xs
xsm
sm
md
lg

รัฐบาลพ่ายแพ้สงครามคอร์รัปชั่น?

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

วันที่ 17 ธันวาคม ผมจะไปพูด เรื่อง รัฐบาลพ่ายแพ้สงครามคอร์รัปชัน ที่รัฐสภา

ผมขอเขียนเตรียมไว้ก่อน เพื่อป้องกันวัฒนธรรมบิดเบือน กับทั้งมี คุณเอกยุทธ อัญชันบุตร มาร่วมด้วย จะเข้าใจผิดกันใหญ่ว่านัดกันยกพวกมาถล่มรัฐบาล ซึ่งไม่ใช่ ผมไม่สนตัวบุคคล ผมสนใจพฤติกรรมและโครงสร้างที่ก่อให้เกิดคอร์รัปชันมากกว่า ผมเองไม่รู้จักและไม่เคยพบเอกยุทธ ผมมิใช่ทั้งขาประจำและขาจร แต่ผมเป็นผู้หนึ่งที่เชื่อแน่ว่า รัฐบาลพ่ายแพ้สงครามคอร์รัปชัน จริง นายกรัฐมนตรีพ่ายแพ้สงครามคอร์รัปชันจริง เหมือนกับรัฐบาลทุกรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีทุกคน

แต่รัฐบาลนี้ ใหญ่โตกว่า ทำอะไรมากกว่า มีอำนาจมากกว่า และยังอยู่ในอำนาจจึงตกเป็นเป้ามากกว่า มีอะไรไม่ดี โทษใครไม่ได้ ธรรมเนียมประชาธิปไตยให้โทษรัฐบาลไว้ก่อน

เมื่อ 10 ธันวาคม ผมบังเอิญพบผู้ใหญ่ท่านหนึ่งบนเรือบิน คือคุณจิระ ภานุพงศ์ อดีตเลขาธิการ คณะ กรรมการส่งเสริมการลงทุน ก็พากันปรารภห่วงเรื่องคอร์รัปชัน ในบ้านเมือง ที่สงสัยว่ามากขึ้น คุณจิระโทษว่า conspicuous consumption หรือความโลภในการบริโภคจนเกินจำเป็นว่าเป็นสาเหตุหนึ่ง เช่น คนมีขี่รถคันละ 30 ล้าน ส่วนคนจนก็ไม่เจียมตัวชอบขี้ตามช้าง เป็นต้น แม้จะเพิ่มเงินเดือนให้ผู้น้อยจนพอก็คงแก้ไม่ได้ เพราะผู้ใหญ่ที่มีเกินพอแล้วก็ยิ่งโกงกินมากกว่า

เมื่อก่อนเราใช้คำว่า “ฉ้อราษฎร์-บังหลวง” กับข้าราชการที่โกงกิน เดี๋ยวนี้เราทับศัพท์ว่า”คอร์รัปชัน” มีความหมายกว้างครอบคลุมผู้มีอำนาจหน้าที่เพิ่มอีกหลายประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง และพฤติกรรมที่เรียกว่าคอร์รัปชันก็มีมากหลายและพิสดารยิ่งขึ้น เช่น คำว่าคอร์รัปชันทางนโยบาย ซึ่งไม่ใคร่จะมีใครอธิบายว่าคืออย่างไร การที่นักวิชาการหรือสื่อชอบพูดคำโตๆและครอบจักรวาลเกินไปทำให้เข้าใจสับสนและกำจัดคอร์รัปชันได้ยากขึ้น

