Nicolaus Copernicus เป็นชื่อในภาษาละตินของนักดาราศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของโลก ที่มีนามในภาษาโปแลนด์ว่า Mikolaj Kopernick ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า Copernicus ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2016 (รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ) ที่เมือง Torun บนฝั่งแม่น้ำ Vistula ในประเทศโปแลนด์ บิดาของ Copernicus มีอาชีพเป็นพ่อค้าทองแดง มารดามาจากครอบครัวฐานะดี Copernicus มีพี่น้องร่วมท้อง 4 คน และเขาเป็นบุตรคนสุดท้อง เมื่ออายุได้ 10 ขวบ บิดาก็เสียชีวิตลง Copernicus จึงได้เข้าศึกษาที่เมือง Torun จนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จากนั้นก็ได้ไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Krakow เมื่อมีอายุได้ 18 ปี
และขณะศึกษาที่นั่น Copernicus ได้เรียนวิชาละติน คณิตศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา และในการเรียนดาราศาสตร์นั้น Copernicus ต้องศึกษาโหราศาสตร์ด้วย ถึงกระนั้นเนื้อหาส่วนใหญ่ของวิชานี้ก็เป็นความรู้และความเชื่อของ Aristotle กับ Ptolemy ที่ใช้คำนวณวันสำคัญทางศาสนา เพื่อให้เข้าใจปฏิทิน และช่วยในการเดินเรือ
ในส่วนที่เป็นวิชาคณิตศาสตร์ Copernicus ใช้ตำราเรขาคณิตชื่อ Elements ของ Euclid และตาราง Alfonsine ที่ใช้อธิบายวิถีโคจรของดาวเคราะห์ โดยตำราเหล่านี้ทุกเล่มมีลายเซ็นของ Copernicus ปรากฏอยู่ และขณะนี้เก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งเมือง Krakow
ถึงแม้ Copernicus จะศึกษาที่มหาวิทยาลัย Krakow นานถึง 4 ปี แต่มหาวิทยาลัยก็มิได้ประสิทธิ์ประสาทปริญญาใดๆ ให้ Copernicus ดังนั้น เขาจึงเดินทางไปศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย Bologna ในประเทศอิตาลี เมื่อมีอายุได้ 23 ปี
และขณะศึกษาที่นั่น Copernicus ได้เรียนวิชากรีก คณิตศาสตร์และดาราศาสตร์ นอกเหนือจากวิชาศาสนา ทั้งนี้เพราะลุงของ Copernicus ต้องการให้หลานเป็นนักบวชหลังจากที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี
ขณะพำนักอยู่ในอิตาลี Copernicus ได้เดินทางไปดูปรากฏการณ์จันทรคราสที่ Rome เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2043 และได้เดินทางกลับไปโปแลนด์ในอีก 1 ปีต่อมา แต่เพราะยังไม่สำเร็จการศึกษาที่ Bologna ดังนั้น จึงได้ขออนุญาตลุงกลับไปศึกษากฎหมาย และแพทยศาสตร์ต่อที่อิตาลีอีก แต่คราวนี้เขาได้ย้ายไปเรียนแพทย์และดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัย Padua เพราะในสมัยนั้นผู้คนเชื่อว่าเวลาตกฟากมีอิทธิพลต่อชีวิต และสุขภาพ ดังนั้น คนที่จะเก่งในการรักษาไข้ต้องรู้โหราศาสตร์ และดาราศาสตร์ด้วย
Copernicus สำเร็จการศึกษาเมื่อมีอายุได้ 30 ปี จึงได้เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเพื่อทำงานเป็นนักบวช และหมอ ที่เมือง Frauenberg และขณะใช้ชีวิตที่นั่น เขาต้องทำงานหลายด้าน เช่น ทำแผนที่ ออกกฎหมาย เป็นสารวัตรทหาร และเขียนตำรา นอกเหนือจากงานประจำคือเทศนาและรักษาคนไข้ แต่เมื่อลุงของ Copernicus เสียชีวิตลงในปี พ.ศ. 2055 เขาก็ตระหนักได้ทันทีว่าตนไม่ต้องทำหน้าที่เทศนาในโบสถ์อีกต่อไปแล้ว จึงใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานค้นคว้าดาราศาสตร์ที่ตนรักอย่างจริงจัง
เมื่ออายุได้ 41 ปี Copernicus ได้เรียบเรียงหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ Commentariolus ซึ่งใช้มือเขียน และถึงแม้หนังสือเล่มนี้จะไม่มีชื่อผู้แต่ง แต่คนที่อ่านหนังสือก็รู้ว่าผู้เขียนคือใคร ในหนังสือเล่มนั้น Copernicus ได้พูดถึงทฤษฎีจักรวาลของเขาเองซึ่งมีดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลาง หาใช่โลกตามคำสอนของ Ptolemy ไม่ ใน Comments ยังมีความรู้ใหม่ๆ เช่นว่า ระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์มีค่าน้อยมาก เมื่อเปรียบเทียบกับระยะทางจากโลกถึงดาวฤกษ์ และการหมุนรอบตัวเองของโลกทำให้เรารู้สึกเสมือนว่าดาวต่างๆ กำลังเคลื่อนที่ ทฤษฎีจักรวาลของ Copernicus ยังสามารถอธิบายได้ว่า เหตุใดเราจึงเห็นดาวเคราะห์บางดวงในบางเวลา โคจรย้อนสวนทางเดิม ซึ่งปรากฏการณ์ retrograde นี้ Copernicus เป็นบุคคลแรกที่อธิบายได้
