ศูนย์ข่าวภูเก็ต -โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตเดินหน้าไม่หยุด จังหวัดเตรียมเสนอขอความเห็นชอบจากครม.ในการประชุมสัญจรที่จังหวัดตรัง 14 ธ.ค.นี้ ส่วนศูนย์ประชุมฯชัดเจนแล้ว เลือกถมทะเลที่สะพานหิน โดยผนวกเข้ากับโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต
ตามที่นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาตรวจราชการที่จังหวัดภูเก็ตเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยได้สั่งการให้จังหวัดภูเก็ต นำผลการศึกษาโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตที่กรมโยธาธิการและผังเมืองได้ศึกษาไว้แล้ว เป็นข้อมูลในการดำเนินการพิจารณารูปแบบโครงการ
ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้กรมขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี พิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการใช้พื้นที่ และแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบภายใน 1 เดือน เพื่อขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)และให้เอกชนมาบริหารโครงการ
รวมทั้งได้สั่งการในส่วนของโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุม และแสดงสินค้านานาชาติจังหวัดภูเก็ต โดยให้จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพ หารือกับผู้แทนกรมโยธาธิการฯ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.) เทศบาลนครภูเก็ต และบริษัทที่ปรึกษา เพื่อพิจารณาพื้นที่ก่อสร้าง คือ ที่ใช้พื้นที่สะพานหินโดยไม่ถมทะเล แต่จะต้องไม่กระทบประโยชน์การใช้ที่ดินของประชาชนในปัจจุบัน
นอกจากนี้ หากการก่อสร้างโดยไม่ถมทะเล ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้พิจารณาการถมทะเลโดยพิจารณาถึง Master Plan ของโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต และหากไม่สามารถดำเนินการที่สะพานหินได้ ให้พิจารณาที่บริเวณท่าฉัตรไชย อ.ถลาง
สำหรับความคืบหน้าในเรื่องนี้ เมื่อเร็วๆนี้ นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ตัวแทนจากกรมโยธาฯ ททท. เทศบาล เจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภูเก็ตและส่วนกลาง ประชุมเพื่อพิจารณาการนำเสนอขออนุมัติโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตจากรัฐบาล
ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า จะนำเสนอโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต ตามที่กรมโยธาธิการได้ศึกษาไว้เสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ในการประชุมครม.สัญจร ที่จังหวัดตรัง ในวันที่ 14 ธันวาคม 2547
โครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ตที่กรมโยธาฯได้ศึกษาไว้ แบ่งการพัฒนาออกเป็น 2 เกาะ คือ เกาะไมซ์(MICE) เป็นเกาะที่เน้นกิจกรรมการจัดประชุมสัมมนาและย่านธุรกิจ โรงแรม ที่พัก โรงพยาบาล และเกาะมารีนา(MARINA) ที่เน้นการลงทุนด้านมารีนา อู่ซ่อมเรือ ที่พัก เป็นต้น โดยทั้งสองเกาะมีกิจกรรมหลักๆประมาณ 10 ประเภท ใช้เงินลงทุน 63,000 ล้านบาท และรัฐบาลสนับสนุนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีก 4,000 ล้านบาท บนเนื้อที่ 2,200 ไร่
ส่วนศูนย์ประชุมนานาชาติฯ ที่ประชุมเห็นว่า ในการก่อสร้างที่สะพานหินโดยไม่ถมทะเล มีความเป็นไปได้น้อย เพราะการก่อสร้างตามแบบที่ททท.กำหนดไว้ จะกระทบต่อวิถีชีวิตของคนบริเวณนั้น จึงเห็นว่าน่าที่จะผนวกโครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมฯไว้ในโครงการพัฒนาอ่าวภูเก็ต โดยให้ขยับโครงการที่กำหนดไว้ อยู่ด้านปลายมาอยู่ด้านที่ติดกับฝั่ง เพื่อให้สะดวกในการถมทะเล โดยให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุน 2,600 ล้านบาท หลังจากนั้นให้เอกชนเข้ามาบริหาร
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะนำเสนอครม.นั้น วันที่ 9 ธันวาคม นายอุดมศักดิ์ อัศวรางกูร จะนำเสนอรายละเอียดทั้ง 2 โครงการกับสุวัจน์ อีกครั้งหนึ่ง