xs
xsm
sm
md
lg

ซีทีไอร่วมแควนตัส ตั้ง"ไทยแอร์คาร์โก้"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยภายหลังเป็นประธานในการลงนามร่วมทุนระหว่าง สายการบินแควนตัสของประเทศออสเตรเลีย และบริษัท ซีทีไอ โฮลดิ้ง จำกัด เพื่อจัดตั้ง บริษัท สายการบินขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือ THAI AIRCARGO AIRLINE วานนี้ (9 ธ.ค.) ว่า จัดตั้งสายการบินขนส่งสินค้าสอดคล้องกับนโยบายที่สนับสนุนโครงสร้างการขนส่งแบบครบวงจรและได้มีการเตรียมงบประมาณไว้สำหรับสนับสนุนระบบลอจิสติกส์อีกด้วย รวมถึงรองรับการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิในปี 2548 ซึ่งจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการขนส่งทางอากาศได้ โดยเห็นว่าแนวโน้มการเติบโตด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศในอนาคตจะประมาณ 30-40%

นายอนุศักดิ์ อินทรภูวศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีทีไอ โฮลดิ้ง จำกัด กล่าวว่า บริษัทถือหุ้นในสายการบินไทยแอร์คาร์โก้สัดส่วน 51% ส่วนแควนตัสถือ 49% ทุนจดทะเบียน 250 ล้านบาท โดยสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ(ไออาร์ต้า) กำหนดให้ไทยแอร์คาร์โก้ใช้รหัส "T2" เป็นชื่อทางการค้า และคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้เดือนมิถุนายน 2548 โดยใช้เครื่องบินเอ็มดี 11 จำนวน 1 ลำ ความจุประมาณ 85 ตันต่อลำ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาเช่าซื้อ จากนั้น 2-3 ปี หากธุรกิจได้รับการตอบรับดี ก็จะขยายธุรกิจและเพิ่มเครื่องบินอีก 2-3 ลำ โดยบริษัทได้รับสิทธิการบินประมาณ 250 ชม./เดือน

โดยช่วงแรกจะให้บริการในเส้นทางเอเชีย เช่น เซี่ยงไฮ้ อินเดีย ญี่ปุ่น ใช้เวลาบินไม่เกิน 5-6 ชั่วโมง และในระยะต่อไปจะขยายไปสู่ยุโรปและอเมริกาซึ่งตลาดยังมีความต้องการ โดยจะขนส่งสินค้าเกษตรเป็นหลัก ซึ่งคาดว่าการขนส่งสินค้าทางอากาศจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 10% เป็นอย่างน้อย ส่วนสาเหตุที่เลือกร่วมทุนกับแควนตัสนั้นเนื่องจากแควนตัสประสบความสำเร็จในการขนส่งสินค้าทางอากาศ และมีจุดแข็งด้านระบบสารสนเทศ มีความพร้อมด้านปฎิบัติการและเครื่องมือ ซึ่งจะทำให้ไทยแอร์คาร์โก้ประสบความสำเร็จได้

"ปัจจุบัน กลุ่ม ซีทีไอ มีรายได้ประมาณ 6,000 ล้านบาท โดยมีส่วนแบ่งการตลาดด้านการขนส่งสินค้าทางอากาศมากที่สุด ประมาณ 10% หรือประมาณ 3,000 ล้านบาท ส่วนรายได้ในส่วนของไทยแอร์คาร์โก้นั้น จะต้องสรุปเรื่องเครื่องบินเส้นทางบินและจำนวนเที่ยวบินก่อนจึงจะประเมินได้"

นายอนุศักดิ์กล่าวว่า บริษัทได้ใบอนุญาตการบินเพื่อขนส่งสินค้ามานานแล้วและในปี 2539 และได้ยื่นจดทะเบียนทางการค้าไว้กับกรมการขนส่งทางอากาศและกรมทะเบียนการค้าแล้ว แต่ยังไม่ได้เปิดดำเนินการ เพราะสภาพทางเศรษฐกิจยังไม่เหมาะสม เช่น วิกฤติปี 2540 เหตุการณ์ 11 ก.ย. โรคซาร์ส ไข้หวัดนก และปัญหาราคาน้ำมัน แต่ขณะนี้นโยบายด้านลอจิสติกส์ของรัฐบาลจะสนับสนุนการขนส่งสินค้าทางอากาศได้เป็นอย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น