xs
xsm
sm
md
lg

ช่องว่างระหว่างเพศ

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


ประวัติกีฬาโลกบันทึกว่า ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกปี 2503 Don Schollander แห่งสหรัฐอเมริกาชนะแข่งว่ายน้ำฟรีสไตล์ 400 เมตร ด้วยสถิติโลก 4 นาที 12.2 วินาที อีก 20 ปีต่อมา ถ้าเขาลงแข่งว่ายน้ำที่ระยะทางเดียวกันนี้ที่กรุงมอสโกกับนักว่ายน้ำหญิงสถิติที่เคยทำให้เขาได้เหรียญทอง จะทำให้ Schollander ได้ที่ 5 คือ เขาจะวืดทุกเหรียญ

และเมื่อต้นปี 2546 นี้ เมื่อ Paula Radcliff แห่งอังกฤษชนะวิ่งมาราธอนที่กรุงลอนดอนด้วยสถิติ 2 ชั่วโมง 15 นาที ซึ่งน้อยกว่าสถิติเดิมถึง 2 นาที วงการกีฬาและกรีฑาก็เริ่มโจษจันกันอีกครั้งหนึ่งว่า จริงหรือไม่ที่ในอนาคตอันใกล้นี้ ผู้หญิงจะ (วิ่ง) ทิ้งผู้ชาย

ในอดีตเมื่อ 12 ปีก่อน B.J. Whipp และ S.A. Ward แห่ง School of Medicine มหาวิทยาลัย California ที่ Los Angeles ได้เคยศึกษาความสามารถเชิงกรีฑาของนักกรีฑาหญิง เมื่อเปรียบเทียบกับนักกรีฑาชาย และได้รายงานในวารสาร Nature ฉบับที่ 355 ประจำวันที่ 2 มกราคม 2535 ว่าจากการเก็บข้อมูลเวลาของผู้ชนะเลิศ 100 เมตร เขาได้พบว่า ในทุก 10 ปี สถิติความเร็วของนักกรีฑาชายดีขึ้น 0.111 เมตร/วินาที และของนักกรีฑาหญิงดีขึ้น 0.26 เมตร/วินาที และในกรณีการวิ่งมาราธอน เขาก็ได้พบเช่นกันว่า ในทุก 10 ปี ความเร็วของนักกรีฑาชายดีขึ้น 0.63 เมตร/วินาที ส่วนของผู้หญิงก็ดีขึ้นเช่นกันที่ 0.15 เมตร/วินาที และจากข้อมูลที่ได้นี้ Whipp กับ Ward จึงทำนายว่า ในการแข่งมาราธอนปี พ.ศ. 2541 นักกรีฑาหญิงและชายจะถึงเส้นชัยพร้อมกันด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 3 นาที 59.0 วินาที แล้วหลังจากนั้นไปผู้หญิงยิงเรือก็จะวิ่งมาราธอนชนะผู้ชายพายเรือทุกครั้งไป (และเมื่อถึงวันนี้เราทุกคนก็รู้ว่า คำพยากรณ์ของ Whipp และ Ward ผิด)

ถึงกระนั้น ประเด็นความสามารถของนักกรีฑาทั้งชายและหญิง ก็ยังคงเป็นจุดสนใจในวารสาร Nature ฉบับที่ 431 ประจำวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2547 A.J. Tatem และคณะแห่ง TALA Research Group ที่มหาวิทยาลัย Oxford ในประเทศอังกฤษได้รายงานว่า จากการรวบรวมสถิติเวลาวิ่งระยะทาง 100 เมตร ของผู้พิชิตเหรียญทองทั้งชายและหญิง ในกีฬาโอลิมปิกในเวลา 100 ปีที่ผ่านมา เขาได้กราฟเป็นเส้นตรง 2 เส้น คือเส้นบนสีแดงเป็นของนักกรีฑาหญิง และเส้นล่างสีน้ำเงินเป็นของนักกรีฑาชาย การมีความสัมพันธ์เป็นเส้นตรง ทำให้เขาสามารถทำนายได้ว่า ในการแข่งกรีฑาโอลิมปิกระยะทาง 100 เมตร ในปี พ.ศ. 2551 ผู้พิชิตเหรียญทองหญิงจะชนะด้วยเวลา 10.57 + 0.232 วินาที ส่วนผู้พิชิตเหรียญทองชายจะชนะด้วยเวลา 9.37+0.144 วินาที และถ้าพิจารณาความแตกต่างของเวลาชนะ ในปี 2471 สถิติชนะของชายคือ 10.8 วินาที และหญิงคือ 12.2 วินาที คิดเป็น 1.4 วินาที แต่เมื่อถึงปี 2495 สถิติเวลาของผู้ชายเท่ากับ 10.4 วินาที และของผู้หญิงเท่ากับ 11.5 วินาที ซึ่งแตกต่างกัน 1.1 วินาที และในปี 2547 ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อเร็วๆ นี้ ความแตกต่างของเวลาชนะเหลือเพียง 1.08 วินาทีเท่านั้นเอง เมื่อ Yuliya Nestrenko แห่งรัสเซียเข้าเส้นชัยด้วยเวลา 10.93 วินาที และ Justin Gatlin ชาวอเมริกันชนะด้วยเวลา 9.85 วินาที เมื่อความแตกต่างปรากฏชัดเช่นนี้ว่า ผู้หญิงวิ่งเร็วขึ้นตลอดเวลา ดังนั้น Tatem และคณะ จึงทำนายอีกว่าในการแข่งกีฬาโอลิมปิกปี 2699 นักกรีฑาหญิงจะชนะแข่งขันระยะทาง 100 เมตร ด้วยเวลา 8.079 วินาที และนักกรีฑาชายด้วยเวลา 8.098 วินาที และถ้าประมาณความคลาดเคลื่อนของการทำนายด้วยวิธีคำนวณแบบ Markov chain Monte Carlo พบว่า ผู้หญิงจะวิ่งเร็วกว่าผู้ชายอย่างเร็วที่สุดก็ในปี พ.ศ. 2607 และอย่างช้าที่สุดก็ปี พ.ศ. 3331 และนั่นก็หมายความว่า หลังจากนี้อีก 784 ปี มนุษย์ที่วิ่งเร็วที่สุดในโลกจะเป็นสตรี

แต่ Tatem กับคณะก็ได้ตั้งข้อสังเกตว่า สถิติและข้อมูลที่เขาใช้ในการวิเคราะห์เรื่องนี้ ไม่ได้พิจารณาความคลาดเคลื่อนของการจับเวลาชนะ ในสมัยก่อนเมื่อ 100 ปีแล้ว ไม่ได้ศึกษาดูว่า ผู้ชนะเหรียญทองในอดีตมากๆ ใช้ยาโด๊ปหรือไม่ เพราะในยุคนั้น วงการกรีฑาไม่มีมาตรการตรวจจับที่ดี ไม่ได้พิจารณาสภาพของสถานที่แข่งขันว่าเป็นมาตรฐานหรือไม่ เช่น อยู่สูงจากระดับน้ำทะเลมากจนทำให้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงของโลกที่กระทำต่อนักกรีฑาลดลง ไม่ได้พิจารณาการบอยคอตโอลิมปิก ซึ่งในบางครั้งนักกรีฑาที่เก่งที่สุด ที่วิ่งเร็วที่สุดไม่ได้ลงแข่ง เป็นต้น และนี่ก็คือที่มาของความคลาดเคลื่อนที่จะทำให้คำทำนายผิด

ถึงอย่างไรก็ตาม คณะผู้วิจัยชุดนี้ก็มั่นใจว่า ความแตกต่างระหว่างเพศด้านความเร็วในการวิ่งระยะสั้นจะลดลงๆ จนเมื่อถึงการแข่งกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 66 ผู้หญิงก็จะวิ่งเร็วกว่าผู้ชายเป็นครั้งแรก

ผู้ชายนั้นตามปกติมีสรีระร่างกายที่ได้เปรียบผู้หญิง เพราะร่างกายผู้ชายได้รับฮอร์โมนเพศชายชื่อ testosterone ที่องค์การโอลิมปิกห้ามไม่ได้ การมีฮอร์โมนชนิดนี้ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับออกซิเจน และพลังกล้ามเนื้อให้ผู้ชายเช่น ในวัยหนุ่มปอดจะรับออกซิเจนได้นาทีละ 3.5 ลิตร ในขณะที่ปอดผู้หญิงจะรับได้เพียงนาทีละ 2 ลิตร เพราะการมีออกซิเจนมากจะช่วยให้เซลล์เม็ดเลือดแดงปลดปล่อยพลังงานได้มาก และเมื่อฮอร์โมน testosterone ในผู้ชายมีมากกว่าในผู้หญิง 10 เท่า เพราะฮอร์โมนนี้สร้างเม็ดเลือดแดง นั่นก็หมายความว่า ร่างกายผู้ชายมีเม็ดเลือดแดงที่มี hemoglobin ซึ่งให้พลังงานเป็นจำนวนมากกว่าที่ร่างกายผู้หญิงมีประมาณ 10% ด้วย

นอกจากนี้ร่างกายผู้ชายก็มีกล้ามเนื้อมากกว่าด้วย มีหัวใจที่ใหญ่กว่าด้วย ซึ่ง D. Christensen แห่งมหาวิทยาลัย Copenhagen ที่เดนมาร์กได้พบว่า หากจะให้หัวใจผู้หญิงสูบฉีดเลือดมากเท่าหัวใจผู้ชาย หัวใจผู้หญิงจะต้องทำงานหนักมาก

ส่วน R. Malina แห่งมหาวิทยาลัย Michigan State ได้พบว่า ในการวิ่งระยะสั้นที่ผู้วิ่งต้องระดมพลังงานออกมาปลดปล่อยในช่วงเวลาสั้นมากนั้น ผู้ชายมีความสามารถรูปแบบนี้ ซึ่งมีชื่อเป็นทางการว่า anaerobic capacity มากกว่าผู้หญิง จากการที่สามารถสร้างพลังงานได้โดยไม่ต้องพึ่งพาออกซิเจน เพราะได้มีการสำรวจพบว่า เวลาวิ่ง 100 เมตร ใน 10 วินาที นักกรีฑาบางคนไม่หายใจเข้าเลย จนกระทั่งสิ้นสุดการแข่งขัน (แต่ในการวิ่งระยะไกล เช่น วิ่งมาราธอนนักวิ่งต้องอาศัยออกซิเจนในการปลดปล่อยพลังงาน นั่นคือ aerobic capacity) ดังนั้น การมีกล้ามเนื้อมากก็แสดงว่า นักวิ่งชายมี phosphocreatine และ glucose ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานแบบ anaerobic มากกว่านักวิ่งผู้หญิง นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาหลายคน ก็ยังมีความเชื่อว่า สถิติการวิ่งของนักกรีฑาสตรีที่บอกว่าดีขึ้นๆ ในช่วง 20-30 ปีก่อนนี้ เกิดจากการใช้ยาโด๊ปในบรรดานักกรีฑาสตรีเยอรมันตะวันออก ดังนั้น Tatem และคณะจึงไม่ควรใช้สถิตินี้ในการวิจัย

จึงเป็นว่า ปัญหาเรื่องช่องว่างระหว่างเพศ ด้านความสามารถในการวิ่งของนักกรีฑายังไม่มีข้อยุติ และเราก็ยังไม่รู้ชัดว่า ความสามารถของหญิงและชายในกรีฑาและกีฬามีเพดานหรือไม่ และถ้ามีเหล่านักวิ่ง นักว่ายน้ำ นักพุ่งแหลน นักทุ่มน้ำหนัก นักกระโดดสูง ฯลฯ นักอะไรต่อมิอะไรจะถึง ซึ่งเพดานเหล่านั้นในปีใดและพ.ศ.ใด และเพดานนั้นๆ จะชนกันหรือไม่

แต่เราก็รู้ชัดว่า สถิติต่างๆ จะถูกทำลายไปทุกปีและการทำลายสถิติโลกจะยากขึ้นๆ แต่การใช้อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ที่ดีขึ้น การมีจิตใจที่พร้อมขึ้น และการกินอาหารที่ดีขึ้น ก็จะช่วยให้นักกรีฑาที่มีพรสวรรค์ทำลายสถิติโลกได้บ้าง

ส่วนการที่นักกีฬาหญิงจะชนะนักกีฬาชายได้ก็มีวิธีเดียว ผมว่า เธอต้องเป็นนักกีฬา GMO

สุทัศน์ ยกส้าน ภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสถาน
กำลังโหลดความคิดเห็น