xs
xsm
sm
md
lg

From Mao to Mozart : Isaac Stern in China (1)

เผยแพร่:   โดย: เสรี พงศ์พิศ


นี่คือหนังสารคดีที่บันทึกการเดินทางไปเมืองจีนของไอแซก สเติร์น นักไวโอลินผู้ยิ่งใหญ่ในปี 1979 เป็นหนังสารคดีที่ได้รับรางวัลจากสถาบันหลายแห่ง รวมทั้ง "ออสการ์" ในปี 1981

ไอแซก สเติร์น เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายยิว เกิดเมื่อปี 1920 ในรัสเซีย อายุได้เพียง 10 เดือน พ่อแม่พาเขาอพยพไปอยู่ที่สหรัฐฯ และเติบโตที่ซานฟรานซิสโก เริ่มเรียนไวโอลินตอนอายุ 8 ขวบ อายุ 13 ก็เริ่มแสดงดนตรีกับวงใหญ่ๆ แล้ว

ไอแซก สเติร์น ได้รับการยอมรับสูงมากในแวดวงดนตรี ได้เดินทางไปแสดงดนตรีทั่วโลกได้บันทึกเสียงดนตรีคลาสสิกไว้มากมาย และได้รับรางวัลนับไม่ถ้วน และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากหลายมหาวิทยาลัยรวมทั้ง เยล ฮาร์วาร์ด จอห์นส์ ฮอปกินส์ และออกซฟอร์ด

เขาได้รับการยอมรับว่าเป็นนักดนตรีที่มีบารมี (charisma)

ไอแซก สเติร์น บอกว่า เขาไม่ได้ตั้งใจจะไปทัวร์แสดงดนตรีที่เมืองจีน อยากไปเที่ยวเท่านั้น เพราะเมืองจีนเพิ่งเปิดให้คนเข้าไปเที่ยวได้ประมาณปี 1977-1978 เอง ก่อนหน้านั้น ระหว่างปี 1966-1976 เป็นช่วงเวลาที่เรียกกันว่า "ปฏิวัติวัฒนธรรม" ซึ่งคนจีนส่วนใหญ่ถือว่าเป็น "ฝันร้าย" เพราะเมืองจีนใช้นโยบายซ้ายจัด ปิดประเทศ และต้องการล้มเลิกวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมจีนเก่าแก่ที่ขัดต่อแนวทางปฏิวัติของสังคมนิยมคอมมิวนิสต์

สารคดีชุดนี้ตัดต่อได้ดีเยี่ยม นำเอาภาพสวยงามของการเดินทางไปเยี่ยมสถานที่ต่างๆ มาร้อยเรียงให้เห็นถึงความหลากหลายร่ำรวยของวัฒนธรรมและวิถีคนจีน ทำได้ดีแบบไม่น่าเบื่อเลย ได้เห็นภาพสวยงามของธรรมชาติและโบราณสถาน เห็นทุ่งนาป่าเขาและบ้านเรือนในชนบทข้างทางที่รถไฟแล่นผ่าน ได้เห็นการแสดงต่างๆ ของจีน ทั้งดนตรี กายกรรม งิ้ว และอื่นๆ สลับไปมากับการสอนและแสดงดนตรีของไอแซก สเติร์น ซึ่งเล่นไวโอลินได้เพราะมาก

ไอแซก สเติร์นประทับใจสิ่งที่เขาได้พบเห็นเป็นอย่างมาก และกลายเป็นว่า การเดินทางที่เขาได้รับเชิญไปเพื่อ "แลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม" ครั้งนี้กลับเป็น "ทัวร์สอนและแสดงดนตรี" ไปอย่างที่เขาไม่ได้วางแผนมาก่อน และเขาก็ดูยินดีที่มีการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้

ที่น่าสนใจคือไม่ว่าจะเป็นการแสดงจริง การซ้อม หรือการสอนไวโอลินให้เด็กเยาวชน ไม่ว่าที่เมืองไหน โรงละครใหญ่ๆ ที่จุคนได้เป็นพันดูเหมือนจะเต็มตลอด เขาพบว่าคนจีนสนใจดนตรีคลาสสิกมาก และนักดนตรีก็มุ่งมั่นที่จะเรียนและเล่นดนตรีคลาสสิก พวกเขาดูจะเล่นได้ทุกอย่าง แต่ไอแซก สเติร์นสรุปว่า "พวกเขายังไม่รู้จักโมซาร์ต"

ที่เขาพูดเช่นนั้นไม่ได้ดูถูกเลย เพราะเขาจะค่อยๆ อธิบายว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เขาอธิบายโดยการสอนเด็กๆ ที่เล่นไวโอลินให้เข้าใจว่าต้องเล่นอย่างไรจึงจะ "เข้าถึงดนตรี" และเขาก็สามารถ "ปลุกพลังภายใน" อันยิ่งใหญ่ของเด็กๆ จีนออกมา รวมทั้งคนจีนที่ได้เข้าชมด้วย

กลายเป็นว่า การทำ workshop หรือ master class ทำกันสดๆ บนเวที แล้วคงต่อด้วยการแสดง จึงเป็นการผสมผสานการถ่ายทอด "วิชา" ไวโอลินกับการแสดงไปพร้อมกัน

เขาพยายามบอกเด็กหญิงตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่เล่นไวโอลินได้คล่องแคล่วว่า อย่าเกร็ง ให้เล่นอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วเขาก็บอกให้เด็กหญิงคนนั้นร้องเพลงที่เธอเล่น จากนั้นก็บอกให้เล่นเหมือนที่ร้อง ซึ่งเล่นได้ดีกว่าเดิมมาก คนดูปรบมือด้วยความชื่นชมวิธีสอนของเขา

เขาบอกว่า "ไวโอลินต้องเป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย เหมือนแขนข้างหนึ่งของคุณ" "คุณอยากรู้ว่าลูกแพร์เป็นอย่างไรก็ต้องกินมัน อยากรู้รสชาติของดนตรีก็ต้องเล่นดนตรี"

เขาให้ความสำคัญกับดนตรีมากว่าเทคนิค บอกว่าเทคนิคเยี่ยมอย่างเดียวไม่พอ คุณต้องเข้าถึงคนแต่งเพลงนั้น เล่นดนตรีคุณต้องเล่นเพลง เล่นประโยค ไม่ใช่เล่นโน้ต ไวโอลินเป็นเพียงเครื่องมือเพื่อไปสู่เป้าหมาย เป้าหมายคือเล่นดนตรีให้ไพเราะ ไม่ใช่เอาดนตรีมาเล่นไวโอลิน แต่ให้เอาไวโอลินไปเล่นดนตรี

"ทำสิ่งที่หัวใจบอกคุณ ทำสิ่งที่หูบอกคุณให้ทำ"

เขาเน้นให้คนเล่นไวโอลินอย่างเป็นธรรมชาติ แล้วจะได้ "สีสัน" มากมาย "ดนตรีไม่ใช่ขาวดำ มันเป็นสีทุกสีที่มีอยู่ รวมทั้งสีที่ช่างสีไม่มี"

เขาและคณะไปที่สถาบันดนตรีเซี่ยงไฮ้ที่เข้าใจว่าคงมีชื่อเสียงที่สุดของเมืองจีน ที่นั่นเขาได้ชมการแสดงของเด็กๆ ที่มีความสามารถหลายคน มีสองคนฝีมือเยี่ยมที่สารคดีเก็บภาพไว้ค่อนข้างยาว คนหนึ่งเล่นเชลโล่ ซึ่งจะเล่นอีกรอบตอนท้ายสารคดีนี้ เมื่อชื่อต่างๆ ของคนทำสารคดีกำลังไหลขึ้นไป จะมีภาพเด็กคนนี้เล่นเชลโล่เป็นฉากไปจนจบ

เช่นเดียวกับเด็กอายุ 8 ขวบอีกคนหนึ่งที่เล่นเปียโน และได้รับคำชมจาก ไอแซก สเติร์น และ David Golub นักเปียโนที่เล่นคู่กับไอแซก สเติร์นในทัวร์นี้ว่า "มีความสามารถระดับนานาชาติขั้นสูงเลยทีเดียว"

ไอแซก สเติร์น ได้ชมการแสดงของเด็กๆ และเยาวชนที่เล่นดนตรีจีน กายกรรม และกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะปิงปอง โดยฝึกฝนอย่างจริงจังเข้มงวดตั้งแต่เด็กๆ รวมทั้งดนตรีสากล ซึ่งเขาได้เห็นกับตาได้ยินกับหูว่า เด็กเหล่านี้เก่งกาจแค่ไหน เขาบอกว่า เด็กๆ เหล่านี้มี "extraordinary power" คือ มีพลังที่วิเศษเหนือธรรมดา

แล้วทำไมเด็กอายุ 17-18 จึงเล่นดนตรีไม่ได้เรื่อง

อาจารย์เฉียน ตัน รองผู้อำนวยการสถาบันดนตรีของเซี่ยงไฮ้พูดภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดีตอบว่าเยาวชนอายุ 17-18 ไม่มีโอกาสได้เรียนดนตรีอย่างต่อเนื่อง เพราะพวกเขาเติบโตมาในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม(1966-1976) อย่างสถาบันดนตรีแห่งนี้ก็เพิ่งมาเปิดใหม่อีกทีเมื่อสองสามปีนี่เอง

เขาเองสอนไวโอลิน สอนดนตรีตะวันตก สอนโมสาร์ต บีโธเฟน ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวก "จักรวรรดินิยม" (imperialist) ถูกจับไปขังในห้องแคบๆ ใต้ดินนานถึง 14 เดือน ไม่มีหน้าต่าง ไม่เห็นแสงเดือนแสงตะวัน แทบไม่มีอากาศหายใจ วันหนึ่งๆ ได้ออกไปไม่กี่นาทีเพื่อไปห้องน้ำ เขาเล่าน้ำตาคลอว่า เขาได้รับการปฏิบัติเยี่ยงอาชญากร เหมือนไม่ใช่คน

เพื่อนอาจารย์ 10 คนทนไม่ได้ ฆ่าตัวตาย ทนการทรมานและการดูถูกเหยียดหยามไม่ได้ พวกเขาถูกเบียดเบียนเพียงเพราะสอนดนตรีตะวันตก

หลังจากที่เขาเล่าจบลง ภาพตัดไปที่ไอแซก สเติร์นกำลังเล่นเพลงเพลงหนึ่งของฟริตซ์ ไครส์เลอร์ หนังปล่อยให้เขาเล่นจนเกือบจบ เจตนาให้คนมีเวลา "ย่อย" เรื่องราวหนักๆ ที่อาจารย์คนนั้นเล่า และลิ้มรสความไพเราะของดนตรีคลาสสิก ดนตรีที่อยู่เหนือกาลเวลาและวัฒนธรรม

อาจารย์เฉียน ตันบอกอีกว่า ก่อนนี้เด็กๆ เยาวชนจีนและนักดนตรีจีนทั่วไปไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับดนตรีคลาสสิกจริงๆ รู้แต่ตัวโน้ต หรือได้ยินจากแผ่นเสียงหรือเทป ไม่เคยได้พบปะหรือได้รับการถ่ายทอด "จิตวิญญาณ" ของดนตรีคลาสสิกจากใครเลย

ด้วยเหตุดังนี้เองพวกเขาจึงชอบเล่นอะไรยากๆ เร็วๆ ดังๆ เพื่อสร้างความประทับใจให้ครูและผู้ฟังว่าเล่นเก่ง และเมื่อเรียนจบเขาจะได้งานดีๆ

เขาจึงไม่แปลกใจและไม่โกรธที่ไอแซก สเติร์น วิจารณ์ว่า เด็กเหล่านั้นยังไม่รู้จักโมสาร์ท เพราะพวกเขาไม่รู้จักจริงๆ รู้แต่ตัวโน้ตที่โมซาร์ตเขียนขึ้นเท่านั้น

ไอแซก สเติร์น บอกในตอนท้ายว่า "ทุกครั้งที่คุณหยิบเครื่องดนตรีขึ้นมาเล่น คุณกำลังประกาศยืนยันความเชื่อ (you make statement of faith)" เขาบอกในทำนองว่า ดนตรีจะต้องเป็น "ชีวิตจิตใจของคุณ" ดนตรีไม่ใช่ตัวโน้ตเป็นตัวๆ แต่เป็นประโยค เป็นภาษา เป็นชีวิต

การไปเมืองจีนของไอแซก สเติร์น ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนและคนจีนทั่วไปเป็นอย่างมาก ดังที่ชุน ผาน เด็กน้อยวัย 8 ขวบ ที่เล่นเปียโนและได้รับคำชมว่าเล่นได้มาตรฐานโลกบอกไว้ 20 ปีต่อมาว่า "ไอแซก สเติร์นได้นำหัวใจของดนตรีตะวันตกมาให้เรา และมันได้อยู่กับผมตลอดมา"

ชุน ผาน คือผู้ล่ารางวัลจากการแข่งขันเปียโนทั่วโลก และกลายเป็นอาจารย์ดนตรีที่สถาบันดนตรีของกรุงปักกิ่ง วันนี้เขาได้รับการยอมรับไม่เพียงเพราะเล่นเปียโนเก่ง แต่เพราะเขาได้เข้าถึงหัวใจและจิตวิญญาณของดนตรีคลาสสิก

เช่นเดียวกับเด็กอีกหลายคนในสารคดีนี้ อย่าง ฉู่ เหว่ย หลิง หรือที่ปรับชื่อให้เรียกง่ายว่า เวร่า ฉู่ (Vera Tsu) เธอคือนักแสดงเดี่ยวไวโอลินและหัวหน้าของวงฮ่องกงฟิลาร์มอนิก
ส่วนหนูน้อยที่ก้มหน้าก้มตาเล่นเชลโล่อย่างพิสดารคนนั้นวันนี้กลายเป็นนักเชลโล่ระดับโลกไปแล้ว เขาคือ หวัง เจี้ยน ซึ่งแม้จะไม่โด่งดังเป็นพลุแตกเหมือน โย โย หม่า (นักเซลโล่นามกระเดื่องชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ผู้เกิดที่ปารีส โตที่อเมริกา เรียนปรัชญาที่ฮาร์วาร์ด ผู้สามารถผสานตะวันตกกับตะวันออกทางเสียงดนตรีได้อย่างกลมกลืนและวิเศษสุด)

หวัง เจี้ยน ก็ได้รับการยอมรับว่า วันนี้เขามา "จากเหมาถึงโมสาร์ต" แล้ว

(ขอบคุณคุณหมอสมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ที่ให้ยืมแผ่นดีวีดีเรื่องนี้ ชุดใหม่ที่มีเรื่องการเดินทางไปเมืองจีนครั้งที่สองของไอแซก สเติร์น ในภาคผนวก คุณหมอเป็นกัลยาณมิตรผู้เขียนคอลัมน์คล้ายกันนี้ในนิตยสาร "หมอชาวบ้าน")
กำลังโหลดความคิดเห็น