หากจำกัดคำว่าคอร์รัปชันไว้เฉพาะการคดโกงยักยอกหรือดูดดึงเอางบประมาณหรือรายได้ของรัฐบาลมาเป็นลาภส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นการจัดจ้าง ซื้อหา ประมูล หรือให้สัมปทาน ทำให้ของแพงขึ้นหรืองบประมาณหายไป ประชาชนควรจะได้ประโยชน์ครบ 100 ล้านกลับได้แค่ 40 ล้าน เป็นต้น กับอีกอย่างหนึ่ง คือ การใช้อำนาจหน้าที่เรียกร้องเงินจากการเลื่อนยศปลดย้ายของข้าราชการ หรือเรียกสินบนจากประชาชน หรือการใช้งบประมาณเพื่อให้เกิดประโยชน์หรือลาภอันมิควรได้กับตนเองหรือพวกพ้องบริวาร ทั้งหมดนี้หากเอาจริง อาจติดตามได้ไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นการป้องกันหรือการเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ กฎหมายอาญาที่มีอยู่ก็เกินพอ ไม่จำต้องตั้งหน่วยงานหรือศาลพิเศษให้เปลืองเงินทอง ตั้งแล้วทำอะไรไม่ได้ ก็เหมือนกับคอร์รัปชันอีกแบบหนึ่ง กล่าวโดยรวม ไม่เคยมีรัฐบาลไหนปราบคอร์รัปชันสำเร็จ

ผมเคยเขียนจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลทักษิณ ลงใน “ผู้จัดการ” ขอให้รัฐบาลปราบคอร์รัปชันให้จริงจัง เริ่มด้วยกรณี”เงินไม่มา-ข้าไม่เซน” อันเป็นการเปิดช่องให้ข้าราชการผู้มีอำนาจหน้าที่ถ่วงเวลาหรือเรียกค่าตอบแทนจากพ่อค้าประชาชนได้ กับทั้งได้ขอให้ติดตามข้อเสนอของสมาคมผู้รับเหมาไทยที่ว่างานประมูลของหน่วยราชการตั้งราคากลางสูงเกินความจริง สามารถเลิกฮั้ว ลดลงได้อีกหลายเท่า พร้อมทั้งระบุว่ามีหน่วยงาน 3 กรม 1 สำนักที่มีแนวโน้มคอร์รัปชันสูง คือ กรมท. กรมย. กรมช. กับสำนักร.ผมนำส่งนายกรัฐมนตรีและรัฐมน ตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทย จนบัดนี้ผมยังไม่ได้รับคำตอบ มีแต่อธิบดีกรมเร่งรัดพัฒนาชนบทซึ่งเปลี่ยนมาจากสำนักร.เท่านั้นที่ตอบผมผ่านหนังสือพิมพ์ว่ากรมจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร

ผมเคยถามรุ่นเพื่อนรุ่นน้องที่เคยเป็นอธิบดีผู้ว่าราชการจังหวัดและนายพลตำรวจว่ากระบวนการและพฤติกรรมในการคอร์รัปชันนั้นมีกี่รูปแบบ และจะแก้ไขอย่างไร ดูเหมือนทุกคนมีความรอบรู้และมองเห็นหนทางเกือบทุกกรณี แต่คงจะไม่มีใครกล้าเป็นพยานหรือให้ปากคำจนกว่าจะมี พ.ร.บ.คุ้มครอง หรือ.นิรโทษกรรม ผมอยากให้เราจัดทำบัญชีเพื่อขุดรากถอนโคนคอร์รัปชันจากเมืองไทยให้ครบวงจรเสียที แต่รัฐบาลไหนจะกล้า ต่างก็กินอยู่กับปาก-อยากอยู่กับท้อง รู้เช่นเห็นชาติ พัวพันพึ่งพิงกันไปหมด ทั้งสิ้น

การปราบปรามคอมมิวนิสต์และการพัฒนาเศรษฐกิจแบบสงครามเย็นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือรัฐประหาร 2490 ได้ก่อกำเนิดโครงสร้าง พฤติกรรม และวัฒนธรรมคอร์รัปชันแบบใหม่ให้กับประเทศไทย มีความมโหฬารเป็นอัตราส่วนคู่กับอำนาจของเผด็จการและของระบบราชการที่ใหญ่โตขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การปกครองระบบรวมศูนย์-รวบอำนาจ กับการเมืองทุนนิยมผูกขาดพัฒนาขึ้นสุดขีด ทั้งหมดนี้ต่างก็เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน มีความคงทนถาวรเกินกว่าที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดจะต่อกรได้ รัฐบาลไทยเคยมีนายกฯที่ซื่อสัตย์ เช่น อาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ นายธานินทร์ ไกรวิเชียร และนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นต้น แต่คอร์รัปชันยังเต็มบ้านเต็มเมืองอยู่จนทุกวันนี้

