xs
xsm
sm
md
lg

ชาติรัฐ (the nation-state) และรัฐชาติ (the state-nation)

เผยแพร่:   โดย: ลิขิต ธีรเวคิน

การล่มสลายของจักรวรรดิโรมันนำไปสู่การเกิดระบบการเมืองสังคม เศรษฐกิจแบบฟิวดัล และการล่มสลายของระบบฟิวดัลก็ได้นำไปสู่ชุมชนทางการเมืองแบบชาติรัฐ (the nation-state) ตัวอย่างของรูปแบบชุมชนแบบชาติรัฐเห็นได้จากการเกิดประเทศต่างๆ ในยุโรปซึ่งมีพื้นฐานจากวัฒนธรรมและภาษาใกล้เคียงกัน รวมกลุ่มกันเป็นหน่วยการเมืองใหญ่ การรวมกลุ่มเป็นชุมชนการเมืองเช่นนี้เป็นที่ทราบกันดีว่าเป็นการเมืองแบบชาติรัฐ (the nation-state) ในตัวอย่างเบื้องต้น ชุมชนทางการเมืองหลากหลายซึ่งมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน ได้ยินดีกลายเป็นส่วนย่อยของระบบการเมืองที่ใหญ่กว่าซึ่งมีอำนาจรัฐ ตัวอย่างเช่น ฝรั่งเศส เยอรมัน และอังกฤษ

ในกรณีของอังกฤษนั้นสังคมเกิดขึ้นก่อน และในแต่ละชุมชนย่อยๆ มีการปกครองตนเอง จึงนำไปสู่ระบบการเมืองที่มีรัฐบาลกลาง ดังนั้น ประเทศอังกฤษจึงเป็นประเทศที่มีอำนาจส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นไม่มีส่วนภูมิภาค

ในบางส่วนของโลก หน่วยการเมืองหรือชุมชนการเมืองที่นักวิชาการเรียกว่า ชาติรัฐ (the nation-state) เป็นเรื่องไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง ข้อเท็จจริงมีอยู่ว่ารัฐหลายรัฐเกิดขึ้นหลังจากการล่มสลายของระบบอาณานิคม หน่วยการเมืองเล็กๆ หลายหน่วยถูกบีบให้เข้าไปอยู่ภายใต้ระบบการเมืองซึ่งมีคนกลุ่มใหญ่เป็นผู้ก่อตั้ง โดยบางครั้งการบีบให้หน่วยเล็กๆ อยู่ภายใต้หน่วยใหญ่เกิดขึ้นโดยการใช้ความรุนแรงทางการเมือง บางครั้งก็นำไปสู่การรบราฆ่าฟันกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ประเทศเพื่อนบ้านของไทยประเทศหนึ่งมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งที่เรียกว่าชนกลุ่มน้อยมาจนตราบทุกวันนี้ ในประเทศเหล่านี้รัฐ (the state) ถูกสร้างขึ้น จากนั้นจึงนำเอาชุมชนต่างๆ มาอยู่ภายใต้รัฐนั้น ในส่วนนี้รัฐจึงเป็นส่วนประดิษฐ์ทางการเมือง และในบางครั้งก็ไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชนการเมืองอื่นๆ ที่อยู่ในภาวะจำยอม สภาวะเช่นนี้เป็นสภาวะของรัฐชาติ (the state-nation) ซึ่งต่างจากชาติรัฐ (the nation-state) ความแตกต่างระหว่างชาติรัฐและรัฐชาติอยู่ที่ขั้นตอนของการสร้างชุมชนทางการเมือง ในระบบชาติรัฐ (the nation-state) ชาติมาก่อน รัฐเกิดขึ้นทีหลัง ข้อสังเกตอีกข้อหนึ่งคือคำว่าชาติมักจะหมายถึงประชาชนมากกว่าหน่วยทางการเมือง ตัวอย่างเช่น มอญเป็นกลุ่มคนที่มีชาติมอญ (the nation of Mon) แต่มอญไม่มีรัฐมอญ (the state of Mon) ผลที่เกิดขึ้นก็คือขณะนี้มีชาติมอญอยู่ทั้งในพม่า ไทย และที่อื่นๆ แต่ไม่มีรัฐมอญ หรือพูดง่ายๆ คือไม่มีประเทศมอญ

