xs
xsm
sm
md
lg

อ่านใจท่านผู้นำ

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

“4 ปีชินวัตรรวยหุ้น 147%” (“ผู้จัดการรายวัน” ฉบับวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2547)

ข้อมูลเสริมของพาดหัวอักษรขนาดใหญ่ข้างต้นคือตารางแสดงข้อมูล “5 ตระกูลเศรษฐีหุ้น” ที่ส่วนหนึ่งได้นำเสนอตัวเลขที่แสดงมูลค่าหุ้นในการถือครองของตระกูลชินวัตร มาลีนนท์ ดามาพงศ์ อัศวโภคิน และกรรณสูต ว่ามีมากน้อยเท่าใดบ้างในเชิงเปรียบเทียบระหว่าง พ.ศ.2544 และ พ.ศ. 2547 ผมเชื่อว่าตัวเลขชุดเดียวกันนี้คงจะได้รับการเผยแพร่ในสื่อต่างๆ อย่างกว้างขวางแล้ว จึงจะไม่นำเสนอรายละเอียดซ้ำในที่นี้อีก

พูดตามจริง ตัวเลขอันน่าอัศจรรย์ใจชนิดนี้ไม่ใช่ของใหม่อะไร ในระยะสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ ทั้งๆ ที่ไม่เคยฝักใฝ่พรรคการเมืองใดๆ และไม่ได้มีความเชี่ยวชาญในการซุบซิบนินทาเป็นพิเศษแต่อย่างใด ไม่ว่าจะไปที่ไหนๆ ผมก็มักจะพบว่ามีใครๆ ที่รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง มาชุมนุมกันซุบซิบเกี่ยวกับเรื่องเรื่องราวต่างๆ ที่เพิ่งเกิดขึ้นในเมืองไทยหยกๆ ในวันนั้น หรือไม่ก็ในระยะนั้นๆ กันอย่างคึกคัก

ตัวอย่างเช่น เพียงไม่กี่วันก่อน เมื่อไปฟังการสัมมนาเล็กๆ ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่วิทยากรมีความรู้ระดับปริญญาเอกด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยชั้นดีในอเมริกา ได้หันมาอาศัยโหราศาสตร์ยูเรเนียนมาเป็นหลักในการทำนายอนาคตทางการเมืองและเศรษฐกิจในเมืองไทยในสี่ปีข้างหน้า ความฮือฮาในทำนองเดียวกันก็ปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่งด้วยเสียงหัวเราะโครมๆ ที่กว่าจะสะดุดลงได้ ก็ต่อเมื่อผู้เข้าการสัมมนาได้ยินคำทำนายจากวิทยากรว่าสิ่งที่เข้าข่ายนิยามว่าของท่านเองเป็น “วิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ” จะบังเกิดขึ้นในเมืองไทยอีกครั้งหนึ่งใน ค.ศ. 2008

แน่นอน จุดศูนย์กลางอันเป็นที่มาของความฮือฮาก็คือท่านนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร หัวหน้าพรรคไทยรักไทย นั่นเอง

หากไม่ใช่เรื่องความมั่งคั่งที่น่าพิศวงของท่านและคณะ คำพูดที่เชือดเฉือนผู้วิจารณ์คำพูด และ/หรือ นโยบายของท่านด้วยความหฤโหด นโยบายเอื้ออาทรสารพัดอันพิลึกพิลั่นของพรรคไทยรักไทย ที่ได้รับการขนานชื่ออย่างผิดๆ เพี้ยนๆ ว่า “ประชานิยม” (แทนที่จะเป็น “ประชาสินบน”) ซึ่งดูเหมือนว่าถูกนำไปเลียนแบบโดยพรรคการเมืองอื่นๆ มากบ้างน้อยบ้าง ในรูปลักษณ์ต่างๆ จนกระทั่งการติดสินบนประชาชนได้กลายสภาพเป็นองค์ประกอบหลักของชีวิตการเมืองไทยเสียแล้ว

ข้อกล่าวหาสารพัดอันเป็นที่รู้ๆ กันดีทั่วไปอยู่แล้ว เช่น ในเรื่องการซุกหุ้นก็ดี ผลประโยชน์ทับซ้อนก็ดี การคอรัปชั่นเชิงนโยบายก็ดี การใช้วาทศิลป์กระตุ้นตลาดหุ้นก็ดี การแสวงหาความซื่อสัตย์จากตลาดการเมืองด้วยนโยบายลด แลก แจก แถม อันพิสดารทั้งหลายก็ดี ความขยันหมั่นเพียรในการสับเปลี่ยนตัวบุคคลในคณะรัฐมนตรีที่บางครั้งก็คล้ายๆ จะเหมาะสม แต่บางครั้งก็ชอบกลๆ เพราะดูเสมือนเอาคนดีมีความสามารถไปทำลายทิ้งเสียก็ดี หรือการดูดนักการเมืองจากฝ่ายตรงกันข้ามด้วยสินจ้างรางวัลก็ดี ความผิดพลาดอันยาวนานในการกำหนดและบริหารนโยบายในภาคใต้ก็ดี การประกาศกลางจอโทรทัศน์ว่าตนเองเป็น “เพื่อน” กับนายจอร์จ ดับเบิลยู.บุช (ผู้เป็นเป้าหมายแห่งความเกลียดชังของผู้คนจำนวนมากทั่วโลกด้วยเหตุผลที่ดีมากจำนวนสุดคณานับ) จนกระทั่งทำให้เกิดความเข้าใจว่าท่านนายกรัฐมนตรีอาจจะใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นหลักในการกำหนดนโยบายต่างประเทศก็ดี

ทั้งนี้ ไม่ต้องเอ่ยถึงคำตอบโต้อันเร่าร้อนที่ท่านมักจะมอบให้แก่บรรดา “ขาประจำ” เป็นกิจวัตรอยู่แล้ว ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ล้วนจะเป็นข้อกล่าวหาใหญ่ๆ ทั้งสิ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าท่านนายกรัฐมนตรีจะไม่รู้สึกสะทกสะท้านอะไร มิหนำซ้ำ ท่าทีของท่านมักจะออกมาในทำนองรำคาญเสียงนกเสียงกา สลับด้วยคำตอบโต้ชนิดแดกดันที่คล้ายๆ กับจะเป็นการปฏิเสธคำวิจารณ์หรือข้อเสนอแนะใดๆ ที่อยู่นอกระบบความคิดที่วางเอาไว้แล้ว

พูดด้วยภาษาที่เข้าใจง่ายๆ ก็คือที่เป็นอย่างนี้ก็คงจะเป็นเพราะท่านเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นในตนเองสูง แต่ผมคิดว่าท่าทีแบบปิดตายสำหรับคำวิจารณ์หรือข้อเสนอแนะจากภายนอกนี้ คงจะมีรากเหง้ามาจากการต่อสู้ในชีวิตของท่านเอง นั่นก็คือ การประสบความสำเร็จทางธุรกิจที่เข้าข่ายมหัศจรรย์ไม่ว่าจะนำเอามาตรฐานใดๆ มาวัด เมื่อเป็นอย่างนี้ ท่านจึง (มีสิทธิ์) ที่จะอดไม่ได้ที่จะชื่นชมตนเองเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ในระหว่างที่ไต่เต้าจากสถานภาพต่างๆ สู่ฐานภาพมหาเศรษฐี รวมทั้งในระหว่างการดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและหัวหน้ารัฐบาลในเงื่อนไขที่มีเสียงข้างมากอย่างค่อนข้างเด็ดขาด ผู้คนที่ต่างก็ไปแวดล้อมท่านก็คงจะพูดเรื่องจริงบ้างเท็จบ้างให้รับรู้เรื่อยๆ เพื่อตะล่อมให้เชื่อในแนวทางบางอย่างบ่อยๆ ด้วยประการฉะนี้ นายกรัฐมนตรีท่านนี้จึงถูกสกัดกั้นจากการรับรู้ความจริงที่สำคัญจำนวนมาก ลงท้ายแล้ว ก็เป็นอย่างที่เราท่านรู้ๆ เห็นๆ กันอยู่

ถ้าพูดตามหลักโหราศาสตร์ยูเรเนียนที่ผมอาจจะได้ยินมาผิดๆ ถูกๆ บ้าง ก็คงจะต้องบอกว่าทั้งนี้ทั้งนั้นก็เป็นเพราะในพื้นดวงเดิมของท่านนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันมีดวงดาวไปชุมนุมอยู่ในราศีสิงห์ (ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางของความทระนงองอาจทั้งปวง) เสียหลายดวง ยังผลให้ความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของท่านจึงค่อนข้างจะดู “เหนือจริง” จนเกินธรรมดาไปค่อนข้างมาก จนกระทั่งผู้คนจำนวนมากขึ้นทุกทีพากันกลัดกลุ้มในหัวใจ

