xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจการเมืองจีน (13)ก้าวสู่ความเป็นพรรค "เหนือทุน"

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

มาถึง ณ วันนี้ ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า การขับเคลื่อนของสังคมจีน จากระบอบศักดินามาสู่ระบอบสังคมนิยม "ตัวกระทำ" สำคัญที่สุดก็คือพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ที่ประกอบไปด้วยผู้นำที่มีจิตใจรักชาติรักประชาชน หรือที่เรียกว่า "ปัญญาชนหัวก้าวหน้า" เป็นแกนนำ

ในท่ามกลางกระบวนการขับเคลื่อนอันยิ่งใหญ่ของสังคมจีนนี้ ได้ปรากฏผู้นำสำคัญๆ (ตามกฎ "ประวัติศาสตร์สร้างวีรบุรุษ") เช่น เหมาเจ๋อตง จูเต๋อ โจวเอินไหล หลิวเซ่าฉี เติ้งเสี่ยวผิง เป็นต้น

คณะผู้นำเหล่านี้ ล้วนเลื่อมใสและเชื่อมั่นศรัทธาในลัทธิมาร์กซ์ ใช้ลัทธิมาร์กซ์ชี้นำการคิดและปฏิบัติ ใช้จุดยืน ทัศนะ วิธีการ ลัทธิมาร์กซ์เป็นเครื่องมือ ดำเนินการศึกษาค้นคว้าสภาวะความเป็นจริงของสังคมจีนในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิวัติ เกิดความรับรู้และ "เข้าถึง" กฎหรือ "สัจธรรม" สังคมจีน นำไปสู่การพัฒนาแนวคิดชี้นำการเคลื่อนไหวปฏิวัติอย่างรอบด้าน กำหนดขึ้นเป็นแนวทาง และยุทธศาสตร์การเคลื่อนไหวปฏิวัติทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างสอดคล้องกับสภาวะเป็นจริงในแต่ละขั้นตอน

โดยเฉพาะภายหลังจากคณะกรรมการกลางพรรคฯจีนมีมติรับรองแนวคิดการทำสงครามประชาชนของเหมาเจ๋อตงในกลางทศวรรษ ค.ศ.1930 ที่เมืองจุนอี้ มณฑลกุ้ยโจว

จากพรรคปฏิวัติมาเป็นพรรคบริหาร

นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน ก็ได้พัฒนาตนเองขึ้นสู่ความเป็นพรรคมาร์กซิสม์แบบจีน สลัดตนเองหลุดพ้นจากอิทธิพลครอบงำขององค์การคอมมิวนิสต์สากล ("คอมมินเทิร์น" ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงมอสโก อดีตสหภาพโซเวียต คอยชี้แนะและให้คำปรึกษา ผ่านตัวแทนที่ประจำอยู่ในพรรคมาร์กซิสม์ทั่วโลก) ดำเนินการเคลื่อนไหวปฏิวัติภายใต้แนวคิดทฤษฎีชี้นำที่เป็นของตนเอง

จนกระทั่งถึงวันนี้ ชาวโลกก็ประจักษ์แก่สายตนเองว่า พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เป็นพรรคการเมืองลัทธิมาร์กซ์แบบจีน ไม่เพียงแต่สามารถสามัคคีประชาชนจีนปฏิวัติล้มล้างระบบ โครงสร้าง และกลไกแบบเก่าที่ฉุดรั้งความเจริญก้าวหน้าของประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังสามารถสามัคคีประชาชนจีนพัฒนาปฏิรูปสร้างสรรค์ระบบ โครงสร้าง และกลไกแบบใหม่ที่เอื้อต่อการเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ประเทศจีนได้เป็นอย่างดีด้วย

ปัจจุบันนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กลายเป็นพรรคบริหารประเทศที่เข้มแข็ง ทรงประสิทธิภาพ คณะผู้นำพรรคฯแต่ละรุ่นประกอบไปด้วยบุคคลชั้นมันสมอง มีจุดยืนมั่นคง ทัศนะก้าวหน้าทันยุคทันสมัย วิสัยทัศน์กว้างไกลระดับโลก ผัดเปลี่ยนกันเข้ารับผิดชอบในตำแหน่งผู้นำรัฐบาล รัฐสภา ศาล และกองทัพ ดำเนินนโยบายพัฒนาประเทศให้ทันสมัย ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนสูงขึ้นเรื่อยๆ สร้างความเชื่อมั่นอย่างยิ่งในหมู่ประชาชนชาวจีนทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งได้รับการยอมรับอย่างสูงบนเวทีการเมืองโลก

