Robert Boyle ถือกำเนิดเมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2170 (ในสมัยพระอินทราชา) ที่ปราสาท Lismore แคว้น Waterford ประเทศไอร์แลนด์ ในครอบครัวที่นับถือคริสต์ศาสนานิกายโปรแตสแตนต์ โดย Boyle เป็นบุตรคนที่ 7 ของบิดาผู้เป็น Earl of Cork และมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันถึง 15 คน
บิดาของ Boyle เชื่อว่า วิธีเลี้ยงลูกที่ดี ก็คือการให้การศึกษาที่ดีที่สุด การมีฐานะร่ำรวย และฐานันดรศักดิ์สูงช่วยให้ Boyle ได้เข้าศึกษาต่อที่วิทยาลัย Eton เมื่อมีอายุได้ 8 ปี โดยได้เรียนภาษาฝรั่งเศส เต้นรำ และดนตรี ถึงแม้ Boyle จะเป็นเด็กเรียนที่มีเพื่อนมาก และเพื่อนทุกคนชื่นชม แต่เมื่อเรียนที่ Eton ได้ 3 ปี บิดาไม่พอใจอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน จึงให้ลูกของตนลาออกแล้วจัดหาครูมาสอนให้ที่บ้านแทน
เมื่อ Boyle อายุ 12 ขวบ บิดาได้ให้บุตรชายเดินทางไปเรียนศิลปวิทยาต่างๆ และท่องเที่ยวยุโรป และเมื่อเดินทางถึง Geneva เด็กชาย Boyle ก็ได้มีโอกาสเรียนคณิตศาสตร์ วรรณคดี เกษตรศาสตร์ และแพทยศาสตร์ รวมทั้งเรียนภาษาอิตาเลียนด้วย และขณะพำนักอยู่ที่เมือง Florence นี้เอง เขาได้อ่านหนังสือชื่อ Dialogue Concerning the Two Chief World Systems ของ Galileo ผู้กำลังใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตที่เมือง Ascetri ซึ่งอยู่ใกล้ Florence การศึกษางานของ Galileo, Francis Bacon และ Descartes ได้ทำให้วิถีชีวิตของ Boyle เปลี่ยนจากเด็กที่สนใจภาษามาสนใจวิทยาศาสตร์แทน เพราะเขารู้สึกสงสาร และเห็นใจ Galileo มากที่ถูกตุลาการศาสนาสมัยนั้นกักขัง และ Boyle คิดว่า คำสอนของ Galileo ถูกต้องทุกประการ
เมื่อสำเร็จการศึกษาในยุโรป Boyle เดินทางกลับอังกฤษ และได้ไปทำงานที่มหาวิทยาลัย Oxford ขณะอยู่ที่นั่น เขาได้พบนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆ มากมายเช่น Christopher Wren สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงและ John Wallis นักคณิตศาสตร์ผู้โด่งดัง แต่เหนือสิ่งอื่นใด Boyle ได้พบกฎสำคัญกฎหนึ่งของวิชาฟิสิกส์และเคมี ที่โลกทุกวันนี้รู้จักในนามว่า กฎของ Boyle (แต่กฎนี้นักวิชาการในยุโรปหลายคนเรียกกฎของ Mariotle) โดยในปี พ.ศ. 2205 (รัชสมัยพระนารายณ์มหาราช) Boyle ได้ตีพิมพ์ผลงานชื่อ New Experimento Physico-Mechanicall Touching the Spring of the Air and its Effects ในการทดลองนี้ Boyle ได้นำหลอดแก้วรูปตัว J ที่มีปลายข้างหนึ่งปิด ส่วนอีกปลายข้างหนึ่งเปิดมาบรรจุด้วยปรอท และ Boyle ได้พบว่า ปลายสั้นของหลอดรูปตัว J มีอากาศอยู่ภายใน และเมื่อระดับปรอทในแขนทั้งสองของหลอดเท่ากัน นั่นแสดงว่า