xs
xsm
sm
md
lg

สปท.โต้ผลวิจัยให้ยุบองค์กร แจงปี47อนุมัติกู้2.5พันล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สปท.โวย ก.พ.ร.มั่วข้อมูลประเมินสั่งทบทวนถึงขั้นยุบหน่วยงานทิ้ง แถมผู้ประเมินยังไม่เคยถาม ชี้ระยะ 5 ปี งานหนัก ต้องให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุนตามเป้าหมายและปล่อยสินเชื่อให้ได้ 6.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่แผนงานเตรียมเสนอรัฐตั้ง “เคียร์ริ่ง เฮาส์”แก้ปัญหาหนี้ก่อนฟ้องศาล จัดทำเอกสารสิทธิ์ระบบเดียว พร้อมเสนอโอนกิจการให้หน่วยงานอื่นทำหลังครบวาระ 5 ปี เผย ปี 47อนุมัติแล้วกว่า 2.5 พันล้านบาท

นายไพโรจน์ โลกนิยม ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (สปท.) เปิดเผยว่า หลังจากที่มีข่าวว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ได้ว่าจ้างสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์(มธ.)มาประเมินผลการดำเนินการขององค์การมหาชนทั้งหลาย รวมทั้งสปท.ในช่วง การทำงานหนึ่งปีครึ่ง และมีข่าวผ่านสื่อว่า สปท.ดำเนินการไม่ประสบความสำเร็จ และอาจจะต้องยุบหน่วยงาน สปท.ทิ้ง โดยเฉพาะการประเมินราคาที่ดินตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งรายงานว่าปัจจุบันได้ดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว และควรทบทวนการดำรงอยู่ขององค์กรที่มีระยะเวลาดำเนินการตามเป้าหมายของรัฐบาลในระยะเวลา 5 ปี (2551)

“สปท.มองแล้วไม่สบายใจ เนื่องจากผู้ประเมินผลจากมธ.ไม่เคยมาขอข้อมูลจาก สปท.เลย และไม่เคยมาพบหรือปรึกษากับบุคคลใด ว่า สปท.มีกิจกรรมหรือภารกิจอะไรบ้าง ดังนั้นการออกข่าวไปจึงทำให้เกิดความไขว้เขว อย่างไรก็ตามทาง สปท.ได้ชี้แจงกับ กพร.และผู้วิจัยของ มธ.แล้ว ซึ่งผู้วิจัยอ้างว่าได้ส่งเรื่องของกพร.แล้ว จึงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม บอร์ด สปท.เห็นว่า การประเมินผลของผู้วิจัยของ มธ.ที่ส่งไปยังกพร.เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะถูกต้อง”

นายไพโรจน์ กล่าวด้วยว่า การประเมินราคาทรัพย์สินที่ออกมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากหลักการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน จะต้องดำเนินการไม่น้อยกว่า 5 ประการ ประกอบด้วย 1.หากจะแปลงสินทรัพย์ฯ จะต้องสร้างโอกาสให้กับผู้ครอบครองสินทรัพย์ ซึ่งเดิมไม่เป็นที่ยอมรับของสถาบันการเงิน สามารถใช้เป็นหลักทรัพย์ไปค้ำประกันสินเชื่อ จากสถาบันการเงินได้ โดยผู้ที่มีสินทรัพย์นอกระบบ ทางสภาพัฒน์ได้ประเมินว่ามีถึง 30% ที่สร้างรายได้เป็น จีดีพี ของประเทศ ที่ไม่ได้รับการรับรองในระบบ

2.เมื่อสินทรัพย์เป็นที่ยอมรับจะต้องทำการผลักดันให้เกิดความเคลื่อนไหวในระบบเศรษฐกิจระดับรากหญ้าของประเทศตามนโยบายของรัฐบาล

3.เมื่อสร้างสินทรัพย์เข้าสู่การได้รับสินเชื่อในระบบ จะต้องพยายามสร้างเอกสารสิทธิ์ที่ประชาชนมีอยู่หลายชนิดให้มีความเป็นเอกภาพ หรือมีความเป็นเอกสารสิทธิ์ในระบบเดียว หรือการแสดงเป็นเจ้าของ หรือความเป็นกรรมสิทธิ์ให้ได้

