xs
xsm
sm
md
lg

ทักษิโณมิกส์ (Thaksinomics) ตอนที่ 2

เผยแพร่:   โดย: รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์

ภาคที่ 3-มายาคติว่าด้วยทักษิโณมิกส์

มายาคติที่ 1-ทักษิโณมิกส์เป็นนวัตกรรมทางความคิด ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์ (paradigm shift) ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์

มายาคติที่ 1 ถือเป็น "โฆษณาชวนเชื่อ" เพราะทักษิโณมิกส์ มิได้ นำเสนอปรัชญาใหม่ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มิได้ นำเสนอ Systematic Analytical Framework ใหม่ และมิได้ นำเสนอแนวความคิดใหม่ในสาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ แต่ว่าทักษิโณมิกส์ผสมผสานแนวคิดดั้งเดิมเพื่อนำเสนอเมนูนโยบาย

ทฤษฎีใหม่ทฤษฎีเดียวของทักษิโณมิกส์ คือ การซื้อหุ้นสโมสรฟุตบอลใน Premier League ก่อให้เกิดการพัฒนาวงการฟุตบอลไทยอย่างก้าวกระโดด และก่อให้เกิดความรุ่งโรจน์แก่เศรษฐกิจไทยอย่างสุดขีด

มายาคติที่ 2-ทักษิโณมิกส์ปฏิเสธแบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียบูรพา (East Asian Economic Development Model: EAEDM)

ทักษิโณมิกส์วิพากษ์แบบจำลองนี้ว่าเป็น Single-Track Development แต่ว่ารัฐบาลทักษิณเองในภายหลังก็ดำเนินตามยุทธศาสตร์การพัฒนาแบบเปิด และให้ความสำคัญแก่อุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกเช่นเดียวกับแบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจเอเชียบูรพา นอกจากนี้ นโยบายการส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมทั้งนโยบายเพื่อคนรากหญ้าทั้งหลาย ได้มีการดำเนินการในหลายประเทศในเอเชียบูรพามาก่อนแล้ว จึงไม่ถือเป็นนวัตกรรมทางนโยบายของทักษิโณมิกส์

มายาคติที่ 3-ทักษิโณมิกส์ปฏิเสธฉันทมติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) และ Neoliberalism

ฉันทมติแห่งวอชิงตัน (Washington Consensus) ประกอบด้วย การเปิดเสรีทางเศรษฐกิจ (Liberalization) การถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) การลดการกำกับ/ควบคุม (Deregulation) และการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Stabilization) รัฐบาลทักษิณได้ดำเนินนโยบายสามประการแรก และเดินตาม Neoliberalism ในระดับที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง

มายาคติที่ 4-ทักษิโณมิกส์เน้นนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม (Nationalism)

พรรคไทยรักไทยขี่กระแสชาตินิยมหลังวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ พ.ศ. 2540 จนชนะการเลือกตั้งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2544 ใน 9 เดือนแรก ทักษิโณมิกส์เอียงข้างนโยบายเศรษฐกิจชาตินิยม เพราะความต้องการคะแนนเสียง แต่ก็ลื่นไหลมาสู่นโยบายเศรษฐกิจเสรีนิยมมากขึ้น เพราะความต้องการผลประโยชน์ส่วนบุคคล อย่างไรก็ดี รัฐบาลยังคงกลิ่นอายความเป็นชาตินิยมอยู่บ้าง ดังเห็นได้จากการปลุกกระแสชาตินิยมเรียกร้องให้คนไทยโบกธงชาติไทยด้วยความสง่างาม และด้วยความภาคภูมิใจภายหลังการชำระคืนเงินกู้ IMF

ภายใต้ทักษิโณมิกส์ รัฐบาลจะยึดลัทธิเศรษฐกิจใดก็ได้ที่ให้ผลประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง.....

มายาคติที่ 5-ทักษิโณมิกส์เน้น Inward-Looking Strategy

ยุทธศาสตร์การพัฒนาทวิวิถีภายใต้ทักษิโณมิกส์ให้ความสำคัญแก่ Domestic-Led Growth กอปรกับการเอียงข้างจุดยืนชาตินิยมในระยะแรกเริ่ม ทำให้มีความเข้าใจกันว่า ทักษิโณมิกส์ยึด Inward-Looking Strategy ทว่ารัฐบาลทักษิณค่อย ๆ เปลี่ยนเมนูนโยบายไปสู่ Outward-Looking Strategy มากขึ้น เช่น นโยบายส่งเสริมสินค้า OTOP เพื่อเพิ่มการส่งออก นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว การทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแฟชั่น การจัดตั้งเขตการค้าเสรีกับนานาประเทศ (FTAs) เป็นต้น

มายาคติที่ 6-ทักษิโณมิกส์ลดการพึ่งพิงต่างประเทศ

เนื่องจากนโยบายที่เกี่ยวข้องกับต่างชาติ ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าขนาดของการเปิดประเทศจะลดลงตามเจตนารมณ์ดั้งเดิมของทักษิโณมิกส์ โดยที่ผลของการยึดนโยบาย Consumption-Led Growth การทุ่มการใช้จ่ายของภาค รัฐบาลและการส่งเสริมการส่งออก ทำให้ขนาดการเปิดประเทศเพิ่มขึ้น การลดลงของอัตราส่วนเงินออมต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ การกระตุ้นการใช้จ่ายนำไปสู่การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้น อันจะนำไปสู่การพึ่งพิงแหล่งเงินทุนภายนอกที่เพิ่มขึ้น

มายาคติที่ 7-ทักษิโณมิกส์เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

มีความเข้าใจผิดโดยทั่วไปว่า ทักษิโณมิกส์เดินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แท้ที่จริงแล้ว ทักษิโณมิกส์มิได้ยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มิได้เดินตามยุทธศาสตร์ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาหรือฉันทมติแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อมีความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ชุมชนกับผลประโยชน์ของธุรกิจขนาดใหญ่ ทักษิโณมิกส์จะเข้าข้างกลุ่มทุน

มายาคติที่ 8-ทักษิโณมิกส์สลัดแอกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF)

หลังจากที่รัฐบาลชำระหนี้คืนกองทุนการเงินระหว่างประเทศได้หมดตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546 นายกรัฐมนตรีทักษิณประกาศย้ำว่า รัฐบาลจะไม่คลานไปหา IMF อีกแล้ว แต่ว่า "แอกทางความคิด" ยังคงอยู่ จากการที่รัฐบาลกำหนดนโยบายตามเมนูนโยบายของ IMF เพราะการไม่ปฏิบัติตามเมนูนโยบายของ IMF ในประเด็น "การรักษาเสถียรภาพ" มีผลต่อการจัดอันดับความน่าเชื่อถือทางการเงิน (International Credit Rating) รัฐบาลทักษิณยังคงปฏิบัติตาม "IMF Policy Conditionalities" ในประเด็นการถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชน (Privatization) เมื่อการถ่ายโอนการผลิตไปสู่ภาคเอกชนให้ประโยชน์แก่ตนเองและพวกพ้อง นอกจากนี้ IMF ยังคงมีอิทธิพลต่อกระบวนการกำหนดนโยบายในประเทศไทย อย่างน้อยในหมู่ขุนนางนักวิชาการ (Technocrats)

รัฐบาลไทยไม่ต้องคลานไปหา IMF อีกแล้วหรือ?-ไม่มีหลักประกันว่า รัฐบาลไม่ต้องขอ Stand-By Arrangements จาก IMF อีกในอนาคต ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้องขอ Stand-By Arrangements ในอนาคตคือ ความผิดพลาดในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค และ "ความไม่มีโชค"

มายาคติที่ 9-ทักษิโณมิกส์ไม่นำมาซึ่งวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ

รัฐบาลทักษิณย้ำประชาสัมพันธ์อยู่เสมอว่า วิกฤตการณ์เศรษฐกิจดังที่เกิดขึ้นในปี 2540 จะไม่มีวันเกิดขึ้นอีก จนดูเสมือนหนึ่งว่า ทักษิโณมิกส์จะไม่นำมาซึ่งวิกฤตการณ์เศรษฐกิจ นโยบายภายใต้ทักษิโณมิกส์ เช่น การส่งเสริมการใช้จ่ายในการบริโภค การทุ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลภายใต้ชุดนโยบายเอื้ออาทรโดยมิได้ปฏิรูประบบภาษีอากร และการทุ่มการใช้จ่ายของรัฐบาลโดยหลบเลี่ยงกลไกการตรวจสอบและการรับผิดต่อรัฐสภา อาจส่งผลให้เกิดการขาดดุลการคลังและการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อันอาจนำไปสู่วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในอนาคตที่มีรูปลักษณ์แตกต่างจากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และยากที่จะสร้างระบบเตือนภัยล่วงหน้า (Early Warning System)

มายาคติที่ 10-ไม่มีอะไรดีในทักษิโณมิกส์

แม้ว่าทักษิโณมิกส์จะไม่มีอะไรใหม่ในด้านปรัชญาเศรษฐศาสตร์ ระเบียบวิธีการวิเคราะห์ และแนวความคิดพื้นฐาน ไม่มีกรอบการวิเคราะห์ที่เป็นระบบและชัดเจนเกี่ยวกับขนาดของการเปิดประเทศและขนาดของภาครัฐที่เหมาะสม แต่ทักษิโณมิกส์ใช่ว่าจะไม่มีอะไรดีเสียเลย

จุดเด่นของทักษิโณมิกส์อยู่ที่ การวางกรอบความคิดและนำกรอบความคิดไปดำเนินนโยบายในการสถาปนา Social Safety Net แต่ว่าการสถาปนา Social Safety Net โดยรัฐบาลมุ่งเอื้ออาทรประชาชนมากเกินไป อาจทำให้ Social Safety Net อยู่ในระดับที่ Marginal Social Cost มากกว่า Marginal Social Benefit ได้ ดังนั้น การสถาปนาดังกล่าว ควรจะอยู่ในระดับที่เหมาะสม (Optimal Social Safety Net) ซึ่งเป็นระดับที่พึงปรารถนาในแง่ของสังคมโดยส่วนรวม

---------
หมายเหตุ : บทความนี้มาจากการอภิปรายทางวิชาการเรื่อง "Thaksinomics" จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2547
ผู้เขียนขอขอบคุณนายสุปรีดี พิบูลย์พัฒน์ ซึ่งช่วยเรียบเรียงจากการอภิปรายดังกล่าวนี้

กำลังโหลดความคิดเห็น