ความดันอากาศภายนอกเท่ากับความดันอากาศที่อยู่ในหลอดปลายปิด แต่เมื่อเขาเอาปรอทเติมทางแขนข้างขวาของหลอด ปริมาตรของอากาศจะลดทันที และเขาก็ได้พบว่า เมื่อความดันอากาศเพิ่มขึ้น 2 เท่า ปริมาตรก๊าซจะลดลงครึ่งหนึ่ง และเมื่อความดันเพิ่มขึ้นสามเท่า ปริมาตรก๊าซในหลอดจะลดลงเหลือหนึ่งในสามของปริมาตรเดิมเช่นนี้เรื่อยไป Boyle จึงกล่าวสรุปเป็นกฎว่า ถ้าอุณหภูมิของก๊าซคงที่คือไม่เปลี่ยนแปลง ความดันของก๊าซจะแปรผกผันกับปริมาตรของมัน
การทดลองนี้มี Robert Hooke เป็นนักทดลองผู้ช่วยสร้างปั๊มสูบอากาศเข้าออก เพื่อให้ความดันของก๊าซเปลี่ยนแปลง ความยิ่งใหญ่ของการทดลองนี้คือ Boyle ได้สร้างสิ่งที่ธรรมชาติไม่ทำ และไม่มีขึ้นในห้องทดลองเป็นครั้งแรก
นอกจากนี้ Boyle ก็ยังพบอีกว่า ในการจุดเทียนไข เปลวไฟต้องการอากาศในการลุกไหม้เช่นเดียวกับ กบ นก และแมวที่ต้องการอากาศในการดำรงชีวิต ส่วนเสียงนั้น ไม่สามารถเดินทางผ่านสุญญากาศได้ ดังนั้น ถ้าให้กระดิ่งสั่นในขวดแล้ว และสูบอากาศออกทีละน้อยๆ เสียงนาฬิกาที่ได้ยินจะแผ่วลงๆ จนไม่ได้ยินในที่สุด
เมื่ออายุได้ 26 ปี Boyle ได้จัดให้นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์ แพทย์ และวิศวกรมาพบปะกันทุกสัปดาห์ เพื่อเล่าและอภิปรายความรู้ต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในสมัยนั้น เช่น ได้จัดให้มีการบรรยายเรื่องการหมุนเวียนของเลือดในคน ทฤษฎีจักรวาลของ Copernicus ดาวหาง ดวงจันทร์ของดาวพฤหัสบดี ธรรมชาติของอากาศ การเพิ่มประสิทธิภาพของกล้องโทรทรรศน์ และการสร้างสุญญากาศ เป็นต้น และเมื่อถึงวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2203 เหล่าสมาชิก 12 คน ก็ได้ประกาศจัดตั้งวิทยาลัย Physico-Mathematicall Experimental Learning ซึ่งสถาบันนี้ได้กลายเป็นสมาคมวิชาการ Royal Society ในเวลาต่อมา ดังนั้น Boyle จึงได้ชื่อว่า เป็นบิดาคนหนึ่งที่ให้กำเนิดสมาคมที่ทรงเกียรตินี้
เมื่อ Boyle อายุได้ 34 ปี เขาต่อต้านคำสอนของ Aristotle ที่ว่าสสารประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ โดยได้แถลงว่า สสารประกอบด้วยอนุภาคชนิดต่างๆ หลายชนิดที่ถูกนำมาประกอบกัน และในกรณีของเหลว อนุภาคจะเคลื่อนที่ค่อนข้างอิสระ แต่เวลาอยู่ในของแข็ง อนุภาคแทบไม่เคลื่อนที่เลย
Boyle มีผลงานลงพิมพ์ในวารสารของ Royal Society หลายเรื่อง และเป็นนักเคมีคนแรกที่พยายามทำเคมีให้เป็นวิชาที่เน้นปริมาณ เพราะเขาเชื่อว่า เคมีจะพัฒนาได้ต้องอาศัยคณิตศาสตร์เป็นหลัก เขาสร้างวิธีทดสอบสภาพความเป็นกรด-ด่างของสารละลาย และหาองค์ประกอบของสสารโดยวิธีเผา เขาตอกย้ำเสมอว่า นักวิทยาศาสตร์ต้องใช้การทดลองความแม่นยำ และการสังเกตที่รอบคอบ วิทยาศาสตร์จึงจะมีคำตอบและค่าสำหรับเหตุการณ์ทุกเรื่อง
เมื่ออายุได้ 53 ปี Boyle ได้ปฏิเสธการดำรงตำแหน่งเป็นนายก ของ Royal Society โดยอ้างเหตุผลว่า การสาบานตนเข้ารับตำแหน่งขัดกับศาสนาที่เขานับถือ
Boyle เสียชีวิตเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2234 ที่กรุงลอนดอน ขณะมีอายุได้ 64 ปี โดยในพิธีศพ Christian Huygens, Robert Hooke และ Gottfried Leibnitz ผู้มีชื่อเสียงได้กล่าวว่า Boyle เสียเวลาค่อนชีวิตเพื่อพิสูจน์สิ่งที่ใครๆ ก็รู้อยู่ในใจว่าจริง
และความจริงก็มีว่า ในสมัยของ Boyle นั้น นักวิทยาศาสตร์ทำงานโดยวิธีนั่งเทียน ดังนั้น จึงไม่มีใครนำการทดลองมาพิสูจน์ และตัดสินความจริง Boyle จึงเป็นบุคคลแรกๆ ที่ชี้นำให้สังคมวิชาการตระหนักในความสำคัญของการตรวจสอบความรู้ โดยเน้นการทดลองที่มีรายงาน กระบวนการทำงาน รายละเอียดของเครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการทดสอบ วิธีการทดลอง ข้อผิดพลาด ข้อควรระมัดระวัง ความยากลำบากในการทดลอง ฯลฯ
และนี่ก็คือ รายงานวิทยาศาสตร์ฉบับแรกที่โลกรู้จัก ซึ่งมีความน่าสนใจ และน่าอ่านมาก นอกจากจะมีผลงานด้านก๊าซแล้ว Boyle ยังได้ศึกษาการทำงานของปั๊ม กาลักน้ำ การสะท้อน และการดูดกลืนแสง เขาได้จัดระบบของสสารในเชิงเคมีออกเป็น 3 ประเภทคือ กรด ด่าง และเป็นกลาง โดยได้ใช้เกณฑ์ง่ายๆ ว่า ถ้ากรดทำให้สารทดสอบสีน้ำเงินเปลี่ยนเป็นสีแดง ดังนั้น สารอะไรที่ทำเช่นนี้ไม่ได้ สารนั้นก็ไม่ใช่กรด และความสนใจในวิชาเคมีนี้เองที่ทำให้ Boyle พบวิธีทดสอบ potassium carbonate กับ ammonia ในเวลาต่อมา ดังนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า Boyle เป็นบิดาของวิชาเคมีวิเคราะห์ (analytical chemistry) ตัวจริง
ตามปกติ Boyle เป็นสุภาพบุรุษที่ไม่ชอบการเผชิญหน้า เพราะเขาไม่ชอบการทะเลาะวิวาท และเป็นคนเคร่งศาสนา ผลงานเขียนของ Boyle ซึ่งมีประมาณ 20,000 หน้า และขณะนี้อยู่ในความดูแลของ Royal Society แสดงให้เห็นความสามารถทางวิชาการของ Boyle และความตั้งใจของ Boyle ที่ใช้ฐานะทางสังคมของตน ในการทำให้สังคมยอมรับวิทยาศาสตร์ และผลงานทั้งหมดของ Boyle นี้ ได้ปรากฏในรูปของชุดหนังสือ The Works of Robert Boyle จำนวน 14 เล่ม ที่มี Michael Hunter เป็นบรรณาธิการ และจัดพิมพ์โดย Pickering และ Chatto ราคา $1,950 ซึ่งได้กล่าวถึงความคิดเห็นของ Boyle ที่มีต่อวิทยาศาสตร์ว่ามีขอบเขต เพราะบางความรู้วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถล่วงรู้ได้ หนังสือชุดนี้ยังได้กล่าวถึงการทดลองเคมี ความไม่น่าจะเป็นไปได้ของอะตอมในมุมมองของ Democritus อีกทั้งยังได้แสดงผลงานของ Boyle ด้านความดันอุทกศาสตร์ ทัศนศาสตร์ สรีรวิทยา และแพทยศาสตร์ด้วย
สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน