xs
xsm
sm
md
lg

รำลึก 65 ปีสุนทราภรณ์

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

วันเวลาผ่านผันไปอย่างรวดเร็ว การก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์ซึ่งเป็นวงดนตรีสำคัญของชาติจะครบ 65 ปี ในวันที่ 20 พฤศจิกายน ศกนี้แล้ว ดังนั้นในบรรยากาศที่บ้านเมืองกำลังขาดคีตกวี กำลังขาดนักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลง และนักประสานเสียง ดังที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้ จึงเห็นความจำเป็นที่จะต้องกล่าวถึงความรุ่งเรืองของสุนทราภรณ์เพื่อเป็นคติเตือนใจให้คนไทยได้รำลึกถึง

การที่วงดนตรีวงหนึ่งมีอายุยืนยาวและมีผลงานอมตะประจักษ์ชัดตลอดมาถึง 65 ปีนั้นไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ และไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นได้โดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์หรือการชวนเชื่อใด ๆ หากเกิดขึ้น ดำรงอยู่ และดำเนินมาด้วยผลงานที่ซาบซึ้งและตรึงใจผู้คน

วงดนตรีสุนทราภรณ์ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2482 โดยบรมครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นเจ้าของและผู้ก่อตั้ง ใช้ส่วนแรกของชื่อสกุลคือ “สุนทร” สนธิเข้ากับนามของสตรีผู้เป็นที่รักและหมายปองว่าจะครองคู่ในอนาคตคือ “อาภรณ์” เป็น “สุนทราภรณ์” และต่อมาทั้งสองก็ได้ครองคู่กันสมความปรารถนาจนกระทั่งตายจากกันไป

ในขณะก่อตั้งวงดนตรีสุนทราภรณ์นั้น บรมครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นข้าราชการประจำสังกัดกรมโฆษณาการ ในตำแหน่งหัวหน้าวงดนตรีของกรมโฆษณาการ แต่ใช้เวลานอกราชการในการแสดงดนตรีเพื่อหารายได้อุดหนุนค้ำจุนสมัครพรรคพวกนั้น ได้ดำเนินการในนามของสุนทราภรณ์ตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงบัดนี้

จะว่ายุคนั้นเป็นยุครุ่งเรืองของคีตกวีก็ว่าได้ นักแต่งเพลง นักดนตรี นักร้อง นักประสานเสียง ได้อุบัติขึ้นมาพร้อม ๆ กัน ราวกับว่าได้นัดหมายกันไว้ให้มารวมตัวกันเป็นวงดนตรีสุนทราภรณ์ ซึ่งล้วนได้รับการยอมรับในภายหลังว่าเป็นคนระดับชั้นบรมครูและชั้นครูทั้งสิ้น

ในระยะแรกเป็นห้วงระยะเวลาที่ประเทศกำลังอยู่ในวิกฤตแห่งสงครามโลก ผลงานเพลงสุนทราภรณ์ซึ่งได้ยินยอมให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ในกรมโฆษณาการด้วย จึงเป็นผลงานเพลงในลักษณะของเพลงปลุกใจเป็นพื้น

หลังยุคสงครามคือหลังปี 2488 ละครเวทีได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง ในห้วงเวลานี้สุนทราภรณ์จึงได้รังสรรค์ผลงานเพลงที่ใช้ประกอบการเล่นละครเวที ดังผลงานอมตะที่มีชื่อว่าเพลงชุดจุฬาตรีคูณ ซึ่งยังคงดำรงความเป็นอมตะจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

