xs
xsm
sm
md
lg

อริยสัจการเมืองจีน (12)เสริมสร้างพลังขับเคลื่อน "ภายใน"

เผยแพร่:   โดย: สันติ ตั้งรพีพากร

ในทัศนะของวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ พลังการผลิต คือเหตุปัจจัยพื้นฐานที่สุดในการขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ

วิวัฒนาการของมนุษยชาติ วนเวียนอยู่กับเรื่องการกินการอยู่มาโดยตลอด การทำมาหากินเพื่อให้ตนดำรงชีวิตอยู่ได้ เป็นพื้นฐานรองรับการพัฒนาทางด้านศิลปวัฒนธรรม และอารยธรรมโดยรวมของตน ทั้งนี้ "พลังการผลิต" หรือความสามารถในการผลิตวัตถุปัจจัยสำหรับการบริโภคและอุปโภคของมนุษย์โดยรวม เป็นตัวจักรขับเคลื่อนสำคัญที่สุด ในกระบวนการวิวัฒนาการของมนุษย์และสังคมมนุษย์ ทั้งทางวัตถุและจิตใจ

อีกนัยหนึ่ง พัฒนาการของพลังการผลิต ขึ้นอยู่กับระดับความรับรู้ของมวลมนุษย์โดยตรง ดังนั้น ยิ่งมนุษย์มีความรู้ในด้านต่างๆ มากขึ้นๆ ก็จะสั่งสมเหตุปัจจัยรอบด้านสำหรับการพัฒนาขยายตัวของพลังการผลิตในสังคม

อย่างไรก็ดี กระบวนการพัฒนาของพลังการผลิตของสังคม ไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบรื่นและอย่างราบเรียบแต่ประการใด เนื่องจากเมื่อถึงระยะหนึ่ง จะมีการสั่งสมปัญหาจนเกินกว่าที่ระบบระบบ โครงสร้างและกลไกต่างๆ ที่แสดงบทบาทกำกับกระบวนการพัฒนาของพลังการผลิตจะรับมือได้ จำเป็นจะต้องดำเนินการปรับปรุง ปฏิรูป หรือกระทั่ง "ปฏิวัติ" ล้มเลิกระบบเดิมๆ แล้วพัฒนาสร้างสรรค์ระบบ โครงสร้าง และกลไกใหม่ที่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาขยายตัวของพลังการผลิตของสังคมขึ้นมาทำหน้าที่ "สานต่อ" กระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาขยายตัวของพลังการผลิตของสังคมต่อไป

ในกรณีของจีน การปฏิวัติเป็นสิ่งจำเป็น

จีนเป็นสังคมโบราณ ปกครองด้วยระบอบศักดินาเนิ่นนานมากว่าสองพันปี ไม่มีการปฏิวัติ (ในความหมายวัตถุนิยมประวัติศาสตร์) มีแต่การปฏิรูป การเปลี่ยนแปลงราชวงศ์ดำเนินไปในกรอบระบอบการปกครองแบบศักดินาอย่างเคร่งครัด ทำให้สังคมพัฒนาตนเองวนเวียนอยู่ในกรอบสังคมศักดินามาโดยตลอด ไม่ก้าวทะลุไปสู่สังคมทุนนิยม

ทั้งนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในระดับปฏิรูป ไม่เปิดช่องให้เกิดการพัฒนาของพลังการผลิตที่ก้าวหน้า ขณะเดียวกัน กระบวนการพัฒนาพลังการผลิตของจีนก็ไม่มีน้ำหนักพอ (ไม่มีการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ยุคใหม่) ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบอบสังคมจีน

จนกระทั่งสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคทุนนิยม โดยเริ่มต้นที่ทวีปยุโรป ประเทศจีนถูกทิ้งห่างอย่างรวดเร็ว กลายเป็นประเทศล้าหลัง เป็นเป้ารุกรานของมหาอำนาจทุนนิยม

อาจกล่าวได้ว่า ความอัดอั้นภายใน (ระบอบการปกครองล้าหลัง ไม่เอื้อต่อการพัฒนาพลังการผลิตยุคใหม่) และแรงกระแทกจากภายนอก (การรุกรานของมหาอำนาจต่างชาติ) ได้ผสมผสานกันเป็นเชื้ออย่างดีสำหรับการจุดระเบิดไฟปฏิวัติในสังคมจีน