ในชาติรัฐ (the nation-state) รัฐบาลมักจะมีความอดทนอดกลั้นต่อชนชาติส่วนน้อยหรือชนกลุ่มน้อยน้อยกว่าจักรวรรดิ์ แต่ในความเป็นจริงถ้าชาติรัฐ (the nation-state) เป็นชาติรัฐอย่างแท้จริง ความแตกต่างระหว่างกลุ่มจะมีน้อยมาก และน่าจะมีความอดทนอดกลั้นต่อความแตกต่างได้มาก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือส่วนใหญ่ความสัมพันธ์ที่ไม่สนิทระหว่างชนกลุ่มใหญ่และชนกลุ่มน้อยในประเทศมักจะมีสาเหตุมาจากการเป็นระบบรัฐชาติ (the state-nation) กล่าวคือมีการสร้างอำนาจรัฐขึ้นมาแล้วจึงนำชาติ (ชนกลุ่มต่างๆ) เข้ามาอยู่ในอำนาจรัฐ ทำให้เกิดปัญหาความไม่ลงร่องลงรอยได้ในรัฐเดียวกัน

มองในมิติดังกล่าวเบื้องต้นปัญหาชนกลุ่มน้อยในหลายๆ ประเทศเกิดจากข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐถูกสถาปนาขึ้นด้วยความไม่ยินยอมของชนกลุ่มน้อย การสถาปนารัฐดังกล่าวจึงไม่สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริง ในทางกลับกัน ชาติรัฐ (the nation-state) จะเป็นระบบซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงตั้งแต่เบื้องต้น กล่าวคือ ชนกลุ่มต่างๆ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันพร้อมใจกันที่จะอยู่ภายใต้หน่วยการเมืองใหญ่กว่าเรียกว่ารัฐ เนื่องจากเหตุผลทางความมั่นคง ความจำเป็นที่ต้องพึ่งพาทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ทางสายเลือดและวัฒนธรรม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ Saar-Bruecken เลือกที่จะอยู่กับเยอรมันในการออกเสียงประชามติ

สำหรับหน่วยการเมืองซึ่งเล็กเกินกว่าที่จะเป็นชุมชนการเมืองในลักษณะรัฐ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากถูกกลืนภายใต้หน่วยการเมืองหน่วยใหญ่ ก็มักจะออกมาในรูปของการให้ความเป็นอิสระด้วยการปกครองตนเอง ตัวอย่างที่เห็นชัดคือหน่วยปกครองพิเศษในสาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างไรก็ตามทางออกดังกล่าวนี้ก็ยังคงมีปัญหาอยู่ในหลายๆ ประเทศ ประเทศที่เคยเสียดินแดนให้กับเจ้าอาณานิคมไม่สามารถจะรับความคิดเช่นนี้ได้ เพราะเชื่อว่าถ้าปล่อยให้หน่วยการเมืองดังกล่าวมีอิสระจะทำให้หน่วยอื่นเสนอการเรียกร้องในลักษณะเดียวกัน ผลสุดท้ายก็จะกลายเป็นการหว่านเมล็ดพืชเพื่อการแยกดินแดน ความรู้สึกเช่นนี้จะรุนแรงมากในชุมชนการเมืองที่เป็นรัฐชาติ (the state-nation)
ส่วนในชุมชนการเมืองที่เป็นชาติรัฐ (the nation-state) จะมีความรู้สึกน้อยกว่า

ทางออกในการแก้ปัญหาจะเป็นอย่างไรก็ตาม จะต้องหาทางออมชอมให้เป็นที่พอใจของทั้งสองฝ่าย มิฉะนั้นความขัดแย้งที่เป็นอยู่ก็จะดำเนินต่อไปไม่สิ้นสุดและไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดทั้งสิ้น การแก้ปัญหาดังกล่าวนี้จะต้องกระทำด้วยการถกเถียงหาข้อมูลและหาทางออกบนพื้นฐานของความรู้จริง ไม่สามารถจะใช้สูตรสำเร็จอันใด จำเป็นอย่างยิ่งในการนำเอาลักษณะพิเศษและสาเหตุเฉพาะของปัญหามาทำการวิเคราะห์เพื่อความเข้าใจและหาทางออก อันจะนำสันติสุขกลับคืนมาสู่ชุมชนการเมืองนั้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น