xs
xsm
sm
md
lg

แผนธุรกิจสถาบันไทย-เยอรมันดันอุตฯแม่พิมพ์ไทยสู่อินเตอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในยุคที่เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงของการเติบโต และเป็นยุคสมัยแห่งการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ ธุรกิจหลายด้านเติบโตขึ้น เพื่อพร้อมรับการแข่งขันในตลาดโลกสถาบันไทย-เยอรมัน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม และถือเป็นศูนย์การฝึกอบรม และให้บริการด้านเทคโนโลยี เพื่อการเพิ่มผลผลิตของอุตสาหกรรมไทย นับเป็นองค์กรที่อยู่ในก้าวย่างของการเติบโตเช่นกัน
ที่ผ่านมาสถาบันไทย-เยอรมัน ได้จัดตั้งขึ้นด้วยจากโครงการความร่วมมือ ระหว่างรัฐบาลไทย และรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมไทยทางด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นและมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สถาบันไทย-เยอรมัน ถือเป็นองค์กรที่มีความคล่องตัวสูง มีอิสระในการจัดหลักสูตรฝึกอบรมและการให้บริการด้านอุตสาหกรรม มีศูนย์ฝึกอบรมทางเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยและมาตรฐานสูงในระดับสากล สำหรับภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยด้วยการสนับสนุนทางเทคโนโลยี หลักวิชาการระดับคุณภาพที่ทันสมัย ทั้งเครื่องมือเครื่องจักร หลักสูตรการฝึกอบรม และวิทยากรผู้เชี่ยวชาญในมาตรฐานของประเทศเยอรมัน สถาบัน ฯ เปิดโอกาสให้กับช่างเทคนิค และวิศวกรที่ต้องการปรับปรุง พัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองให้ทันสมัย ก้าวทันต่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยความพร้อมทั้งหลักสูตรการฝึกอบรม เทคนิค เครื่องมือและเครื่องจักรของสถาบัน ฯ
นับตั้งแต่สถาบัน ฯ ได้เปิดให้บริการด้านการฝึกอบรมทางเทคโนโลยี สถาบัน ฯ เติบโตไปพร้อม ๆ กับบริษัทที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่เข้ามาใช้บริการ ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นในอัตราสูง และการกลับมาใช้บริการซ้ำอีก แสดงให้เห็นถึงความพึงพอใจของลูกค้าที่มีต่อการให้บริการของสถาบันไทย-เยอรมัน สอดคล้องกับนโยบาย ของกระทรวงอุตสาหกรรม ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไทย และส่งเสริมให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้น การฝึกอบรมเป็นกิจกรรมหลักของสถาบันไทย-เยอรมันที่สามารถให้บริการได้มากกว่า โดยยึดเอาการสนับสนุนและร่วมงานกับภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก ตัวอย่างเช่น การให้บริการเครื่องจักรกล CNC, ให้บริการเครื่องตรวจวัดที่ให้ความเที่ยงตรงสูง ทั้งในส่วนของสถานที่ที่สร้างขึ้นมา เพื่อการฝึกอบรมทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะเครื่องมือเครื่องจักรที่ดีมีคุณภาพ และเครื่องอำนวยความสะดวกอื่น ๆ สามารถรองรับการจัดสัมมนา การเปิดตัวสินค้า การจัดการประชุมและมีบริการพื้นที่ให้เช่าเป็นสำนักงานชั่วคราวในช่วงเริ่มต้นธุรกิจด้วย
สถาบันไทย-เยอรมันได้จัดตั้งขึ้น เพื่อช่วยพัฒนาและให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรม โดยมีวัตถุประสงค์ คือ ให้การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและการแข่งขัน ช่วยให้ประสบความสำเร็จในตลาดไทยและตลาดโลก
นายณรงค์ วรงค์เกรียงไกร ผู้อำนวยการฝ่ายไทย สถาบันไทยเยอรมัน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2548 นี้ เป็นก้าวรุกแห่งการเติบโตของสถาบัน ซึ่งนอกจากโครงการใหม่ๆที่จะเกิดขึ้นในหลายด้านแล้ว ที่สำคัญคืองานส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ โดยจะจัดให้มีโครงการพัฒนาผู้ประกอบการแม่พิมพ์รายใหม่ พัฒนาทักษะช่างแม่พิมพ์ทั้งกลุ่มที่อยู่ในอุตสาหกรรมแล้ว และผู้ที่กำลังจะเข้าสู่โรงงาน การพัฒนาผู้ชำนาญการโรงงาน (Master Craftsmen) เพื่อการจัดการและการสอนงานในโรงงานตามแบบเยอรมัน รวมทั้งการพัฒนา SMEs และการรวมกลุ่มเครือข่าย (Clusters) ในงานแม่พิมพ์ และงานผลิตชิ้นส่วนความเที่ยงตรงสูง นับจาก ปี 2547 - 2552 สถาบันด้วยการสนับสนุนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กำลังจะผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ครั้งใหญ่ โดยใช้งบประมาณราว 1,690 ล้านบาท เพื่อยกระดับและสร้างบุคลากรด้านแม่พิมพ์จำนวนถึง 7,700 คน พัฒนาศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านแม่พิมพ์ 5 ศูนย์และหนุนให้เกิดสถานประกอบการด้านแม่พิมพ์ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนถึง 225 โรงงาน เรียกได้ว่าเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านแม่พิมพ์อย่างยั่งยืนและได้มาตรฐานสากล กิจกรรมตามแผนดังกล่าว จะช่วยให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับงานแม่พิมพ์ได้พัฒนาต่อไปอีกขั้นหนึ่งและสามารถแข่งขันในตลาดเสรีได้ดียิ่งขึ้น เพราะอุตสาหกรรมการผลิตแทบทุกสาขาจำเป็นต้องใช้แม่พิมพ์เป็นต้นแบบในการขึ้นรูปชิ้นส่วนต่างๆ ทั้งที่เป็นโลหะและพลาสติก
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าอุตสาหกรรมแม่พิมพ์เป็นรากฐานสำคัญสำหรับอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ สถาบันไทย-เยอรมัน มีเป้าหมาย พัฒนาอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ ทั้งในด้านการพัฒนาบุคลากร และเทคโลยีการผลิตในสถานประกอบการ เพื่อยกระดับความสามารถ และคุณภาพการผลิตแม่พิมพ์ให้สูงขึ้น พร้อมกันนี้ ได้ใช้ทรัพยากรของสถาบันฯ สนับสนุนการ พัฒนาบุคลากร เช่น มอบทุนการฝึกอบรมให้เยาวชนผู้ด้อยโอกาส ทุนการศึกษาให้นักเรียนในโครงการทวิภาคีน่าจับตามองสำหรับย่างก้าวใหม่ของสถาบันไทย-เยอรมัน ที่มุ่งนำความรู้และประสบการณ์ของบุคลากรภายในมาผสมผสานกับ กิจกรรมต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันภาคอุตสาหกรรมแม่พิมพ์ให้เติบโต และเข้มแข็งเป็นที่ยอมรับของอุตสาหกรรมใหญ่ๆ ในระดับสากลต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น