สิ่งที่ค้ำจุนโครงสร้างและพฤติกรรมคอร์รัปชัน ได้แก่กฎหมายและระเบียบที่ไม่โปร่งใสเป็นประชาธิปไตย ที่ให้อำนาจนักการนักการเมืองและข้าราชการมากเกินไป เช่น คำสั่งคณะปฏิวัติซึ่งยังมีใช้อยู่ มติคณะรัฐมนตรีซึ่งบางครั้งมีอำนาจเหนือกฎหมาย อำนาจดุลพินิจของเจ้ากระทรวง คณะกรรมการที่ตั้งโดยอธิบดี ผู้ว่าราชการจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการ หรือแม้กระทั่งผู้อำนวยการโรงเรียนในชนบท กอปรกับทั้งวัฒนธรรมเกรงกลัวผู้ใหญ่และการลูบหน้าปะจมูกทำให้การเอื้อประโยชน์ให้พวกพ้องบริวารเหนือความถูกต้องยุติธรรมเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อเชื่อวัน ในทุกกระทรวงทบวงกรม นักการเมือง ข้าราชการและประชาชนไทย ตั้งแต่ข้างบนจนกระทั่งข้างล่างสุด ต่างก็ตกอยู่ภายใต้ สามลัทธิอุบาทว์ ได้แก่ ลัทธิตามอย่าง ลัทธิตามน้ำ และ ลัทธิตามพึ่ง

การที่พรรคการเมืองติดสินบน ซื้อเหมากลุ่มการเมืองท้องถิ่นทั้งอบจ. และ อบต. ทำให้ลัทธิอุบาทว์หยั่งลงไปถึงรากหญ้า ระบาดไปทั่วประเทศไทย

ผมจะไม่ยกตัวอย่างลัทธิอุบาทว์นี้ แต่อยากจะให้พวกเราช่วยกันคิด ติดตามและจัดทำบัญชี รวบรวมให้ครบว่ามีอะไรบ้าง และแต่ละอย่างจะจัดการกันอย่างไร

ผมขอแถมคอร์รัปชันอีกแบบหนึ่งสั่งตรงมาจากอเมริกา ทั้งๆที่เป็นทุนนิยมสุดโต่ง อเมริกากลับเกรงกลัวพ่อค้าที่มีอำนาจเหนือการเมือง ในสงครามกลางเมืองปี 1863 ประธานาธิบดีลินคอล์นกล่าวว่า “เบื้องหน้าของข้าพเจ้าคือกองทัพฝ่ายตรงกันข้าม ข้างหลังข้าพเจ้ามีบรรดานายธนาคาร ข้าพเจ้านั้นกลัวนายธนาคารมากที่สุด” แฟรง
กลิน รูสเวลต์ เตือนชาวอเมริกันว่า “เสรีภาพภายใต้ระบอบประชาธิปไตยจะเสื่อมสลายถ้าหากเมื่อใดประชาชนยอมให้อำนาจของเอกชนเติบโตและเข้มแข็งกว่าอำนาจของรัฐ เพราะนั่นแหละคือ ฟาสซิสต์-หรือ การที่บุคคลหนึ่งบุคคลใด กลุ่มหนึ่งกลุ่มใด หรืออำนาจเด็ดขาดพรรคหนึ่งพรรคใดเข้ามาเป็นเจ้าของรัฐบาล”

ขณะนี้ค่อนอเมริกากำลังจับตา Corporate cronyism หรือ ระบบบริษัท-บริวารนิยมของบุช ที่เข้าครอบครองอเมริกา ผมขอแปลบทความตอนหนึ่งของ โรเบิร์ต เคนเนดี้ จูเนียร์ เรื่อง “Crimes Against Nature: อาชญากรรมต่อธรรมชาติ” ดังต่อไปนี้