จนกระทั่งมีการนำเสนอ "ฉันทมติปักกิ่ง" (Beijing Consensus) แทนที่ "ฉันทมติวอชิงตัน" (Washington Consensus) ในกลางปี ค.ศ.2004 สำหรับเป็นทางเลือกใหม่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

เข้าทาง "พรรคทางเลือก"

ลักษณะโดดเด่นของพรรคฯจีน กำลังเป็นที่สนใจและจับตามอง ในฐานะ "พรรคแบบอย่าง" ที่ประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศ ทำให้ประเทศจีนมีความเจริญรุ่งเรือง มีความเป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นเรื่อยๆ มีโอกาส มีศักดิ์มีศรี สามารถยืนเคียงบ่าเคียงไหล่ประชาชนชาวโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า พรรคการเมืองลักษณะนี้ จะค่อยๆ ก้าวขึ้นมาเป็น "พรรคทางเลือก" บนเวทีการเมืองโลกมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ตามความเรียกร้องต้องการของประชาชน ที่นับวันเรียกร้องต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ทั้งทางวัตถุและจิตใจ

ณ วันนี้ ประชาชนประเทศต่างๆ ทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา มีแนวโน้มทนไม่ได้กับสิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว เริ่มตระหนักรู้มากขึ้นถึง "ข้อจำกัด"ทางประวัติศาสตร์ของพรรคการเมืองกลุ่มทุน ที่ยึดถือประโยชน์เฉพาะตนเป็นที่ตั้ง ไม่สามารถจัดการกับความมั่งคั่งทางวัตถุ อันเป็นผลจากการระเบิดใหญ่ทางการผลิตโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สภาวะ "รวยกระจุก จนกระจาย" ขยายตัวไปทุกหย่อมหญ้า ในทุกๆที่ที่มีการ "พัฒนา"

พวกเขามองเห็นและรู้สึกเบื่อหน่ายอย่างยิ่ง ต่อพฤติกรรมแสวงประโยชน์เข้าตัวของพรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์กลุ่มทุนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุนเก่าหรือทุนใหม่

ขณะที่พรรคฯจีนที่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน มีแนวคิดทฤษฎีที่จะพัฒนาประเทศให้เกิดความ "มั่งคั่งร่วมกัน" ทั่วทั้งสังคม มีการจัดระเบียบโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม รองรับการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้านอย่างมีขั้นตอน สามารถพิสูจน์ผลได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถคาดหวังถึงอนาคตได้อย่างมั่นอกมั่นใจ โดยปราศจากความเคลือบแคลงสงสัยใดๆ

ความเป็นพรรค "เหนือทุน"

จุดเด่นซึ่งเป็น "จุดแข็ง" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่ทำให้สามารถบริหารประเทศได้อย่างสอดคล้องกับผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน อยู่ตรงที่ความเป็นพรรคการเมือง "เหนือทุน" สามารถดำเนินแนวทาง นโยบาย พัฒนาประเทศโดยถือเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งได้อย่างแท้จริง โดยไม่ติดข้องอยู่กับผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม หรือกลุ่มทุนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดโดยเฉพาะ

อีกนัยหนึ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งเป็นพรรคบริหารประเทศ กับทุน (หลักๆ คือเงินทุน) ซึ่งกำลังพัฒนาเติบใหญ่ขึ้นในระบอบสังคมนิยมจีน แตกต่างอย่างยิ่งของความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองตัวแทนผลประโยชน์กลุ่มทุนกับกระแสทุนที่เคลื่อนไหวอยู่ในสังคมรวม ดังที่กำลังเป็นอยู่ทั่วไปในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา

พรรคฯ จีน "คุมทุน" หรือ "พรรคคุมทุน"

ส่วนพรรคฯ การเมืองกลุ่มทุนนั้น "คุมพรรค" หรือ "ทุนคุมพรรค"

ณ วันนี้ ชาวโลกจึงได้ประจักษ์ชัดว่า ด้วยความเป็นพรรค "เหนือทุน" พรรคฯ คอมมิวนิสต์จีน ได้พัฒนาแนวคิดทฤษฎีใหม่ๆ ชี้นำการปฏิบัติอย่างไม่ขาดสาย สามารถดำเนินแนวทาง นโยบาย ปฏิรูปและเปิดกว้าง นำเอาระบบเศรษฐกิจตลาดประสานเข้ากับระบอบสังคมนิยมจีนได้อย่างเหมาะเจาะ เกิดการขับเคลื่อนของกระแสทุนอย่างใหญ่หลวง นำไปสู่การแตกตัวอย่างหลากหลายทางสังคม เป็นกลุ่มผลประโยชน์เฉพาะตัว ที่จัดแบ่งได้ถึง 10 ชั้นชนด้วยกัน เกิดความต้องการที่สลับซับซ้อน และวิธีการแสวงประโยชน์เฉพาะตัวมากมาย

ด้วยความเป็นพรรค "เหนือทุน" ไม่ติดข้องอยู่กับผลประโยชน์กลุ่มทุนใดๆ พรรคฯ จีนจึงสามารถบริหารกลไกตลาดได้อย่างเป็นอิสระ ส่งเสริมและขยายบทบาทด้านสร้างสรรค์ของทุน ไปพร้อมๆ กันกับการลดทอนลักษณะทำลายของทุนในระบอบสังคมนิยมจีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยังผลให้การพัฒนาประเทศโดยรวม ดำเนินไปได้อย่างราบรื่น มีเสถียรภาพ ประกันให้การพัฒนาบรรลุสู่จุดหมายปลายทางได้เป็นขั้นๆ

ผลโดยรวมคือ ประชาชนจีนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นเรื่อยๆ สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตสูงขึ้นได้เป็นขั้นๆ ทั้งทางวัตถุและจิตใจ

ผลจากความเป็น "พรรคมาร์กซิสม์แบบจีน"

ณ วันนี้ ไม่ว่านักวิเคราะห์สำนักใด จะมีข้อวิสัชนาอย่างไรต่อปรากฏการณ์ทางสังคมที่กำลังดำเนินไปในประเทศจีน (เช่นว่าจีนเป็นทุนนิยมแล้ว) แต่สิ่งที่สะท้อนกฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมจีน ก็คือ ความเป็นพรรค "เหนือทุน" ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นผลสืบเนื่องมาจากความเป็นพรรคลัทธิมาร์กซ์แบบจีนมากกว่าอื่นใด

ดังจะขอลำดับกระบวนการพัฒนาของพรรคฯ จีน คร่าวๆ ดังนี้

ในระยะแรกของการเคลื่อนไหวนำการปฏิวัติ (ในช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1920) พรรคคอมมิวนิสต์จีนดำเนินการภายใต้การชี้นำขององค์การคอมมิวนิสต์สากล เกิดความผิดพลาดทางแนวทางพื้นฐาน หลักๆ คือ เอนเอียงไปในทางลัทธิตำรา ยึดเอาข้อความและหลักการในตำราของมาร์กซ์ เองเกลส์ เลนิน สตาลิน เป็นแนวทางปฏิวัติ โดยไม่คำนึงถึงสภาวะเป็นจริงของสังคมจีน

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ คณะผู้นำพรรคฯ จีนส่วนหนึ่ง โดยมีเหมาเจ๋อตงเป็นแกนนำ ได้นำเสนอแนวทางการปฏิวัติที่สอดคล้องกับสภาวะเป็นจริงของสังคมจีน แม้จะไม่ได้รับการยอมรับในกลุ่มผู้นำจีนที่ดำรงตำแหน่งผู้นำอย่างเป็นทางการในขณะนั้น แต่เมื่อผ่านการพิสูจน์จากผลการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่เป็นจริงครั้งแล้วครั้งเล่า ก็ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามอย่างจริงจัง ทั้งนี้ ได้มีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้นำสูงสุด จากบุคคลอื่นมาเป็นเหมาเจ๋อตงไปพร้อมๆ กัน

การปรับเปลี่ยนแนวทางและตัวผู้นำพรรคฯ จีน ได้พลิกโฉมขบวนการปฏิวัติของจีนอย่างสิ้นเชิง การปฏิวัติจีนพัฒนาขยายตัวไปอย่างรวดเร็ว และประสบชัยชนะ สามารถปลดปล่อยผืนแผ่นดินใหญ่จีนได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1949

แนวคิดและแนวทางปฏิวัติที่นำเสนอโดยเหมาเจ๋อตง ได้รับการพัฒนาเป็นระบบทฤษฎีชี้นำอย่างรอบด้าน ทั้งทางด้านการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม ได้รับการเชิดชูให้เป็นแนวคิดทฤษฎีชี้นำพรรคฯจีนอย่างเป็นทางการ เรียกว่า "ความคิดเหมาเจ๋อตง"

"ความคิดเหมาเจ๋อตง" ได้รับการยกย่องว่า เป็นลัทธิมาร์กซ์แบบจีน เป็นการพัฒนาก้าวหน้าของลัทธิมาร์กซ์ เพิ่มเติมความอุดมสมบูรณ์ให้แก่ขุมคลังลัทธิมาร์กซ์ของมวลมนุษยชาติโดยรวมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะอุบัติขึ้นจากการเคลื่อนไหวปฏิวัติของประเทศจีน ซึ่งมีประชากรมากที่สุดในโลก

ด้วยเหตุนี้ ความคิดเหมาเจ๋อตง จึงเป็นตัวกำหนดคุณสมบัติของความเป็นพรรคลัทธิมาร์กซ์แบบจีน

หากพรรคฯ จีนปฏิเสธความคิดเหมาเจ๋อตง ก็จะไม่มีความเป็นพรรคลัทธิมาร์กซ์เหลืออยู่เลย แม้ในช่วงทศวรรษ ค.ศ.1960-1970 เหมาเจ๋อตงได้กระทำการผิดพลาดอย่างร้ายแรงในหลายๆ ด้าน เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสร้างสรรค์ระบอบสังคมนิยมจีน แต่ก็เป็นความผิดพลาดเชิงตัวบุคคล ไม่ใช่ความผิดพลาดของความคิดเหมาเจ๋อตง ซึ่งเป็นภูมิปัญญารวมหมู่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

ภารกิจของความคิดเหมาเจ๋อตง หลักๆ คือชี้นำการปฏิบัติ ปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย ปลดปล่อยประเทศจีนและประชาชนจีน ปลดปล่อยพลังการผลิตของสังคมจีน เพื่อก้าวไปสู่การสร้างสรรค์สังคมนิยมและสังคมคอมมิวนิสต์ต่อไป

ต่อมา ในทศวรรษ ค.ศ. 1980 เติ้งเสี่ยวผิงและคณะผู้นำพรรคฯ จีน ได้ประมวลองค์ความรู้เรื่องการพัฒนาประเทศขึ้นมาเป็น "ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง" ในฐานะลัทธิมาร์กซ์แบบจีนที่อุบัติขึ้นในท่ามกลางการเคลื่อนไหวปฏิบัติ พัฒนาสร้างสรรค์สังคมนิยม บนรากฐานของความคิดเหมาเจ๋อตง

พรรคฯ จีนถือว่า ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิงเป็นพัฒนาการขั้นใหม่ของลัทธิมาร์กซ์แบบจีน และของลัทธิมาร์กซ์โดยรวม เป็นส่วนเสริมเพิ่ม สมทบเข้าไปในโครงสร้างระบบความคิดทฤษฎีมาร์กซิสม์ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและทฤษฎีมาร์กซิสม์ของโลก

และเมื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจสังคมของจีนก้าวเข้าสู่ระยะ "เทกออฟฟ์" (ทะยานขึ้น) พรรคฯ คอมมิวนิสต์จีนก็ได้พัฒนาทฤษฎีขึ้นมารองรับ เรียกว่าทฤษฎี "สามตัวแทน" ที่พรรคฯ จีนสามารถแสดงบทบาทเป็น "พรรคเหนือทุน" ได้อย่างเป็นจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น