เมื่อเรือ Vittoria ของราชนาวีสเปนเดินทางกลับถึงท่าที่เมือง Seville ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2065 (รัชสมัยพระรามาธิบดีที่ 2) ผู้คนที่มาต้อนรับต่างก็รู้สึกตระหนกตกใจมากที่เห็นเสากระโดงเรือหัก เห็นสภาพเรือโทรมและเห็นกะลาสีเรืออยู่ในสภาพใกล้ตายเพราะขาดอาหาร จากเรือที่เคยโอ่อ่าเมื่อ 3 ปีก่อน ภายใต้การนำของ Ferdinand Magellan ที่มุ่งหวังจะเดินทางรอบโลกเป็นครั้งแรก โดยมีกะลาสีเรือ 239 คน แต่เมื่อ Vittoria เทียบท่า ก็ปรากฏว่า มีผู้รอดชีวิตเพียง 18 คนเท่านั้นเอง และเมื่อผู้คนเชื่อว่าในการเดินทางไกลทุกครั้ง เวลากะลาสีเดินทางกลับมักนำโรคระบาดกลับมาด้วย ดังนั้น ผู้คนที่มาต้อนรับจึงรู้สึกตัวสั่นระรัว
ความจริงก็มีว่า Vittoria มิได้นำความอัปรีย์หรืออัปมงคลใดๆ มาสู่มาตุภูมิ แต่กลับนำทรัพยากรที่มีค่าเช่น เครื่องเทศ สัตว์ป่าและต้นไม้แปลกๆ มากมายมาให้สเปน และหนึ่งในบรรดาทรัพย์สมบัติที่ลูกเรือนำกลับมา คือซากนกปักษาสวรรค์ (bird of paradise) ที่มีหางเป็นพุ่มงาม และมีสีสวย
ซากนกนี้เป็นของขวัญที่สุลต่านแห่งเกาะ Batjan หรือที่ทุกวันนี้เรียกเกาะ Labuha ได้มอบให้แก่ Magellan และได้บอก Magellan ว่าพระองค์ทรงจับนกนี้ได้จากเกาะนิวกินี
การมีสีสดใสและหางเป็นพุ่มสวย ทำให้ใครก็ตามที่เห็นนกชนิดนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต จะรู้สึกตื่นเต้นและชื่นชมในตัวนกมาก ชาวนิวกินีเองก็ถือว่า นกชนิดนี้เป็นนกศักดิ์สิทธิ์ที่หายาก และขนของมันสามารถใช้แทนเงินได้ แต่เวลาจับนกนี้ได้ชาวพื้นเมืองนิยมตัดขาทั้งสองของมันทิ้ง ดังนั้น คนยุโรปที่เห็นซากนกในระยะแรกๆ จึงคิดว่านกนี้ไม่มีเท้าเดิน ดังนั้น มันต้องบินลงมาสู่โลกจากสวรรค์
ในปี พ.ศ. 2093 Pierre Belon นักชีววิทยาชาวฝรั่งเศสได้รายงานการเห็นหมวกของผู้พิพากษาในตุรกีว่า มีขนนกสวยประดับ การเห็นขนที่ยาวเป็นพุ่มสวยทำให้เขาคิดว่า มันเป็นขนของนก phoenix ซึ่งเป็นนกที่มีชีวิตนิจนิรันดรในนวนิยาย และในปี พ.ศ. 2141 John van Lonschoten ได้เรียกนกที่คนเนเธอร์แลนด์นำมาจากเมืองจีนว่า avis paradiseus ซึ่งแปลว่า bird of paradise เพราะมันเป็นนกที่สวยงามมาก จนคนคิดว่ามันมาจากสวรรค์ โดยอาศัยอยู่ในเมฆ และไม่ลงมาเกาะดินเดิน และเวลาบินมันจะบินมุ่งหน้าสู่ดวงอาทิตย์ตลอดเวลา แต่เมื่อถึงเวลาตาย มันจะบินลงมาตายบนดิน ชาวบ้านยังเชื่ออีกว่า มันกินน้ำค้างในอากาศ และตัวเมียวางไข่บนหลังของตัวผู้ และสำหรับประเด็นไม่มีเท้านั้น ในปี พ.