xs
xsm
sm
md
lg

การพัฒนาอุตสาหกรรมการพิมพ์ไทย

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยได้เติบโตอย่างรวดเร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และกำลังพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมส่งออก โดยหากได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังแล้ว ประเทศไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นฐานการผลิตสิ่งพิมพ์เพื่อการส่งออกในภูมิภาคอาเซียน

อุตสาหกรรมการพิมพ์นับเป็นสื่อสำคัญประเภทหนึ่ง ซึ่งนอกจากมีความสำคัญในฐานะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่แล้ว ยังเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจฐานความรู้ (knowledge-based economy) อย่างใกล้ชิด เนื่องจากสิ่งพิมพ์นับเป็นเครื่องมือสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่กลุ่มเป้าหมาย

เดิมเมื่อประมาณ 30 – 40 ปีมาแล้ว อุตสาหกรรมการพิมพ์ของประเทศไทยมีขนาดเล็กและเทคโนโลยีตามหลังประเทศอื่นๆ อย่างมาก เนื่องจากในขณะนั้นประชาชนทั่วไปยังมีการศึกษาไม่มากนัก ทำให้มีการอ่านหนังสือค่อนข้างน้อย ประกอบกับเศรษฐกิจมีขนาดเล็ก ทำให้มีความต้องการสิ่งพิมพ์ทั้งในรูปหนังสือและบรรจุภัณฑ์จำนวนน้อยตามไปด้วย

การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วนับตั้งแต่ปี 2530 ส่งผลให้ความต้องการบริโภคสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นสูงมาก ทั้งในส่วนหนังสือ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์ ทำให้โรงพิมพ์สั่งซื้อเครื่องจักรจำนวนมาก พร้อมกับมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีครั้งใหญ่จากเดิมเป็นการพิมพ์ในระบบเลตเตอร์เพรสเปลี่ยนมาสู่ระบบออฟเซต

แม้อุตสาหกรรมการพิมพ์ของไทยจะเผชิญกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสิ่งพิมพ์ลดต่ำลงมาก แต่เมื่อเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ต่อสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วอีกครั้งหนึ่ง หลายบริษัทได้ลงทุนเพื่อขยายกำลังผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องพิมพ์ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ออฟเชตแบบ 5 -6 สี

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพิมพ์กระจายอยู่ในจังหวัดต่างๆ รวม 3,500 แห่ง มีทั้งโรงพิมพ์ขนาดเล็กในรูปธุรกิจภายในครอบครัว จนถึงโรงพิมพ์ขนาดใหญ่ซึ่งลงทุนนับพันล้านบาท แม้โดยภาพรวมแล้วโรงพิมพ์ในประเทศไทยจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยต่ำกว่าโรงพิมพ์ในประเทศคู่แข่ง เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ฯลฯ แต่หากเปรียบเทียบเฉพาะโรงพิมพ์ที่ทันสมัยของไทยแล้ว สามารถกล่าวได้ว่ามีเทคโนโลยีไม่ด้อยกว่าโรงพิมพ์ของต่างประเทศ

สำหรับโครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนในระยะที่ผ่านมา เป็นต้นว่า บริษัท ไซเบอร์พริ้นต์ จำกัด ได้ลงทุนนับร้อยล้านบาทเพื่อสั่งซื้อเครื่องพิมพ์สีแบบใช้กระดาษม้วนหรือ Commercial Web Offset Printing รุ่น KBA COMPACTA 215 ความเร็ว 50,000 แผ่น/นาที จำนวน 2 เครื่อง จากเยอรมนี นับเป็นแท่นพิมพ์แบบ Full Commercial Web Offset ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย โดยติดตั้งเครื่องแรกเมื่อปี 2541 และเครื่องที่ 2 เมื่อปี 2544 เพื่อรองรับงานพิมพ์นิตยสารของ UBC แผ่นพับและใบปลิวของกลุ่มเซ็นทรัล เอกสารส่งเสริมการขายของแม็คโคร โลตัส ฯลฯ

ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ซึ่งปัจจุบันมีเครื่องพิมพ์ 2 เครื่อง แต่ละเครื่องมีกำลังผลิต 30,000 แผ่น/ชั่วโมง ได้ทำสัญญาสั่งซื้อเครื่องพิมพ์ KBA Prisma มูลค่ากว่า 500 ล้านบาท ซึ่งสามารถพิมพ์แบบ 4 สี จำนวน 32 หน้า ด้วยความเร็วสูงถึง 75,000 แผ่น/ชั่วโมง นับเป็นโรงพิมพ์แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีเครื่องพิมพ์ทันสมัยแบบนี้ ทั้งนี้ คาดว่าจะติดตั้งเครื่องพิมพ์แล้วเสร็จและเปิดดำเนินการในเดือนมกราคม 2549

ขณะเดียวกันประเทศไทยเริ่มมีการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีทำเพลตแบบใหม่ คือ Computer to Plate (CTP) ซึ่งปัจจุบันใช้แพร่หลายมากขึ้นเรื่อยๆ ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีค่าจ้างแรงงานในอัตราสูงและมีความก้าวหน้าในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ จะเป็นการส่งข้อมูลจากคอมพิวเตอร์โดยตรงไปยังเครื่องยิงเพลต (Plate Setter) เพื่อทดแทนการส่งข้อมูลไปยังเครื่องยิงฟิล์ม (Image Setter) จากนั้นจึงค่อยนำฟิล์มไปทำเพลตอีกต่อหนึ่ง ซึ่งมีข้อดีหลายประการ คือ การทำเพลตมีความรวดเร็วมากขึ้น ประหยัดแรงงานลงได้มาก ความคมชัดสูงขึ้น ฯลฯ

สำหรับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เริ่มมีการใช้ระบบ CTP เมื่อประมาณ 8 ปีมาแล้ว เริ่มจากโรงพิมพ์ในสิงคโปร์ จากนั้นก็แพร่กระจายไปยังประเทศอื่นๆ โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการในประเทศไทยซึ่งปรับเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยี CTP โดยติดตั้งเครื่อง Plate Setter ไปแล้วหลายสิบเครื่อง เป็นต้นว่า โรงพิมพ์ขนาดใหญ่ เช่น ศิริวัฒนา ไทยวัฒนาพานิช เครือเนชั่น อมรินทร์ ฯลฯ

ส่วนบริษัท กนกศิลป์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งให้บริการแยกสีและทำเพลตแก่บริษัทอื่นๆ ก็ได้ตัดสินใจสั่งซื้อและติดตั้งเครื่อง Plate Setter เมื่อปลายปี 2545 และได้เปิดให้บริการเพลตแบบ CTP เมื่อต้นปี 2546 ส่วนบริษัท สุนทรฟิล์ม จำกัด ซึ่งทำธุรกิจให้บริการแยกสีและทำเพลทตแก่บริษัทอื่นๆ ก็ได้ติดตั้งระบบ CTP โดยสั่งซื้อเครื่อง Plate Setter ของบริษัท Heidelberg โดยติดตั้งแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อเดือนมีนาคม 2546

สำหรับบริษัท 71 อินเตอร์สแกน จำกัด ของไทย ซึ่งทำธุรกิจให้บริการแยกสีและทำเพลตเช่นเดียวกัน ก็ได้ทำสัญญาสั่งซื้อระบบ CTP รุ่น Trendsetter® 800 Quantum จากบริษัท Creo ของแคนาดา เมื่อเดือนพฤษภาคม 2547

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2547 หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ได้ทำสัญญาซื้อระบบ CTP จากบริษัทอั๊กฟ่า ประกอบด้วยเครื่อง Plate Setter จำนวน 2 เครื่อง ซึ่งเมื่อติดตั้งระบบแล้วเสร็จและเปิดดำเนินการ จะนับเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยที่ใช้ระบบ CTP โดยปัจจุบันหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ใช้เพลตมากถึง 300 เพลต/วัน คิดเป็นปริมาณมากถึง 100,000 ตร.ม./ปี

ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมการพิมพ์เริ่มเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์จากการเปิดเสรีทางการค้าการลงทุน โดยเริ่มเผชิญหน้ากับบริษัทต่างประเทศซึ่งได้เข้ามาตั้งโรงพิมพ์ในประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบันได้แย่งตลาดไปแล้วบางส่วน โดยเฉพาะตลาดสิ่งพิมพ์ซึ่งพิมพ์ครั้งละมากๆ เช่น บรรจุภัณฑ์ ใบปลิว เอกสารคู่มือการใช้สินค้า เอกสารส่งเสริมการขาย ฯลฯ

สำหรับบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว เป็นต้นว่า บริษัท เอปป์เอเซีย (ประเทศไทย) จำกัด จากฝรั่งเศส ก่อตั้งโรงงานผลิตกล่องกระดาษพิมพ์ลวดลายชนิดต่างๆ ที่จังหวัดระยอง เปิดดำเนินการปี 2539 และบริษัท โรโตสยาม จำกัด จากฝรั่งเศสเช่นกัน ก่อตั้งโรงงานผลิตสิ่งพิมพ์ ตั้งที่เขตอุตสาหกรรม 304 จังหวัดปราจีนบุรี โดยใช้เครื่องพิมพ์ Commercial Web Offset Printing เปิดดำเนินการปี 2545