ล่วงถึงปี 2495 อารยธรรมตะวันตกเริ่มไหลบ่าเข้าประเทศ การลีลาศได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีจะใช้เพลงฝรั่ง ทำนองเพลงฝรั่งเล่นเป็นพื้น โดยมีวงดนตรีจากฟิลิปปินส์เข้ามาเป็นตัวชูนำ ในยุคนั้นเองสุนทราภรณ์ก็ได้รังสรรค์บทเพลงที่ใช้จังหวะลีลาศอย่างครบถ้วน และเป็นมาตรฐานทั้งสิ้น บทเพลงที่ถูกรังสรรค์ขึ้นเพื่อตอบสนองต่อความนิยมด้านการลีลาศในยุคนั้นได้ทำให้สุนทราภรณ์ได้รับการขนานนามว่าเป็นราชาแห่งเพลงลีลาศ

เพราะเป็นวงดนตรีของคนไทยจึงถูกปรามาสว่าไหนเลยจะสู้วงดนตรีฝรั่งที่เล่นโดยคนฟิลิปปินส์ได้ ในขณะที่คนไทยจำนวนหนึ่งก็เห็นว่าสุนทราภรณ์แม้จะเป็นวงดนตรีไทยแต่ก็สามารถบรรเลงเพลงในจังหวะลีลาศซึ่งมีรากฐานมาจากฝรั่งได้อย่างเลิศ จึงเป็นเหตุให้มีการถือฝักฝ่ายถือหางคนละข้าง แล้วเกิดการเล่นประชันกันระหว่างวงดนตรีฝรั่งที่เล่นโดยคนฟิลิปปินส์กับวงดนตรีไทยสากลของสุนทราภรณ์

ในที่สุดผลก็ปรากฏว่าวงดนตรีไทยสากลของคนไทยคือสุนทราภรณ์ได้รับการตัดสินให้ชนะเลิศ และนี่ก็คือความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศตั้งแต่ยุคนั้นมาจนถึงยุคนี้

พอตกปลายปี 2495 หม่อมหลวงขาบ กุญชร อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ในขณะนั้นได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับครูเอื้อ สุนทรสนาน ว่าดนตรีไทยของเรานั้นมีความไพเราะเพราะพริ้งอ่อนช้อยสง่างาม แต่ร้องยาก เล่นยาก นานวันไปเบื้องหน้าก็จะร่วงโรยเสื่อมความนิยมไปจึงให้ครูเอื้อ สุนทรสนาน พิจารณาหาทางฟื้นฟูดนตรีไทย เพื่อให้คนรุ่นใหม่ในยุคนั้นได้ซึมซาบ อันเป็นการสืบทอดดนตรีไทยอีกทางหนึ่ง

ครูเอื้อ สุนทรสนาน ซึ่งเป็นเลิศทางดนตรีไทยอยู่อีกแขนงหนึ่ง จึงได้เปิดคลังดนตรีไทย ปรับเข้ามาเป็นทำนองเพลงใหม่ที่เรียกว่าคีตสัมพันธ์ คือนำทำนองเพลงไทยเดิมมาปรับปรุงให้รวดเร็วเร้าใจสอดคล้องกับยุคสมัยมากขึ้น และใช้ดนตรีไทยบรรเลงคู่ร่วมกับดนตรีสากล และนับแต่นั้นมาทำนองเพลงไทยเดิมแบบใหม่ที่สุนทราภรณ์ได้รังสรรค์ขึ้นจึงมีบทบาทและฐานะครอบงำบรรยากาศฟ้าบันเทิงของประเทศไทยในนามของ “สังคีตสัมพันธ์”

ความไพเราะสง่างามของการบรรเลงแบบสังคีตสัมพันธ์เลื่องชื่อลือชาออกไปถึงต่างประเทศ ถึงขนาดที่นายเบนนี กู๊ดแมน ราชาคลาริเน็ตระดับโลกเมื่อมีโอกาสเดินทางเข้ามาประเทศไทยได้ขอเล่นร่วมวงกับสุนทราภรณ์

บทเพลงที่ประทับใจราชาคลาริเน็ตระดับโลกผู้นี้มากที่สุดก็คือเพลงกระแต ซึ่งเป็นทำนองไทยเดิมโบราณและดัดแปลงมาเป็นเพลงไทยสากล บรรเลงในลักษณะคีตสัมพันธ์ ซึ่งพอจำเนื้อร้องตอนแรกได้ว่า “น้องรักพี่เอย เจ้าอย่าเลยแรม ลา เจ้านัดมาพี่ก็มาภิรมย์ เสียงเจ้าพรอดออดคำ ฉ่ำใจเชยชม รื่นรมย์อุรา”

ความประทับใจที่ราชาคลาริเน็ตระดับโลกผู้นี้มีต่อการบรรเลงแบบสังคีตสัมพันธ์ในเพลงกระแตได้ถูกนำไปเล่าขานยังต่างประเทศอันเป็นเรื่องที่คนไทยควรภาคภูมิใจอีกเรื่องหนึ่ง

ครั้นปี 2498 รวงทอง ทองลั่นธม เข้ามาร่วมวงดนตรีสุนทราภรณ์ และเป็นจังหวะที่โทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม กำลังเป็นที่นิยม ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้เห็นถึงพรสวรรค์อันบรรเจิดที่ฟ้าประทานรวงทองเป็นรวงทิพย์ให้มีเสียงทิพย์ของรวงทองเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงได้รังสรรค์บทเพลงชุดขวัญใจเจ้าทุยให้เป็นเพลงจุดกำเนิดของเจ้าของเสียงทิพย์รวงทอง

จนรวงทอง ทองลั่นธม ซึ่งขณะนั้นยังไม่แจ้งถึงการที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้เล็งเห็นแล้วต้องทักท้วงว่าแม้เป็นเด็กบ้านนอก แต่ไฉนจะต้องให้ไปรักกับควาย นั่นเป็นการถามด้วยความน้อยเนื้อต่ำใจ ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ครูเอื้อ สุนทรสนาน ก็ได้ยืนยันว่าบทเพลงที่ให้รักกับควายนี่แหละจะให้กำเนิดศิลปินนักร้องคนสำคัญของชาติที่เป็นอมตะเป็นมั่นคง

เพลงชุดขวัญใจเจ้าทุยออกมาคู่กับเพลงอย่าเกลียดบางกอก ซึ่งขับร้องโดยหม่อมราชวงศ์ ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ได้ดังก้องกระหึ่มฟ้าบันเทิงแห่งประเทศไทย และได้ทำให้รวงทอง ทองลั่นธม และหม่อมราชวงศ์ ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ดังก้องเกริกฟ้าเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้

ห้วงเวลานั้นเป็นห้วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯกลับนิวัตน์ประเทศไทย ครูเอื้อ สุนทรสนาน และครูแก้ว อัจฉริยกุล จึงได้รังสรรค์บทเพลงสำคัญของชาติต่อเนื่องกันสองบท คือ เพลงราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น และเพลงบ้านเกิดเมืองนอน

เพลงราชาเป็นสง่าแห่งแคว้นเป็นบทเพลงที่ถอดเอาหัวใจของคนไทยทั้งประเทศถวายเป็นราชสดุดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสเสด็จฯนิวัตน์กลับประเทศไทย ซึ่งถึงวันนี้ก็เป็นที่ยอมรับว่าตรงจิตตรงใจของคนไทยทั้งประเทศโดยไม่มีเพลงอื่นใดเสมอเหมือน

ความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศถูกถ่ายทอดเป็นเนื้อเพลงตอนหนึ่งว่า “โอ้ลมฝนบนฟ้ามาแล้ว ร่มโพธิ์แก้วจะพาพฤกษาสดใส ข้าวรพุทธเจ้าชาวไทย ยกกรไหว้แด่ไทยราชันย์ เราน้อมเกล้าเกศีถวายภูมีมอบศิระกราน เทิดบังคมภูบาลเอาไว้เหนือฟ้า โพธิ์ทองของชาวไทย อวยพรชัยให้มหาราชา ช่วยกันเปล่งวาจา ขอทรงพระเจริญ ไชโย ไชโย”

