าเป็น “หน้าที่” หลักของธุรกิจสื่อสารมวลชน ที่จำเป็นต้องมีการลงทุนพัฒนากันอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ไม่ใช่ “เครื่องข้างเคียง” แบบจับๆ ปล่อยๆ อย่างฉาบฉวยที่จะให้ใครมาทำก็ได้

ปรากฏการณ์คนทำข่าวแบบ “เดินสาย” ที่คนไม่กี่คนวิ่งไปวิ่งมาเพื่อผลิตรายการข่าวในสถานีโทรทัศน์แทบจะทุกช่องราวกับเป็นเทวดาเหาะเหินเดินอากาศได้ มิหนำซ้ำ บ่อยๆ เป็นการทำงานชนิดที่จับหนังสือพิมพ์รายวันมาอ่านพาดหัว แล้วก็พูดเสริมนิดๆ หน่อยๆ โดยที่ไม่ได้มีอะไรใหม่ไปกว่าสิ่งที่หนังสือพิมพ์ทำๆ กันมาแล้วนั้นจึงไม่ใช่อะไรที่ลี้ลับเลย ทว่าเป็นเพียง “อาการ” ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของปรากฏการณ์ที่สถานีโทรทัศน์ต่างๆ ไม่ยอมทุ่มเททรัพยากรให้กับการพัฒนาธุรกิจด้านข่าว ไม่ว่าจะเป็นข่าวภายในหรือนอกประเทศ ทว่าเพียงอยากจะทำๆ อะไรออกไปสักอย่าง เพียงให้ได้ชื่อว่ามีรายการข่าวของตนแล้วเท่านั้น

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก่อนสึมามิจะมาถึงเมืองไทย คนไทยจึงไม่ได้รับรู้อะไรเลยจากโทรทัศน์ไทย ทั้งๆ ที่การทำงานข่าวที่ฉับไวอาจจะมีคุณค่าที่สามารถช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ให้รอดพ้นจากอันตรายได้ทันท่วงทีบ้างไม่มากก็น้อย ครั้นพอสึนามิมาถึงแล้ว คนไทยก็ต้องหันไปพึ่ง CNN และ BBC โดยสมบูรณ์แบบ วงการโทรทัศน์ไทยดูจะงงงวยอยู่เป็นนานว่าตนเองควรจะทำอะไรอย่างไรหรือไม่ ครั้นเมื่อพอจะตั้งหลักได้แล้ว การนำเสนอข่าวของโทรทัศน์ก็ยังดูจะทำกันแบบกินตามน้ำเสียเป็นส่วนมาก

ประเด็นในที่นี้ก็คือ ใครจะต้องทำอะไรอย่างไรบ้าง วัฒนธรรมในการทำข่าวโทรทัศน์จึงจะก้าวหน้าขึ้น จนกระทั่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของ “ระบบเตือนภัยล่วงหน้า” ได้ สัปดาห์หน้า ผมจะช่วยคิดถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่จำเป็นทางปรัชญา กฎหมาย และการจัดการต่างๆ อันอาจจะนำไปสู่การปฏิรูปข่าวโทรทัศน์
กำลังโหลดความคิดเห็น