การเดินทัพลงใต้ของครม.นำโดยนายกรัฐมนตรี แม่ทัพใหญ่พรรคไทยรักไทย(ทรท.) พร้อมหว่านงบลงพื้นที่และให้คำมั่นผลักดันโครงการใหญ่ มีนัยทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยเฉพาะเขตเศรษฐกิจ IMT-GT ซึ่งดูเหมือนยังย่ำอยู่กับที่
----------------------------------------------
งบประมาณที่หว่านโปรยลงไปในพื้นที่ภาคใต้ ตามมติครม.เมื่อวันอังคารที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา พร้อมด้วยคำมั่นสัญญาจากเวทีหาเสียงที่จ.สตูลของนายกรัฐมนตรี ในวันก่อนหน้าเป็นสัญญาณลั่นกลองรบในพื้นที่ภาคใต้ที่เริ่มเข้มข้น
กล่าวจำเพาะสตูลนั้น ส่อเค้าลางการต่อสู้ที่ดุเดือด ตั้งแต่ยกแรกเมื่อประเมินจากยุทธวิธีหาเสียงของนายธารินทร์ ใจสมุทร ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เขต 1 ที่ย้ายมาลงเขต 2 ด้วยการฉายซีดีการสลายชุมนุมที่อ.ตากใบ กระทั่งถูกวิจารณ์จนต้องล้มเลิกไป โดยคู่แข่งรายสำคัญในเขตนี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น หากคือ นายจิรายุส เนาวเกตุ จากไทยรักไทย อดีตผู้แทนเก่าของสตูลมาหลายสมัย ขณะที่ประชาธิปัตย์เองก็ครองเสียงคนสตูลมาอย่างเหนียวแน่น ตลอดในระยะหลัง
หากไทยรักไทยต้องการปักธงในเขตประชาธิปัตย์พื้นที่นี้ สิ่งที่ต้องงัดมาหาเสียง ต้องเอาชนะใจคนสตูลให้ได้อยู่หมัด ดังนั้นการปราศรัยของนายกฯ และนักการเมืองไทยรักไทย ในค่ำวันที่ 13 ธันวาคม ที่ผ่านมา จึงมีภาพโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา อ.ละงู จ.สตูล ซึ่งอยู่ในพื้นที่เลือกตั้งเขต 2 เป็นฉากหลังใหญ่โต และนายกฯ ก็รับปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่าจะดำเนินโครงการท่าเทียบเรืออย่างด่วนจี๋อย่างที่ชาวสตูลต้องการมานาน
นี่คือสินค้าการเมืองชิ้นสำคัญที่ไทยรักไทยหวังแลกคะแนนเสียงคนสตูล
ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเปรยระหว่างประชุม ครม.สัญจรที่เมืองทองธานี เมื่อวันอังคารที่ 9 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ว่าได้รับฟังการนำเสนอรายงานการวิจัย เกี่ยวกับยุทธศาสตร์ชาติของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปรอ.) รุ่น 4616 ซึ่งระบุเกี่ยวกับระบบคมนาคมขนส่งผ่านท่าเรือน้ำลึก ที่บ้านปากบารา อ.ละงู จ.สตูล แล้วเชื่อมต่อ จ.สงขลาไปแหลมฉบังเป็นเส้นทางลัดร่นระยะเวลาไปสิงคโปร์ได้ 5 วัน จึงสั่งการให้กระทรวงคมนาคม ไปศึกษาการสร้างทางเชื่อมทางบกเป็นแลนด์บริดจ์อีกเส้น เพื่อเป็นทางเลือกของการขนส่งที่ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และเป็นทางเลือกอีกเส้นหนึ่งหากช่องแคบมะละกามีปัญหา
มติครม.วันนั้นมีการอนุมัติยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์ และให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นหน่วยงานประสานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
ต่อมา ในการประชุมสัมมนาหอการค้าไทยทั่วประเทศ ครั้งที่ 22 ได้ข้อสรุปและทำสมุดปกขาวยื่นเสนอ 3 ยุทธศาสตร์หลักต่อนายกรัฐมนตรี โดยหนึ่งในนั้นคือยุทธศาสตร์ลอจิสติกส์เพื่อรองรับ ”ศูนย์กลางอินโดจีน” ที่เสนอให้มีโครงการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคม ระหว่างท่าเรือฝั่งอันดามันและท่าเรือฝั่งอ่าวไทย (Land Bridge) เพิ่มอีก 2 เส้นทาง คือ ภาคใต้ตอนล่าง จากท่าเรือปากบารา อ.ละงู จ.สตูล กับท่าเรือสงขลา ซึ่งอยู่ในกรอบการพัฒนาสามเหลี่ยมเศรษฐกิจไทย-มาเลเซีย-อินโดนีเซีย และภาคใต้ตอนบน ในเส้นทางระนองกับชุมพร เพื่อเป็นแลนด์บริดจ์เส้นที่สองและสาม นอกเหนือจากถนนยุทธศาสตร์พลังงานจากทับละมุ จ.พังงาถึง อ.สิชล จ.สุราษฎร์ธานี
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม เคยลงพื้นที่สตูลและกล่าวถึงโครงการท่าเทียบเรือปากบารา เมื่อกลางเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา โดย รมต.สุริยะ ขายฝันว่า ท่าเทียบเรือมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาทนี้ จะทำให้ชาวสตูลมีรายได้ต่อหัวเพิ่มขึ้นจากจาก 93,000 บาทต่อปี เป็น 107,154 บาทต่อปี
ตามผลการศึกษาของบริษัทเซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี จำกัด (ซีเทค) ระบุถึงที่ตั้งท่าเทียบเรืออยู่บริเวณชายฝั่งทะเลปากคลองปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล และอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โยจะใช้ประโยชน์จากแนวสันดอนทรายในทะเลที่อยู่บริเวณปากคลองปากบารา เป็นพื้นที่ลานจอดรถบรรทุกและที่ตั้งอาคาร ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 600 ไร่ ส่วนตัวท่าเทียบเรือน้ำลึกและลานกองตู้สินค้าจะอยู่ถัดออกไป ในบริเวณด้านใต้ของเกาะเขาใหญ่เพื่อให้อยู่ในแนวน้ำลึก
ท่าเทียบเรือน้ำลึกและลานกองตู้สินค้า เป็นพื้นที่ถมทะเลประมาณ 165 ไร่ อยู่ใกล้แนวน้ำลึกห่างจากฝั่งประมาณ 4 กม. ขนาดพื้นที่กว้างประมาณ 350 เมตร ยาวประมาณ 750 เมตร จอดเรือที่มีความยาว 225 เมตร ได้ 3 ลำพร้อมกัน นอกจากนั้น ยังจะมีท่าเรือประมงและท่าเรือท่องเที่ยวเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย
ขณะนี้บริษัทซีเทค กำลังอยู่ระหว่างการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมกับเปิดรับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่
นายนาวี พรหมทรัพย์ ประธานกลุ่มพัฒนาสตูล และอดีตสมาชิกสภาจังหวัด เล่าว่า แรกเดิมที โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกของ จ.สตูล ได้รับการผลักดันโดยตนและกลุ่มพัฒนาสตูลเป็นหลัก และมักได้รับเสียงตอบรับในทำนองไม่มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จจากนักธุรกิจ นักการเมือง และข้าราชการระดับสูง
“ผมวิ่งมาตั้งแต่ผลักดันท่าเทียบเรือที่บุโบย ซึ่งเพิ่งย้ายมาเป็นที่ปากบารา ก็ราวๆ 2 ปีก่อน ตอนนั้นลูกหลานชาวสตูลคนหนุ่มๆ หลายคนคิดว่า เราเป็นคนสตูลที่ค่อนข้างมีโอกาสได้เรียนสูง ไม่อยากจะคาดหวังกับนักการเมือง และข้าราชการที่ย้ายมากินตำแหน่งแล้วจากไป ซึ่งก็คาดหวังไม่ได้มานานจึงตั้งกลุ่มพัฒนาสตูลขึ้นมา หวังกันว่าจะพัฒนาจังหวัดโดยคนสตูลมีส่วนร่วมท่าเทียบเรือเป็นงานชิ้นแรกของเรา”
นายนาวี เปิดเผยว่า ตอนแรกท่าเทียบเรือน้ำลึกกับ จ.สตูล ไม่มีการสนับสนุนเท่าไหร่ เนื่องจากต่างก็เห็นกันว่ามีความเป็นไปได้ยาก แต่จากการตระเตรียมข้อมูลของกลุ่มฯ และโอกาสที่ตนได้ร่วมจัดทำและเสนอในยุทธศาสตร์จังหวัด จึงทำให้ท่าเทียบเรือของ จ.สตูล กลับมาเป็นธงในการพัฒนาจังหวัดอีกครั้ง
“ปัจจุบันยางในภาคใต้ของไทย ต้องส่งไปขึ้นเรือที่ท่าปอร์ตคลัง ของมาเลเซียถึง 80 % ถ้าดูตัวเลขแล้ว จากปี 44 ที่คิดเป็นมูลค่าราว 6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นกว่าล้านบาทในปี 46 นอกจากนี้ยังมีนโยบายอุตสาหกรรมฮาลาลที่จะส่งไปตะวันออกกลางเป็นหลัก ในขณะที่เราก็บริโภคน้ำมันจากตะวันออกกลางถึง 80 % จะเป็นประโยชน์กับประเทศอย่างมากในระยะยาว หากเรามีท่าเรือฝั่งอันดามันเป็นของตัวเอง โดยไม่ต้องใช้ท่าของมาเลเซียและไม่ต้องอ้อมมะละกา”
นายนาวี กล่าวต่อว่า โครงการท่าเทียบเรือเริ่มได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากรัฐบาลเมื่อตอนต้นปี 2547 และได้รับการบรรจุอยู่ในยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัด รวมทั้งได้รับการผลักดันกระทั่งถึงปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ด้วยท่าทีของหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ที่ผลักดันโครงการดังกล่าว ภายใต้บรรยากาศของการหาเสียงเลือกตั้งนั้น นายนาวี กล่าวว่า กำลังจับตามองอยู่ว่า โครงการท่าเรือจะเป็นเหยื่อล่อทางการเมืองหรือไม่ ส่วนตัวไม่อยากให้คนสตูลเปรียบเสมือนปลาที่โดดเข้าฮุบเหยื่อ
“ต้องยอมรับว่า โครงการนี้ได้รับการผลักดันโดยเอกชนตั้งแต่เริ่มแรก ส่วนรัฐบาลมาเห็นดีด้วยทีหลัง ที่สำคัญนักการเมืองของไทยรักไทยที่ลงสมัครในครั้งนี้ทั้งสองเขตไม่มีบทบาทผลักดันโครงการนี้มาแต่ใหนแต่ไรเลย เห็นด้วยกับการคิดใหม่ ทำใหม่ แต่การไม่คิด และไม่ทำ และตัดยอดเอาไปเป็นผลงานของตัวเอง อย่างนี้ก็ไม่ยุติธรรมเท่าไหร่” ประธานกลุ่มพัฒนาสตูล กล่าว