4.ภาระการวางระบบฐานข้อมูลของสินทรัพย์ เพื่อสามารถประเมินราคาเข้าไปสู่ระบบที่ธนาคารยอมรับได้ และ ข้อสุดท้าย ซึ่งสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาของมธ.อาจจะประเมินว่าเป็นงานเดียวของ สปท.ได้แก่ การสร้างมาตรฐานการประเมินมูลค่าสินทรัพย์ของประเทศให้เป็นมาตรฐานที่ยอมรับของสถาบันการเงิน และในวงการเศรษฐกิจ ซึ่งทุกประการนี้ สปท.ต้องเข้าไปดำเนินการเร่งรัดหน่วยราชการที่มีหน้าที่ออกเอกสารสิทธิ์ทั้งหลาย ให้ประชาชนมีสิทธิ์ในการถือครอง

ส่วนมาตรการเสริมที่ สปท.ต้องทำให้เสร็จภายในอายุ 5 ปี (2551) ได้แก่ การสร้างระบบการแก้ไขปัญหาก่อนการฟ้องศาล (เคียร์ริ่ง เฮาส์)เพื่อทำให้สถาบันการเงิน เกิดความเชื่อมั่นสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องทำการฟ้องศาล โดยออกมาในรูปการดำเนินงานในทรัพย์สินที่อาจจะฟ้องศาลได้ หรือส่วนของทรัพย์สินที่อาจจะฟ้องศาลไม่ได้ หรือยังไม่การฟ้องศาล ต้องให้จัดให้มีการตกลงกันหรือไกล่เกลี่ยหนี้ หรือกระบวนการจัดการให้เสร็จสิ้นเพื่อให้สถาบันการเงินไม่ต้องรับภาระ โดยอาจจะมีการจัดระบบการบริหารเบื้องต้นไว้ 3-4 แนวทาง เช่น ตั้งอนุญาโตตุลาการ หรือคณะกรรมการ 4 ฝ่าย มีอัยการร่วม หรือ ให้หน่วยงานเข้ามาเปลี่ยนตัวลูกหนี้ หรือ ตั้งกองทุนมาดูแล โดยรัฐบาลได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการอยู่

ทั้งนี้ยังมีแนวคิดที่จะโอนกระบวนการที่ สปท.สร้างขึ้น เช่น การดูแลการกู้เงิน การจัดการระบบฯลฯ ไปยังระบบปกติตามองค์กร หรือหน่วยงานที่ทำกันอยู่ หรือจะตั้งขึ้นใหม่ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 5 ตามเป้าหมายแล้ว รวมทั้งต้องการขยายฐานสินทรัพย์ที่ประชาชนครอบครองอยู่ทำให้แปลงเป็นทุนได้อย่างครบถ้วนทุกประเภท

“เช่นเดียวกับนโยบายของรัฐบาลที่จะแก้ไขระยะยาวเกี่ยวกับทรัพย์สินของประเทศ เช่น การสร้างระบบสิทธิในที่ดินให้เป็นมาตรฐานและไม่เกิดปัญหาเกี่ยวกับสินทรัพย์ ซึ่งนายกฯ เคยประกาศว่า ต่อไปประเทศไทยที่ดินของ รัฐและเอกชนจะต้องออกโฉนดที่ดินทั้งหมด ซึ่งทาง สปท.กำลังตั้งคณะกรรมการเพื่อเสนอแนวทางทำเอกสารสิทธิ์ระบบเดียวที่จะเกี่ยวพันกับเรื่องใดบ้าง รวมทั้งกับลังวางแผนหาระบบที่ดีที่สุด ในการแก้ปัญหาหนี้ระยะยาว โดยอาจจะมีการตั้งองค์กรเข้ามารองรับ หรือจัดตั้งเป็นกองทุนเข้ามารองรับ หรือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการเพื่อไกล่เกลี่ยหนี้ไปก่อน

รวมทั้งศึกษาการทำข้อมูลสารสนเทศสินทรัพย์ของประเทศที่จะแปลงเป็นทุนเพิ่มเติม โดยอยู่ในขั้นตอนที่จะเสนอเรื่องให้กับรัฐบาลในปีนี้ ซึ่งถือเป็นภาระหนักใน 5 ปีที่ สปท.จะต้องดำเนินการในอนาคต”นายไพโรจน์ กล่าว และว่า การที่ประเมินออกมาแล้วให้ สปท.ทบทวนการดำรงอยู่ขององค์กร จึงเป็นเรื่องที่ฟังแล้วตลกมาก

**ปี47อนุมัติเงินกู้แล้ว2.5พันล้าน

ด้านนายวุฒิพงษ์ โสมนัส ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงาน กล่าวว่า จากข้อมูลถึงเดือน ก.ย.47 สปท.ได้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนแล้ว 1.38 ล้านราย จากเป้าหมาย 1 ล้านราย สามารถอนุมัติเชื่อได้ 2,546.76 ล้านบาท จากผู้ยื่นกู้ 29,151 ราย คิดเป็น 10% จากเป้าหมาย 2 แสนราย

อย่างไรก็ตาม ตนไม่อยากที่จะให้เข้าใจว่า ผลการปล่อยสินเชื่อมีเพียง 10% แต่เมื่อรวมเดือนต.ค.47 เฉพาะสินทรัพย์ที่ดินผลการอนุมัติสินเชื่อเพิ่มจำนวนรายถึง 20% และทั้งหมดก็อนุมัติไปแล้ว 6,649 ราย วงเงิน 581 ล้านบาท

สำหรับผลการดำเนินงานจนถึงเดือนก.ย.47 รวมสินทรัพย์ประเภทที่ดิน เช่น สปก.4-01,โฉนดที่ดิน ,กสน.3 ,นค.1 วงเงิน 2,357.74 ล้านบาท จากผู้ยื่นกู้ 28,141 ราย รวมทรัพย์สินประเภทสิทธิการเช่น ของการเคหะแห่งชาติ กรมธนารักษ์ และการเช่าแผงกทม. วงเงิน 171.54 ล้านบาท จากผู้ยื่นกู้ 641 ราย รวมทรัพย์สินประเภทที่สาธารณะ วงเงิน 16.43 ล้านบาท จากผู้ยื่นกู้ 368 ราย ประเภททรัพย์สินทางปัญญา อนุมติ 1 ราย วงเงิน 1.05 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมกับเครื่องจักรขนาดเล็ก เช่น ธุรกิจบริการ (วงเงินจดจำนอง ต่ำกว่า 50 ล้านบาท) ที่อนุมัติตามหลักเกณฑ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่อนุมัติ 1,090 ราย วงเงิน 15,209.08 ล้านบาท

ทั้งนี้ ธกส.อนุมัติสินเชื่อ จำนวน 2,121.66 ล้านบาท ธ.กรุงไทยอนุมัติสินเชื่อ 5.12 ล้านบาท ธ.ออมสิน อนุมัติสินเชื่อ 101.5 ล้านบาท ธอส. อนุมัติสินเชื่อ 61.92 ล้านบาท SME อนุมัติสินเชื่อ 39.43 ล้านบาท และธนาคารอื่น อนุมัติสินเชื่อ 217.13 ล้านบาท

ส่วนปี 48 มีเป้าหมายที่จะออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชน 8 แสน 5 หมื่นราย ประชาชนเข้าถึงทุน 2 แสน 1 หมื่นราย และมีเป้าหมายจะอนุมัติสินเชื่อได้ 16,725 ล้านบาท และปี 49-51 ประมาณการเป้าหมายการออกเอกสารสิทธิ์ให้ประชาชน 1 ล้าน 2 แสน 1 หมื่นราย ประชาชนเข้าถึงทุน 8 แสน 2 หมื่นราย โดยมีเป้าหมายอนุมัติสินเชื่อ 65,000 ล้านบาท

“ขณะนี้ สปท.กำลังขยายการปล่อยสินเชื่อไปยังสถาบันการเงินเอกชน พร้อมทั้งมีเครือข่ายเพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในภูมิภาค โดยมีศูนย์ทำความเข้าใจของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และของกรมการพัฒนาชุมชน รวมทั้งมีรถโมบายไปแนะนำธุรกิจให้ใหม่ให้ประชาชนเจ้ามาร่วม โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนธ.ค. และ ม.ค.นี้”นายวุฒิพงษ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น