ถึงแม้ตำรา Commentariolus จะสำคัญ แต่หนังสือชื่อ De revolutionibus ที่เขาเรียบเรียงขึ้นโดยใช้เวลานานถึง 27 ปี ก็ยิ่งใหญ่กว่า เพราะในหนังสือเล่มนี้ Copernicus ได้แถลงแจกแจง และอธิบายทฤษฎีเขาอย่างสมบูรณ์ และสำหรับประเด็นที่ต้องใช้เวลานานในการเรียบเรียงนั้น ก็เพราะ Copernicus ไม่มีนักวิจัยผู้ช่วย ไม่มีเพื่อนจะปรึกษา ไม่มีนิสิตช่วยทำงาน และเพราะสิ่งที่ Copernicus เขียนใน De revolutionibus orbium coelestium นั้นขัดแย้งกับคำสอนของคริสต์ศาสนา Copernicus
จึงให้นักคณิตศาสตร์ชื่อ Georg Joachim Rheticus แห่งมหาวิทยาลัย Wittenberg ในประเทศเยอรมนีจัดพิมพ์แทน แต่คนพิมพ์ชื่อ Andreas Osiander รู้สึกว่าเนื้อหาในหนังสือกระทบกระเทือนสถาบันศาสนา เขาจึงเปลี่ยนชื่อเรื่อง และไม่ลงชื่อผู้เขียน ดังนั้น หนังสือที่ออกสู่บรรณโลกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2086 จึงไม่ถูกห้ามอ่าน และคนแต่งก็ไม่ถูกสถาบันศาสนาลงทัณฑ์
หนังสือ De revolutionibus ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาดาราศาสตร์ยุคใหม่ โดยในหนังสือเล่มนั้น Copernicus ได้ให้เหตุผลหลายประการที่แสดงให้เห็นว่าดวงอาทิตย์เป็นจุดศูนย์กลางของจักรวาล และมีดาวเคราะห์ต่างๆ โคจรไปรอบๆ หนังสือที่หนา 200 หน้านี้เขียนเป็นภาษาละติน และถึงแม้ Copernicus จะรู้ชัดว่าโลกหมุนรอบตัวเอง ดวงจันทร์โคจรรอบโลก และโลกกับดาวเคราะห์โคจรรอบดวงอาทิตย์ แต่ก็มีข้อมูลอีกมากมายที่ Copernicus รู้ผิด เช่น เขาประมาณขนาดของสุริยจักรวาลผิด และที่เขากล่าวว่าวงโคจรทุกวงมีลักษณะกลมนั้นก็ผิด เพราะ Kepler ในเวลาต่อมาก็ได้พิสูจน์ชัดว่าวงโคจรของดาวเคราะห์รอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี
ตำนานกล่าวว่า Copernicus ได้อ่าน De revolutionibus เป็นครั้งแรก เมื่อใกล้ตาย แต่นักประวัติศาสตร์ทุกวันนี้เชื่อว่า Copernicus ไม่ได้เห็นและไม่ได้อ่านตำราที่เขาเขียนเลย ส่วน Tycho Brake นักดาราศาสตร์ชาวเดนมาร์ก และ Galileo นักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวอิตาลีนั้นต่างก็ได้อ่าน และสนับสนุนความคิดของ Copernicus ทุกประการ และความคิดของ Copernicus นี้เองที่ได้แผ้วทางให้ Newton ได้พบแรงโน้มถ่วงในอีก 150 ปีต่อมา
ในหนังสือชื่อ The Book Nobody Read : Chasing the Revolutions of Nicolaus Copernicus ที่เรียบเรียงโดย Owen Gingerich และจัดพิมพ์โดย Walker, New York ปี 2004 และมีราคา $25 Gingerich ได้กล่าวถึงประวัติการยอมรับของ De revolutionibus ว่า ในระยะแรกหนังสือนี้ไม่มีใครต่อต้าน แต่เมื่อความคิดของ Copernicus ได้รับการยอมรับมากขึ้นๆ หนังสือนี้ก็ถูกแบนในปี พ.ศ. 2159 แต่เมื่อ Galileo และ Kepler กล่าวสนับสนุนว่าความคิดของ Copernicus ถูก หนังสือนี้ก็ได้กลับมาแพร่หลายอีก แต่ก็ยังเป็นหนังสือที่สังคมส่วนใหญ่ไม่ยอมรับ เพราะเมื่อวงการวิชาการสร้างอนุสาวรีย์ของ Copernicus ขึ้นที่กรุง Warsaw ในปี พ.ศ. 2382 ไม่มีพระนักบวชใดๆ มาทำพิธีทางศาสนาเลย จนกระทั่งสถาบันศาสนา Roman Catholic Church ได้เลิกแบนหนังสือ De revolutionibus เมื่อ 169 ปีก่อนนี้เอง
ในหนังสือ The Book Nobody Read, Gingerich ได้รายงานการติดตามผลงานเขียนของ Copernicus ทุกชิ้น และเชื่อว่าก่อนปี พ.ศ. 2043 โลกมีนักดาราศาสตร์ไม่เกิน 10 คนที่อ่านผลงานของ Copernicus รู้เรื่อง และจากจำนวนที่พิมพ์ 400-500 เล่ม ณ วันนี้ตำราก็มีเหลือเพียง 273 เล่มเท่านั้นเอง แต่พูดก็พูดเถอะ หนังสือหายากและมีค่ามากนี้ ราคาเล่มละอย่างน้อยก็ 20 ล้านบาทครับ
สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน