xs
xsm
sm
md
lg

แฉมะกันใช้มุกเดียวกับอิรัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี – ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศสหรัฐฯ แฉวอชิงตันบิดเบือนข่าวกรองโครงการนิวเคลียร์เกาหลีเหนือ เพื่อหวังผลในการเปลี่ยนแปลงระบอบ อีหรอบเดียวกับที่อ้างเรื่องโครงการอาวุธทำลายล้างสูงเพื่อเปิดสงครามในอิรัก
เซลิก แฮร์ริสัน จากเซนเตอร์ ฟอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล โพลิซีในวอชิงตัน ระบุในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารฟอเรนจ์ แอฟแฟร์ส ว่าคณะบริหารของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช นำเสนอสถานการณ์จำลองที่เลวร้ายที่สุดในรูปของข้อเท็จจริงที่ไม่อาจโต้เถียงได้ รวมถึงบิดเบือนข่าวกรองของตัวเองเกี่ยวกับเกาหลีเหนือ (เหมือนที่ทำกับอิรัก) ด้วยการสร้างภาพให้ดูอันตรายเกินจริงว่า เปียงยางกำลังซุ่มพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
“กลุ่มเฉพาะกิจด้านนโยบายเกาหลีเหนือ” ซึ่งเป็นการรวมตัวกันในหมู่อดีตนายทหาร นักการทูต และผู้เชี่ยวชาญด้านเกาหลี โดยมีแฮร์ริสันเป็นประธาน ยังเรียกร้องให้สหรัฐฯเลิกยืนกรานให้โสมแดงสารภาพเรื่องโครงการยูเรเนียม และเปิดเจรจาเพื่อให้เปียงยางยกเลิกโครงการดังกล่าว
แฮร์ริสันแจงว่า คำกล่าวอ้างของตนอิงกับแหล่งข่าวในหน่วยงานข่าวกรองของญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ซึ่งร่วมงานกับสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (ซีไอเอ)
เขายังกล่าวหาสหรัฐฯ ที่ยืนกรานเรื่องโครงการยูเรนียมเป็นเงื่อนไขในการเจรจา 6 ฝ่าย ทั้งที่เกาหลีเหนือเกือบจะสามารถผลิตระเบิดปรมาณูจากโครงการดังกล่าวได้แล้ว
แฮร์ริสันระบุในบทความว่า วอชิงตันบิดเบือนข่าวกรองเพื่อหวังผลทางการเมือง กล่าวคือสกัดความพยายามของเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในการสร้างความปรองดองกับเกาหลีเหนือ และเปิดทางเลือกในการ “เปลี่ยนระบอบ” ไว้ เช่นที่กระทำในอิรัก
ทั้งนี้ ปลายปี 2002 รัฐบาลบุชใช้โครงการยูเรเนียมของโสมแดงมาเป็นข้ออ้างในการถอนตัวจากกรอบโครงข้อตกลง ที่ระบุถึงการระงับโครงการนิวเคลียร์ของเปียงยางตั้งแต่ปี 1994 แลกเปลี่ยนกับการที่สหรัฐฯให้ความช่วยเหลือด้านพลังงาน และการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์น้ำเบา
ที่น่าสังเกตคือ สหรัฐฯไม่เคยนำหลักฐานเรื่องโครงการยูเรเนียมของเกาหลีเหนือ มาแสดงต่อสาธารณชนแต่อย่างใด
ขณะเดียวกัน เปียงยางตอบโต้ด้วยการขับผู้ตรวจสอบอาวุธนิวเคลียร์ของนานาชาติออกนอกประเทศ พร้อมฟื้นโครงการเพิ่มความเข้มข้นพลูโตเนียม ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าขณะนี้ถึงระดับที่สามารถนำไปผลิตระเบิดนิวเคลียร์ 4-6 ลูก
แฮร์ริสันชี้ว่า หากสหรัฐฯไม่มีหลักฐานใหม่ๆ มาแสดง ก็ควรตัดทิ้งประเด็นโครงการยูเรเนียม เพื่อให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องสามารถโฟกัสกับภัยคุกคามเฉพาะหน้าที่สำคัญกว่า ซึ่งหมายถึงศักยภาพของเปียงยางในการเพิ่มความเข้มข้นพลูโตเนียม และว่า การที่อเมริกาถอนตัวจากข้อตกลงปี 1994 บนพื้นฐานของข้อมูลที่ปราศจากความแน่นอนนั้น ก็เท่ากับเป็นการสกัดการดำเนินการเพื่อรับมือภัยคุกคามดังกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น