xs
xsm
sm
md
lg

งานข่าวเพื่อสันติภาพในภาคใต้

เผยแพร่:   โดย: บุญรักษ์ บุญญะเขตมาลา

ปลายๆ สัปดาห์ที่ผ่านมา สถานีวิทยุประจำมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ได้ชวนผมไปสนทนาในรายการเกี่ยวกับการรายงานข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในภาคใต้ ก็เช่นเดียวกับรายการในทำนองเดียวกันอื่นๆ ส่วนมาก นอกจากการยกประเด็นต่างๆ มาเกริ่นพอเป็นกระสายแล้ว การสนทนาสั้นๆ เช่นนี้ย่อมไม่สามารถครอบคลุมถึงอะไรได้มากนัก มิหนำซ้ำยังอาจจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ไม่ใช่น้อย ความที่เรื่องราวเช่นนี้เป็นประเด็นสำคัญที่จะได้รับความสนใจมากขึ้นทุกทีในอนาคต ฉะนั้น ผมจึงจะช่วยตริตรองปัญหาดังกล่าวนี้อีกครั้งหนึ่งในที่นี้

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว ในส่วนของภาครัฐ งานข่าวเกี่ยวกับภาคใต้คงจะมีอย่างน้อยสองระดับ กล่าวคือ ในระดับมหภาค ในอันดับแรก ภาครัฐที่ทำงานด้านความมั่นคงก็คงจะมีการทำงานด้านนี้อยู่ในบางลักษณะ กล่าวคือ งานข่าวที่เน้นการตรวจสอบสถานการณ์ทั่วไปว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปอย่างไร มีองค์กร เครือข่าย หรือบุคคลชนิดใดเป็นผู้ก่อการ และเพื่อวัตถุประสงค์อะไรในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในการให้ความรู้แก่ภาครัฐที่ทำงานด้านการเมืองเพื่อร่วมมือกันวางระบบในทางยุทธศาสตร์เพื่อการหาลู่ทางถอดสลัก ป้องกัน หรือตอบโต้ในระยะต่างๆ ให้เหมาะสมและฉับไวคู่ควรกับสถานการณ์

อันดับต่อมา ในระดับจุลภาค งานข่าวของภาครัฐคงจะมุ่งเน้นไปสู่การเสาะหารายละเอียดเป็นช่วงๆ ถึงขนาดวันต่อวันว่าผู้ก่อการจะดำเนินการอะไรที่ไหน เมื่อใด และอย่างไร ทั้งนี้เพื่อหาทางป้องกันหรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดความสูญเสียให้มากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

แน่นอน หลักการทั่วไปที่ภาครัฐจำเป็นต้องยึดถือเป็นสรณะในการทำงานก็คือสันติวิธี ทั้งนี้ ก็เพราะสันติวิธีคือแนวทางอันดับแรกของการแก้ไขปัญหาทุกชนิดของผู้คนที่มีอารยธรรม และหากได้รับการวางระบบทางยุทธศาสตร์ให้ทันสมัยในทางความคิด อีกทั้งพัฒนาและฝึกฝนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการในระดับของกลยุทธ์อย่างสร้างสรรค์ สันติวิธีน่าจะก่อให้เกิดอัตถประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าปัญหาจะรุนแรงเพียงใด จุดที่ภาครัฐจำเป็นจะต้องระลึกถึงเสมอก็คือประชาชนในภาคใต้ที่เป็นจุดปัญหาก็คือชาวไทยผู้บริสุทธิ์ที่ต้องได้รับการคุ้มครองดีที่สุด นั่นก็คือ เขาจะต้องได้รับการดูแลอย่างถึงที่สุด ซึ่งในส่วนสำคัญก็คือการแยกผู้บริสุทธิ์ออกมาจากฝ่ายผู้ก่อการร้ายให้ได้ ไม่ว่าจะยากเพียงใดก็ตาม

ในส่วนของภาครัฐนี้ เนื่องจากเป็นปฏิบัติการด้านความมั่นคงระดับสูงที่อาจมีความเชื่อมโยงไปไกลถึงกิจการระหว่างประเทศ การเปิดเผยข้อค้นพบต่างๆ ต่อสาธารณชนในเมืองไทยจึงมีค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ ผมขอเสนอข้อสังเกตว่าผู้นำด้านความมั่นคงและด้านการเมืองมักจะแสดงความเห็นในที่สาธารณะอย่างไม่สัมพันธ์สอดคล้องกันบ่อยๆ

รวมความแล้ว งานข่าวในส่วนของภาครัฐยังเป็นสิ่งที่ลี้ลับ และดูเหมือนว่าไม่ค่อยมีเอกภาพในแง่ของการนำเสนอความเห็นของเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูง ผลลัพธ์ทั่วไปที่เกิดขึ้นก็คือสาธารณชนไม่ทราบว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นที่ภาคใต้เนื่องจากขาดข้อมูลที่ถูกต้อง ฉะนั้น ทุกครั้งที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น สาธารณชนจึงต้องอาศัย “อคติ” ดั้งเดิมของตนเองในการพิจารณาปัญหาแต่ละครั้ง

ลงท้ายแล้ว มักจะเป็นข้อสรุปที่คลาดเคลื่อนซึ่งมักจะเพิ่มขีดขั้นของความบาดหมางทางชาติพันธุ์และศาสนาขึ้นโดยไม่เกิดประโยชน์กับใครๆ เลยเพราะเป็นการสรุปแบบเหมารวมหยาบๆ เนื่องจากไม่ให้ความสนใจกับรายละเอียดที่แท้จริงว่าอะไรเป็นอะไรกันแน่

ถึงแม้ว่าการทำงานข่าวของรัฐแบบอึมครึมๆ เช่นนี้คงจะมีข้อดีบางอย่างอยู่บ้าง ผมคิดว่าวิธีปฏิบัติแบบคร่ำครึเช่นนอาจจะไม่ค่อยเหมาะสมกับสถานการณ์ในโลกปัจจุบันเท่าไรนักเสียแล้ว ทั้งนี้ ก็เพราะว่าประชาชนในโลกสมัยใหม่นั้นนอกจากจะไม่ได้โง่เง่าเต่าตุ่นแล้ว ยังต้องการมีส่วนร่วมในการรับรู้และแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกินกำลังความสามารถของรัฐบาลด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภาคใต้เป็นเรื่องราวใกล้ตัวที่ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับสวัสดิภาพของประชาชนในภาคใต้เท่านั้น ทว่าสามารถกระทบถึงประชาชนทั้งประเทศได้ ความปรารถนาที่จะรับรู้และร่วมแก้ไขปัญหาของประชาชนจึงย่อมมีสูงเป็นพิเศษ

เป้าหมายสำคัญที่สุดประการหนึ่งของงานข่าวของภาครัฐก็คือการสร้างความเข้าใจแก่สาธารณชนว่า อะไรเป็นอะไร อย่างสม่ำเสมอ (อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่ง) เพราะความขัดแย้งที่ใกล้ตัวขนาดนี้ไม่ใช่เป็นปัญหาเรื่องปฏิบัติการทางการทหารล้วนๆ แต่เป็นปฏิบัติการทางจิตวิทยาที่ต้องมุ่งเอาชนะฝ่ายตรงกันข้ามด้วยความจริงที่สามารถเข้าถึงจิตใจของประชาชนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศได้อย่างแท้จริงมากกว่า นอกจากนี้ ภาคในระยะยาว รัฐก็ต้องเสาะหาลู่ทางในการแก้ไขจุดที่เป็นปัญหาในระดับรากเหง้าให้สิ้นสุดลงด้วยนโยบายทางเศรษฐกิจและสังคมที่สอดคล้องกับความจริงของท้องถิ่นด้วย

อย่าลืมว่าเป้าหมายสูงสุดในภาคใต้คือสันติภาพถาวร ไม่ใช่การเอาชนะคะคานกันไปวันๆ หนึ่ง ฉะนั้น งานข่าวที่ดีจึงต้องสร้างขึ้นจากหลักการดังกล่าวนี้