นอกจากบริษัทจากชาติตะวันตกแล้ว ปัจจุบันยังมีบริษัทจากสิงคโปร์เริ่มสนใจเข้ามาตั้งโรงพิมพ์ในประเทศไทย เพื่อเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออก โดยปัจจุบันสิงคโปร์นับเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมการพิมพ์เพื่อส่งออกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจการพิมพ์ในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นมาก จึงสนใจจะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทยซึ่งมีต้นทุนการดำเนินการต่ำกว่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงพิมพ์ประมาณ 100 – 150 แห่ง ที่สามารถผลิตสิ่งพิมพ์ได้มาตรฐานสากลและมีระบบจัดการที่ดี โดยในจำนวนนี้มีเพียงแค่ประมาณ 10 แห่งเท่านั้น ที่มีศักยภาพสูงเพียงพอที่จะรับงานจากต่างประเทศ

ประเทศไทยส่งออกสิ่งพิมพ์เพื่อส่งออกไม่มากนัก เป็นต้นว่า โรงพิมพ์ในเครือเนชั่นได้ตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ Asian Wall Street Journal ประมาณ 20,000 ฉบับ/วัน นอกจากพิมพ์เพื่อจำหน่ายในประเทศไทยแล้ว ยังส่งออกไปยังประเทศแถบอินโดจีนด้วย นอกจากนี้ ยังตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ Daily Yomiuri เพื่อจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกประมาณ 10,000 ฉบับ/วัน

สำหรับสิ่งพิมพ์กระดาษแปรรูป เป็นต้นว่า สมุดฉีก สมุดโน้ต กระดาษเขียนจดหมาย กระดาษห่อของขวัญ แฟ้ม ฯลฯ มีการพิมพ์เพื่อส่งออกระดับหนึ่ง เนื่องจากเป็นสิ่งพิมพ์ที่แทบจะไม่ต้องใช้ความรู้ด้านภาษาอังกฤษ ดังนั้น โรงพิมพ์ของประเทศไทยจึงไม่เสียเปรียบโรงพิมพ์ของสิงคโปร์หรือฮ่องกงเท่าใดนัก

ส่วนหนังสือ เริ่มมีการพิมพ์เพื่อส่งออกมากขึ้น โดยเป็นการรับจ้างพิมพ์จากต่างประเทศแทบทั้งหมด เป็นต้นว่า บริษัทไทยวัฒนาพานิช จำกัด รับจ้างพิมพ์หนังสือภาษาอังกฤษให้แก่บริษัท Macmillan ของสหราชอาณาจักร ขณะที่บริษัท ไซเบอร์พริ้นท์ จำกัด ซึ่งเดิมได้พิมพ์ป้อนตลาดในประเทศเป็นหลัก ก็ได้เริ่มหาตลาดส่งออก โดยคาดว่าในปี 2548 จะทำธุรกิจสิ่งพิมพ์เพื่อส่งออกอย่างเต็มตัว

สำหรับสถานการณ์ในอนาคตช่วงปลายปี 2547 ต่อเนื่องถึงต้นปี 2548 คาดว่าอุตสาหกรรมการพิมพ์จะยังคงเติบโตสูง เนื่องจากประเทศไทยจัดการเลือกตั้งทั่วไป จะส่งผลให้มีอุปสงค์ต่อสิ่งพิมพ์จำนวนมาก ทั้งในรูปใบปลิวและป้ายหาเสียง

ปัจจุบันการพิมพ์ป้ายหาเสียงขนาดใหญ่เริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีแบบอิงก์เจ็ตซึ่งทันสมัยและสวยงามกว่าระบบการพิมพ์แบบเดิม โดยเริ่มมีเครื่องพิมพ์อิงก็เจ็ตจากประเทศจีนเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ซึ่งมีราคาต่ำกว่าเครื่องพิมพ์แบบเดียวกันของประเทศตะวันตกและญี่ปุ่นมาก

สุดท้ายนี้ ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมการพิมพ์ คือ ระบบการพิมพ์แบบดิจิตอล ซึ่งมีการปรับปรุงเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องทั้งในด้านคุณภาพ ความคมชัด และความเร็ว โดยลูกค้ามีความสะดวกสบาย สามารถส่งไฟล์ข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิมพ์ได้ทันที จึงสามารถรองรับงานพิมพ์เร่งด่วนที่ต้องการจำนวนไม่มากนักได้เป็นอย่างดี แม้โรงพิมพ์ขนาดใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เน้นรับงานพิมพ์เป็นจำนวนมาก แต่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อโรงพิมพ์ขนาดเล็กและขนาดกลาง
กำลังโหลดความคิดเห็น