ทั้งนี้ นับตั้งแต่จีนแพ้สงครามฝิ่นในกลางศตวรรษที่ 19 อำนาจรัฐจีน (ราชวงศ์ชิง) อ่อนแอเกินกว่าที่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงใดๆ ในบริบทของระบบเดิมๆ ด้านหนึ่ง ไม่สามารถ (กระทั่งขัดขวาง) การเคลื่อนไหวปรับเปลี่ยนและปฏิรูประบบ โครงสร้างและกลไกอย่างรอบด้าน อีกด้านหนึ่ง ยอมจำนนต่ออิทธิพลรุกรานของมหาอำนาจต่างชาติ ทำให้จีนตกอยู่ในฐานะ "กึ่งเมืองขึ้น" อีกทั้งสมคบกับอิทธิพลมหาอำนาจต่างชาติ กำราบปราบปราม ปิดกั้นการพัฒนาขยายตัวของพลังก้าวหน้า ที่มุ่งปฏิรูประบบ โครงสร้าง และกลไก เพื่อกรุยทางไปสู่การพัฒนาพลังการผลิตในสังคมจีน

และที่สำคัญคือ ลักษณะแห่งยุคสมัยของสังคมโลกในช่วงนั้น (ต้นศตวรรษที่ 20) คือ "สงครามกับการปฏิวัติ" บรรยากาศโดยรวมของสังคมโลกเอื้อต่อการปฏิวัติด้วยความรุนแรง "สงครามที่เป็นธรรม" เป็นที่ยอมรับของประชาชนทั่วไป

ทั้งหมด ได้ก่อรูปเป็น "เหตุปัจจัยพื้นฐาน" พร้อมสำหรับการดำเนินการปฏิวัติในประเทศจีน

การปฏิวัติจะสำเร็จ ด้วย "เหตุปัจจัยเสริม"

เมื่อพร้อมด้วย "เหตุปัจจัยพื้นฐาน" แล้ว การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงจะยังไม่เกิดขึ้น จำเป็นจะต้องอาศัย "เหตุปัจจัยเสริม" ที่มาจากความพยายามของคน ในรูปการเคลื่อนไหว จัดตั้ง ดำเนินการปฏิรูปเปลี่ยนแปลง หรือกระทั่งปฏิวัติด้วยความรุนแรง

ในกรณีของประเทศจีน อำนาจรัฐที่อ่อนแอ ระบบ โครงสร้างและกลไกที่ล้าหลัง อยู่ในการดูแลรักษาของกลุ่มอำนาจอิทธิพล ทั้งที่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ดั้งเดิม เช่นศักดินา เจ้าที่ดิน และที่เป็นตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ใหม่ๆ เช่นมหาอำนาจต่างชาติและทุนนิยมขุนนาง กลุ่มอิทธิพลเหล่านี้ จะคอยขัดขวางทำลายการพัฒนาขยายตัวของพลังปฏิรูปและปฏิวัติอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น การปลดปล่อยประเทศจีน ด้วยการโค่นล้มอำนาจอิทธิพลศักดินาเจ้าที่ดิน มหาอำนาจต่างชาติ และทุนนิยมขุนนาง จึงเป็น "ภารกิจ" พื้นฐานของการปฏิรูปและปฏิวัติระบบ โครงสร้าง และกลไกต่างๆ ในสังคมจีน เพื่อนำไปสู่การ "ปลดปล่อย" พลังการผลิตในสังคมจีนอย่างแท้จริง

ถ้าไม่ปฏิวัติโค่นล้ม รื้อถอนอำนาจปกครองร่วมกันของกลุ่มอิทธิพลใหญ่ทั้งสาม (ศักดินานิยม จักรพรรดินิยม และทุนนิยมขุนนาง) พลังการผลิตของสังคมจีนที่ถูกกดทับอยู่ก็ไม่มีวันได้รับการปลดปล่อยให้เป็นอิสระ การพัฒนาของพลังการผลิตในสังคมจีนก็จะเป็นไปได้ยากยิ่ง
นั่นหมายถึงว่า ประเทศจีนจะยังคงล้าหลัง ประชาชนจีนจะยังคงยากจนข้นแค้นไปอีกนานเท่านาน หรือกระทั่งอาจแตกเป็นเสี่ยงๆ ตามการ "แบ่งเค้ก"ของมหาอำนาจต่างชาติ ที่มุ่งเชือดเฉือนแผ่นดินจีนให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย

ในสภาวะเช่นนี้ ไฉนเลยชาวจีนที่รักชาติจะทนไหว ต่างพากันจัดตั้งกันเข้า เป็นพลังปฏิวัติ และนำไปสู่การจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน นำประชาชนจีนต่อสู้ในรูปสงครามประชาชน ในที่สุดก็สามารถโค่นล้มอำนาจครอบงำทั้งสาม แล้วดำเนินการปฏิวัติระบบ โครงสร้าง และกลไกในสังคมจีนเสียใหม่ ให้เอื้อต่อการปลดปล่อยและการพัฒนาพลังการผลิตมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ในทุกขั้นตอน

สรุปคือ การปฏิวัติจีนประสบชัยชนะได้ก็ด้วยความพร้อมของ "เหตุปัจจัยพื้นฐาน" และ "เหตุปัจจัยเสริม"

พรรคคอมมิวนิสต์จีน เน้นการสร้างเหตุปัจจัยเสริม

พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีน แตกต่างจากพรรคการเมืองทั่วไป ตรงที่เป็นพรรคการเมืองชนชั้นกรรมาชีพ เลื่อมใสในลัทธิมาร์กซ์ ใช้ทฤษฎีมาร์กซิสม์ชี้นำการปฏิบัติ มีจุดยืน ทัศนะ และวิธีคิดแบบมาร์กซิสม์ ทุกอย่างเริ่มต้นจากผลประโยชน์ของประชาชน และเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนที่แท้จริง มีทัศนะวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ "เข้าถึง"กฎเกณฑ์การพัฒนาของสังคมมนุษย์ ส่งเสริมวิธีคิดหาเหตุหาผล "เข้าถึง" กฎเกณฑ์การพัฒนาของสิ่งและจิตใจ (ความรับรู้) ของคนเรา รวมทั้งวิธีการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาของสิ่งและจิตใจ (แก้ไขความขัดแย้งหลักในแต่ละห้วงแห่งการพัฒนาของสิ่งและจิตใจให้ตกไป)

ในกรณีของประเทศจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนเห็นว่า ด้วยความพร้อมของ "เหตุปัจจัยพื้นฐาน" สามารถดำเนินการเสริมสร้างเหตุปัจจัยเสริมสำคัญๆ ได้ ดังนี้ 1. พรรคที่เข้มแข็ง 2. กองทัพที่แข็งแกร่ง และ 3. แนวร่วมที่กว้างขวาง

ในสามสิ่งนี้ "พรรค" คือหัวใจ

"หัวใจ" ของพรรค คือความคิดทฤษฎี

สร้างพรรคทางความคิด

ความเข้มแข็งทางความคิด คือคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็น "เหตุปัจจัยแกน" ของชัยชนะในการปฏิวัติ และความสำเร็จในการพัฒนาประเทศ

หากใครสามารถ "เข้าถึง" จุดนี้ได้จริงๆ ก็จะได้ "คำตอบ" มากมายเกี่ยวกับการปฏิวัติและปฏิรูปของจีน เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในอดีต และปัจจุบัน สามารถคาดการณ์ทิศทางพัฒนาการของประเทศจีนได้ในระยะยาว

สำหรับประเทศไทย โดยเฉพาะก็คือกลุ่มผู้ใช้อำนาจบริหารประเทศ ที่ต้องการพัฒนาประเทศไทยให้เจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีมีสุข จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง "เข้าถึง" เพื่อกำหนดแนวนโยบาย รับมือ (ใช้ประโยชน์) จากการทะยานขึ้นของประเทศจีนครั้งนี้

ทั้งนี้ สังคมโลกต่างวินิจฉัยได้คำตอบกันเป็นเบื้องต้นแล้วว่า หากไม่มีอิทธิพลภายนอกเข้าแทรกแซงขัดขวาง กระบวนการทะยานขึ้นของจีนจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่องยาวนานหลายสิบปี หรือกระทั่งร้อยปี (ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศของจีน)

ปัจจุบัน เป็นที่รู้กันทั่วไปแล้วว่า พรรคฯ จีนเป็นพรรคมาร์กซิสม์ ใช้ลัทธิมาร์กซ์ชี้นำการมองโลกและดัดแปลงโลก ทุกอย่างเริ่มต้นจากความเป็นจริง เพื่อผลประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชน มุ่ง "ถักทอต่อเชื่อม" เงื่อนไขและเหตุปัจจัยต่างๆ อยู่ตลอดเวลา สำหรับแผ้วถางทางไปสู่การปลดปล่อยตนเองและมวลมนุษยชาติ ให้พ้นจากการกดขี่ขูดรีดและความไม่รู้ คุณลักษณะดังกล่าวแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับพรรคการเมืองตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ทั่วไป (ข้อสรุปตรงนี้สามารถพิสูจน์ได้ทั้งในอดีตและปัจจุบัน)

บนพื้นฐานที่ต่างกันนี้ พรรคฯจีนจึงมีวิธีการสร้างเสริมความแข็งแกร่งให้แก่ตัวเองที่แตกต่างไปจากพรรคการเมืองของประเทศอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นพรรคการเมืองตัวแทนกลุ่มผลประโยชน์ใหญ่ในประเทศ กระทั่งในบางกรณี เป็นตัวแทนผลประโยชน์กลุ่มทุนใหญ่ในประเทศและกลุ่มทุนผูกขาดต่างชาติไปในคราวเดียวกัน

โดยพรรคฯ จีนเน้นการเสริมสร้างทางความคิด ขณะที่พรรคการเมืองอื่นๆ จะวัดกันที่อิทธิพลอำนาจ หลักๆ ก็คืออำนาจเงิน

แม้ปัจจุบันนี้ พรรคฯ จีนเป็นพรรครัฐบาล ใช้อำนาจบริหารประเทศอย่างถาวร ก็ยังคงยึดมั่นในแนวทางการสร้างพรรคทางความคิด ให้ความสำคัญในการพัฒนาแนวคิดและนวัตกรรมทฤษฎีใหม่ๆ สำหรับชี้นำการบริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นหลักประกันให้การพัฒนาประเทศจีนไปสู่ความทันสมัย การสร้างประเทศจีนให้เป็นสังคมอยู่ดีกินดีอย่างรอบด้าน (ทั้งทางวัตถุและจิตใจ) ปรากฏเป็นจริงยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

ปลูกฝังทัศนะที่เป็นวิทยาศาสตร์

การปลูกฝังทัศนะที่เป็นวิทยาศาสตร์ หลักๆ ก็คือการเสริมสร้างความเข้าใจในปรัชญามาร์กซิสม์(วัตถุนิยมวิภาษและวัตถุนิยมประวัติศาสตร์) ให้ทั่วทั้งพรรคเกิดความเข้าใจในกฎเกณฑ์การพัฒนาของธรรมชาติ สังคม และความรับรู้ของคนเรา ซึ่งจะปรากฏออกมาเป็นข้อสรุปต่างๆ ที่สำคัญก็อาทิ "พลังการผลิตคือปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาของสังคมมนุษย์" "ประชาชนคือวีรชนที่แท้จริงในการขับเคลื่อนกงล้อประวัติศาสตร์" "วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเป็นพลังการผลิตอันดับหนึ่ง" เป็นต้น

ในทางปฏิบัติก็เช่น "หาสัจจะจากความเป็นจริง" "ปฏิบัติ-รับรู้-ปฏิบัติ" เป็นต้น
เมื่อประยุกต์เข้ากับการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นจริงแล้ว ก็ได้ปรากฏออกมาเป็นหลักการ เข็มมุ่ง และคำขวัญพื้นฐานมากมาย เช่น "ทุกอย่างเริ่มจากความเป็นจริง" "ทฤษฎีประสานกับการปฏิบัติ" "เดินแนวทางมวลชน" ฯลฯ

ซึ่งล้วนแต่เป็นผลจากการปลูกฝังความคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ภายในพรรคฯ จีน

เป็นผลจากการสร้างพรรคทางความคิด เน้นความแข็งแกร่งทางปัญญา เสริมสร้างศักยภาพ "ภายใน" ให้เป็น "เหตุปัจจัยเสริม" ที่มีชีวิตชีวา ทรงพลวัตยิ่ง สำหรับการขับเคลื่อนกระบวนการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงในสังคมจีนตลอดไป
กำลังโหลดความคิดเห็น