สามสี่เดือนก่อน เมื่อมีอันบังเอิญต้องไปยืนอยู่ในวงสนทนาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งโดยไม่ได้ตั้งใจ 0^jๆ ผมก็ได้ยินเสียงสุภาพสตรีท่านหนึ่งตะโกนออกมาอย่างควบคุมตนเองไม่ได้ในทำนองว่า “ฉันรับไม่ได้เลยกับความหยาบคายของคนบางคนจริงๆ!” เมื่อผมหันไปมองที่มาของเสียง ผมก็รู้สึกตกใจพอสมควร เพราะเจ้าของเสียงนั้นเป็นคนที่ใครๆ ในวงสนทนานั้นต่างก็รู้กันดีว่าเป็นผู้หญิงที่มีอุปนิสัยน่ารักมากที่สุดคนหนึ่งในกลุ่ม จนแทบจะไม่มีใครเคยได้ยินผรุสวาทใดๆ จากเธอเลย

ประเด็นก็คือ หากผู้หญิงน่ารักๆ คนหนึ่งสามารถประกาศอย่างนี้ในที่สาธารณะได้ ก็คงจะเป็นการแสดงว่าความไม่ชื่นชมในตัวท่านนายกรัฐมนตรีนั้นคงจะไปไกลพอสมควรแล้ว จะถึงกับกู่ไม่กลับแล้วหรือไม่ผมก็ไม่ทราบ

จุดที่น่าสังเกตมากก็คือ คุณทักษิณ ชินวัตร คงจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของเมืองไทยที่โดนมะรุมมะตุ้มจากใครๆ หนักหน่วงขนาดนี้ แต่ท่านก็ยังเดินหน้าไปหาเสียงด้วยการสับหมูโชว์ที่จังหวัดตรังได้ด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใสราวกับไม่รู้จักความเหน็ดเหนื่อย

นี่ก็เป็นเพียงอีกหนึ่งในบรรดากิจกรรมประเภทที่เรียกได้อย่างถูกต้องว่า “ประชานิยม” ที่นายกรัฐมนตรีท่านนี้มีความชำนาญเป็นพิเศษ จนกระทั่งกล่าวได้ว่าท่านดูเหมือนจะชนะใจชาวบ้านผู้เป็นคนดูส่วนใหญ่ไปทั่วประเทศ ผมไม่ค่อยแน่ใจว่า “ใคร” เป็นผู้ริเริ่มในการวางระบบการหาเสียงด้วยการเข้าหาชาวบ้านแบบนี้ หรือว่าคุณทักษิณอาจจะเป็นผู้ค้นพบศิลปะในการเข้าหามวลชนชนิดนี้ด้วยการชี้นำของสัญชาติญาณนักการตลาดของตนเองก็เป็นได้

แต่ก็พอจะสรุปได้อย่างไม่คลาดเคลื่อนว่าคุณทักษิณเป็น “พรีเซ็นเตอร์” ชั้นเยี่ยม นอกจากรูปภาพประเภทนี้จะประสบความสำเร็จในการช่วงชิงพื้นที่จากสื่อทุกประเภทไปได้อย่างง่ายดายแล้ว “ความรู้สึก” ที่เกิดขึ้นจากการเผยแพร่รูปภาพอย่างนี้บ่อยๆ อย่างกว้างขวางคงจะช่วยละลายความเป็นศัตรูใดๆ ที่มีตามที่ต่างๆ ได้ไม่ใช่น้อย

ด้วยความสามารถพิเศษทางการตลาดชนิดนี้แหละที่ทำให้ “ชมรมคนรู้ทันทักษิณ” จะต้องเหน็ดเหนื่อยมากเป็นทวีคูณในการทำงานให้บรรลุเป้าหมายของตน ทั้งนี้ เพราะท่านหัวหน้าพรรคไทยรักไทยไม่ยอมทำตัวเป็นเป้านิ่ง ทว่าเป็นเป้าที่ไปซ่อนตัวอยู่ในฝูงชน

ทั้งๆ ที่การต่อต้านดูเหมือนจะมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในหมู่ ”สาธารณชนทางการเมือง” ที่รู้เรื่องดี ชาญฉลาด และมองการณ์ไกล แต่คำทำนายผลการเลือกตั้งที่เราท่านได้ยินอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันก็ยังตอกย้ำชัยชนะของท่านหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและคณะอยู่ดี

คำถามก็คือ ถ้าเกิดเป็นอย่างนั้นขึ้นมาจริงๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพรรคไทยรักไทยเกิดได้รับชัยชนะเด็ดขาดขึ้นมาอย่างที่ว่าๆ กัน แล้วเราจะทำอย่างไรกันดีในอนาคต

ประการที่หนึ่ง การวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ ของผู้รู้และสื่อทั้งหลายก็ต้องกระทำกันต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะต่างๆ จะต้องมีข้อมูลและเหตุผลประกอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนยิ่งขึ้นกว่าที่เคยกระทำมาในอดีต ทั้งนี้ โดยให้มีช่องว่างสำหรับการตอบโต้แบบชกใต้เข็มขัดน้อยที่สุด

ประการที่สอง นอกจากการวิพากษ์วิจารณ์เชิงสร้างสรรค์ของปัจเจกบุคคลแล้ว การวิพากษ์วิจารณ์ในนามของสถาบันต่างๆ คงจะต้องดำเนินไปอย่างมีระบบกว่าที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือ การดำเนินการจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารสถาบันอย่างหนักแน่นและชัดเจน ไม่ปล่อยให้ผู้นำเสนอบทวิเคราะห์ของตนดำเนินการแบบหัวเดียวกระเทียมลีบ

ประการที่สาม เนื่องจากพรรคการเมืองที่มี อยู่ส่วนมากยังไม่ให้ความสำคัญกับการทำวิจัยด้านนโยบายด้วยตนเอง (ทั้งของพรรคตนเองและพรรคอื่นๆ) เท่าไรนัก ดังที่ผมเคยนำเสนอเค้าโครงความคิดมาก่อนหน้านี้แล้ว (“ผู้จัดการรายวัน” วันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2547) ในอนาคต หากพรรคการเมืองไม่สามารถพัฒนาความพร้อมที่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายของพรรคการเมืองอื่นๆ อย่างหนักแน่นและชัดเจนด้วยข้อมูลและเหตุผล ก็สมควรพิจารณาทำการว่าจ้างสถาบันที่มีความสามารถ ความพร้อมและความเป็นกลางทางวิชาการมาทำหน้าที่เหล่านี้แทนอย่างจริงจัง

วิธีปฏิบัติที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นั่นก็คือ การที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านมักจะไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการเปิดประเด็นวิพากษ์วิจารณ์นโยบายต่างๆ ของฝ่ายรัฐบาลอย่างจริงจัง แต่กลับทำหน้าที่เป็นผู้เข้ามาผสมโรงกับฝ่ายอื่นๆ ในสังคม โดยเฉพาะสื่อมวลชน องค์กรพัฒนาเอกชน หรือนักวิชาการ นั้นคงจะต้องเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เสียแล้ว เพราะในอุดมคติแล้ว พรรคการเมืองจะต้องมีศักยภาพที่จะทำหน้าที่เป็นผู้นำด้านความคิดเสียก่อน โอกาสในการที่ทำหน้าที่เป็นผู้นำในการบริหารจัดการจึงจะเกิดขึ้นตามมา ไม่ใช่สลับกัน

ก็เพราะความอุ้ยอ้ายในทำนองนี้ของพรรคการเมืองต่างๆ ในปีกของฝ่ายตรงกันข้ามละกระมัง สี่ปีให้หลัง พรรคไทยรักไทยก็ยังเป็นต่ออยู่หลายขุมการจากการเปิดตัวนโยบายใหม่ๆ ทั้งใหญ่ทั้งเล็กในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องและก้าวร้าวมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากมาย พรรคการเมืองอื่นๆ ที่ประกาศเป็น “ทางเลือก” จึงดูเหมือนว่ายังไม่ค่อยมีอะไรให้เลือกสักเท่าใดนัก จะได้เสียงก็จากความไม่ค่อยเชื่อถือต่อพรรคไทยรักไทยเสียมากกว่า

ประการที่สี่ หากพรรคไทยรักไทยเกิดได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกจริงๆ ผมขอความกรุณาจัดระบบการประชาสัมพันธ์ทุกระดับ (รวมทั้งจากท่านนายกรัฐมนตรีเอง) ในการตอบโต้กับใครๆ ให้มีอารมณ์ขันมากขึ้นสักหน่อยจะได้ไหม ผมว่าทั้งได้บุญและสนุกกว่าการด่ามาก อย่าลืมว่าผู้คนที่วิพากษ์วิจารณ์ท่านทั้งหลายนั้น เขาต่างก็มีเจตนาดีกันทั้งนั้น ไม่มีคนบ้าที่ไหนดอกที่จะตั้งใจให้ข้อเสนอแนะแก่รัฐบาลที่จะสร้างความเสียหายแก่ประเทศของตนเองได้

อารมณ์ขันนี่แหละจะทำให้พรรคไทยรักไทยมีความหมายสมชื่อมากขึ้นอีกโข.
กำลังโหลดความคิดเห็น