ศ. 2325 John Latham ผู้เป็นนักชีววิทยาชาวอังกฤษได้รายงานว่า เพราะชาวนิวกินีเวลาจับนกได้ และต้องการเก็บซากนก เขาจะตัดขาทั้งสองทิ้ง จึงเป็นว่านับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ทุกคนก็รู้ว่านกชนิดนี้มีเท้า และอาศัยอยู่บนต้นไม้
ในอดีตนักท่องเที่ยวที่มาเผชิญภัยบนเกาะนิวกินีชอบจับนกชนิดนี้เพื่อนำกลับยุโรป แต่พบว่าหลังจากที่ถูกขังในกรงได้นานเพียง 2-3 วัน นกทุกตัวจะเสียชีวิตลง ดังนั้น ชาวยุโรปจึงไม่เคยเห็นนกนี้เป็นๆ เลย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2367 เมื่อ Rene Lesson นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสได้เห็นมันจะจะเป็นครั้งแรกกำลังกระโดดไปมาบนกิ่งไม้ในป่า เขาได้อุปมาความประทับใจครั้งนั้นว่า เปรียบเสมือนได้เห็นก้อนอุกกาบาตที่สุกใสพุ่งตัดอากาศไปในป่าเป็นทางยาว
การติดตามศึกษาธรรมชาติของนกอย่างใกล้ชิด ทำให้ Lesson รู้ว่าปักษาสวรรค์ชอบอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง และนกตัวเมียมีรูปร่างอัปลักษณ์กว่านกตัวผู้ ถึงกระนั้นเมื่อถึงฤดูสืบพันธุ์แทนที่ตัวเมียที่รูปร่างไม่สวยจะจีบตัวผู้ กลับเป็นว่า นกตัวผู้จะวาดลวดลายกรีดกรายร่ายรำ เพื่อยั่วยวนตัวเมียให้สนใจ และถ้าลีลาของตัวผู้เป็นที่ต้องใจ และถูกใจตัวเมียหลายๆ ตัว เหล่านกตัวเมียก็จะยืนเรียงคิวให้ตัวผู้นั้นมาผสมพันธุ์
ในอดีตเมื่อ 150 ปีก่อน Alfred Russel Wallace นักชีววิทยาผู้ยิ่งใหญ่ได้เรียบเรียงหนังสือชื่อ The Malay Archipelago และตอนหนึ่งของหนังสือเล่มนั้นได้กล่าวถึงลีลาการเต้นเกี้ยวพาราสีของนกปักษาสวรรค์ (Paradisaea Apoda) ว่า เมื่อถึงเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูผสมพันธุ์ นกจะจับกลุ่มรวมกันเป็นฝูงใหญ่ในป่าบนเกาะ Aru ที่มีต้นไม้หนาทึบ ส่วนชาวบ้านที่ต้องการดูเหตุการณ์ก็จะสร้างเพิงบนต้นไม้สูงที่อยู่ไกลออกไป และก็ได้เห็นว่านกตัวผู้ที่มีจำนวนตั้งแต่ 12-20 ตัว จะยกปีกและหางพร้อมกับยืดคอออก และขยับตัวสั่นไหวตลอดเวลา จากนั้นก็จะบินจากกิ่งหนึ่งไปอีกกิ่งหนึ่งอย่างต่อเนื่อง และส่งเสียงร้องก้องป่าไปในขณะเดียวกันด้วย จนตัวเมียเห็นใจหรือตัวผู้เหนื่อย ซึ่งก็อาจนานเป็นชั่วโมง
Wallace ยังได้กล่าวถึงวิธียิงนกว่า ชาวบ้านใช้ธนูที่ปลายเป็นศรแหลมยิง และจะฆ่ามันทันที โดยไม่ให้มีบาดแผลขนาดใหญ่ เพื่อรักษาราคาซากของมัน และเวลาต้องการจับมันเป็นๆ ชาวบ้านจะใช้ตาข่ายจับ ในปี พ.ศ. 2405 Wallace ได้มีโอกาสนำนกปักษาสวรรค์เป็นๆ ไปยุโรปเป็นครั้งแรก และตั้งแต่นั้นมา ชาวยุโรปก็พากันนิยมชมชอบขนนกชนิดนี้โดยเฉพาะสตรียุโรปชอบใช้ขนนกปักษาสวรรค์แซมหมวกมาก ทำให้นกถูกฆ่ามากถึง 50,000 ตัว/ปี เพราะสังคมได้พบว่า นอกจากใช้ขนทำเครื่องประดับแล้ว ตัวของนกเองเวลาทำให้แห้งสามารถนำไปวางโชว์ในพิพิธภัณฑ์ได้ด้วย
ถึงแม้นักชีววิทยาจะรู้จักนกปักษาสวรรค์มานานร่วม 400 ปีแล้วก็ตาม แต่ก็มีนักชีววิทยาเพียงคนเดียวที่เคยศึกษาชีวิตนกชนิดนี้อย่างละเอียด เขาชื่อ Erwin Strese mann การทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์แห่งกรุง Berlin ในประเทศเยอรมนีทำให้เขามีโอกาสศึกษาซากของนกปักษาสวรรค์ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วยุโรป จนรู้ว่านกชนิดนี้มี 43 ชนิด
ส่วน Errol Fuller นั้นเป็นจิตรกรชาวอังกฤษที่มีความสามารถในการวาดภาพนกมาก เขาเคยแสดงฝีมือวาดภาพนก dodo และนก auk ที่ได้สูญพันธุ์ไปแล้ว มาบัดนี้เขารู้สึกสนใจนกปักษาสวรรค์จึงได้วาดภาพของนกที่ถูกเก็บในพิพิธภัณฑ์ การเป็นคนช่างสังเกต และละเอียดทำให้ Fuller รู้ว่าความรู้ที่ Strese mann แถลงไว้นั้นผิด นกปักษาสวรรค์มีมากกว่า 43 ชนิด เพราะนกที่ Strese mann คิดว่าเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์จริงๆ แล้วเป็นพันธุ์ผสม ส่วนที่คิดว่าเป็นพันธุ์ผสมนั้น จริงๆ แล้วเป็นสายพันธุ์บริสุทธิ์
และนั่นก็หมายความว่า นกปักษาสวรรค์ก็เช่นเดียวกับคน เมื่อถึงเวลาจะผสมพันธุ์มันไม่เลือกเชื้อชาติฉันใด คนเราก็เช่นกันฉันนั้น และในความเป็นจริงนั้น เวลานักชีววิทยาจะแยกความแตกต่างระหว่างชนิดของสัตว์ เขาไม่พิจารณาเฉพาะหน้าตา หรือ DNA เท่านั้น แต่เขาจะพิจารณาวิธีสืบพันธุ์ด้วย
ณ วันนี้นกปักษาสวรรค์เป็นนกต้องห้าม ล่า ยิง จับตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2456 รัฐบาลสหรัฐอเมริกา และรัฐบาลยุโรปหลายประเทศได้ออกกฎหมายห้ามการซื้อขายนกชนิดนี้ ไม่ว่าจะมีชีวิตหรือไม่มีก็ตาม และนั่นก็แสดงว่า ปักษาพาณิชนกชนิดนี้ไม่มี (โดยหลักการ) แต่สำหรับชาวบ้านบนเกาะนิวกินีเอง การลอบล่าคงมีครับ
สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน