แพร่ - เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านเมืองแพร่รับ "ก้าวพลาดไปแล้วกับกฎหมายสุรากลั่นชุมชน" จนต้องทนกับสภาวะกลืนไม่เข้า-คายไม่ออก "ทำก็เจ๊ง ไม่ทำก็พัง" ขณะที่รัฐมุ่งเพียงรายได้จากภาษี แต่ผู้ประกอบการพื้นบ้านตายเรียบ ส่วน"สีเวย" แนวคิดใหม่ยกระดับเหล้าพื้นบ้านสู่สากล ยังไม่รู้ลูกผี ลูกคน
สถานการณ์เหล้าพื้นบ้าน หลังการเรียกร้องของกลุ่มคนทำเหล้าทั่วประเทศ ที่เรียกร้องให้รัฐเปิดโอกาสให้คนทำเหล้าในชุมชน สามารถเป็นผู้ประกอบการที่ถูกต้องเมื่อหลายปีก่อนรุนแรง จนสามารถกดดันให้รัฐต้องออกประกาศให้เหล้าเถื่อน ธุรกิจมืดใต้ดินสามารถผลิตบนดินได้ภายใต้เงื่อนไข "สุรากลั่นชุมชน"
ทั้งนี้ ได้เปิดให้ขึ้นทะเบียนตั้งแต่มกราคม - กุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งมีผู้แสดงความจำนงขอขึ้นทะเบียนอยู่เป็นจำนวนมาก เฉพาะจังหวัดแพร่ ที่ถือเป็นแหล่งผลิตเหล้าเถื่อนที่ขึ้นชื่อที่สุดของประเทศแห่งหนึ่ง มีชาวบ้านขึ้นทะเบียนเซ็นสัญญาทำสุรากับสรรพสามิตมากถึง 414 ราย ส่งผลให้ยอดการซื้ออากรแสตมป์จากสรรพสามิตในช่วงเดือนเมษายน 2546 เกิดขึ้นถึง 800,000 บาท และมีสถิติเพิ่มสูงขึ้นในเดือนกันยายน - พฤศจิกายน 2546 ที่มียอดสูงถึง 6 ล้านบาท ซึ่งยอดเก็บภาษีดังกล่าวทรงตัวในช่วงเดือนต่อมาจนถึงปี 2547
สถิติดังกล่าวทรงตัวต่อเนื่องมาถึงปี 47 แม้ว่าจะมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้นจาก 414 รายเมื่อปี 46 มาเป็น 600 รายในปีนี้ รวมถึงสถานะของสุรากลั่นชุมชนเมืองแพร่ ที่กลายเป็นจุดแข็งของจังหวัดไปแล้ว และกำลังก้าวขึ้นไปเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์(โอทอป) ชื่อดังของจังหวัดแพร่ก็ตาม
นายชุม สะเอียบคง กำนันต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ที่สะเอียบ มีการทำเหล้าเถื่อนมานาน ต่อมาชาวบ้านยอมเข้าไปจดทะเบียน ตั้งแต่นโยบายเปิดให้ และสามารถต่อเชื่อมแหล่งรับซื้อได้ดีพอสมควร ซึ่งปัจจุบันทุกกลุ่มที่ทำเหล้าเถื่อนในต.สะเอียบได้เข้าไปจดทะเบียนหมดแล้ว ระยะแรกยอดการจำหน่ายดีมากแต่หลัง ๆ ยอดก็ลดลงเป็นลำดับ เนื่องจากโรงงานในสะเอียบมีมากขึ้น ปัจจุบันมีมากกว่า10 โรงงาน
นายสุทัศน์ - นางปทุม โพธิตา สามีภรรยาที่มีอาชีพต้มเหล้าพื้นบ้านขายมานานกว่า 20 ปี ในพื้นที่ต.เวียงต้า อ.ลอง จ.แพร่ โดยสืบทอดอาชีพนี้ต่อจากบิดามารดา อดีตที่ผ่านมาต้องทำเหล้าหลบๆ ซ่อนๆ พร้อมทั้งจ่ายใต้โต๊ะให้กับเจ้าหน้าที่สรรพสามิต-ตำรวจเป็นประจำแต่ธุรกิจก็ไปได้ แต่เมื่อเข้าไปจดทะเบียนอาชีพต้มเหล้าที่ทำมายาวนานก็เปลี่ยนไป และยากที่จะให้กลับมาเหมือนเดิมได้อีกต่อไป
สามีภรรยา คู่นี้บอกว่า วันนี้ครอบครัวโพธิตา กำลังใช้วิธีการจัดการแบบเก่า คือ การขายเหล้าถุงราคาเหล้าพื้นบ้านเช่นเดิมอีกครั้งหนึ่ง เพราะกิจการไปไม่รอด โดยเหล้าที่ผลิตได้จากโรงงานส่วนหนึ่ง จะติดอากรแสตมป์แล้วขายไปตามบุญตามกรรม เพื่อมียอดการเสียภาษีเสมือนว่าโรงงานแห่งนี้ทำถูกต้อง แต่ส่วนใหญ่จะขายเป็นเหล้าถุงที่ไม่ต้องเสียภาษี
"สมัยก่อนรายได้จากเหล้าส่งลูก 2 คนเรียนได้สบาย วันนี้ลูกชายคนโตจบมหาวิทยาลัยมีงานทำแล้ว ส่วนคนเล็กอยู่ระดับมัธยม ก็เห็นๆกันอยู่ว่าไม่มีอะไรดีกว่าการขายเหล้า เมื่อทางราชการเปิดให้จดทะเบียน ก็คิดว่าเป็นทางเดินที่ดีมาก ก็ไปจดทะเบียนและผ่านการตรวจสอบ ซึ่งก็เป็นเหล้าที่เคยทำๆกันมาไม่ต่างอะไรเพียงแต่ลดดีกรีลงไปเหลือ 40 ดีกรีเท่านั้น"
อย่างไรก็ตาม เส้นทางใหม่กลับไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง เงินทุนที่ลงไปแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท จะผลิตต้องไปซื้อแสตมป์ขวดละ 19 บาทครั้งหนึ่งต้องซื้ออย่างต่ำ 10,000 บาทขึ้นไป ตอนนี้เงินจะซื้อขวดมาบรรจุเหล้า ซื้อแสตมป์ก็ไม่มี เงิน 30,000 บาทที่กู้มาลงทุนก็ต้องเสียดอกเบี้ย เมื่อบรรจุขวดอย่างถูกต้อง คนในหมู่บ้านไม่ซื้อเพราะราคาแพง จะขายนอกหมู่บ้านก็ไม่มีที่ขาย
"วันนี้อย่าว่าแต่ส่งลูกเรียนเลย จะกินเข้าไปยังไม่มี เดิมขายขวดละ 15-20 บาท ปัจจุบันต้องขาย 45 บาทในหมู่บ้านไม่มีคนซื้อจริงๆ คิดว่าเราน่าจะเดินทางผิดไปแล้วในที่สุดต้องกลับมาขาย "เหล้าถุง" ขายในชุมชนถุงละ 10 บาท ไม่ต้องใส่ขวดและไม่ต้องติดแสตมป์แต่ก็เหล้าตัวเดิมนั่นแหละ"
นางจันทร์เพ็ญ นันทยานา ชาวบ้านต้มเหล้าที่ ต.บ้านถิ่น อ.เมือง จ.แพร่ กล่าวว่า การจดทะเบียนไม่ใช่โอกาสอย่างที่คิดกัน เครือข่ายเหล้าที่เชียงรายส่วนใหญ่ไม่จดทะเบียน เป็นความคิดที่ถูกแล้ว เพราะถึงแม้จะจดทะเบียน เราก็ไม่อาจหาตลาดเหล้าได้ นอกจากขายให้กับคนในชุมชน ที่ต้องการเหล้าราคาต่ำเพื่อเลี้ยงกันในงานมงคล และงานเกษตรในไร่นาเท่านั้น
นายสุรินทร์ พรมเสน ประธานเครือข่ายเหล้าพื้นบ้านจังหวัดแพร่ กล่าวว่า คนต้มเหล้าที่เป็นชาวบ้านและจำหน่ายในชุมชนจริงๆ ไปไม่รอด ถ้าเข้าไปจดทะเบียน มีเพียง 10-20%เท่านั้นที่อยู่ได้ คนต้มเหล้าส่วนใหญ่กำลังเปลี่ยนมาเป็นการค้าแบบเดิม ก็คือขายในตลาดมืด และก็จะถูกสรรพสามิตเข้าจับกุมเหมือนเดิม
"สีเวย" ยังลูกผี ลูกคน
ส่วนกรณีที่นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล ส.ส.แพร่ พรรคไทยรักไทย ออกมาให้ความสำคัญกับสุรากลั่นชุมชน และหาวิธีพัฒนาเหล้าพื้นบ้านไปสู่เหล้าสากล ผ่านกระบวนการคิดค้นทั้งน้ำสุรา - บรรจุภัณฑ์รวมทั้งผูกเรื่องตำนานเมืองแพร่เข้าไปโดยใช้ "นางสีเวย" ภาพจิตรกรรมฝาผนังวัดเวียงต้ามาเป็นตราสัญญลักษณ์ของเหล้าพื้นบ้านจังหวัดแพร่ โดยมีนายปัญญา วิจินธนสาร อาจารย์จากภาควิชาศิลปไทย คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เข้ามาร่วมงานการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหล้าสีเวยมีเรื่องราวความเป็นเมืองแพร่อยู่ในตัวของผลิตภัณฑ์