xs
xsm
sm
md
lg

อุตสาหกรรมรถยนต์ไทยก้าวสู่อันดับ 1 ในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

อุตสาหกรรมรถยนต์โลกนับว่ามีความน่าสนใจมาก เนื่องจากเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยปี 2546 มีขนาด 58.5 ล้านคัน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 60 ล้านคันในปี 2547 ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างสูง รัฐบาลจึงได้กำหนดให้อุตสาหกรรมยานยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้จะส่งผลดีหลายประการ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การจ้างงาน การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น เหล็ก พลาสติก และยาง เป็นต้น

ปัจจุบันอุตสาหกรรมกลุ่มยานยนต์ของไทยอยู่ในช่วงฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว โดยปริมาณการประกอบรถยนต์ในปี 2546 อยู่ที่ระดับ 750,512 คัน นับว่ามากเป็นประวัติการณ์ 2 ปีติดต่อกัน โดยได้เพิ่มขึ้นในอัตราสูงถึง 28% เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขในปี 2545 ซึ่งมีปริมาณการประกอบรถยนต์ 584,951 คัน

ยิ่งไปกว่านั้น ปริมาณการประกอบรถยนต์ในประเทศไทยยังมากเป็นอันดับ 1 ของภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมาติดต่อกันจนถึงปัจจุบัน โดยมากกว่ามาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งในปี 2546 มีปริมาณการประกอบรถยนต์ 424,062 และ 344,035 คัน ตามลำดับ

ขณะเดียวกันตลาดรถยนต์ในประเทศไทยมีการเติบโตรวดเร็วเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นเป็น 532,961 คัน ในปี 2546 แซงหน้ามาเลเซียซึ่งมียอดจำหน่ายรถยนต์ 405,010 คัน ในปีเดียวกัน ทำให้ไทยกลายเป็นตลาดรถยนต์ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังถูกมาเลเซียแซงหน้าขึ้นเป็นอันดับ 1 ในช่วงระหว่างปี 2540 – 2545

สำหรับในปี 2547 สถานการณ์ยังดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าไทยจะประกอบรถยนต์ในปี 2547 เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ คือ 900,000 คัน โดยเป็นการประกอบรถยนต์เพื่อจำหน่ายในประเทศ 600,000 คัน และส่งออก 300,000 คัน

จากแนวโน้มที่สดใส จึงเป็นเรื่องค่อนข้างแน่นอนแล้วว่าไทยยังคงครองตำแหน่งอันดับ 1 ของอาเซียนในปี 2547 ต่อไปอีก โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 ไทยมียอดประกอบรถยนต์รวม 584,394 คัน ทิ้งห่างมาเลเซียคู่แข่งสำคัญ ที่มียอดประกอบรถยนต์ 290,307 คัน ในช่วงเดียวกัน

ขณะเดียวกันในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 ไทยมีการจำหน่ายรถยนต์รวม387,800 คัน เพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2546 และคาดว่าจะมียอดจำหน่ายทั้งปี 600,000 คัน ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันมาเลเซียมียอดจำหน่ายรถยนต์ 312,320 คัน และคาดว่าจะมียอดจำหน่ายทั้งปี 2547 จำนวนรวม 440,000 คัน ส่วนอินโดนีเซียอาจแซงหน้ามาเลเซียขึ้นเป็นอันดับ 2 ก็เป็นได้ เนื่องจากยอดจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดว่ายอดจำหน่ายรถยนต์ในปี 2547 อาจจะสูงถึง 450,000 คัน

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าไทยมีจุดแข็งเฉพาะในตลาดรถยนต์ปิกอัพ ซึ่งหากนับเฉพาะรถยนต์นั่งส่วนบุคคลแล้วตลาดของมาเลเซียยังมีขนาดใหญ่กว่าของประเทศไทยมาก โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2547 มาเลเซียมียอดจำหน่ายรถยนต์นั่งส่วนบุคคลมากถึง 244,887 คัน มากกว่าตลาดรถยนต์นั่งในไทยในช่วงเดียวกันซึ่งมีขนาดเพียงแค่ 135,622 คัน

สำหรับการส่งออกรถยนต์ของไทยก็เติบโตอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน โดยในปี 2546 มีมูลค่าส่งออก 138,673 ล้านบาท เติบโตในอัตราสูงถึง 28.74% เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขปี 2545 จำแนกเป็นการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูป 235,521 คัน มูลค่า 102,724 ล้านบาท และเป็นการส่งออกในรูปเครื่องยนต์และชิ้นส่วน 35,948.82 ล้านบาท

ปริมาณการส่งออกรถยนต์คาดว่าจะเพิ่มอย่างก้าวกระโดดจาก 235,521 คัน ในปี 2546 เป็น 300,000 คัน ในปี 2547 โดยในช่วง 8 เดือน ไทยส่งออกรถยนต์ไปแล้วเป็นจำนวนมากถึง 208,306 คัน มีมูลค่าส่งออก 92,396 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2546 เป็นสัดส่วนสูงถึง 38.4% และ 41.1% ตามลำดับ

ความก้าวหน้าสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย คือ ผู้ผลิตหลายรายย้ายฐานการผลิตรถยนต์ปิกอัพขนาด 1 ตัน จากต่างประเทศมายังประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่บริษัทที่ได้ย้ายฐานมาแล้วก็ประกาศลงทุนเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังผลิต ทำให้ไทยเป็นฐานการผลิตสำคัญของโลก

เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ให้เติบโตรวดเร็วยิ่งขึ้น คณะกรรมการยุทธศาสตร์ยานยนต์ได้จัดประชุมหารือเมื่อเดือนกรกฎาคม 2547 โดยได้ตั้งเป้าว่าในปี 2549 ไทยจะสามารถผลิตรถยนต์ได้ 1 ล้านคัน ในจำนวนนี้เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 400,000 คัน และในปี 2553 จะผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นอีกเป็น 1.8 ล้านคัน เป็นการผลิตเพื่อส่งออก 800,000 คัน สำหรับชิ้นส่วนนั้นตั้งเป้าส่งออกรวม 200,000 ล้านบาท ในปี 2549 และเพิ่มขึ้นอีกเป็น 400,000 ล้านบาท ในปี 2553

การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น ที่ประชุมเห็นว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องมีองค์ประกอบต่างๆมากมาย เป็นต้นว่า ตลาดภายในประเทศมีขนาดใหญ่เพียงพอต่อการลงทุน ผลิตภัณฑ์ต้องมีความเข้มแข็งในตลาดโลก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอุตสาหกรรมสนับสนุนต้องแข็งแกร่ง มีบุคลากรที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพ มีหน่วยงานสนับสนุนด้านการทดสอบและวิจัยพัฒนา รวมไปถึงระบบราชการ ระบบภาษีจะต้องมีความเป็นธรรมและเอื้ออำนวยต่อการดำเนินธุรกิจ

ความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ไทย ทำให้ต่างชาติพยายามศึกษาเป็นบทเรียน โดยนาย Sidek Kamiso ได้เขียนบทความชื่อ Lessons to be learnt from Thai experience ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Star ของมาเลเซีย เมื่อเดือนมิถุนายน 2547 ชื่นชมถึงความสำเร็จของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยที่สามารถดึงดูดการลงทุนจำนวนมาก ทั้งในส่วนการเป็นฐานการผลิต และปัจจุบันเริ่มมีการย้ายฐานวิจัยและพัฒนามายังประเทศไทย โดยเฉพาะการกระจุกตัวเป็นคลัสเตอร์ในจังหวัดระยอง พร้อมกับก้าวไปสู่ฐานการผลิตเพื่อส่งออก

คำถามสำคัญ คือ ทำไมไทยจึงประสบความสำเร็จในการชักจูงการลงทุนต่างประเทศจำนวนมากในอุตสาหกรรมรถยนต์ การลงทุนจำนวนมากจากต่างประเทศในไทยจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมรถยนต์ของมาเลเซียอย่างไรบ้าง และอนาคตของอุตสาหกรรมรถยนต์ในมาเลเซียจะเป็นเช่นไร คำถามเหล่านี้จะทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อตลาดรถยนต์อาเซียนเปิดเสรีเต็มรูปแบบในปี 2551 ตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน

ผู้บริหารอาวุโสของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งในประเทศไทย ให้ทัศนะว่าความได้เปรียบสำคัญของประเทศไทยที่เหนือกว่ามาเลเซียในการดึงดูดการลงทุน คือ นโยบายของรัฐบาลที่มีลักษณะคงเส้นคงวา ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ไทยประกาศชัดเจนว่าต้องการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์ในอาเซียน โดยผลสำเร็จในปัจจุบันเป็นผลพวงจากการดำเนินการในอดีต

ผู้บริหารดังกล่าวยังได้วิพากษ์วิจารณ์นโยบายของมาเลเซียว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนารถยนต์แห่งชาติมากเกินไป ขณะเดียวกันก็ละเลยความพยายามที่จะเสริมสร้างสายสัมพันธ์อันดีกับบริษัทรถยนต์ต่างประเทศ

สำหรับข้อเสนอแนะนั้น นาย Sidek Kamiso เห็นว่ารัฐบาลมาเลเซียจะต้อง “เล่นไพ่” ให้เป็น จะต้องพยายามใช้ข้อได้เปรียบที่ตนเองมีอยู่ คือ มาเลเซียเป็นตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคลในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น จึงควรกำหนดกลยุทธ์ว่าจะพัฒนาตนเองให้กลายเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมรถยนต์แห่งที่สองของอาเซียน

ปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์บางแห่ง เช่น บริษัทฮอนด้า ใช้โรงงานที่มะละกาในมาเลเซียเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกควบคู่ไปกับฐานการผลิตที่สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดอยุธยา สำหรับผู้ผลิตรถยนต์หรูหราราคาแพงรายอื่นๆ ก็ดำเนินกลยุทธ์ในลักษณะคล้ายคลึงกัน เช่น วอลโว่ มีฐานการผลิตหลัก 2 แห่ง คือ มาเลเซียและไทย โดยผลิตรถยนต์บางรุ่นในไทย ขณะที่บางโมเดลผลิตในมาเลเซีย โดยมีการส่งออกรถยนต์กึ่งสำเร็จรูปบางโมเดลจากมาเลเซียมายังไทยเพื่อผลิตต่อให้เป็นรถยนต์สำเร็จรูป ขณะเดียวกันก็ผลิตรถยนต์กึ่งสำเร็จรูปในไทยแล้วส่งไปยังมาเลเซียเช่นกัน เพื่อผลิตเป็นรถยนต์สำเร็จรูป

ยิ่งไปกว่านั้น บริษัทรถยนต์เกาหลี คือ เกียและฮุนได ซึ่งไม่มีฐานการผลิตในประเทศไทย แต่มีฐานการผลิตในประเทศมาเลเซีย จึงควรประสานงานเพื่อให้ใช้โรงงานในมาเลเซียเป็นฐานการผลิตหลักในการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

สุดท้ายนี้ นาย Sidek Kamiso เห็นว่าแม้มาเลเซียจะเป็นรองไทยในอุตสาหกรรมประกอบรถยนต์ แต่ควรใช้โอกาสจากประเทศไทยเป็นประโยชน์ โดยบริษัทผลิตชิ้นส่วนของมาเลเซียควรให้ความสนใจที่จะผลิตชิ้นส่วนเพื่อป้อนอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น