ความที่งานข่าวของภาครัฐยังดูอึมครึม ไม่มีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการที่น่าเชื่อถือได้เป็นระยะๆ อีกทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายการเมืองยังมักจะนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นที่ไม่ค่อยตรงกันนักเป็นครั้งคราว การเดาสุ่มของฝ่ายต่างๆ จึงเป็นภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ผลลัพธ์ด้านหนึ่งภาวะที่ไร้ระเบียบดังกล่าวนี้ก็คือ สื่อมวลชนชนิดต่างๆ ก็พลอยต้องร่วมในขบวนการเดาสุ่มตามไปด้วย ความหมายในที่นี้ก็คือ ความที่ภาครัฐไม่ทำหน้าที่เป็น “ฝ่ายนำ” ที่สามารถให้ทิศทางทั่วไปเกี่ยวกับภาคใต้ สื่อมวลชนจึงต่างก็เร่ร่อนหาข้อมูลต่างๆ เอาเองอย่างไม่เป็นระบบ การนำเสนอเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับภาคใต้จึงดำเนินไปในนามของ “เสรีภาพ” ของสื่อ ซึ่งไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งในทางปรัชญาอะไรเลย นอกจากการดำเนินการไปตามความพอใจของตนโดยไม่ค่อยคำนึงถึงผลกระทบในทางลบที่ไม่จำเป็นซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายมากในสถานการณ์เผชิญหน้าแบบนี้

แน่นอนที่สุด โดยหลักการแล้ว เสรีภาพของสื่อเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการสนับสนุนและคุ้มครอง แต่เสรีภาพของสื่อจะมีคุณค่าอย่างไรหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นกับการใช้เสรีภาพในแต่ละกรณีด้วยว่า ใครใช้เสรีภาพชนิดนี้ไปเพื่อประโยชน์ของใคร กว้างแคบสูงต่ำดำขาวอย่างไร ไม่ใช่เป็นอะไรที่สามารถจะพูดแบบเหมารวมตามๆ กันไปว่าเป็นของดีอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ โดยไม่รู้ที่มาที่ไปในทางปรัชญาที่จำเป็นต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบตลอดเวลา ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่เสรีภาพที่ได้รับ ซึ่งจะเป็นการบำรุงรักษาเสรีภาพที่ดีที่สุด

ความที่งานข่าวของภาครัฐดูจะอ่อนแอ และสื่อต่างก็แข่งขันกันสร้างผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับความขัดแย้งในภาคใต้เพื่อให้เท่าทันต่อแรงกดดันเรื่อง “เวลา” ที่เน้นความรวดเร็ว โดยทั่วไปแล้ว การนำเสนอข้อมูลและความติดเห็นเกี่ยวกับภาคใต้ของสื่อมวลชนมักจะเริ่มต้นขึ้นจากการพิจารณาว่าเหตุการณ์ในภาคใต้เป็นเพียง “สินค้า” อีกชนิดหนึ่ง

ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ การนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับภาคใต้ (ซึ่งมักจะมีข้อเท็จจริงไม่มากนัก แต่มีความเห็นคละเคล้าไปกับข้อเท็จจริงมากกว่า) จึงมักจะใช้ถ้อยคำที่เต็มไปด้วยความหวือหวาและสีสันมากมายอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งนี้ คงเพื่อที่จะเรียกร้องความสนใจจากผู้บริโภคมากเกินไป โดยไร้ความสำนึกที่จำเป็นต้องมีอย่างยิ่งว่า นี่เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นภายในบ้านเมืองของเราเองที่ในที่สุดแล้วต้องมีเป้าหมายอยู่เพียงทางเดียวคือ “สันติภาพ” เท่านั้น ฉะนั้น งานข่าวใดๆ ที่อาจจะขัดขวางหรือลดโอกาสของสันติภาพย่อมต้องได้รับการพิจารณาอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ ก็เพราะว่านี่เป็นความขัดแย้งทางสังคมที่มีนัยกว้างไกล ไม่ใช่เรื่องราวเกี่ยวกับความขัดแย้งเรื่องความรักของดาราหรือนางแบบทั้งหลาย ซึ่งถึงแม้จะสร้างความปวดร้า;ได้มาก ก็มักจะจำกัดอาณาบริเวณ อีกทั้งสามารถชำระได้ด้วยกระบวนการยุติธรรม (ถ้าต้องการ)

มิหนำซ้ำ ในบางกรณี รายการโทรทัศน์บางรายการยังมุ่งหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความเกลียดชังแบบไม่มีความสำนึกในความรับผิดชอบด้วยซ้ำไป ทั้งนี้ ด้วยการให้ความคิดเห็นในเชิงตัดสินว่าอะไรเป็นอะไรด้วยท่าทีเสมือนว่าตนเองทำหน้าที่เป็นผู้พิพากษา โดยไม่ถือเป็นธุระที่จะให้ความสนใจแก่ข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ทั้งนี้ เพราะวัตถุประสงค์ของรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับความขัดแย้งใดๆ ในสังคมที่มีคุณค่าก็คือการก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และความปรารถนาที่จะแก้ไปปัญหาต่างๆ ให้ตรงเป้าตรงประเด็น

พิจารณาจากความเป็นจริงที่เกิดขึ้น นั่นก็คือ ความรุนแรงในภาคใต้ได้ยืดเยื้อมานาน และลู่ทางในการแก้ไขปัญหายังดูไม่ชัดเจนนัก ก็พอจะอนุมานได้ว่างานข่าวเท่าที่ผ่านมา ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน คงจะต้องมีการพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ก้าวหน้าไปจากวิธีการปฏิบัติเดิมๆ บ้าง ในที่นี้ ผมขอเสนอแนวความคิดกว้างๆ สำหรับการนำไปคิดต่อให้รอบคอบขึ้น ดังต่อไปนี้

ในประการที่หนึ่ง ภาครัฐน่าจะมีการตั้งศูนย์ระดมข้อมูลและบทวิเคราะห์ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศอย่างเปิดเผยว่า อะไรกำลังเกิดขึ้นที่ภาคใต้ และเพราะอะไร อีกทั้งประเมินความสำเร็จและความล้มเหลวที่ผ่านมา เพื่อกำหนดแนวทางในการทำงานใหม่ๆ ที่จะได้ผลดีรวดเร็วขึ้น

ลงท้ายแล้ว ภาครัฐน่าจะมีการพิจารณารวมศูนย์งานข่าว เพื่อขจัดข่าวลือ และลดการให้ข้อมูลและความคิดเห็นอย่างอิสระของผู้นำในภาครัฐ อีกทั้งจัดระบบแถลงข่าวต่อสาธารณชนเป็นระยะๆ ทั้งนี้ เพื่อทำให้ประชาชนมีความสับสนน้อยลง และดึงประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่เป็นเพียงการเชิญชวนให้ใครๆ พับนกกระดาษแต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะนำไปใช้ประโยชน์อย่างแท้จริงอย่างไรกันแน่

ในประการต่อมา ภาครัฐควรจะมีการจัดระบบแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลต่างๆ อย่างถูกต้องเพื่อสื่อมวลชนจะได้พิจารณาใช้ประกอบการทำงานของตน แต่ภาครัฐจะต้องดำเนินการทุกประการให้แน่ใจว่าจะไม่จำกัดเสรีภาพของสื่อในการแสวงหาข้อมูลและนำเสนอความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ เพราะแนวความคิดนี้เน้นการร่วมมือที่ดีขึ้น ไม่ใช่การสนับสนุนให้มีการผูกขาดข้อมูลและความคิดเห็น

ในประการต่อมา ภาคอื่นๆ ที่สำคัญเช่นสื่อมวลชน (ทั้งของรัฐและของเอกชน) น่าจะวางระบบงานภายในของตนที่เน้นความถูกต้องมากกว่าความรวดเร็ว ข้อมูลมากกว่าสีสัน และความคิดเห็นที่ให้ความสำคัญต่อสันติภาพมากกว่าความขัดแย้ง

ในประการสุดท้าย ประชาชนทั่วไปควรจะบริโภคข้อมูลและความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับภาคใต้อย่างมีสติสัมปชัญญะ และช่วยกันคิดหาทางออกในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการส่งข้อความสั้นๆ ทางโทรศัพท์มือถือ การแสดงความคิดเห็นที่สร้างสรรค์ในรูปแบบอื่นๆ ทั้งนี้ โดยมุ่งหาทางออกที่สร้างสรรค์ ไม่สนับสนุนอคติใดๆ จนก่อให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น

ปัญหาของภาคใต้นั้นลึกล้ำนัก ด้วยความช่วยเหลือของการจัดระเบียบงานข่าวที่มีประสิทธิภาพขึ้นทั้งในภาครัฐและเอกชนเท่านั้น โอกาสของสันติภาพจึงจะมีมากขึ้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น