“ ทุกวันนี้ ยิ่งกว่ายุคใด ชาวอเมริกันจะต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่างทุนนิยมเสรี –ซึ่งทำให้อเมริกายิ่งใหญ่-กับระบบบรรษัทธิปไตยซึ่งกำลังคอร์รัปขันกระบวนการเมือง รัดคอระบอบประชาธิปไตย และเขมือบทรัพยากรธรรมชาติของอเมริกา

ทุนนิยมบรรษัทไม่สนตลาดเสรี เพราะต้องการกำไรที่มั่นคงเป็นใหญ่ วิธีที่แน่นอนก็คือทำลายการแข่งขันและการควบคุมจากรัฐบาลเสีย (โดยเป็นรัฐบาลเสียเอง-ผู้แปล)การเถลิงอำนาจของฟาสซิสต์ยุโรปสมัย 1930 คือตัวอย่างชั้นดีว่าอำนาจบรรษัททำลายประชาธิปไตยอย่างไร ในสเปน เยอรมัน และอิตาลี เจ้าของอุตสาหกรรมรวมหัวกับผู้นำการเมืองฝ่ายขวา หาเหตุอ้างการโจมตีก่อการร้าย สงครามหรือความรักในปิตุภูมิและความมั่นคง เพื่อปิดปากสื่อมวลชน สยบเสียงคัดค้าน และยกรัฐบาลให้บรรษัทเข้าควบคุม นักธุรกิจอุตสาหกรรมเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ผันเงินของรัฐเข้าบัญชีบริษัทโดยให้สัมปทานใหญ่โตเพื่อทำสงครามหรือรับเหมาสร้างโครงการใหญ่ๆ รัฐบาลส่งเสริมให้บริษัทในเครือเขมือบเครือข่ายสื่อสาร เพิ่มความมั่งคั่งให้ชนชั้นที่รวยที่สุด ขายสาธารณูปโภคหรือสาธารณสมบัติให้เอกชน ทำลายสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ สร้างความร่ำรวยระยะสั้นๆโดยธุรกิจสงครามและมลพิษ มุสโสลินีเสนอให้ใช้คำว่า บรรษัทนิยมหรือ Corporatism แทนคำว่าฟาสซิสต์

ประสิทธิภาพของระบอบประชาธิปไตยจะวัดได้ดีที่สุดจากการดูว่า รัฐบาลทำการจ่ายแจกทรัพยากรอย่างไร ทั่วถึงหรือไม่ รัฐบาลระมัดระวังรักษาสาธารณประ โยชน์และสาธารณูปโภคไว้ให้สาธารณชนหรือไม่ หรือว่ารัฐบาลหยิบยื่นดาบและอำนาจการเมืองให้กับเศรษฐีเพื่อมาปล้นสะดมทรัพย์สมบัติของราษฎรทั่วไป”

ประธานาธิบดีบุชมาจากเทกซัส ท่านผู้นำไทยก็เป็นศิษย์เก่าเทกซัส ผมเป็นห่วง
ความเชื่อมั่นอันสุจริตของท่านว่า “บริษัทก็เหมือนกับประเทศ และประเทศก็เหมือน กับบริษัท ทั้งสองอย่างนี้เหมือนกัน จะต้องบริหารให้เหมือนกัน” ความเชื่อนี้อาจจะผิดก็ได้ ความคิดเช่นนี้จะไม่ยอมให้มีอะไรมาถ่วงดุลอำนาจ มีสุภาษิตว่า “อำนาจมากที่สุด-คอร์รัปชั่นมากที่สุด”

รัฐบาลเป็นของชั่วคราว จะพ่ายแพ้หรือชนะคอร์รัปชันก็ช่างรัฐบาล แต่สังคมที่พิทักษ์รักษาโครงสร้างคอร์รัปชันต่างหากที่จะต้องพ่ายแพ้อย่างถาวร
กำลังโหลดความคิดเห็น