ส่วนเพลงบ้านเกิดเมืองนอนนั้น เป็นเพลงปลุกใจให้รักชาติ จึงต้องใจประชาชนไทยทั้งประเทศ โดยเฉพาะเป็นที่ต้องใจของท่านผู้นำ จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อครั้งที่มีการประกวดเพลงปลุกใจของสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม เพลงบ้านเกิดเมืองนอนของสุนทราภรณ์ได้รับการตัดสินให้เป็นบทเพลงที่ชนะเลิศ

เพลงบ้านเกิดเมืองนอนดูจะสอดคล้องกับสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน และในยามที่สถานการณ์เรียกร้องต้องการให้คนไทยต้องรวมใจสมานฉันท์ จึงควรที่ทางราชการจะได้นำเพลงบ้านเกิดเมืองนอนนี้มาปลุกขวัญประโลมใจคนไทยอีกครั้งหนึ่ง

บทเพลงตอนหนึ่งซึ้งใจนัก ความว่า

“อยู่กินบนแผ่นดินท้องถิ่นกว้างใหญ่ ชาติไทยนั้นเคยใหญ่ในบูรพา ทุกทุกเช้าเราดูธงไทย ใจจงปรีดา ว่าไทยอยู่มาด้วยความผาสุกถาวรสดใส

บัดนี้ไทยเจริญวิสุทธิ์ผุดผ่อง พี่น้องจงแซ่ซ้องชาติไทย รักษาไว้ให้มั่นคง เทิดธงไตรรงค์ให้เด่นไกล ชาติเชื้อเรายิ่งใหญ่ ชาติไทยบ้านเกิดเมืองนอน”

หรือว่าพรรคชาติไทยจะขออนุญาตวงสุนทราภรณ์นำไปใช้เป็นเพลงประจำพรรคก็ดูจะสอดคล้องกันดี!

ผลงานอันประจักษ์ว่าเป็นผลดีต่อชาติบ้านเมืองและประชาชนทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทโดยลำดับมา ดังนั้นในวาระครบรอบ 20 ปี วงดนตรีสุนทราภรณ์ ในปี พ.ศ. 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระราชนิพนธ์บทเพลงไตเติลให้เป็นเพลงไตเติลประจำวงดนตรีสุนทราภรณ์ และพระราชทานนามเพลงไตเติลนี้ว่า “เพลงพระมหามงคล”

จะขอย้ำเน้นว่าเป็นน้ำพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่พระราชทานแก่วงดนตรีสุนทราภรณ์และครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นการเฉพาะ ซึ่งยังคงซาบซึ้งตรึงใจในพระมหากรุณาธิคุณของชาวสุนทราภรณ์มาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้

เพื่อให้เพลงสุนทราภรณ์แพร่หลายดำรงคงเป็นอมตะตลอดกาล ครูเอื้อ สุนทรสนาน ได้เล็งเห็นการณ์ไกลว่าจำเป็นจะต้องบันทึกผลงานเพลงไว้ในแผ่นเสียง ซึ่งในยุคต้นนั้นเป็นแผ่นเสียงที่ทำด้วยครั่ง จึงทำให้ผลงานเพลงสุนทราภรณ์ที่มีครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ได้รับการบันทึกไว้และตกทอดมาในชั้นหลัง

แม้มีการพัฒนาแผ่นเสียงจากแผ่นเสียงขนาดใหญ่เป็นขนาดเล็ก มาเป็นเทป มาเป็นซีดี วีซีดี และดีวีดี ในปัจจุบันแล้ว บทเพลงสุนทราภรณ์ก็ได้ถูกบันทึกไว้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ ให้เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาท และนำความภาคภูมิใจและความสุขใจสู่คนไทยในยุคต่อ ๆ ไปเป็นนิรันดร
กำลังโหลดความคิดเห็น