xs
xsm
sm
md
lg

หญิงเอเชียติดเอดส์ระทมทุกข์ ชี้ถูกกีดกันมากกว่าชาย 2เท่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เรียกร้องให้หยุดสร้างความเจ็บปวดแก่ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวีในเอเชีย เผยผู้หญิงเผชิญกับการกีดกันจากสังคมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่าเมื่อกลายเป็นผู้ติดเชื้อ l ส่วนในไทยมีการเรียกร้องให้รัฐบาลจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ให้กับผู้ติดเชื้อที่ซีดี 4 ต่ำกว่า 200 ทุกคน

วานนี้(30 พ.ย.)เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือเอพีเอ็นพลัส (Asia Pacific Network of People Living with HIV/AIDS หรือ APN+) ออกแถลงการณ์ในวันเอดส์โลก 1 ธ.ค.โดยระบุว่า สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างหญิง-ชายทำให้ผู้หญิงติดเชื้อเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องทนแบกรับความลำบากจากสถานการณ์เอดส์ที่เลวร้ายและทำให้วัยรุ่นเพศหญิงเสี่ยงต่อการติดเชื้อสูงซึ่งการขจัดสภาพการณ์ที่เจ็บปวดนี้ต้องแก้เริ่มที่การแก้ไขปัญหาโดยเข้าใจความแตกต่างระหว่างหญิงและชายและเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน

ทั้งนี้ จากการวิจัยล่าสุดของเครือข่ายฯ รายงานว่าผู้หญิงติดเชื้อถูกทำร้ายทางร่างกาย คำพูดและจิตใจถูกบังคับให้ย้ายที่อยู่และไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมในสังคมและครอบครัวในอัตราที่มากกว่าผู้ชายที่ติดเชื้อถึง 2 เท่า ขณะเดียวกันผู้หญิงต้องประสบปัญหาการขาดความช่วยเหลือทางด้านการเงินจากคู่ครองของตนและการถูกห้ามไม่ให้เข้าสถานที่สาธารณะมากกว่าชายถึง 3 เท่า

การศึกษาวิจัยดังกล่าวซึ่งทำการสัมภาษณ์ผู้ติดเชื้อ 750 คนในประเทศอินเดีย
อินโดนีเซีย ไทยและฟิลิปปินส์ ได้ระบุอีกว่าในทวีปเอเชียขณะนี้มีการบังคับตรวจหาเชื้อในผู้หญิงอย่างแพร่หลายโดยไม่มีบอกล่วงหน้า โดยเฉพาะในหญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้การปฏิบัติที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายรูปแบบ ผู้หญิงที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเหล่านั้นจำนวนมากต้องถูกประณามว่าเป็นแหล่งแพร่เชื้อและเผชิญกับความรุนแรงจากคู่ครองและญาติฝ่ายสามี

ดร.ซูซาน แพกซ์ตัน ที่ปรึกษาของเอพีเอ็นพลัสและผู้นำทีมวิจัย กล่าวว่า คนที่อยู่ในสถานภาพโสดหรือเป็นม่ายมักจะต้องพบกับการแบ่งแยกและกีดกันจากชุมชนและครอบครัว ผลการวิจัยพบว่าผู้หญิง 1 ใน 8 ที่ตรวจพบว่าติดเชื้อถูกบังคับให้ทำแท้งหรือทำหมัน และมีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้นที่ได้รับการบอกกล่าวเกี่ยวกับการป้องกันการแพร่เชื้อจากแม่สู่ลูก รับฟังเสียงของผู้หญิงและให้ทางเลือกที่มากขึ้น

ด้าน ฟรีก้า เชีย ประธานร่วมของเอพีเอ็นพลัส กล่าว ว่า วัฒนธรรมในเอเชียทำให้ผู้หญิงมีความสำคัญน้อยกว่าผู้ชาย ส่วนตัวคิดว่าตอนนี้ถึงเวลาแล้วที่เราต้องฟังเสียงของผู้หญิงให้มากขึ้นและหายุทธวิธีในการแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพเพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติและความรุนแรงต่อผู้หญิง การแก้ปัญหาเอดส์ของทุกฝ่ายต้องใช้ความแตกต่างระหว่างเพศมาพิจารณาด้วย และต้องดึงเพศชายเข้ามาร่วมหารืออย่างเปิดเผยเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดการติดเชื้อ ทั้งนี้ ปัจจุบันในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก มีผู้ติดเชื้อกว่า 8.2 ล้านคน และเกือบ 2.3 ล้านคนเป็นผู้หญิง

ส่วนน.ส.สุภัทรา นาคะผิว ผู้อำนวยการศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากได้เนื่องในวันเอดส์โลกปีนี้ก็คือ อยากเห็นรัฐบาลมีแผนงานแก้ปัญหาเอดส์อย่างครบวงจรและต่อเนื่องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน จัดหายาต้านไวรัสเอดส์ (ยาเออาร์วี) ให้ผู้ติดเชื้อเอดส์ที่ระดับภูมิต้านทานโรคหรือซีดี 4 ต่ำกว่า 200 ทุกคน โดยไม่ต้องจำกัดจำนวน ซึ่งการที่ผู้ติดเชื้อได้รับยาต้านในช่วงที่เหมาะสม ทำให้เขาแข็งแรง สามารถทำงานและเป็นส่วนหนึ่งที่จะพัฒนาบ้านเมืองได้
กำลังโหลดความคิดเห็น