xs
xsm
sm
md
lg

วงจรอุบาทว์ กับความยากจนของคนในชาติ

เผยแพร่:   โดย: ณรงค์ พิริยอเนก

บทความโดย ดร.ณรงค์ พิริยอเนก

ทุกคนคงจำได้ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2540 คนไทยมีรายได้โดยเฉลี่ยประมาณ 3,500-4,000 เหรียญสหรัฐ ต่อคนต่อปี แต่หลังจากนั้น จู่ๆ เราก็มีรายได้เหลือเพียง 1,900-2,000 เหรียญสหรัฐ ต่อคนต่อปี ฟังดูแล้วเหมือนละครน้ำเน่า ซึ่งมันไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในโลกนี้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้วกับคนไทยตาดำๆ ทุกคน

คำถามที่คนไทยทั้งประเทศจะต้องถามก็คือ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร คำตอบที่กำปั้นทุบดินที่สุดคือ มันเกิดขึ้นจากความปรีชาสามารถเฉพาะตัวของรัฐบาลในช่วงนั้น ที่ผู้บริหารประเทศเพียงสองสามคนใช้ประกาศิตตนเอง ประกาศลดรายได้คนไทยทั้งประเทศไปครึ่งหนึ่ง ด้วยการปล่อยให้ค่าเงินบาทลอยเท้งเต้งอย่างหน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่มีแนวทางอื่นๆ อีกมากมายในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงนั้น

เท่านั้นไม่พอครับ หลังเงินบาทลอยจาก 25 บาทไปสูงสุดถึง 57 บาทต่อดอลลาร์ รัฐบาลซ้ำเติมด้วยการผลักดันให้ขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 20-30% ซึ่งก็ทำให้ไม่มีนักธุรกิจหน้าไหนที่จะประกอบกิจการให้สามารถส่งดอกเบี้ยอัตราสูงขนาดนั้นได้ แล้วในที่สุด กิจการจำนวนมากต้องปิดตัวกันระเนนระนาด นอกจากนั้น ธนาคารทุกธนาคารก็พร้อมใจกันงดการปล่อยเงินกู้เป็นเวลานานหลายปีด้วยกัน เพราะกลัวจะเกิด NPL ซึ่งเป็นเหตุให้มีเงินสดค้างเติ่งอยู่ในธนาคารสูงถึง 600,000-700,000 ล้านบาทเป็นเวลาหลายปีด้วยกัน

ทั้งหมดนี้ คือวงจรอุบาทว์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยใช้แนวคิดง่ายๆ ของเคนส์ (KEYNES ซึ่งเกิดตั้งแต่ปี 1883 และตายไปเมื่อปี 1946 หรือ 58 ปีที่แล้ว) มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือเมื่อเศรษฐกิจถดถอย ก็เพิ่มการใช้จ่ายของรัฐ, ลดดอกเบี้ยให้ต่ำๆ, และเพิ่มปริมาณเงินในระบบให้มีเงินหมุนเวียนคล่องตัวมากขึ้น โดยคาดหวังว่าจะเป็นการสร้างความมั่งคั่งให้กับทุกคนในชาติอย่างยั่งยืนได้ เช่น จะมีการสร้างงานมากขึ้น และเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างมั่นคง หลังจากนำนโยบายดังกล่าวมาดำเนินการ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว วันนี้คนไทยจนลงๆ ทุกวัน

สชัมปีเตอร์ (SCHUMPETER) นักเศรษฐศาสตร์รุ่นราวคราวเดียวกับเคนส์กลับมองว่า แนวคิดดังกล่าวนั้นเท่ากับเป็นการเชื้อเชิญหายนะให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพราะเป็นการแก้ปัญหาด้วยมาตรการระยะสั้น (SHORT-TERM MEASURES) โดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาในระยะยาว (LONG-TERM IMPACTS) ว่าจะร้ายแรงมากน้อยเพียงใด และจะส่งผลให้ลูกหลานของเราต้องมาใช้เวรใช้กรรมกันอีกกี่สิบปีกี่ร้อยปี

แนวคิดของเคนส์ในการพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าว จริงๆ แล้วใช้คำว่าพัฒนาเศรษฐกิจไม่ได้ เพราะเป็นเพียงวิธีการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เนื่องจากมิได้มองถึงความสัมพันธ์ระหว่างการผลิต (REAL ECONOMY) และภาพลวงตาจากการใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อ (SYMBOL ECONOMY) ว่าจะมีผลอย่างไรกับโครงสร้างของเศรษฐกิจโดยรวมในระยะยาว โดยเฉพาะผลของการใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อนั้นจะเป็นการทำลายทุน (CAPITAL) ของประเทศอย่างย่อยยับเพียงใด

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น ริคาร์โด (RICARDO), จอน สจ๊วต มิลล์ (JOHN STUART MILL), แอลเฟรด มาร์แชล (ALFRED MARSHALL) แม้กระทั่ง มาร์ซ (MARX) ต่างก็มองว่าการผลิตที่แท้จริง (REAL ECONOMY) เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เกิดความมั่งคั่งในระยะยาว

สำหรับเงินทุน (CAPITAL) เป็นเพียงส่วนประกอบที่รัฐบาลสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ ในระยะสั้นเท่านั้น การดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการในระดับจุลภาค (INDIVIDUALS AND BUSINESS) จะเป็นผู้กำหนดทิศทางว่าเศรษฐกิจจะเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีความยั่งยืนในระยะยาวมากน้อยเพียงใด

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (PETER F. DRUCKER) นักคิดที่นักบริหารทั่วโลกให้การยอมรับว่าเป็นปรมาจารย์ทางด้านการบริหารจัดการของโลก และที่สำคัญเคยนั่งฟังเคนส์บรรยายทุกเย็นเมื่อช่วงที่เขายังเป็นนักศึกษาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า ทฤษฎีของเคนส์นั้นหมดสมัยไปนานแล้ว ซึ่งเคนส์เองก็ยอมรับว่าทฤษฎีของเขาใช้ไม่ได้ผลแล้วก่อนที่เขาจะเสียชีวิตเมื่อ 58 ปีที่แล้ว

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ ยังกล่าวอีกว่า ทฤษฎีทางด้านเศรษฐกิจในอนาคตนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องบูรณาการ (INTEGRATE) นโยบายเศรษฐกิจมหภาค (เงิน, ดอกเบี้ย) และนโยบายเศรษฐกิจจุลภาค ให้มีความสอดคล้องกัน กล่าวคือเงินทุน (CAPITAL) ที่กระจายเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ จะต้องไม่นำไปใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องนำไปสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างนวัตกรรม (INNOVATION) เพิ่มผลิตผล (PRODUCTIVITY) และเพิ่มศักยภาพทางด้านการผลิต (UPGRADING) จึงจะถือได้ว่าเป็นทฤษฎีที่สอดคล้องกับความเป็นจริงของระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบที่มีการแข่งขันกันอย่างเสรี ใครดีใครอยู่

วันนี้เราอยู่ในยุคของ "ONE WORLD ONE MARKET" เป็นโลกที่ไม่มีพรมแดน ทุกประเทศต้องแข่งขันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้น จำเป็นอย่างยิ่ง ที่อุตสาหกรรมต่างๆ ของไทยจะต้องมีศักยภาพทางด้านการผลิตที่ ทัดเทียมหรือดีกว่าประเทศอื่นๆ จึงจะสามารถยืนหยัดอยู่ในโลกนี้ได้

การใช้เพียงนโยบายการเงินการคลัง ด้วยวิธีการแจกๆ และแจกเพียงอย่างเดียวไม่สามารถที่จะทำให้ คนไทยแข็งแกร่งพอที่จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับอารยะประเทศได้

หยุดเถอะครับ หยุดวงจรอุบาทว์ หยุดสร้างและส่งเสริมการใช้จ่ายอย่างฟุ้งเฟ้อ หยุดทำลายทุน (CAPITAL) หยุดลดค่าเงินบาท หยุดทำลายชาติ หยุดมักง่าย มันหมดสมัยแล้วที่จะใช้นโยบายมหภาคเพียงอย่างเดียวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะในระยะยาวแล้วจะสร้างแต่ความหายนะ คนไทยจะลำบากกันชั่วลูกชั่วหลาน หันมาสร้างคน เพื่อสร้างชาติกันจะดีกว่า
กำลังโหลดความคิดเห็น